โรคผิวหนังที่เกิดจากภาวะภูมิแพ้อาหารในแมว
การที่เจ้าของแมวหลายคนกล่าวโทษว่าอาหารคือตัวการที่ทำให้แมวมีอาการทางผิวหนังนั้นถูกต้องแล้วหรือไม่
หมายเลขหัวข้อ 31.1 Other Scientific
เผยแพร่แล้ว 16/06/2022
สามารถอ่านได้ใน Français , Deutsch , Italiano , Română , Español , English และ 한국어
สัตวแพทย์หญิง Christina Gentry ได้อธิบายถึงวิธีการในการวินิจฉัยแยกแยะและรักษาเมื่อพบรอยโรคบริเวณจมูกแมวที่มีความท้าทายต่อสัตวแพทย์ (แปลโดย น.สพ. พีระ มานิตยกุล)
รอยโรคบริเวณปลายจมูกส่วนไร้ขน(nasal planum)อาจพบเดี่ยวๆหรือร่วมกับรอยโรคอื่นได้
การมีอยู่ของรอยโรคอื่นจะช่วยให้การวินิจฉัยแยกแยะโรคทำได้ง่ายขึ้น
วิธีการวินิจฉัยที่นิยมได้แก่ superficial impression cytology และ biopsy
ความผิดปกติที่เป็นผลข้างเคียงจากมะเร็ง(paraneoplastic disorder) โรคติดเชื้อ และโรคที่เกิดจากภูมิคุ้มกันตนเองสามารถแสดงอาการทางระบบได้เช่นเบื่ออาหารและอ่อนแรง
โรคของจมูกและสันจมูกพบได้ไม่บ่อยจนถึงน้อยมากในแมว อาการของโรคบางอย่างส่งผลให้เกิดความผิดปกติทั้งที่บริเวณปลายจมูกส่วนที่ไร้ขน(nasal planum และ nasal philtrum)และส่วนสันจมูกที่มีขนปกคลุมได้ ในขณะที่โรคบางอย่างจะส่งผลต่อบริเวณ nasal planum เท่านั้น โรคที่ทำให้เกิดรอยโรคบริเวณจมูกได้แก่มะเร็ง ปรสิต โรคภูมิคุ้มกันตนเอง โรคติดเชื้อ พันธุกรรม สิ่งแวดล้อม และโรคที่หาสาเหตุไม่ได้(idiopathic) โรคที่ส่งผลต่อบริเวณ nasal planum อาจขยายไปสู่บริเวณโดยรอบรวมถึงตำแหน่งที่อยู่ห่างออกไป จุดมุ่งหมายของบทความนี้คือการสรุปพยาธิกำเนิด การวินิจฉัย ทางเลือกในการรักษาและการพยากรณ์โรคที่สัตวแพทย์มีโอกาสพบได้บ่อย
Squamous cell carcinoma หรือ SCC พบได้บ่อยในแมวคิดเป็นร้อยละ 15 ของเนื้องอกบริเวณผิวหนังของแมวทั้งหมด 1 SCC ที่ผิวหนังมักพบบริเวณใบหน้าโดยเฉพาะส่วนที่มีขนน้อยของปลายหู สันจมูก เปลือกตา และส่วนที่ปราศจากขนอย่าง nasal planum(รูป 1) พยาธิกำเนิดของโรคเกิดจากการถูกรังสี UV เป็นเวลานาน โดยแมวขนสีขาวหรือสีอ่อนจะมีความเสี่ยงสูงจากการที่มีปริมาณแสง UVB ไปถึงผิวหนังได้มากกว่า 2 รอยโรคแรกเริ่มมักพบรอยที่คล้ายอาการบาดเจ็บหรือรอยข่วนที่ไม่หาย 3 ซึ่งเรียกว่า actinic keratosis(รอยโรคระยะก่อนเป็นมะเร็งจากการถูกแสงแดดเป็นเวลานาน) จากนั้นจึงเป็น SCC in situ ตามมาด้วย SCC สามารถพบรอยโรคแบบผสมได้พร้อมกันแต่โดยมากจะมีการอักเสบและมีสะเก็ดอยู่เหนือผิวหนังที่แดง ขนร่วง ผิวหนังหลุดลอก 3 ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางที่พบอาจแตกต่างกันไปตั้งแต่ไม่กี่มิลลิเมตรจนถึงหลายเซนติเมตร บริเวณรอยโรคอาจมีเลือดออกได้ บางครั้งในรายที่มะเร็งมีความรุนแรงมากอาจพบก้อนเนื้อ papillary หรือ fungiform ร่วมด้วย
