การคำนวณปริมาณพลังงานในอาหารสัตว์
สาเหตุที่ปริมาณพลังงานในอาหารสัตว์มีความสำคัญเป็นเพราะ...
เผยแพร่แล้ว 20/12/2021
สามารถอ่านได้ใน Français , Deutsch , Italiano , Español และ English
มนุษย์มีสัตว์เลี้ยงเพื่อตอบสนองความต้องการทางด้านจิตวิทยา เช่น ความต้องการเพื่อน โดยการเลือกสัตว์เลี้ยงมักพิจารณาจากความต้องการของผู้เลี้ยงเองแต่มักมองข้ามความต้องการพื้นฐานของสัตว์ (แปลโดน น.สพ. พีระ มานิตยกุล)
การใช้สติ เหตุผลและคำแนะนำที่เหมาะสมจากสัตวแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญอาจไม่เพียงพอต่อการเปลี่ยนพฤติกรรมการเลี้ยงสัตว์ของเจ้าของสัตว์เลี้ยงได้ เจ้าของสัตว์มักไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำและมีโอกาสให้ความร่วมมือน้อยลงเมื่อเวลาผ่านไปนานขึ้น
ความสัมพันธ์ระหว่างสัตวแพทย์และเจ้าของสัตว์เลี้ยงมีผลต่อความสำเร็จในการควบคุมหรือเปลี่ยนอาหารสัตว์ สัตวแพทย์ไม่จำเป็นต้องมีความรู้เทียบเท่านักจิตวิทยาแต่หากเข้าใจหลักในการสื่อสารและกลไกความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์จะช่วยให้ประสบความสำเร็จได้มากขึ้น
ความรู้ความเข้าใจในบรรทัดฐานทางสังคมจะช่วยในการจูงใจเจ้าของสัตว์เลี้ยงให้ปฎิบัติตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ได้มากขึ้น
มนุษย์มีสัตว์เลี้ยงเพื่อตอบสนองความต้องการทางด้านจิตวิทยาเช่นความต้องการเพื่อนโดยการเลือกสัตว์เลี้ยงมักพิจารณาจากความต้องการของผู้เลี้ยงเองแต่มักมองข้ามความต้องการพื้นฐานของสัตว์ แนวทางปฏิบัติตามอุดมคติคือเจ้าของสัตว์เลี้ยงเข้ามาปรึกษากับสัตวแพทย์ขอคำแนะนำในการเลี้ยงสัตว์และการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อสัตว์เลี้ยงก่อนที่จะรับสัตว์มาเลี้ยงซึ่งมักไม่ค่อยเกิดขึ้นในความเป็นจริง ทำให้ความเข้ากันไม่ได้ของกิจวัตรเจ้าของสัตว์และสัตว์เลี้ยง สาเหตุของการอยากมีสัตว์เลี้ยง และความต้องการพื้นฐานของสัตว์เลี้ยงต่างส่งผลต่อการจัดการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสมทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของสัตว์และสัตว์เลี้ยงรวมถึงความเป็นอยู่ของสัตว์ไม่ดีเท่าที่ควร
สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่เจ้าของสัตว์มักทำผิดพลาดในการเลี้ยงคือการให้อาหาร สัตว์เลี้ยงเกือบทั้งหมดต้องอาศัยเจ้าของในการเข้าถึงอาหารแต่สัตวแพทย์มักพบว่าเจ้าของสัตว์โดยมากไม่เข้าใจว่าความต้องการทางโภชนาการของสัตว์แต่ละตัวมีความแตกต่างกัน ทั้งยังไม่ทราบถึงความแตกต่างทางโภชนาการของสุนัขและแมว เจ้าของสัตว์ที่ได้รับข้อมูลที่ผิด ไม่ระมัดระวังหรือไม่ใส่ใจมักดูแลสัตว์อย่างเรียบง่ายไม่มีแบบแผนโดยการยึดเอาพฤติกรรมมนุษย์มาใช้กับสัตว์รวมถึงการให้อาหาร สัตว์เลี้ยงจึงกลายเป็นเหยื่อของพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเจ้าของโดยผลที่ตามมาอาจก่อให้เกิดการเจ็บป่วยเช่นน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน
