วารสารเชิงวิชาการและการรักษาสัตวป่วยเพื่อผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์
วารสารเชิงวิชาการและการรักษาสัตวป่วยเพื่อผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์

หมายเลขหัวข้อ 24.3 โภชนาการ

คำถามที่มักพบได้บ่อยเกี่ยวกับอาหารสัตว์

เผยแพร่แล้ว 10/03/2021

เขียนโดย Cailin Heinze

สามารถอ่านได้ใน Français , Deutsch , Italiano , Español และ English

สัตวแพทย์และบุคลากรที่ปฏิบัติงานในสถานพยาบาลสัตว์มักพบคำถามหรือข้อคิดเห็นเกี่ยวกับอาหารสัตว์จากเจ้าของสัตว์เลี้ยงอยู่บ่อยครั้ง โดยมากเป็นข้อมูลที่ไม่ตรง รับฟังต่อกันมาหรือเป็นความเชื่อที่ผิด (แปลโดย น.สพ. พีระ มานิตยกุล)

บทนำ

สัตวแพทย์และบุคลากรที่ปฏิบัติงานในสถานพยาบาลสัตว์มักพบเจอคำถามหรือข้อคิดเห็นเกี่ยวกับอาหารสัตว์จากเจ้าของสัตว์เลี้ยงอยู่บ่อย โดยหลายครั้งมักเป็นข้อมูลที่ผิดหรือรับฟังต่อกันมา สัตวแพทย์หญิง Heinze ได้รวบรวมคำถามที่มักพบได้บ่อยพร้อมกับที่มารวมถึงคำตอบที่มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์รองรับ

 


คำถาม : อาหารปรุงเองที่บ้านมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากกว่าอาหารสำเร็จรูปที่วางขายในท้องตลาดหรือไม่


ในบางประเทศนั้นนิยมการให้อาหารปรุงเองแก่สัตว์เลี้ยงมาโดยตลอด สำหรับในประเทศสหรัฐอเมริกานั้นได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เจ้าของสัตว์หลายคนให้เหตุผลถึงการปรุงอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยงเองว่าไม่เชื่อในคุณภาพของอาหารสำเร็จรูป เชื่อว่าอาหารปรุงเองนั้นมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากกว่า หรือต้องการจำกัดส่วนผสมบางอย่างในอาหาร นอกจากนี้ยังเชื่อว่าอาหารปรุงเองนั้นประหยัดกว่าทั้งยังมีความน่ากินสูงเทียบกับอาหารสำเร็จรูป

อาหารปรุงเองนั้นสามารถปรุงให้มีความสมดุลทางโภชนาการและมีประโยชน์ต่อสุขภาพได้ทางทฤษฏี แต่ไม่มีหลักฐานการศึกษามาสนับสนุนหรือหักล้างว่าอาหารปรุงเองนั้นจะมีประโยชน์มากกว่าอาหารสำเร็จรูปหรือไม่ เป็นที่น่าเสียดายว่าอาหารปรุงเองโดยมากมักปรุงจากความเข้าใจของเจ้าของหรือสัตวแพทย์ ซึ่งเป็นสูตรที่พบในหนังสือหรืออินเตอร์เน็ตที่อาจก่อให้เกิดปัญหาทางโภชนาการที่รุนแรง มีการศึกษาหลายชิ้นทำการวิเคราะห์สูตรอาหารปรุงเองสำหรับสุนัขและแมวที่พบได้ในหนังสือและอินเตอร์เน็ตบางสูตร พบว่าเกือบทั้งหมดมีปริมาณสารอาหารที่จำเป็นน้อยกว่าขนาดที่แนะนำ 1 2 3

การวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการของอาหารปรุงเองนั้นจำเป็นต้องทำโดยห้องปฏิบัติการหรือใช้โปรแกรมสำเร็จรูปสำหรับคำนวณคุณค่าทางอาหาร แต่มีองค์ประกอบบางอย่างที่ควรใส่ลงในอาหารปรุงเองเสมอเพราะสูตรอาหารที่ขาดองค์ประกอบเหล่านี้มักพบว่ามีความไม่สมดุลทางโภชนาการโดยถึงแม้ว่าจะมีองค์ประกอบดังกล่าวยังสามารถเกิดความไม่สมดุลได้เช่นเดียวกัน