การวินิจฉัยมักทำโดยการตัดชิ้นเนื้อออกหมดเพื่อไปตรวจ(biopsy excision) บริเวณ nasal planum สามารถทำ punch biopsy ได้ (ดูในกล่องข้อความที่ 1) ในขณะที่การทำ margin / shave biopsy อาจมีประโยชน์มากกว่าสำหรับบริเวณปลายหู การที่รอยโรคทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของชั้น epidermis ส่งผลให้การเก็บตัวอย่างด้วยวิธี fine needle aspiration อาจไม่ช่วยในการวินิจฉัยรอยโรคที่มีขนาดเล็ก ลักษณะทางจุลพยาธิวิทยาของ SCC ที่มีการกระจายตัวดีจะพบ trabeculae และ island ของ epidermal cell แทรกเข้าไปอยู่ในชั้น dermis รอยโรคเหล่านี้จะพบ keratinocyte ที่ยังไม่เจริญเต็มที่อยู่บริเวณขอบรอยโรคและค่อยๆกลายเป็น keratinized epidermal cell เมื่อเข้ามาสู่จุดศูนย์กลางของรอยโรคมากขึ้น epidermal cell เหล่านี้จะจับตัวกันเป็น “pearl” ที่สามารถพบได้ตรงกลางของ epidermal island 3.
|
SCC ที่พบบริเวณใบหน้ามีอัตราการแพร่กระจายต่ำ 4 และการรักษาโดยมากมุ่งไปที่รอยโรคแต่ละจุด แนะนำให้ทำการหาระยะของเนื้องอก(staging)ก่อนทำการรักษาซึ่งประกอบไปด้วยการตรวจเลือด การเจาะดูดต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียง และการถ่ายภาพรังสีช่องอก แนวทางในการรักษา SCC ที่บริเวณใบหน้าสามารถผ่าตัด ฉายรังสี และการฉีดเคมีบำบัดเข้าที่ก้อนเนื้อ การผ่าตัดแบบยกก้อนเนื้อออกหมดสามารถทำได้เกือบทุกกรณีของ SCC ที่พบบริเวณใบหน้า 4 แต่การผ่าตัดนำเนื้องอกที่มีขนาดใหญ่บริเวณ nasal planum ออกอาจนำไปสู่การผิดรูปของใบหน้าได้ ในกรณีดังกล่าวอาจใช้วิธีฉายรังสีโดยใช้ strontium-90 brachytherapy สำหรับรอยโรคที่อยู่ลึกน้อยกว่า 3 มิลลิเมตรและ strontium-90 teletherapy สำหรับรอยโรคที่อยู่ลึกกว่านั้น 5 รอยโรคขนาดเล็กที่สามารถผ่าตัดออกได้หมดจะให้ผลการรักษาที่ดีที่สุดและการฉายรังสีบำบัดในรอยโรคที่มีขนาดเล็กสามารถเพิ่มระยะเวลาปลอดโรคได้หลายเดือนถึงหลายปี 5 รอยโรคที่มีการลุกลามมักพบการกลับมาเป็นซ้ำได้สูง
ขนร่วงที่เป็นผลข้างเคียงจากมะเร็งเป็นกลุ่มอาการหายากที่มีรายงานว่าพบในแมว พยาธิกำเนิดยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดแต่เกือบทุกกรณีเป็นผลข้างเคียงของมะเร็งที่มีความรุนแรงซึ่งมีจุดกำเนิดที่ตับอ่อน ลำไส้เล็ก ตับหรือท่อน้ำดี 6 อาการที่แสดงออกโดยทั่วไปคืออ่อนแรง น้ำหนักลด และความอยากอาหารลดลงในแมวสูงอายุที่เคยสุขภาพดี อาการทางผิวหนังจะเด่นชัดซึ่งพบการหลุดร่วงอย่างรวดเร็วของเส้นขนบริเวณท้องลามมายังบริเวณขาและใบหน้า ผิวหนังที่ขนร่วงไปแล้วจะมีลักษณะอ่อนนุ่มซึ่งอาจพบสิ่งคัดหลั่งสีน้ำตาลที่เกิดจากผิวหนังอักเสบแบบทุติยภูมิจากเชื้อ Malassezia 7 บริเวณฝ่าเท้าและ nasal planum มีลักษณะนุ่มและมันวาว ในขณะที่สันจมูกอาจพบขนร่วงได้