หากการป้องกันเหตุการณ์ที่ได้กล่าวมาข้างต้นไม่สามารถทำได้จำเป็นต้องมีการเข้าแทรกแซงโดยผู้เชี่ยวชาญเช่นสัตวแพทย์เพื่อแก้ไข้พฤติกรรมการให้อาหารที่ผิด แต่ในกรณีนี้อาจไม่ง่ายเหมือนการเลือกชนิดอาหารเพื่อการลดหรือควบคุมน้ำหนัก นักโภชนาการให้ข้อคิดเห็นว่าการเปลี่ยนอาหารเป็นอาหารควบคุมน้ำหนักเพียงอย่างเดียวอาจไม่ประสบความสำเร็จในการให้อาหารที่บ้านซึ่งมีสภาพแวดล้อมต่างจากสถานที่ที่อาหารถูกผลิตและทดสอบ 1 สาเหตุมาจากความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของและสัตว์เลี้ยง เมื่อนำมาพิจารณาถึงความจำเป็นในการเข้าแทรกแซงของสัตวแพทย์เพื่อแก้ไขการให้อาหารอย่างถูกวิธีทำให้ไม่สามารถมองข้ามความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของและสัตว์เลี้ยงรวมถึงการสื่อสารกับเจ้าของสัตว์เลี้ยงไปได้
การจัดการวิธีการให้อาหารทำให้การดูแลสัตว์โดยรวมง่ายขึ้นเพราะเจ้าของสัตว์สามารถสื่อสารกับสัตว์เลี้ยงได้อย่างชัดเจนและสม่ำเสมอทำให้สัตว์เชื่อฟังและปฏิบัติตามมากขึ้น การอธิบายรายละเอียดจึงมีความสำคัญเช่นปริมาณและจำนวนมื้ออาหารเพื่อหลีกเลี่ยงการให้อาหารที่มากเกินไปหรือนอกมื้ออาหาร เจ้าของสัตว์อาจมีการให้อาหารนอกมื้ออาหารเช่นระหว่างมื้ออาหารของคน (รูป1) หรือเพื่อหยุดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์เช่นการเห่าของสุนัขหรือการร้องเรียกของแมว
นอกจากการให้อาหารสัตว์แล้วการออกกำลังกายยังมีส่วนสำคัญ ในสุนัขทำได้ง่ายโดยการจูงเดินโดยพิจารณาความเข้มข้นของการเดินตามขนาดของสุนัข สำหรับแมวอาจกระตุ้นให้ออกกำลังกายโดยใช้ของเล่นเพื่อฝึกหาอาหาร (รูป 2) หรือวางอาหารไว้ตามที่ต่างๆให้แมวปีนป่ายหาอาหาร กิจกรรมเหล่านี้ยังเชื่อมต่อกับความต้องการทางด้านพฤติกรรมของสัตว์ซึ่งรวมถึงการสำรวจและ/หรือการล่า การเข้าสังคมทั้งภายนอกและภายใน นอกจากนี้ยังทำให้เจ้าของสัตว์ได้มีกิจกรรมร่วมกับสัตว์เลี้ยงอีกด้วย
การที่จะให้คำแนะนำของสัตวแพทย์ได้ผลอย่างเต็มที่นั้นต้องมั่นใจว่าผู้ให้อาหารสัตว์ไม่เพียงเข้าใจข้อมูลอย่างถูกต้องแต่ยังต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด คำแนะนำไม่ว่าจะผ่านการบอกเล่าหรือเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรอาจไม่ได้ผลเต็มที่เพราะมีเจ้าของสัตว์จำนวนน้อยที่สามารถปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้องและมักลดน้อยลงอีกเมื่อเวลาผ่านไป