  1. มีแหล่งโปรตีนจากสัตว์ – อาหารปรุงเองที่ปราศจากโปรตีนจากเนื้อสัตว์มักมีโปรตีนหรือกรดอะมิโนไม่เพียงพอ
  2. แหล่งแคลเซียม – อาจเป็นในรูปแบบแคลเซียมคาร์บอเนต แคลเซียมฟอสเฟต หรือกระดูกป่น ผู้เขียนบทความแนะนำให้ใช้แคลเซียมจากแหล่งอนินทรีย์จากการที่มีอัตราการดูดซึมที่คงที่มากกว่ากระดูกป่น
  3. แหล่งของกรดไขมันไลโนเลอิก – พบได้มากในข้าวโพด คาโนลา และดอกคำฝอย บางครั้งไขมันจากไก่หรือข้าวโอ๊ตอาจใช้ทดแทนได้
  4. แหล่งของวิตามินและแร่ธาตุ – ในคนมักมาในรูปแบบอาหารเสริมซึ่งมีวิตามินและแร่ธาตุครบถ้วนที่สามารถรับประทานเพียงวันละครั้ง อาหารเสริมสำหรับสัตว์เลี้ยงมักมีปริมาณสารอาหารไม่เพียงพอต่อการเติมเต็มอาหารปรุงเอง อย่างไรก็ตามมีอาหารเสริมสำหรับสัตว์เลี้ยงบางชนิดที่ได้รับการพัฒนามาเพื่อใช้เติมเต็มอาหารปรุงเองโดยฉพาะ
  5. แหล่งทอรีน(สำหรับแมว) – ควรมีการเสริมทอรีนเพราะเนื้อสัตว์ที่ผ่านความร้อนจะมีปริมาณทอรีนลดลง

จากการที่อาหารปรุงเองมีโอกาสที่จะเกิดภาวะทุพโภชนาการได้สูงจึงไม่ควรให้ในสัตว์ที่กำลังเจริญเติบโต ตั้งท้อง หรือให้นมลูก

สัตว์ที่อยู่ในช่วงชีวิตดังกล่าวมีความต้องการสารอาหารสูงมาก หากได้รับสารอาหารในปริมาณไม่เหมาะสมจะเกิดผลเสียมหาศาล

เจ้าของสัตว์ที่มีความสนใจปรุงอาหารเองสำหรับสัตว์เลี้ยงควรปรึกษาสัตวแพทย์ที่มีความชำนาญและมีวุฒิบัตรด้านโภชนาการเพื่อให้มั่นใจว่าจะได้สูตรอาหารที่ดีที่สุด ทั้งนี้ยังต้องมีการประเมินสูตรอาหารและปรับให้เหมาะสมกับสัตว์เลี้ยงเป็นประจำทุกปี

คำตอบสุดท้าย : ไม่มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าอาหารปรุงเองนั้นดีต่อสุขภาพสัตว์มากกว่าอาหารสำเร็จรูป อาหารปรุงเองโดยมากมักขนาดสารอาหารบางอย่างและมีสารอาหารบางอย่างน้อยกว่าขนาดที่แนะนำเมื่อเทียบกับอาหารสำเร็จรูป ในทางกลับกันอาหารบางสูตรอาจก่อให้เกิดอันตรายจากปริมาณสารอาหารบางชนิดสูงเกิดไปเช่น ภาวะความเป็นพิษของวิตามิน D ในอาหารที่ใช้ปลาเป็นวัตถุดิบในปริมาณมาก

 