การพยากรณ์โรคไม่ค่อยดีเพราะมักเกิดการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังต่อมน้ำเหลือง ตับ และปอดก่อนที่จะพบอาการขนร่วงหรือชั้นผิวที่เรียงตัวผิดปกติบริเวณ nasal planum แล้ว 6 7 แนะนำให้ทำการรักษาประคับประคองอาการหรือการทำการุณยฆาตในกรณีที่การผ่าตัดไม่สามารถทำได้
Christina M. Gentry
การแพ้ยุงกัดพบได้บ่อยในแมวสีเข้มที่เลี้ยงนอกบ้านในช่วงที่อากาศอบอุ่นในภูมิภาคทางใต้ของประเทศสหรัฐอเมริกาหรือประเทศแถบเมดิเตอร์เรเนียน พบได้น้อยมากในแมวที่เลี้ยงในบ้านเพียงอย่างเดียว ถือเป็นภาวะภูมิแพ้ชนิด type 1 hypersensitivity ที่มีลักษณะบางอย่างเหมือนกับ type 4 hypersensitivity แมวที่มีอาการบางตัวสามารถพบรอยโรค wheal ภายใน 20 นาทีหลังจากถูกยุงกัด 8 พบรอยโรคผิวหนังอักเสบมิลิเอริและ eosinophilic granuloma บริเวณสันจมูก ปลายหู และฝ่าเท้า(รูป 2) รอยโรคเหล่านี้อาจพัฒนาไปเป็นสะเก็ด ผิวหนังลอกหลุด และแผลเกาจากอาการคัน ในแมวที่มีอาการรุนแรงสามารถพบรอยโรคขยายจากสันจมูกเข้าไปสู่ nasal planum รวมไปถึงต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียงมีการขยายขนาดด้วย 8 9
ภาวะภูมิไวเกินมักวินิจฉัยจากการซักประวัติและการตรวจร่างกาย การตัดชิ้นเนื้อตรวจอาจทำในรายที่มีความรุนแรงค่อนข้างมากหรือสงสัยว่าเป็น pemphigus foliaceus และผิวหนังอักเสบจากการติดเชื้อไวรัส herpes การทำ superficial cytology มีประโยชน์ในการวินิจฉัยการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนซึ่งในกรณีที่ไม่ได้เกิดการติดเชื้อจะพบเม็ดเลือดขาวชนิดอีโอซิโนฟิลมากกว่าชนิดอื่น ผลการตรวจจุลพยาธิวิทยาพบการอักเสบที่มีอีโอซิโนฟิลแทรกตัวเข้ามามากร่วมกับสะเก็ดและสิ่งคัดหลั่งซึ่งอาจทำให้ยากต่อการวินิจฉัยแยกแยะจากโรคผิวหนังอื่นในแมวที่มีอีโอซิโนฟิลเข้ามาเกี่ยวข้องเช่นผิวหนังอักเสบจากเชื้อไวรัส herpes กรณีที่ไม่พบ inclusion bodies 9
การรักษาจะประสบความสำเร็จได้จำเป็นต้องจัดการการอักเสบแบบเฉียบพลันและการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนหากมี ร่วมกับการลดหรือหยุดการกัดของยุง ยาสเตียรอยด์ชนิดกินหรือชนิดฉีดที่ออกฤทธิ์สั้นในขนาดที่กดการอักเสบได้ปานกลางถึงสูง(1-2 mg/kg ต่อวัน) ดีที่สุดในการควบคุมการอักเสบ 8 การรักษาอาจทำเพียง 2-4 สัปดาห์หากสามารถป้องกันการกัดของยุงได้โดยอาจรักษาต่อเนื่องจนกว่าจะหมดฤดูกาลที่ยุงชุกชุมหากไม่สามารถจัดการสิ่งแวดล้อมได้ เช่นในกรณีของแมวที่เลี้ยงในโรงนา
