โรคผิวหนังที่เกิดจากภาวะภูมิแพ้อาหารในแมว
การที่เจ้าของแมวหลายคนกล่าวโทษว่าอาหารคือตัวการที่ทำให้แมวมีอาการทางผิวหนังนั้นถูกต้องแล้วหรือไม่
หมายเลขหัวข้อ 31.1 Other Scientific
เผยแพร่แล้ว 16/08/2022
สามารถอ่านได้ใน Français , Deutsch , Italiano , Română , Español , English และ 한국어
การที่เจ้าของแมวหลายคนกล่าวโทษว่าอาหารคือตัวการที่ทำให้แมวมีอาการทางผิวหนังนั้นถูกต้องแล้วหรือไม่ ในบทความนี้จะกล่าวถึงการวินิจฉัยและรักษาโรคผิวหนังจากภูมิแพ้อาหารอย่างถูกวิธี (แปลโดย น.สพ. พีระ มานิตยกุล)
โรคผิวหนังที่เกิดจากภาวะภูมิแพ้อาหารในแมวไม่สามารถแยกจากภาวะภูมิแพ้ชนิดอื่นด้วยอาการและรอยโรคได้
อาการคันที่ไม่ขึ้นกับฤดูกาลเป็นอาการแสดงออกที่พบได้บ่อยที่สุดในกรณีภูมิแพ้อาหาร
ภูมิแพ้อาหารสามารถวินิจฉัยอย่างแม่นยำได้ด้วยการทดสอบอาหาร อาจใช้อาหารปรุงเองที่บ้าน อาหารรักษาโรคที่มีแหล่งโปรตีนที่แมวไม่เคยได้รับ หรืออาหารทำจากไฮโดรไลซ์โปรตีนเป็นเวลาอย่างน้อย 8 สัปดาห์
แนวคิดที่ไม่ถูกต้องในหมู่เจ้าของสัตว์เกี่ยวกับภูมิแพ้อาหารนั่นคืออาการแพ้จะเกิดขึ้นไม่นานหลังเปลี่ยนอาหาร ถึงแม้ว่าปฏิกิริยาภูมิแพ้อาหารจะเกิดขึ้นไม่นานหลังมีการเปลี่ยนอาหารแต่นั่นมักไม่ใช่การแพ้ที่แท้จริงเพราะระบบภูมิคุ้มกันต้องใช้เวลาในการสร้างปฏิกิริยาตอบโต้ สัตวแพทย์จำเป็นต้องอธิบายให้เจ้าของทราบถึงความแตกต่างระหว่างการแพ้อาหาร(food intolerance) และภูมิแพ้อาหาร( food allergy) food intolerance เป็นการตอบสนองของร่างกายที่ผิดปกติโดยไม่เกี่ยวข้องกับการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อส่วนประกอบ สารพิษ หรือผลิตภัณฑ์ในอาหารที่ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ 1 ตัวอย่างที่ชัดที่สุดคือ lactose intolerance ที่เกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถย่อย lactose ส่งผลให้เกิด hyper-osmotic diarrhea ตามมาด้วยอาการท้องอืด และปวดท้อง ในขณะที่ food allergy เกิดจากปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันที่มีต่อส่วนประกอบในอาหารซึ่งอาจเป็น hypersensitivity type 1 จากการกระตุ้นผ่าน IgE หรือ delayed hypersensitivity จากการกระตุ้นผ่านลิมโฟไซต์และ cytokines 1 ในสัตว์อาจแยก food intolerance และ food allergy ได้ยาก จึงมีการกำหนดให้ใช้นิยามว่า adverse food reaction เพื่อครอบคลุมความผิดปกติต่างๆที่เป็นการตอบสนองการกินอาหาร 2 ในแมวจะพบว่า adverse food reaction มักแสดงออกในรูปแบบของอาการที่ผิวหนังและระบบทางเดินอาหาร แต่อาจพบเยื่อบุตาขาวอักเสบ(conjunctivitis) โพรงจมูกอักเสบ( rhinitis) อาการทางระบบประสาทและความผิดปกติทางพฤติกรรมได้บ้างแต่น้อยมาก 1 3 บทความนี้จะเน้นกล่าวถึงโรคผิวหนังที่เกิดจากภูมิแพ้อาหาร( cutaneous adverse food reaction; CAFR)