คำถาม : สุนัขหรือแมวของฉันจำเป็นต้องได้รับวิตามินหรืออาหารเสริมเพิ่มเติมหรือไม่


หากสัตว์ได้รับอาหารที่มีปริมาณสารอาหารเป็นไปตามคำแนะนำของปริมาณสารอาหารขั้นต่ำของหน่วยงานเช่น AAFCO(Association of American Feed Control Officials) 4 การได้รับสารอาหารหรือวิตามินเพิ่มอาจไม่เกิดประโยชน์นอกจากว่ามีปัญหาสุขภาพร่วมด้วย อาหารเสริมวิตามินและแร่ธาตุที่มีจำหน่ายในท้องตลาดมักอ้างอิงจากสัตว์สุขภาพดีที่ได้รับอาหารซึ่งมีความสมดุลทางโภชนาการจึงมีการใส่วิตามินและแร่ธาตุเพียงเล็กน้อยในอาหารเสริมซึ่งไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ในสัตว์ที่สุขภาพแข็งแรง

ในอีกมุมหนึ่งหากผู้ผลิตอาหารเสริมขาดความรู้หรือความระมัดระวังอาจส่งผลให้ได้รับปริมาณสารอาหารบางชนิดสูงจนเกิดความเป็นพิษเมื่อให้รวมกับอาหารปกติ ตัวอย่างที่ผู้เขียนบทความพบคืออาหารเสริมสำหรับลูกสุนัขพันธุ์ใหญ่ที่มีการเสริมแคลเซียมในปริมาณสูงที่อาจส่งผลต่อการเจริญของกระดูก มีการเสริมน้ำมันปลาที่มีความเข้มข้นของวิตามิน A และ D3 สูงรวมถึงวิตามินอื่นๆที่มีปริมาณวิตามิน D3 สูง

สัตว์เลี้ยงที่ได้รับอาหารปรุงเองนอกเหนือจากการให้อาหารที่เป็นสัตว์ทั้งตัวควรได้รับอาหารเสริมที่มีวิตามินและแร่ธาตุ จากที่กล่าวด้านบนว่าอาหารเสริมทั่วไปที่มีจำหน่ายมักมีปริมาณสารอาหารไม่เพียงพอในการเสริมอาหารปรุงเองที่บ้านโดยเฉพาะอาหารเสริมที่มีการโฆษณาว่าเหมาะกับสัตว์เลี้ยงทุกช่วงอายุ อาหารเสริมที่เหมาะสมกับอาหารปรุงเองจำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์พิเศษและใช้หลายชนิด จากประสบการณ์ของผู้เขียนบทความมักใช้อาหารเสริมของคน 5 ถึง 7 ชนิดเพื่อให้เกิดความสมดุลทางโภชนาการแก่อาหารสัตว์ที่ปรุงเอง

คำตอบสุดท้าย : สัตว์เลี้ยงที่ได้รับอาหารสำเร็จรูปซึ่งมีความสมดุลทางโภชนาการไม่น่าได้รับประโยชน์เต็มที่จากการเสริมวิตามินและแร่ธาตุ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมยังอาจก่อเกิดอันตรายได้หากปริมาณวิตามินและแร่ธาตุเมื่อรวมกับอาหารที่กินแล้วมีระดับที่สูงเกินไป

 


คำถาม : แมวไม่ควรกินคาร์โบไฮเดรตหรือไม่


ประเด็นของการกินคาร์โบไฮเดรตในแมวยังเป็นที่ถกเถียงกันในเวชศาสตร์แมว สาเหตุจากการที่ในอดีตอาหารของแมวคือนก สัตว์ฟันแทะขนาดเล็ก และสัตว์เลื้อยคลานที่มีปริมาณคาร์โบไฮเดรตต่ำเลยทำให้เกิดแนวคิดว่าแมวไม่ควรได้รับคาร์โบไฮเดรตในปริมาณสูง ถึงแม้ว่าแมวจะมีการปรับตัวให้รับคาร์โบไฮเดรตน้อยเช่นการเพิ่มกระบวนการ gluconeogenesis และการลดปฏิกิริยาของ hepatic glucokinase ในร่างกาย แต่แมวยังสามารถย่อยคาร์โบไฮเดรตได้และคาร์โบไฮเดรตที่ผ่านกระบวนการปรุงสุกสามารถมีการย่อยได้สูงถึงร้อยละ 93 หรือสูงกว่านั้น 5 แมวมีขีดจำกัดในการรับคาร์โบไฮเดรตค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับสุนัข หมู และคนแต่อย่างไรก็ตามสามารถทนต่อปริมาณคาร์โบไฮเดรตในอาหารสำเร็จรูปสำหรับแมวได้ดี(คิดเป็นร้อยละ 5-40 ของปริมาณแคลอรีเมื่อคิดจากพลังงานที่นำไปใช้ประโยชน์ได้(metabolizable energy; ME)