สัตวแพทย์จำเป็นต้องสร้างความสัมพันธ์อันดีกับเจ้าของสัตว์เพื่อให้มั่นใจว่าคำแนะนำต่างๆ ถูกนำไปปฏิบัติตาม คำแนะนำที่ดีจะได้ผลต่อเมื่อเจ้าของสัตว์ที่เป็นผู้ดูแลสัตว์ทำตามที่สัตวแพทย์แนะนำ ความสัมพันธ์ระหว่างสัตวแพทย์และเจ้าของสัตว์เลี้ยงมีผลต่อความสำเร็จในการควบคุมหรือเปลี่ยนอาหารสัตว์ สัตวแพทย์ไม่จำเป็นต้องมีความรู้เทียบเท่านักจิตวิทยาแต่หากเข้าใจหลักในการสื่อสารและกลไกความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์จะช่วยให้ประสบความสำเร็จได้มากขึ้น
สิ่งที่ต้องระมัดระวังคือระยะแรกพบของเจ้าของสัตว์และสถานพยาบาลหรือกล่าวอย่างง่ายคือการพบกันครั้งแรกของเจ้าของสัตว์และบุคลากรที่ต้อนรับ ไม่เพียงแต่สัตว์เท่านั้นที่แสดงพฤติกรรมเพื่อการอยู่รอดแต่ยังพบในคนเช่นกัน รูปแบบพฤติกรรมดั้งเดิมเช่นการสร้างอาณาเขตสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในสุนัขและแมว แต่การพัฒนาทางสังคมและวัฒนธรรมหลายพันปีทำให้มนุษย์ไม่จำเป็นต้องแสดงพฤติกรรมดังกล่าวอย่างออกนอกหน้าแต่สามารถพบได้ผ่านท่าทางและคำพูด หลักการพื้นฐานในการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายคือการเอาชีวิตรอด เมื่อคนสองคนได้พบหน้ากันจะเกิดคำถามขึ้นในระดับจิตใต้สำนึกว่าอีกฝ่ายจะเป็นมิตรหรือศัตรู จะสนับสนุนหรือต่อสู้กัน จะสามารถตอบสนองความต้องการของตนได้หรือยังเป็นภัยต่อตน
การตอบรับอย่างฉับไวเป็นสิ่งสำคัญโดยการใช้หลัก 4×20 ซึ่งเป็นหลักสำคัญ 4 ข้อที่มีปัจจัยตัวเลข 20 เหมือนกันในระดับจิตใต้สำนึก เมื่อคนสองคนได้พบปะเป็นครั้งแรกจะทำการประเมินอย่างรวดเร็วเพื่อดูว่าอีกฝ่ายเป็นมิตรหรือศัตรู กระบวนการนี้ทำให้แต่ละบุคคลนำพฤติกรรมที่จำเป็นต่อการอยู่รอดมาใช้
หลักสำคัญมีดังนี้
บุคลากรที่เป็นคนแรกที่พบเจ้าของสัตว์จำเป็นต้องเข้าใจหลักการนี้และมีทัศนคติที่ดีในการให้บริการต้อนรับ (รูป 3) เจ้าของสัตว์จะเกิดความประทับใจว่าบุคลากรทุกคนในสถานพยาบาลมีความเป็นมิตรและตอบสนองความต้องการของตนได้ ลักษณะนิสัยที่สำคัญของบุคลากรตำแหน่งนี้ต้องมีความเอาใจใส่ มารยาทที่ดีในการพูดคุย ทัศนคติที่ดี และความสามารถในการรับฟัง อีกนัยหนึ่งคือพฤติกรรมที่สร้างบรรยากาศของความเคารพและความน่าเชื่อถือ ผู้คนจะประเมินสถานพยาบาลสัตว์จากสิ่งแวดล้อมภายในและเครื่องมือต่างๆรวมไปถึงความน่าเชื่อถือทั้งจากบุคลากรและสัตวแพทย์ พึงระลึกว่าแม้สถานพยาบาลสัตว์จะมีภาพลักษณ์ความเป็นมืออาชีพที่ยอดเยี่ยมเพียงใดหากมีรูปแบบพฤติกรรมของบุคลากรที่ไม่ถูกต้องสามารถเปลี่ยนมุมมองของลูกค้าจากมิตรเป็นศัตรูและสูญเสียฐานลูกค้าที่สร้างมานานลงได้