การหลีกเลี่ยงยุงเป็นวิธีการที่ดีที่สุดซึ่งอาจรวมถึงการงดให้แมวออกนอกบ้านในช่วงเวลาและฤดูกาลที่ยุงชุกชุม การกำจัดแหล่งน้ำขังที่ยุงวางไข่ ตัดหญ้าหรือพุ่มไม้ที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำ และการใช้ยาป้องกันแมลง 8 การใช้ยากันยุงทาภายนอกแมวอาจช่วยได้ในกรณีที่ไม่สามารถเก็บแมวไว้ใน้บ้านได้แต่มีประสิทธิภาพที่หลากหลายทั้งยังต้องทาเป็นประจำทุกวัน ผลิตภัณฑ์ที่มีสาร permethrin สำหรับแมว น้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้ neem และ cat nip สามารถนำมาใช้ได้เช่นกันแต่ควรระวังความเป็นพิษจากสารเหล่านั้น 8 ประสบการณ์จริงของผู้เขียนบทความพบว่าผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของ picaridin สามารถออกฤทธิ์ป้องกันยุงได้นานหลายชั่วโมงเมื่อทาที่บริเวณหลังและปลายหู
การพยากรณ์โรคจัดว่าดีมากในแมวที่สามารถเลี้ยงในบ้านได้ และยังถือว่าใช้ได้ถึงดีในรายที่ไม่สามารถจัดการควบคุมสิ่งแวดล้อม
โรค pemphigus foliaceus (PF) เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากภูมิคุ้มกันตนเองในแมวที่พบได้มากที่สุด 10 ถึงแม้ว่าโดยรวมจะพบได้ไม่มากนักในประชากรแมว PF ส่งผลต่อ desmojunction ระหว่างเซลล์ epidermis ที่อยู่ชั้นนอกสุด ส่งผลให้เซลล์ epidermis เหล่านั้นแยกตัวออกก่อนที่จะมีโอกาสโตเต็มที่กลายเป็น anucleated keratinocyte โรค PF ส่วนมากมักหาสาเหตุไม่ได้แต่มีบางส่วนที่เกิดจากการกระตุ้นโดยยาบางชนิด 11 พบมากในแมวช่วงอายุกลางๆแต่แมวทุกวัยสามารถเป็นโรคนี้ได้แม้แต่ลูกแมว
รอยโรคของ PF พบมากบริเวณส่วนโค้งนูนของใบหู หน้า สันจมูกและ nasal planum (รูป 3) โดยพบรอยโรคที่ nasal planum ในแมวมากที่ป่วยมากถึงร้อยละ 50(รูป 4) 11 12 นอกจากนี้ยังสามารถพบรอยโรคได้ที่ mammary papilla ฝ่าเท้า ซอกเล็บ และผิวหนังที่มีขนปกคลุม 11แมวบางตัวมีรอยโรคอยู่เฉพาะที่ใบหน้า บางตัวอาจพบรอยโรคแค่ที่อุ้งเท้าและซอกเล็บ หรือบางตัวอาจพบรอยโรคกระจายไปทั่วร่างกาย รอยโรคหลักประกอบด้วย pustule สีเหลืองที่กินบริเวณรูขุมขนหลายรูจากนั้นพัฒนาเป็น annular crust สีเหลือง และอาจมีผิวหนังหลุดลอกอยู่ด้านใต้ บริเวณฝ่าเท้าและ nasal planum อาจสูญเสียลักษณะรอยแตกอันเป็นเอกลักษณ์ ซอกเล็บมีหนองข้นสีเหลืองหรือเขียวออกมา อาการคันในกรณีของ PF นั้นมีความหลากหลาย การกัดหรือเกาอาจทำให้รอยโรคเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะใบหน้าและหู แมวที่ป่วยอาจมีไข้ ซึม และเบื่ออาหาร