Sarah E. Hoff
การซักประวัติเป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้หากต้องการวางแผนการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง รวมถึงอาหารที่แมวกินซึ่งจะบ่งบอกถึงสารก่อภูมิแพ้ที่แมวมีโอกาสได้รับและแนวทางการรักษา ตัวอย่างคำถามที่ควรถามเจ้าของแมวเกี่ยวกับโรคผิวหนังอยู่ในตารางที่ 1 ข้อมูลที่ได้จากการซักประวัติจะช่วยทำให้รายชื่อโรคในการวินิจฉัยแยกแยะสั้นลงทั้งยังเป็นแนวทางในขั้นตอนต่อไป ยกตัวอย่างเช่นหากแมวมีการป้องกันหมัดไม่สม่ำเสมออาจทำให้การแพ้น้ำลายหมัดอยู่ในอันดับต้นของการวินิจฉัยแยกแยะ และหากแมวที่เลี้ยงด้วยกันหลายตัวมีอาการคล้ายกันมีโอกาสที่จะเกิดจากการติดปรสิตภายนอกหรือเชื้อจุลชีพมากกว่า
ประวัติการเจ็บป่วย | อาหารที่กิน | การใช้ชีวิต | ยาที่ใช้ |
---|---|---|---|
|
|
|
|
อาการที่แสดงออกของ CAFR สามารถเกิดได้ทุกช่วงอายุแต่พบมากในสัตว์ที่ยังอายุไม่มากจนถึงวัยกลางคนโดยมีอายุเฉลี่ยที่เริ่มแสดงอาการอยู่ที่ 3.9 ปี และไม่มีความจำเพาะที่ชัดเจนต่อเพศและพันธุ์ 5 อาการที่พบได้บ่อยที่สุดคืออาการคันโดยไม่ขึ้นกับฤดูกาล 5 และมีความชุกของการเกิดร่วมกันของอาการระบบทางเดินอาหารที่หลากหลายอยู่ที่ร้อยละ 17-22 ของแมวที่เป็น CAFR 2 เมื่อเกิดร่วมกันจะพบว่าอาการของระบบทางเดินอาหารที่พบบ่อยในแมวที่มีภาวะภูมิแพ้อาหารคืออาเจียนตามมาด้วยท้องอืดและถ่ายเหลว 3
การตอบสนองในอดีตต่อการรักษาทางยาสามารถมีได้หลากหลาย ในการศึกษาหนึ่งซึ่งทำในแมว 17 ตัวที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น CAFR พบว่าอย่างน้อยมีการตอบสนองบางส่วนต่อยาสเตียรอยด์ชนิดให้ทางระบบหรือทาภายนอก 6 แต่ในการศึกษาย้อนหลังซึ่งทำในแมวป่วย 48 ตัว พบว่ามีร้อยละ 61 ไม่ตอบสนองต่อยาสเตียรอยด์ชนิดให้ทางระบบ 7 ในการศึกษาชิ้นที่ 3 ซึ่งทำในแมวที่เป็น CAFR 10 ตัว พบว่าการฉีดสเตียรอยด์ชนิดออกฤทธิ์ยาวนานไม่เกิดผลใดๆจากการบอกเล่าของเจ้าของแมว 8
การตรวจร่างกายอาจพบหนึ่งในรูปแบบของปฏิกิริยาภูมิแพ้ทางผิวหนังได้แก่ อาการคันโดยไม่พบรอยโรค ขนร่วงจากการแต่งขนมากเกินไป(รูป 1) ผิวหนังอักเสบมิลิเอริ(รูป 2) และรอยโรคที่เกี่ยวข้องกับอีโอซิโนฟิลได้แก่ indolent ulcer eosinophilic plaque และ eosinophilic granuloma (รูป 3 และ 4) 2 ส่วนของร่างกายที่มักพบรอยโรคได้แก่ ศีรษะ ใบหน้า หู ด้านใต้ลำตัว และเท้า 5 แต่อาการเหล่านี้ไม่ได้จำเพาะต่อ CAFR โดยมีโรคอื่นมากมายที่สามารถมีอาการได้คล้ายคลึงกัน(ตารางที่ 2) การตรวจร่างกายควรใช้หวีสางหมัดเพื่อหาหมัด เหา และไร Cheyletiella spp. ซึ่งการตรวจไม่พบหมัดหรือขี้หมัดไม่สามารถตัดปรสิตออกจากข้อสงสัยได้เพราะแมวมีการแต่งขนตลอดเวลาทำให้อาจไม่พบหลักฐานการมีอยู่ของหมัด