หลังจากผ่านขั้นตอนแรกมาแล้วยังคงต้องคำนึงถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนโดยเฉพาะระหว่างสัตวแพทย์และเจ้าของสัตว์ ผู้ที่อยู่เหนือกว่าในความสัมพันธ์ที่มีบทบาทไม่เท่ากันซึ่งในที่นี้คือสัตวแพทย์ต้องเป็นผู้ควบคุมจัดการความสัมพันธ์กับเจ้าของสัตว์โดยการใช้บทสนทนาเป็นเครื่องมือ การสื่อสารควรใช้คำพูดที่มั่นใจ ชัดเจน แสดงความเป็นมิตร และสงบ มีท่าทางที่เปิดเผยและสบสายตาโดยตรง (รูป 4) ผู้พูดควรอยู่ในท่าหลังตรง ผ่อนคลาย เปิดกว้างไม่กอดอกหรือไขว้ขา (receptive posture) มีสีหน้าที่แสดงถึงความเอาใจใส่และความเมตตา เว้นแต่ในเหตุการณ์ฉุกเฉินที่จะเปลี่ยนมาใช้การพูดแบบฝ่ายเดียวหรือสั่งการซึ่งอาจเป็นประโยชน์ในกรณีที่เจ้าของสัตว์มีความยากในการพูดคุยเช่น ไม่เป็นมิตร กังวล ไม่ใส่ใจ ไม่เชื่อฟัง หรือไม่ให้ความร่วมมือ สัตวแพทย์ควรทำความเข้าใจและเชี่ยวชาญการสนทนาทุกรูปแบบเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการจูงใจหรือแนะนำเจ้าของสัตว์ หากไม่มั่นใจหรือเชี่ยวชาญในการสื่อสารตามที่กล่าวไว้ ให้พยายามรักษาการแสดงออกอย่างเหมาะสมระหว่างการสนทนา มีการตั้งคำถามกับอีกฝ่ายเพื่อสร้างความร่วมมือกันผ่านการมีทางเลือก เจ้าของสัตว์มักมีข้อมูลที่จำเป็นต่อสัตวแพทย์ในการซักประวัติ แต่อาจไม่ได้ให้อย่างครบถ้วนโดยมีการเติมมุมมองของตนเองลงไปโดยสาเหตุที่ไม่ทราบแน่ชัด
ในการรับมือกับเจ้าของสัตว์ที่ให้อาหารอย่างผิดวิธีโดยเฉพาะเมื่อเจ้าของสัตว์หรือสมาชิกในครอบครัวมีปัญหาน้ำหนักเกินต้องมีการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพโดยใช้เป็นเครื่องมือในการวินิจฉัยและจูงใจให้เจ้าของปฏิบัติตามแนวทางการรักษาที่จำเป็น คำถามที่เลือกใช้ไม่ควรเป็นคำถามปลายเปิดเช่น”คุณให้อะไรเป็นอาหารสุนัขและบ่อยแค่ไหน” แต่ควรใช้คำถามแบบให้เลือกตอบเพื่อที่จะตีวงให้แคบลงทั้งยังทราบถึงพฤติกรรมของเจ้าของสัตว์เช่น “คุณให้อาหารสุนัขเป็นเวลาหรือว่าใช้การเติมอาหารให้เต็มภาชนะตลอด” “สัตว์กินอาหารแยกหรือว่ากินพร้อมกับสมาชิกในครอบครัว” การสื่อสารเช่นนี้จะทำให้เจ้าของสัตว์เข้าใจว่ามีพฤติกรรมการให้อาหารหลายแบบซึ่งบางวิธีอาจส่งผลในแง่ลบได้ จุดประสงค์ของการสนทนานี้เพื่อให้เจ้าของสัตว์ได้ตระหนักถึงวิธีการที่ตนใช้สร้างความสัมพันธ์กับสัตว์เลี้ยงเพื่อที่จะเข้าใจว่าพฤติกรรมนั้นอาจเป็นสาเหตุของปัญหาและ/หรือมีส่วนทำให้การรักษาไม่ประสบความสำเร็จ
หลังจากที่ได้คำตอบจากเจ้าของสัตว์แล้วควรทวนถามอีกครั้งโดยการใช้ประโยคเช่น “ตามที่ผม/ดิฉันเข้าใจ...” “สรุปคือเจ้าของได้ให้อาหาร…” “จากที่เล่ามาน่าจะ…” และอื่นๆ การทวนข้อมูลจะมีประโยชน์ในการสร้างความร่วมมือกับเจ้าของและทำให้เจ้าของมีส่วนในการเข้าใจถึงปัญหา รวมถึงได้รับโอกาสในการวิเคราะห์จากมุมมองอื่นผ่านตัวเลือกที่สัตวแพทย์แนะนำ การทวนคำถามและข้อมูลยังทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสัตวแพทย์และเจ้าของสัตว์แน่นแฟ้นมากขึ้นเพราะการสรุปข้อมูลเป็นการสื่อถึงความตั้งใจในการเข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและความพยายามของสัตวแพทย์ในการวินิจฉัย กล่าวคือทำให้ภาพลักษณ์ความเป็นมืออาชีพเด่นชัดมากขึ้นและเจ้าของมองว่าสัตวแพทย์คือเพื่อนที่พยายามช่วยแก้ปัญหา