การวินิจฉัยแรกเริ่มควรทำ impression cytology โดยอาจเจาะ pustule ให้แตกหรือยกสะเก็ดหนองขึ้นเพื่อตรวจด้านใต้ ผลจากการทำ cytology จะพบนิวโทรฟิลที่ยังไม่สลายตัว acantholytic keratinocyte ปริมาณต่างกันไปซึ่งเป็น keratinocyte ที่มีลักษณะกลมและมีนิวเคลียสซึ่งสูญเสีย desmosome junction ย้อมติดสีน้ำเงิน การตรวจ DTM Wood’s lamp และการขูดผิวหนังสามารถช่วยตัดข้อสงสัยเกี่ยวกับเชื้อราและปรสิตภายนอก เช่น Demodex spp. Notoedres cati การตรวจเลือดอาจพบภาวะ leucocytosis และ hyperglobulinemia 13
การวินิจฉัยเพื่อยืนยันโรคควรทำการตัดชิ้นเนื้อ จากการที่รอยโรคบ่งชี้( neutrophilic pustule และ acantholytic keratinocyte)อยู่ที่บริเวณผิวชั้นนอกจึงไม่ควรโกนขนหรือสครับเพราะอาจทำให้รอยโรคเหล่านั้นหายไป ผลจุลพยาธิวิทยาจะพบสะเก็ดที่มีนิวโทรฟิลจำนวนมาก โดยนิวโทรฟิลจะแทรกอยู่ในชั้น epidermis และส่วนบนของชั้น dermis อาจพบนิวโทรฟิลเพียงอย่างเดียวหรือนิวโทรฟิลร่วมกับอีโอซิโนฟิลได้ 14 ส่วนของ pustule อาจพบนิวโทรฟิลหรืออีโอซิโนฟิลแทรกอยู่เป็นหลักร่วมกับ acantholytic keratinocyte ลักษณะเดี่ยวหรือเป็นแพ รอยโรคยังอาจลามไปถึงรูขุมขนด้วยเช่นกัน (รูป 5) 14
ยากลุ่มสเตียรอยด์เป็นยาหลักที่ใช้ในการรักษาโดยสามารถใช้เพียงสเตียรอยด์อย่างเดียวได้ในแมวหลายตัว ขนาดเริ่มต้นของ prednisolone คือ 2-6 mg/kg/วันโดยการกิน ในแมวป่วยส่วนมากมักตอบสนองดีต่อยาที่ขนาด 2-3 mg/kg/วัน 12 ยาสเตียรอยด์แบบกินมีประสิทธิภาพดีกว่าการฉีดสเตียรอยด์ชนิดออกฤทธิ์ได้ยาวนานแต่อาจจำเป็นต้องใช้แบบฉีดในกรณีที่ไม่สามารถป้อนยาแมวได้ อาการของโรคมักเริ่มทุเลาภายใน 2-8 สัปดาห์แต่สัตว์ป่วยส่วนมากมักต้องได้รับยาตลอดอายุขัย เมื่ออาการเริ่มดีขึ้นให้ลดขนาดสเตียรอยด์ลงร้อยละ 25 ทุก 2-3 สัปดาห์จนสามารถหยุดยาได้หรือกลับมามีอาการซ้ำ
ยากดภูมิคุ้มกันเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษาที่ควรพิจารณาร่วมกับการใช้สเตียรอยด์เพื่อลดผลข้างเคียงจากสเตียรอยด์เช่น น้ำหนักขึ้น ความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน ความไวต่อการติดเชื้อไวรัสที่ระบบทางเดินหายใจส่วนต้น ยา cyclosporine ในรูปแบบของเหลวหรือแคปซูลขนาด 5-7 mg/kg/วัน สามารถลดขนาดของสเตียรอยด์หรือในบางรายอาจทำให้หยุดการใช้สเตียรอยด์ได้ เมื่ออาการดีขึ้นแล้วสามารถลดขนาดของยา cyclosporine เหลือ 2-3 ครั้ง/สัปดาห์ ได้ 15 ยา chlorambucil สามารถพิจารณาให้ในรายที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วย cyclosporine เกิดผลข้างเคียงของระบบทางเดินอาหารรุนแรงจาก cyclosporine หรือมีความกังวลเกี่ยวกับผลจากการใช้สเตียรอยด์เป็นเวลายาวนาน 15 ไม่แนะนำให้ใช้ azathioprine ในแมวจากฤทธิ์กดไขกระดูกของยา 15 การพยากรณ์โรคในแมวส่วนมากค่อนข้างดีหากทนต่อยากินได้และไม่เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาสเตียรอยด์ 11