ผู้ที่เสนอให้จำกัดปริมาณคาร์โบไฮเดรตในแมวมักอ้างถึงการที่คาร์โบไฮเดรตมีส่วนในการเกิดโรคต่างๆไม่ว่าจะเป็นโรคอ้วนและเบาหวาน(รูป 1) อาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำมักถูกยกย่องเป็นอาหารครอบจักรวาลที่ช่วยในการลดน้ำหนัก เพราะมีลักษณะสอดคล้องกับธรรมชาติของแมว ทำให้แมวกินอาหารน้อยลงอย่างเหมาะสมด้วยตัวเอง ข้อมูลจากแหล่งอื่นกล่าวว่าอาหารที่มีประมาณคาร์โบเดรตสูงจะนำไปสู่การสะสมที่เพิ่มมากขึ้นโดยไม่เกี่ยวกับปริมาณแคลอรี สิ่งที่น่าสนใจคืออาหารที่มีปริมาณคาร์โบไฮเดรตต่ำมักมีปริมาณไขมันที่สูงส่งผลให้พลังงานที่ได้รับเพิ่มมากขึ้นเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคอ้วน

 

 

รูป 1 ปริมาณพลังงานในอาหารเป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึงมากกว่าปริมาณคาร์โบไฮเดรตเมื่อกล่าวถึงโรคอ้วนในแมว © Cailin Heinze

อาหารเม็ดที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำหลายยี่ห้อ (มีคาร์โบไฮเดรตน้อยกว่าร้อยละ 20 ของ ME) มีพลังงานสูงมาก (495-592 kcal/ถ้วย หรือ 3960-4366 kcal/kg) ทำให้เกิดความยุ่งยากในการให้อาหารสำหรับแมวที่ต้องจำกัดพลังงานจากอาหาร การศึกษาหนึ่งมีการเปรียบเทียบระหว่างอาหารแมวที่มีปริมาณไขมันและคาร์โบไฮเดรตแตกต่างกันพบว่าอาหารที่มีปริมาณไขมันสูงซึ่งทำให้มีพลังงานสูง มีโอกาสที่จะเพิ่มน้ำหนักมากกว่าอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง แมวที่ได้รับอาหารที่มีไขมันสูงแต่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำมีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับแมวที่ได้รับอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูงภายหลังการทำหมัน 6 จากประสบการณ์ของผู้เขียนบทความพบว่าปริมาณพลังงานในอาหารนั้นเป็นสิ่งที่ควรเฝ้าระวังมากกว่าปริมาณคาร์โบไฮเดรตในกรณีของโรคอ้วนในแมวเพราะเจ้าของแมวหลายคนไม่สามารถจำกัดปริมาณอาหารที่แมวกินได้ (รูป 2)

รูป 2 เจ้าของแมวหลายคนไม่สามารถจำกัดปริมาณอาหารที่แมวกินได้ © Shutterstock

หลายคนเชื่อว่าปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่สูงในอาหารเม็ดสามารถก่อให้เกิดโรคเบาหวานในแมวได้แต่ยังไม่มีหลักฐานเชื่อโยงที่แน่ชัด ปัจจัยเสี่ยงต่อโรคเบาหวานที่ทราบกันดีคือความอ้วนดังนั้นการให้อาหารที่ช่วยให้แมวคุมน้ำหนักได้ดีก่อนที่โรคเบาหวานจะเกิดขึ้นเป็นวิธีการที่ดีที่สุด การศึกษาหนึ่งไม่พบความเกี่ยวข้องกันระหว่างการกินอาหารเม็ดและโรคเบาหวานแต่พบว่าการเกิดโรคเบาหวานเกี่ยวข้องกับการออกกำลังกายเมื่ออยู่ในการทดลองที่มีตัวแปรควบคุมคือน้ำหนัก 7