หากเจ้าของสัตว์เข้าใจได้ว่าสัตว์เลี้ยงของตนที่มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนถือเป็นปัญหาร้ายแรงและเข้าหาสัตวแพทย์เพื่อขอความช่วยเหลือ มักจบลงด้วยการทำตามที่สัตวแพทย์แนะนำ ในทางกลับกันหากเจ้าของสัตว์ไม่เข้าใจว่าสัตว์เลี้ยงของตนมีโอกาสเกิดความเจ็บป่วยจากสภาพที่เป็นอยู่และสัตวแพทย์เป็นผู้ระบุปัญหารวมทั้งแนะนำถึงสิ่งที่ควรกระทำ เจ้าของสัตว์อาจไม่ยินยอมพร้อมใจทำตาม
ในการที่จะทำให้คำแนะนำในการให้อาหารถูกนำไปปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดจำเป็นต้องเลือกใช้คำให้สละสลวยและมีชั้นเชิง การจัดการให้อาหารสัตว์นั้นถูกกระตุ้นด้วยแรงบันดาลใจ ความต้องการไปถึงเป้าหมาย ความพยายามอยู่ดีกินดี หรือโดยหลักการคือความปรารถนาที่จะรู้สึกดีเหมือนกับพฤติกรรมอื่นๆ ของมนุษย์ คำแนะนำที่เหมาะสม ตรงไปตรงมาและมีเหตุผลอาจไม่เพียงพอต่อการเปลี่ยนพฤติกรรม หลายครั้งจำเป็นต้องใช้การปลุกเร้าอารมณ์ ความรู้สึก และความรู้จักผิดชอบชั่วดีในคนเพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม บางครั้งจำเป็นต้องกระตุ้นในระดับจิตใต้สำนึกเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จิตใต้สำนึกคือส่วนหนึ่งของมนุษย์ที่ไม่อาจรับรู้หรือมีเหตุผลแต่สร้างความรู้สึกที่ชี้นำการกระทำของคนเช่นเมื่อประสบปัญหาบางอย่างที่ยากจะแก้ไขอาจมีคนที่แก้ไขได้โดยใช้ความรู้สึกที่ไม่มีเหตุผลมารองรับ การกระตุ้นการทำงานของจิตใต้สำนึกอาจจำเป็นในการจัดการกับเจ้าของสัตว์ที่มีสัตว์น้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน การใช้คำอุปมาอุปไมย เรื่องเล่า คำสอนทางจริยธรรมอาจช่วยกระตุ้นความรู้สึกและทำให้ผู้ฟังรับรู้ได้ว่ารูปแบบพฤติกรรมที่กล่าวถึงนั้นดีหรือไม่ดีดังตัวอย่างต่อไปนี้
การใช้คำอุปมาอุปไมย เรื่องเล่า คำสอนทางจริยธรรมอาจช่วยกระตุ้นความรู้สึกและทำให้ผู้ฟังรับรู้ได้ว่ารูปแบบพฤติกรรมที่กล่าวถึงนั้นดีหรือไม่ดี ยกตัวอย่างเช่นการจะสื่อถึงผลของการให้อาหารมากเกินไปสามารถใช้คำอุปมาอุปไมยแต่งเป็นเรื่องสั้นได้ดังนี้ |
---|
“ลองจินตนาการว่าคุณเป็นเด็กผู้ชายที่กำลังเดินเที่ยวภูเขากับพ่อแม่และเพื่อนๆ คุณมีเป้สะพายที่หลัง หลังจากที่เริ่มเดินไม่นานพ่อหรือแม่ของคุณยื่นหินที่มีสีสวยส่องแสงแวววาว พวกเขาชอบมันมากและนำมันใส่ในเป้หลังของคุณ เมื่อเดินตามทางมาเรื่อยๆ พวกเขาพบกันหินสวยๆเหล่านั้นมากขึ้นและเก็บทุกชิ้นใส่ในเป้หลังของคุณโดยไม่อนุญาตให้คุณเทหินในเป้ทิ้ง คุณรู้สึกอย่างไรหลังจากเดินไปแล้วหลายชั่วโมงและเมื่อหมดวัน การให้อาหารสัตว์มากเกินไปและไม่ถูกเวลาเหมือนกับการเอาของใส่ในเป้ของเด็กผู้ชายนั่นแหละ” |