Christina M. Gentry
โรคผิวหนังอักเสบจากเชื้อไวรัส herpes เป็นรูปแบบการแสดงออกที่พบไม่บ่อยนักในการติดเชื้อไวรัส herpes (FHV-1) ในแมว เชื้อไวรัสนี้พบได้บ่อยและมักก่อโรคที่ระบบทางเดินหายใจส่วนต้นซึ่งจะแสดงอาการของ rhinotracheitis และ conjunctivitis ที่สามารถหายได้เองในแมว แต่เชื้อไวรัสสามารถแฝงใน trigeminal ganglia 16 แมวที่เกิดรอยโรคบริเวณผิวหนังอาจมีประวัติการติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจส่วนต้น การใช้ยาสเตียรอยด์ หรือเกิดความเครียดก่อนหน้า พบมากในแมวที่โตแล้วมากกว่าแมวเด็ก ลักษณะรอยโรคที่ผิวหนังพบตุ่มน้ำ(vesicle) ผิวหนังลอกหลุดและแผลหลุมอยู่ใต้สะเก็ด ตำแหน่งที่พบได้แก่จมูก nasal planum ปาก และรอบดวงตา นอกจากนี้อาจพบแผลหลุมทั่วตัวได้ 17
ข้อสงสัยว่าแมวป่วยด้วยโรคนี้อาจเกิดจากการซักประวัติและการตรวจร่างกายโดยเฉพาะหากมีอาการระบบทางเดินหายใจส่วนต้นเกิดร่วมกัน การตัดชิ้นเนื้อตรวจแนะนำให้ทำเป็นอย่างยิ่งเพื่อวินิจฉัยยืนยัน รอยโรคของ FHV-1 อาจคล้ายกับผิวหนังอักเสบจากยุงกัด pemphigus foliaceus eosinophilic granuloma และ erythema multiforme ขึ้นกับปริมาณของสะเก็ดและระดับความรุนแรงของการกัดทำร้ายตนเอง ผลจุลพยาธิวิทยาพบการตายของชั้น epidermis ที่อาจขยายลงไปถึงชั้น dermis พบปริมาณสิ่งคัดหลั่งและสะเก็ดปริมาณมากร่วมกับการแทรกของเซลล์อักเสบชนิดอีโอซิโนฟิลมากกว่านิวโทรฟิล 9 หากพบ intranuclear inclusion body ใน keratinocyte หรือ giant cell ถือเป็นข้อวินิจฉัยได้แต่อาจตรวจไม่พบในทุกราย หากไม่พบ inclusion body ในตัวอย่างอาจส่ง PCR หรือ immunohistochemistry โดยใช้เนื้อเยื่อบริเวณที่มีรอยโรค การศึกษาเมื่อไม่นานมานี้ได้แสดงถึงความน่าเชื่อถือของการใช้ RNA scope® in situ hybridization เพื่อวินิจฉัย FHV-1 จากตัวอย่างชิ้นเนื้อที่ผ่านการดองฟอร์มาลีนและคงสภาพด้วยพาราฟิน 18 ข้อควรระวังคือการตรวจ PCR จากรอยโรคที่ระบบทางเดินหายใจหรือดวงตา ไม่สามารถยืนยันหรือตัดข้อสงสัยโรคผิวหนังอักเสบจากเชื้อไวรัส herpes ได้ แต่อาจช่วยในการวินิจฉัยสาเหตุของโรคระบบทางเดินหายใจส่วนต้นที่เกิดพร้อมกัน
การรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ คำแนะนำคือใช้ยาต้านไวรัสชนิดกินและทา interferon omega และ imiquimod 16 19 หากแมวป่วยกำลังได้รับยากลุ่มสเตียรอยด์ควรพิจารณาหยุดยาทันที