กรณีที่แมวป่วยด้วยโรคเบาหวานมีข้อมูลว่าการให้อาหารที่มีปริมาณคาร์โบเดรตต่ำอาจเกิดผลดีได้ 8 9 10 แต่ข้อมูลจากการศึกษานั้นมีข้อจำกัดอยู่มากและไม่ควรนำมาสรุปว่าแมวทุกตัวที่ป่วยด้วยโรคเบาหวานต้องได้รับอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำ ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณหรือแหล่งคาร์โบไฮเดรตที่เหมาะสมสำหรับแมวที่เป็นโรคเบาหวาน การพุ่งเป้าไปที่วัตถุดิบชนิดใดชนิดหนึ่งที่มีคารโบไฮเดรตเป็นองค์ประกอบในอาหารเพื่อประเมินผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดโดยอาศัยข้อมูลของคนอาจคลาดเคลื่อนจากวัตถุดิบที่อยู่ในอาหารสัตว์ได้

ผู้เขียนบทความมักมองหาอาหารที่ตอบสนองความต้องการทางโภชนาการโดยมีปริมาณคาร์โบไฮเดรตต่ำที่สุดสำหรับแมวที่มีรูปร่างปกติหรือค่อนข้างผอม แต่สำหรับแมวที่อ้วนหรือมีน้ำหนักเกินอาจหาอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำโดยที่มีพลังงานต่ำและมีสารอาหารเหมาะสมต่อการลดน้ำหนักได้ยากโดยเฉพาะในแมวที่ปฏิเสธอาหารเปียก ในกรณีนี้ให้มุ่งเน้นการลดน้ำหนักเพื่อบรรเทาอาการของโรคเบาหวาน

คำตอบสุดท้าย : ไม่มีหลักฐานว่าอาหารที่มีปริมาณคาร์โบไฮเดรตสูงก่อให้เกิดโรคเบาหวานในแมว ถึงแม้ว่าจะมีข้อมูลบางแหล่งชี้ให้เห็นว่าแมวที่ป่วยด้วยโรคเบาหวานบางตัวอาจได้ประโยชน์จากอาหารที่มีปริมาณคาร์โบไฮเดรตต่ำแต่ไม่ใช่ในทุกตัว และจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องนี้

 


คำถาม : อาหารปราศจากธัญพืชนั้นดีต่อสุขภาพสัตว์เลี้ยงมากกว่าอาหารทั่วไปหรือไม่


ตลาดอาหารสัตว์ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีความนิยมอาหารที่ได้ชื่อว่าปราศจากธัญพืชเพิ่มมากขึ้น อาหารเหล่านี้มีทั้งรูปแบบเม็ดและกระป๋องใช้คาร์โบไฮเดรตที่มีแหล่งจากมันฝรั่ง มันสำปะหลัง ถั่วเขียว และพืชตระกูลถั่วอื่นๆแทนข้าวโพด ข้าวสาลี ข้าวและธัญพืช อาหารปราศจากธัญพืชมักได้รับการโฆษณาว่าดีต่อสุขภาพสัตว์และก่อให้เกิดการแพ้ได้น้อยกว่าอาหารทั่วไป ถึงแม้ว่าจะมีความเชื่อที่แพร่หลายเกี่ยวกับอาหารปราศจากธัญพืชแต่ไม่พบว่าการทดแทนแหล่งคาร์โบไฮเดรตจากแหล่งธัญพืชเป็นแหล่งอื่นเกิดประโยชน์ต่อสุขภาพสัตว์อย่างใด ธัญพืชในอาหารนั้นมีโอกาสก่อให้เกิดอาการแพ้ได้น้อยกว่าโปรตีนจากเนื้อสัตว์ซึ่งตรงกันข้ามกับความเชื่อในสังคม ดังนั้นการเปลี่ยนมาใช้อาหารที่ปราศจากธัญพืชโดยที่ยังมีแหล่งโปรตีนเดิมอาจไม่เกิดผลดีต่อสัตว์ที่มีอาการแพ้อาหาร