การที่จะให้เจ้าของสัตว์ปฏิบัติตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ได้นั้นต้องทำให้เกิดความน่าเชื่อถือก่อน หากสัตวแพทย์เข้าใจระเบียบสังคมหลักที่สามารถจูงใจให้ผู้อื่นทำตามได้ ก็จะทำให้เจ้าของมีความร่วมมือทำตามคำแนะนำสัตวแพทย์เพิ่มมากขึ้น
สัตวแพทย์ต้องจัดการความสัมพันธ์กับเจ้าของสัตว์อย่างระมัดระวังเพื่อให้การเข้าแทรกแซงในกรณีที่สัตว์มีภาวะน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนประสบความสำเร็จเนื่องจากความร่วมมือจากเจ้าของสัตว์มีส่วนสำคัญต่อผลการรักษามาก สัตวแพทย์ต้องทำให้เจ้าของสัตว์ตระหนักถึงอันตรายของปัญหาที่มาจากความอ้วนโดยเฉพาะถ้าเจ้าของสัตว์หรือสมาชิกในครอบครัวประสบปัญหาเดียวกัน ในการนี้สัตวแพทย์จำเป็นต้องสร้างความประทับใจแรกพบภายในช่วงไม่กี่วินาทีแรกกับเจ้าของสัตว์ทุกคน หากทำได้อย่างถูกต้องจะเกิดความเข้าอกเข้าใจที่จำเป็นในการสร้างความสัมพันธ์ที่แท้จริงในขณะที่ยังคงอำนาจของสัตวแพทย์ไว้ได้ การสื่อสารทั้งแบบที่ใช้คำพูดและไม่ใช้คำพูดต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง สัตวแพทย์ควรถามคำถามและมีคำตอบแบบทางเลือกไว้ให้แก่เจ้าของสัตว์เพื่อที่เจ้าของสัตว์จะได้รับรู้ถึงการให้อาหารสัตว์ที่ไม่ถูกวิธีและนำไปสู่กระบวนการแก้ปัญหา การจูงใจเจ้าของสัตว์อาจใช้ระเบียบสังคมและอำนาจตามหน้าที่ของสัตวแพทย์เข้าช่วยโดยตระหนักเสมอว่าการสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญในการทำให้เจ้าของสัตว์ปฏิบัติตามข้อแนะนำ หากเจ้าของสัตว์ไม่เชื่ออาจไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเต็มที่ ถึงแม้ว่าจะทำได้ยากขอให้ยึดตามคำกล่าวของนักปราชญ์ชาวโรมัน Seneca “We do not confront adversities because they are difficult, instead they are difficult when we do not confront them” หรือ “เราไม่ได้ลำบากจากความยุ่งยากของปัญหา แต่จากความยุ่งยากหากเราไม่จัดการจัดมัน”
Franco Favaro
Franco Favaro, Center for Dog Behavioral Sciences (CSC), Legnaro, Italy อ่านเพิ่มเติม
Serena Adamelli
Serena Adamelli, Center for Dog Behavioral Sciences (CSC), Legnaro, Italy อ่านเพิ่มเติม
สาเหตุที่ปริมาณพลังงานในอาหารสัตว์มีความสำคัญเป็นเพราะ...
สัตวแพทย์และบุคลากรที่ปฏิบัติงานในสถานพยาบาลสัตว์มักพบคำถามหรือข้อคิดเห็นเกี่ยวกับอาหารสัตว์จากเจ้าของสัตว์เลี้ยงอยู่บ่อยครั้ง...
สาเหตุที่ปริมาณพลังงานในอาหารสัตว์มีความสำคัญเป็นเพราะ...
โรคอ้วนเป็นภาวะทุพโภชนาการที่สำคัญในสุนัขและแมวที่เป็นสัตว์เลี้ยง มีรายงานว่า...