โรคที่ต้องวินิจฉัยแยกแยะ | วิธีการวินิจฉัยที่แนะนำ |
---|---|
แพ้น้ำลายหมัด(flea allergy dermatitis) | การตรวจร่างกาย ใช้หวีสางหมัด แมวมีการตอบสนองที่ดีต่อการกำจัดปรสิตภายนอก fecal floatation และการรตรวจพบพยาธิตัวตืด(tapeworm) |
Demodex gatoi | ขูดตรวจผิวหนัง แมวตอบสนองต่อการรักษา fecal floatation |
Cheyletiella spp. | การตรวจร่างกาย ตรวจ cytology ของผิวหนัง ขูดตรวจผิวหนัง ใช้หวีสางหมัด fecal floatation |
Otodectes cynotis หรือ Notoedres cati | การตรวจร่างกาย ตรวจ cytology ผิวหนัง/หู ขูดตรวจผิวหนัง |
เชื้อรา dermatophyte | ประวัติ Trichogram Wood’s lamp เพาะเชื้อราด้วย DTM ตรวจ PCR |
โรคภูมิคุ้มกัน(pemphigus foliaceus) | ตรวจ cytology ผิวหนัง ตัดชิ้นเนื้อตรวจจุลพยาธิวิทยา |
ความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ(hyperthyroidism เบาหวาน อื่นๆ) | ประวัติ ตรวจเลือดและปัสสาวะ |
โรคผิวหนังที่เกิดจากการแพ้ยา (cutaneous adverse drug reaction) | ประวัติ ตัดชิ้นเนื้อตรวจจุลพยาธิวิทยา |
การติดเชื้อไวรัส (herpesvirus papillomavirus calicivirus poxvirus FeLV) | ตัดชิ้นเนื้อตรวจจุลพยาธิวิทยา ตรวจ PCR ตรวจ immunohistochemistry |
Non-flea, non-food induced hypersensitivity dermatitis (NFNFIHD) | ซักประวัติ ตัดข้อสงสัยโรคอื่นออกหมด |
ภาวะขนร่วงที่เกิดจากอารมณ์(psychogenic alopecia) | ซักประวัติ การตอบสนองต่อการรักษา ตัดข้อสงสัยโรคอื่นออกหมด |
หลังจากทำการตัดความเป็นไปได้ของโรคอื่นออกแล้ว หากมีการวินิจฉัย CAFR ที่ง่ายต่อการตรวจ ไม่แพง และมีความแม่นยำสูงคงจะเป็นเรื่องที่ดีไม่น้อย อย่างไรก็ตามในปัจจุบันยังไม่มีการตรวจใดที่มีคุณสมบัติครบถ้วนดังกล่าว 10 แต่ได้มีการเสนอวิธีต่างๆในการวินิจฉัย CAFR
แม้ว่าการเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อผิวหนังตรวจจุลพยาธิวิทยาจะมีส่วนช่วยในการวินิจฉัยโรคผิวหนังต่างๆได้หลายโรคและช่วยในการตัดข้อสงสัยโรคอื่นที่ต้องทำการวินิจฉัยแยกแยะได้ แต่ไม่มีลักษณะทางจุลพยาธิที่วิทยาที่จำเพาะและใช้ยืนยัน CAFR การเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อของสัตว์ป่วยด้วย CAFR ไปตรวจจะพบ perivascular dermatitis ที่สังเกตได้จากการมีเซลล์อักเสบต่างๆเข้ามาแทรกได้แก่ ลิมโฟไซต์ อีโอซิโนฟิล mast cell นิวโทรฟิล และมาโครฟาจ อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้จำเพาะต่ออ CAFR สามารถพบได้ในการแพ้ทุกกรณี ดังนั้นการเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อของสัตว์ที่ป่วยด้วย