ผู้คนมากมายเชื่อว่าอาหารปราศจากธัญพืชนั้นคืออาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง อาหารปราศจากธัญพืชหลายยี่ห้อมีปริมาณคาร์โบไฮเดรตในระดับเดียวกับอาหารที่มีธัญพืชเป็นส่วนประกอบ ดังนั้นหากสัตว์เลี้ยงไม่ได้มีอาการแพ้ที่ระบุได้ว่าแพ้ธัญพืชชนิดใดซึ่งเกิดได้ยากส่งผลให้การให้อาหารปราศจากธัญพืชไม่เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพสัตว์ที่เห็นได้ชัดซึ่งรวมถึงอาหารปราศาจากกลูเต็นแม้ในสัตว์ที่มีปัญหาระบบทางเดินอาหาร รายงานการเจ็บป่วยด้วยภาวะลำไส้อักเสบที่มีสาเหตุจากกลูเต็นในสุนัขและแมวพบแค่ในสุนัขพันธุ์ Irish Setters ไม่กี่ตัวซึ่งมีความเกี่ยวข้องกันทางสายเลือดโดยไม่พบรายงานในสุนัขพันธุ์อื่นและแมว 11

คำตอบสุดท้าย : อาหารปราศจากธัญพืชและอาหารปราศจากกลูเต็นสำหรับสัตว์นั้นเป็นไปเพื่อการโฆษณาส่วนมากโดยที่ไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพสัตว์เลี้ยง

 


คำถาม: สุนัขของฉันมีอาการคันและเพื่อนของฉันกล่าวว่าอาจเกิดจากการแพ้อาหาร หลังจากให้อาหารปราศจากธัญพืชแล้วอาการของสุนัขยังไม่ดีขึ้น อาการคันที่เกิดขึ้นมีสาเหตุจากการแพ้อาหารหรือไม่


การแพ้อาหารนั้นพบได้ไม่บ่อยนักในสุนัขและแมวไม่ว่าจะเป็นอาการทางระบบทางเดินอาหารหรือทางผิวหนังซึ่งตรงกันข้ามกับความเชื่อโดยทั่วไป(รูป 3) ปฏิกิริยาไม่พึงประสงค์ที่มีสาเหตุจากอาหารมีได้หลากหลายโดยแบบที่พบได้บ่อยที่สุดจะเป็นการแพ้อาหารที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันและการแพ้อาหาร(intolerance)ที่ไม่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน การแพ้อาหารแบบ intolerance มักแสดงอาการของระบบทางเดินอาหารเช่นอาเจียน อุจจาระไม่จับตัวเป็นก้อน หรือท้องอืด ในขณะที่การแพ้อาหารที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันมักแสดงอาการที่ผิวหนังและ/หรือระบบทางเดินอาหาร

รูป 3 การแพ้อาหารโดยมีอาการแสดงออกที่ผิวหนังในสุนัขพบได้ยากซึ่งตรงข้ามกับความเชื่อโดยมาก© Shutterstock

การแพ้แอนติเจนในสิ่งแวดล้อมเช่น ละอองเกสร เชื้อรา ไร และหมัดเป็นสาเหตุของอาการแพ้ที่ผิวหนังของสุนัขและแมวที่พบได้บ่อยที่สุด ความผิดปกติของระบบทางเดินอาหารมักมีสาเหตุมาจากอาหาร อย่างไรก็ตามคุณสมบัติของอาหารเช่นการย่อยได้ ไขมัน และใยอาหารมีโอกาสก่อให้เกิดความแปรปรวนของทางเดินอาหารมากกว่าปฏิกิริยาตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อส่วนผสมอย่างใดอย่างหนึ่งในอาหาร