โรคนี้เกิดจากการติดเชื้อราสองรูป(dimorphic fungi)ที่เรียกว่า Sporotrix schenckiiเชื้อราชนิดนี้อาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมและพื้นดิน conidia ของเชื้อราเข้าสู่ตัวสัตว์ผ่านการเกาหรือกัด โรคนี้เป็นโรคเฉพาะถิ่น(endemic) ในทวีปอเมริกากลางและอเมริกาใต้ มีการระบาด(epidemic)ในประเทศบราซิลช่วง 20 ปีที่ผ่านมา 20 นอกจากนี้ยังพบเป็นบางครั้งในทวีปอเมริกาเหนือ 20 21 สาระสำคัญคือโรคนี้เป็นโรคสัตว์สู่คน(zoonoses)โดยเส้นทางหลักในการติดเชื้อสู่คนคือผ่านการกัดหรือข่วนของแมว 20
ในแมวจะพบบ่อยสองรูปแบบคือ cutaneous และ cutaneous-lymphatic form บริเวณที่พบรอยโรคคือใบหน้าและศีรษะ รอยโรคบริเวณสันจมูกมักลามเข้าไปที่ nasal planum 21 รูปแบบ cutaneous-lymphatic มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นแบบกระจายทั่วตัวได้น้อยกว่า จากการศึกษาย้อนหลังในสัตว์ป่วย 28 ตัวพบว่าแมวที่ติดเชื้อเกือบทั้งหมดมีการออกไปนอกบ้าน รวมถึงมีสุขภาพแข็งแรงแต่มีบางตัวที่มีโรคอื่นร่วมด้วยเช่นการติดเชื้อ retrovirus 21
การวินิจฉัยเชื้อราชนิดนี้อาจทำได้โดยวิธี fine-needle aspiration เพื่อตรวจ cytology การเพาะเชื้อรา และการตรวจจุลพยาธิวิทยา 22 การรักษาใช้ยากลุ่ม azole เช่นยา itraconazole ที่ใช้บ่อยที่สุดให้ผลการรักษาที่น่าพึงพอใจและในบางครั้งพบว่ามีการใช้ sodium หรือ potassium iodide เพื่อการรักษาเช่นกัน 22 ระยะเวลาในการรักษามักใช้เวลาหลายเดือนและควรให้ยาต่ออีก 1-2 เดือนหลังจากที่ไม่มีอาการแล้ว การพยากรณ์โรคถือว่าดีสำหรับรูปแบบ cutaneous และ cutaneous-lymphatic form แต่ไม่ค่อยดีนักในรายที่ติดเชื้อทางระบบ
โรคผิวหนังบริเวณจมูกอักเสบแบบไม่ทราบสาเหตุ(idiopathic nasal dermatitis) เป็นความผิดปกติที่พบได้ไม่บ่อยบริเวณ nasal planum ของแมวพันธุ์ Bengal ยังไม่ทราบถึงสาเหตุและพยาธิกำเนิดของโรคนี้ สัตว์ป่วยมักมีอายุน้อยกว่า 1 ปี พบว่าเกิดความผิดปกติเช่น สะเก็ด รอยแตก และแผลหลุมที่บริเวณ nasal planum เท่านั้น ในการศึกษาหนึ่งทำการทบทวนกรณีสัตว์ป่วยทั้งหมด 48 ตัวและรายงานว่าแมวที่เป็นโรคนี้ไม่พบว่ามีรอยโรคที่ผิวหนังตำแหน่งอื่น 23 การวินิจฉัยทำโดยการซักประวัติและการตรวจร่างกาย
แนวทางในการรักษามีหลายวิธีทั้งการให้ยา prednisolone โดยการกิน salicylic acid และ tacrolimus ชนิดทาภายนอก ความสำเร็จในการรักษาโดย prednisolone และ salicylic acid ค่อนข้างหลากหลาย ในขณะที่ tacrolimus ชนิดทาภายนอกประสบความสำเร็จสูงสุดในการรักษา 23 แมวบางตัวอาจหายเองได้ การพยากรณ์จัดว่าดีถึงดีมากเพราะแมวที่ป่วยส่วนมากตอบสนองต่อการรักษา