CAFR แพ้น้ำลายหมัด และ non-flea non-food induced hypersensitivity dermatitis(NFNFIHD) ไปตรวจจะพบการเปลี่ยนแปลงที่เหมือนกัน การเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อไปตรวจเพียงอย่างเดียวไม่สามารถบอกสาเหตุของการแพ้ได้และในขณะเดียวกันการเก็บตัวอย่างลำไส้เล็กของสัตว์ป่วยที่มีอาการของระบบทางเดินอาหารร่วมด้วยสามารถบอกความผิดปกติทางพยาธิวิทยาได้แต่ไม่สามารถวินิจฉัยสาเหตุของโรคได้เช่นกัน ทำให้ไม่สามารถแยกสัตว์ที่แพ้อาหารออกจากแพ้สิ่งอื่น 10
การศึกษาพบว่าการวิเคราะห์ตัวอย่างเส้นชนและน้ำลายไม่สามารถทำซ้ำได้เพราะตัวอย่างที่ทำซ้ำในสัตว์ตัวเดียวกันให้ผลที่แตกต่างกัน 13 นอกจากนี้การทดสอบยังไม่สามารถแยกระหว่างสุนัขที่มีอาการแพ้หรือไม่มีอาการแพ้ได้ รวมถึงไม่สามารถแยกตัวอย่างจากสิ่งไม่มีชีวิต(เส้นขนตุ๊กตา)กับสิ่งมีชีวิตได้ 13 การศึกษาไม่นานนี้ได้ทำการประเมินความจำเพาะ ความไว และค่าทำนายเชิงบวกเชิงลบของการวิเคราะห์ขนและน้ำลายพบว่าต่ำเกินกว่าที่จะแนะนำให้ใช้ในการวินิจฉัย CAFR ได้ 2
วิธีการเดียวที่พบว่ามีความน่าเชื่อถือมากพอที่จะใช้ในการวินิจฉัยภาวะภูมิแพ้อาหารคือการทดสอบอาหาร 10 ทฤษฎีที่ใช้คือหากนำสารที่ก่อให้เกิดการแพ้ออกจากอาหารที่สัตว์กินจะต้องทำให้อาการโดยรวมดีขึ้น ความท้าทายของวิธีนี้คือการหาสารก่อภูมิแพ้ที่กระตุ้นให้สัตว์เกิดอาการแพ้ให้พบ จากการทดลองกระตุ้นให้เกิดการแพ้มากมายพบว่าส่วนประกอบที่มีโอกาสก่อให้เกิดภาวะภูมิแพ้อาหารในแมวได้แก่เนื้อวัว ปลา และไก่ 2 และการทดสอบอาหารควรเลือกใช้อาหารที่ปราศจากวัตถุดิบดังกล่าว
การยืนยันภาวะภูมิแพ้อาหารนั้นเป็นกระบวนการหลายขั้นตอน (แผนภาพ 1) เริ่มจากแมวจำเป็นต้องกินอาหารทดสอบเป็นระยะเวลาหนึ่งและมีอาการที่ดีขึ้น การสำรวจงานวิจัยที่ตีพิมพ์ไม่นานนี้หลายฉบับสรุปได้ว่าร้อยละ 90 ของแมวที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น CAFR จะมีอาการทางคลินิกที่ดีขึ้นใน 8 สัปดาห์ส่งผลให้คำแนะนำในการทดสอบอาหารปัจจุบันควรใช้เวลาอย่างน้อย 8 สัปดาห์เพื่อให้เกิดโอกาสที่จะวินิจฉัยได้ถูกต้องมากที่สุด 14 การยืนยันว่าอาหารเป็นสาเหตุที่ทำให้อาการของสัตว์ดีขึ้นนั้นต้องทำการ “ท้าทาย”โดยการเติมอาหารเดิมที่สัตว์เคยกินลงไปในอาหารที่ใช้ทดสอบ แมวที่มีภาวะภูมิแพ้อาหารส่วนมากจะมีอาการที่แย่ลงใน 2-3 วัน แต่มีรายงานว่าบางตัวอาจใช้เวลาถึง 14 วัน 6 แมวบางตัวอาจมีอาการที่ดีขึ้นเมื่อเปลี่ยนมาให้อาหารทดสอบในครั้งแรก แต่หลังจากการเติมอาหารเก่าลงไปแล้วไม่กลับมามีอาการอีกอาจเป็นผลจากการรักษาอื่นๆที่ได้ทำร่วมกับการทดสอบอาหารเช่นการกำจัดหมัด การรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน การได้รับโปรตีนและไขมันที่คุณภาพดีขึ้นจากอาหารที่ใช้ทดสอบ หรือแม้แต่การเปลี่ยนฤดูกาล 2 หากอาการของแมวแย่ลงหลังได้รับอาหารที่เคยกิน ให้ทำการเปลี่ยนมาใช้อาหารทดสอบเพียงอย่างเดียวอีกครั้งถ้าแมวมีอาการที่ดีขึ้นถือเป็นการวินิจฉัยยืนยัน CAFR ได้ ในการระบุสารก่อภูมิแพ้ที่แน่นอนอาจทดลองเติมส่วนผสมของอาหารทีละชนิดทุกสัปดาห์หรือทุกสองสัปดาห์เพื่อสังเกตว่าแมวมีอาการแย่ลงหรือไม่
อาหารที่เป็นตัวเลือกนำมาใช้ทดสอบอาหารมีสามชนิดด้วยกัน อาหารปรุงเองที่บ้านโดยเลือกแหล่งโปรตีนและคาร์โบไฮเดรตที่แมวไม่เคยกิน อาหารสำเร็จรูปที่มีแหล่งโปรตีนที่แมวไม่เคยกิน และอาหารสำเร็จรูปที่มีไฮโดรไลซ์โปรตีน
ตัวเลือกที่เป็นอาหารปรุงเองที่บ้านสร้างโอกาสในการตัดส่วนประกอบที่น่าสงสัยได้เช่นแป้งข้าวโพดและผลิตภัณฑ์ที่เป็นผลพลอยได้ 1 ถึงแม้ว่าจะมีการศึกษาย้อนหลังจำนวนไม่มากรายงานว่าอาหารชนิดนี้มีความไวสูงในการวินิจฉัย CAFR ในแมว 6 แต่จำเป็นต้องมีการซักประวัติการกินอาหารอย่างละเอียดเพื่อให้มั่นใจได้ว่าแหล่งโปรตีนและคาร์โบไฮเดรตมาจากแหล่งที่แมวไม่เคยได้รับจริง อาหารปรุงเองที่บ้านยังต้องการการลงแรงและการปรึกษากับสัตวแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านโภชนาการเพื่อให้มั่นใจได้ว่ามีความสมดุลทางโภชนาการและหลีกเลี่ยงผลเสียที่จะเกิดจากการที่ปริมาณสารอาหารไม่เหมาะสม ผลที่ตามมาคือสัตวแพทย์และเจ้าของอาจเลือกที่จะใช้อาหารรักษาโรคที่มีจำหน่ายในท้องตลาดเพื่อหลีกเลี่ยงความยุ่งยาก
อีกทางเลือกหนึ่งที่ดีคืออาหารสำเร็จรูปที่ทำจากแหล่งโปรตีนที่แมวไม่เคยกินซึ่งสะดวกแก่เจ้าของที่ไม่อยากปรุงอาหารให้แมว แต่สัตวแพทย์ยังคงต้องซักประวัติการกินอาหารของแมวอย่างละเอียดเพื่อหลีกเลี่ยงโปรตีนจากแหล่งที่แมวเคยได้รับ นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาถึงแหล่งที่มาของอาหารอีกด้วย บางครั้งเจ้าของแมวอาจเลือกใช้อาหารทั่วไปที่ไม่ใช่อาหารรักษาโรคแต่มีการโฆษณาบนบรรจุภัณฑ์ว่า “มีการจำกัดส่วนผสม” หรือ “โปรตีนชนิดใหม่(novel protein)” โดยอาหารเหล่านี้ไม่ได้รับการทดสอบยืนยันความบริสุทธิ์ของอาหารและมักพบว่ามีส่วนประกอบที่ไม่ได้อยู่บนฉลากปะปนอยู่ 15 ส่วนผสมที่ระบุที่มาไม่ได้นั้นอาจทำให้สูญเสียผลดีจากการใช้โปรตีนที่แมวไม่เคยได้รับเพราะแมวอาจเกิดการแพ้ต่อสารปนเปื้อนเหล่านั้นได้ 15 แม้แต่อาหารดิบก้อมีข้อน่ากังวลเช่นเดียวกัน 16 ทำให้อาหารทั่วไปไม่เหมาะในการใช้ทดสอบอาหาร ในตอนนี้อาหารที่เหมาะสมในการใช้ทดสอบอาหารจึงเป็นอาหารรักษาโรคเท่านั้น
Darren J. Berger