การวินิจฉัยการแพ้อาหารนั้นทำได้ยากเพราะต้องอาศัยขั้นตอนการทดสอบอาหารที่ยุ่งยากและมีหลายขั้นตอน ส่งผลให้การแพ้อาหารไม่ค่อยเป็นการวินิจฉัยสุดท้ายในสุนัขและแมวรวมถึงไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับสารก่อภูมิแพ้ในอาหารที่พบได้บ่อย อย่างไรก็ตามมีรายงานว่าเนื้อวัว ผลิตภัณฑ์นม และปลามีโอกาสทำให้เกิดอาการแพ้ได้ในแมว 12

ซึ่งอาจเป็นเพราะส่วนประกอบดังกล่าวถูกนิยมใช้เป็นวัตถุดิบของอาหารแมวในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

หากสงสัยการแพ้อาหารควรทำการทดสอบอาหารโดยใช้อาหารรักษาโรคที่มีการจำกัดวัตถุดิบ และใช้วัตถุดิบที่สัตว์ไม่เคยกินมาก่อน สำหรับสัตว์ที่ได้รับแอนติเจนที่หลากหลายเช่นสุนัขที่เคยได้รับมันฝรั่งหรือแมวที่เคยได้รับถั่วลันเตาอาจหาอาหารที่มีโปรตีนที่สัตว์ไม่เคยได้รับยาก ในกรณีนี้ควรใช้อาหารที่ประกอบด้วยโปรตีนไฮโดรไลซ์

การให้อาหารปรุงเองควรทำเมื่อทำการทดสอบอาหารด้วยโปรตีนที่สัตว์ไม่เคยได้รับหรืออาหารที่มีไฮโดรไลซ์โปรตีนแล้วสัตว์ยังคงแสดงอาการแพ้อยู่โดยที่สัตวแพทยสงสัยสาเหตุจากการแพ้อาหาร ข้อมูลหลายแหล่งแนะนำให้ใช้อาหารที่ประกอบด้วยโปรตีนและคาร์โบไฮเดรตจากแหล่งเดียวซึ่งมีความไม่สมดุลของสารอาหาร จากประสบการณ์ของผู้เขียนบทความพบว่าหากการทดสอบอาหารได้ผลดีจำเป็นจะต้องให้อาหารนั้นในระยะยาวซึ่งเจ้าของสัตว์อาจไม่ได้คำนึงถึงการที่อาหารนั้นขาดสารอาหารสำคัญบางอย่างทำให้ผู้เขียนพยายามปรับสูตรอาหารในการทดสอบโดยการเสริมวัตถุดิบเพื่อให้ได้สารอาหารเพียงพอในระยะยาวโดยเลือกแหล่งวัตถุดิบที่ไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้เพิ่ม

คำตอบสุดท้าย : การแพ้อาหารพบได้ไม่บ่อยในสัตว์เลี้ยง แต่หากมีการแพ้จะมีโอกาสเกิดจากผลิตภัณฑ์ที่มาจากสัตว์มากกว่าผลิตภัณฑ์ที่มาจากพืช

 


คำถาม : ฉันตรวจสอบรายชื่อวัตถุดิบเมื่อมองหาอาหารสัตว์เลี้ยงใหม่เพื่อที่จะทราบคุณภาพของอาหาร ฉันควรมองหาส่วนประกอบใดและหลีกเลี่ยงส่วนประกอบใด


รายชื่อวัตถุดิบอาหารบนบรรจุภัณฑ์อาจไม่ใช่วิธีที่ดีในการประเมินคุณภาพของวัตถุดิบที่เป็นส่วนประกอบหรืออาหารสัตว์โดยรวม เกือบทุกประเทศมีข้อกำหนดในการระบุวัตถุดิบของอาหารสัตว์ซึ่งอาจไม่ให้รายละเอียดหรือคุณค่าทางโภชนาการมากพอ ผู้ผลิตอาจใช้เนื้อไก่คุณภาพดีหรือแย่ก็ได้โดยระบุบนฉลากเหมือนกันว่าเป็นเนื้อไก่ป่น