อาการนี้พบได้ไม่บ่อยในแมวสีส้มที่โตเต็มวัยแล้ว เกิดเป็นรอยโรคสีดำ( asymptomatic macular melanosis)ที่บริเวณริมฝีปาก รวมถึงจมูก เหงือก และเปลือกตา 24 รอยโรคมีลักษณะแบน รูปร่างกลมถึงรีและมีเส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 1 เซนติเมตร(รูป 6) ผิวหนังมีปริมาณเม็ดสีหนาแน่นมากแต่ไม่ผิดปกติโดยบริเวณที่มีเม็ดสีอาจขยายขนาดอย่างช้าๆเมื่อเวลาผ่านไป(รูป 7)โดยไม่มีการเปลี่ยนไปเป็นก้อนเนื้อหรือแผ่นนูน 24การวินิจฉัยทำโดยการตรวจร่างกายแต่สามรถตัดชิ้นเนื้อตรวจได้หากสงสัย melanoma ผลจุลพยาธิวิทยาจะพบ melanosis โดยเฉพาะในชั้นที่ลึกสุดของ epithelium เนื่องจากเป็นความผิดปกติที่มีเพียงผลต่อความสวยงามจึงไม่มีคำแนะนำในการรักษา
Vitiligo สามารถพบได้เมื่อ melanocyte บริเวณผิวหนังส่วนหนึ่งถูกทำลายจนเกือบหมด พบได้ยากมากในแมว สาเหตุการเกิดมีได้หลายปัจจัยร่วมกันซึ่งอาจรวมถึงพันธุกรรม การทำลายที่เกิดจากการเหนี่ยวนำผ่านภูมิคุ้มกันตนเอง และอนุมูลอิสระ อาการที่พบคือภาวะขาดเม็ดสีอย่างสมมาตรของทั้งบริเวณผิวหนังที่ไม่มีขน(leukoderma)และบริเวณผิวหนังที่มีขน(leukotrichia) ในแมวจะพบภาวะขาดเม็ดสีที่บริเวณรอบดวงตา จมูก ขอบปาก ฝ่าเท้าและส่วนปลายของร่างกาย ส่วนอื่นของร่างกายมักไม่พบความผิดปกตินี้ ไม่พบการอักเสบ การหลุดลอกของผิวหนัง และสะเก็ดในบริเวณรอยโรค 25 งานวิจัยอ้างอิงพบเพียงเฉพาะในแมวพันธุ์ Siamese ซึ่งมักได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้ในเพศเมีย ช่วงวัยรุ่นจนถึงโตเต็มวัย 25การวินิจฉัยทำได้โดยการตรวจร่างกายแมวพันธุ์ Siamese ที่ยังไม่โตเต็มที่มาด้วยอาการขาดเม็ดสีโดยไม่มีการอักเสบหรือสะเก็ดร่วมด้วย การตัดชิ้นเนื้อตรวจแนะนำให้ทำในแมวที่ไม่เข้าข่ายที่กล่าวมาหรือเพื่อตัดข้อสงสัยโรคเช่น cutaneous epitheliotropic lymphoma การขาดสารอาหาร และ discoid lupus erythematosus ในระยะเริ่มต้น
Vitiligo ถือเป็นปัญหาความสวยงามในแมวแต่การสูญเสียเม็ดสีบริเวณเปลือกตาและจมูกอาจเป็นสาเหตุโน้มนำให้เกิด actinic keratosis ซึ่งนำไปสู่ squamous cell carcinoma ได้ ไม่มีคำแนะนำในการรักษา
เข้าทำเเบบทดสอบเพื่อสะสม VET-CE ภายในวันที่ 15 มิ.ย.-15 ส.ค. 2022
การที่เจ้าของแมวหลายคนกล่าวโทษว่าอาหารคือตัวการที่ทำให้แมวมีอาการทางผิวหนังนั้นถูกต้องแล้วหรือไม่
Cutaneous lymphoma ในแมวพบได้ยากแต่ถือเป็นมะเร็งที่มีความรุนแรงและเป็นอันตรายต่อชีวิตซึ่งจำเป็นต้องบรรจุไว้ใน้ข้อวินิจฉัยแยกแยะในโรคผิวหนังหลายกรณี
การใช้ Elizabethan collar ในแมวมักทำเพื่อป้องกันการเกาจากอาการคัน แต่การสวมใส่อาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของแมว
สัตวแพทย์หญิง Christina Gentry ได้อธิบายถึงวิธีการในการวินิจฉัยแยกแยะและรักษาเมื่อพบรอยโรคบริเวณจมูกแมว