ปัจจัยที่สร้างความยุ่งยากอีกประการหนึ่งคือมีรายงานมากมายที่กล่าวว่ามีการปฏิกิริยาการแพ้ข้ามกันระหว่างโปรตีนคนละชนิดได้ส่งผลให้การหาโปรตีนที่แมวไม่เคยได้รับจริงนั้นทำได้ยาก พบว่ามีสารก่อภูมิแพ้ที่พบได้ทั่วไปในสัตว์ปีก ดังนั้นการให้เนื้อเป็ดกับสัตว์ที่มีประวัติการกินไก่อาจไม่ใช่โปรตีนจากแหล่งที่ไม่เคยได้รับอย่างแท้จริง 17 นอกจากนี้ยังพบว่ามีการเหนี่ยวนำให้เกิดความไวต่อการแพ้ได้ระหว่างสายพันธุ์สัตว์เคี้ยวเอื้องด้วยกัน หมายความว่าสัตว์ที่เคยกินเนื้อวัวอาจไม่สามารถเลือกเนื้อแกะ เนื้อกวาง และเนื้อไบซันเป็นแหล่งโปรตีนที่ไม่เคยกินได้ 18
จากเหตุผลข้างต้นทำให้สัตวแพทย์หลายคนเลือกใช้อาหารรักษาโรคที่ทำจากไฮโดรไลซ์โปรตีนซึ่งกระบวนการผลิตจะสร้างสายเปปไทด์ที่สั้นมากพอที่คาดว่าจะไม่เกิดการ cross-link ของ mast cell ที่ทำให้เกิดการแพ้ ขนาดของอาหารที่ก่อให้เกิดการแพ้ในคนจะอยู่ที่ 10-70 kDa 1 แต่ในสัตว์ยังไม่มีการกำหนดขนาดที่แน่นอน มีโอกาสที่สัตว์จะแสดงอาการแพ้ต่อโปรตีนต้นแบบหากไฮโดรไลซ์โปรตีนมีขนาดไม่เล็กพอ นอกจากนี้เปปไทด์ของอาหารแต่ละชนิดยังมีขนาดไม่เท่ากัน ในการศึกษาแบบ crossover ที่ทำในสุนัข 10 ตัวซึ่งได้รับการวินิจฉัยว่าแพ้ไก่โดยเปรียบเทียบอาหารที่มีโปรตีนไฮโดรไลซ์สองชนิดซึ่งมีแหล่งโปรตีนต้นแบบและกรรมวิธีในการไฮโดรไลซ์ต่างกัน(ขนไก่ที่ถูกไฮโดรไลซ์อย่างมากและตับไก่ที่ถูกไฮโดรไลซ์) เจ้าของสุนัขให้คะแนนอาการคันโดยพบว่าสุนัข 4 จาก 10 ตัวมีอาการคันมากขึ้นเมื่อกินอาหารที่ทำจากตับไก่ไฮโดรไลซ์แต่ไม่คันเมื่อกินอาหารที่ทำจากขนไก่ที่ถูกไฮโดรไลซ์อย่างมาก 19จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาแบบเดียวกันในแมวเพราะหนึ่งในความยากคืออาหารเหล่านี้มักไม่มีความน่ากินสำหรับแมว ขนาดของเปปไทด์ที่เล็กยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิด hyper-osmotic diarrhea เมื่อกินอาหารอีกด้วย 20
การศึกษาเมื่อไม่นานมานี้หลายกรณีได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับประสิทธิภาพของไฮโดรไลซ์โปรตีนในการวินิจฉัย CAFR ได้อย่างแม่นยำในสุนัขและแมว รายงานที่อ้างอิงจากข้างต้น 6 พบว่าแมวร้อยละ 50 ในการศึกษาไม่สามารถวินิจฉัยโดยใช้อาหารที่ทำจากโปรตีนไฮโดรไลซ์ได้และจำเป็นต้องใช้อาหารปรุงเองในการวินิจฉัย CAFR ได้อย่างแม่นยำ แต่ว่าเป็นการศึกษาย้อนหลังขนาดเล็กและมีการใช้อาหารทดสอบที่หลากหลาย อีกการศึกษาหนึ่งทำการดูปฏิกิริยาของลิมโฟไซต์ของสุนัขที่เป็น CAFR ต่อโปรตีนที่หลงเหลืออยู่และเปปไทด์(> 1 kDa) ในอาหารที่มีไฮโดรไลซ์โปรตีนสองชนิดพบว่าโปรตีนที่หลงเหลืออยู่กระตุ้นให้เกิดการทำงานของลิมโฟไซต์ในสุนัขร้อยละ 30 21ถึงแม้ว่าจะเป็นการศึกษาในห้องทดลอง(in vitro) แต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่ามีนัยยะสำคัญทางคลินิกหรือไม่ อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาจากโปรตีนชนิดใหม่ที่แมวไม่เคยได้รับซึ่งมีจำกัด โอกาสในการเกิดปฏิกิริยาการแพ้ข้ามกันของแหล่งโปรตีน และความยากในการพัฒนาสูตรรวมถึงการปรุงอาหารเองที่บ้านทำให้อาหารที่ทำจากไฮโดรไลซ์โปรตีนยังคงเป็นตัวเลือกที่ดีในการทดสอบอาหาร
ความท้าทายหนึ่งของการทดสอบอาหารคือการที่ต้องอาศัยเจ้าของสัตว์เพื่อให้ทำได้อย่างสมบูรณ์ แบบสอบถามที่ตอบโดยเจ้าของสัตว์พบว่าเกือบร้อยละ 60 ไม่ได้ให้อาหารสำหรับทดสอบอาหารอย่างเคร่งครัดด้วยเหตุผลหลากหลายเช่นวิธีการใช้ชีวิต ราคา หรือความสามารถในการป้อนยา 22นอกจากนี้พบว่าเจ้าของสัตว์จะให้ความร่วมมือในการทดสอบอาหารมากขึ้นหากสัตวแพทย์ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับอาการและ CFAR ซึ่งเป็นการตอกย้ำความสำคัญของการสื่อสารและการให้ความรู้แก่เจ้าของสัตว์ในกรณีของการทดสอบอาหาร
การเฟ้นหาอาหารที่ใช้ในการทดสอบซึ่งแมวยอมกินนั้นอาจาเป็นปัญหาด้วยตัวเอง สัตวแพทย์อาจต้องติดตามเจ้าของอย่างใกล้ชิดในช่วงทดสอบอาหารและเน้นย้ำให้เจ้าของเฝ้าดูพฤติกรรมการกกินของสัตว์เลี้ยงเพราะแมวที่ไม่กินอาหารอาจเกิดปัญหาเช่น hepatic lipidosis ได้ 2 อาจต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการหาอาหารที่แมวยอมกิน บ้านที่เลี้ยงแมวหลายตัวอาจทำให้การให้อาหารเพื่อการทดสอบแก่แมวเพียงตัวเดียวมีความยากเพิ่มขึ้น อาหารรักษาโรคที่มีวางจำหน่ายนั้นมีสารอาหารที่สมดุลและสามารถให้แมวโตเต็มวัยที่ปกติกินได้ ดังนั้นวิธีที่เหมาะสมคือให้แมวทุกตัวในบ้านกินอาหารเหมือนกัน หากเจ้าของสัตว์ต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายของอาหารรักษาโรคและให้เพียงแมวที่มีปัญหากินอาหารนั้นอาจต้องทำการแยกเลี้ยงหรือใช้เครื่องให้อาหารชนิดอ่านไมโครชิปซึ่งจะทำงานกับสัตว์เฉพาะบางตัว
เข้าทำเเบบทดสอบเพื่อสะสม VET-CE ภายในวันที่ 22 ส.ค. - 22ต.ค. 2022
Marsella, R. Hypersensitivity Disorders. In; Miller WH, Griffin CE, Campbell KL, et al (eds). Muller & Kirk's Small Animal Dermatology 7th ed. St. Louis, Mo.: Elsevier/Mosby, 2013;363-431.
การที่เจ้าของแมวหลายคนกล่าวโทษว่าอาหารคือตัวการที่ทำให้แมวมีอาการทางผิวหนังนั้นถูกต้องแล้วหรือไม่
Cutaneous lymphoma ในแมวพบได้ยากแต่ถือเป็นมะเร็งที่มีความรุนแรงและเป็นอันตรายต่อชีวิตซึ่งจำเป็นต้องบรรจุไว้ใน้ข้อวินิจฉัยแยกแยะในโรคผิวหนังหลายกรณี
การใช้ Elizabethan collar ในแมวมักทำเพื่อป้องกันการเกาจากอาการคัน แต่การสวมใส่อาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของแมว
สัตวแพทย์หญิง Christina Gentry ได้อธิบายถึงวิธีการในการวินิจฉัยแยกแยะและรักษาเมื่อพบรอยโรคบริเวณจมูกแมว