ในทางเดียวกันไม่มีข้อบังคับว่าผู้ผลิตอาหารสัตว์ต้องพิสูจน์ได้ว่าวัตถุดิบนั้นมีประโยชน์ต่อสุขภาพหรือร่างกายสามารถนำไปใช้ได้หรือไม่ ผู้ผลิตอาจใช้เนื้อจากควายไบซัน กระต่าย ปลาแซลมอน กวาง เป็ด ผัก ผลไม้ และสมุนไพรในปริมาณที่ไม่อาจเกิดผลดีต่อร่างกายเพียงเพื่อการโฆษณาเพราะชุมชนคนเลี้ยงสัตว์ในปัจจุบันต่างเสาะหาอาหารสัตว์ที่มีวัตถุดิบใกล้เคียงกับอาหารคนหรือคิดว่าเหมาะสมกับสัตว์มากขึ้นส่งผลให้เกิดอาหารราคาแพงที่มีวัตถุดิบเช่นปลาแซลมอนรมควันและโกจิเบอร์รี่โดยไม่ได้มีคุณค่าทางอาหารสูงไปกว่าอาหารสัตว์ที่ใช้เนื้อไก่และข้าวโพดป่น

ผู้บริโภคหลายคนพยายามหลีกเลี่ยงสารถนอมอาหารและสีผสมอาหารที่มาจากการสังเคราะห์ ทำการกดดันจนผู้ผลิตหลายรายได้ยกเลิกการใช้สารดังกล่าวในอาหารสัตว์ สิ่งที่ควรระวังคือสารปรุงแต่งที่มาจากธรรมชาติอาจมีความปลอดภัยน้อยกว่าสารสังเคราะห์ที่มีใช้กันมายาวนานทำให้ความรับผิดชอบตกอยู่กับผู้ผลิตในการเลือกชนิดและปริมาณของสารถนอมอาหารจากธรรมชาติเพื่อคงคุณภาพของอาหารจนถึงวันหมดอายุ

คำตอบสุดท้าย : รายชื่อวัตถุดิบให้ข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพอาหารสัตว์หรือประโยชน์ต่อสุขภาพสัตว์น้อยมากจนเกือบไม่มี โดยผู้ผลิตอาจเลือกใช้วัตถุดิบที่เจ้าของสัตว์ชื่นชอบมากกว่าวัตถุดิบที่ดีต่อสัตว์

 


คำถาม : สัตวแพทย์ของฉันแนะนำให้ใช้อาหารรักษาโรคซึ่งมีราคาแพงกว่าอาหารที่ซื้อได้ง่ายจากร้านขายอาหารสัตว์หรือร้านขายส่ง อาหารรักษาโรคที่สัตวแพทย์สั่งจ่ายนั้นมีความแตกต่างจากอาหารที่หาซื้อได้ทั่วไปจริงหรือไม่


อาหารสัตว์ที่วางจำหน่ายในหลายประเทศต้องมีปริมาณสารอาหารขั้นต่ำไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้เพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการของสัตว์แต่ละช่วงอายุเช่นสัตว์โตเต็มวัย สัตว์ตั้งท้อง สัตว์ให้นมลูกรวมไปถึงลูกสัตว์ที่กำลังเจริญเติบโต ปริมาณสารอาหารที่มีอยู่ในอาหารเหล่านี้เหมาะกับสุนัขและแมวสุขภาพดีซึ่งไม่ต้องการองค์ประกอบหรือคุณสมบัติพิเศษของอาหารเช่นใยอาหารหรือการย่อยได้สูงที่เป็นประโยชน์ต่ออาการเจ็บป่วยบางประการ โรคบางอย่างจำเป็นต้องได้รับอาหารเฉพาะสำหรับการรักษาโรคเช่นโรคอ้วน โรคระบบทางเดินอาหาร โรคไต หรือสัตว์ที่สงสัยว่ามีการแพ้อาหาร

สัตว์ที่มีน้ำหนักเกินจำเป็นต้องจำกัดพลังงานที่ได้รับอาหารอย่างมากเมื่อเทียบกับสัตว์ที่รูปร่างหุ่นดีเพื่อให้น้ำหนักลด ปริมาณสารอาหารต่อแคลอรีในอาหารสำหรับลดน้ำหนักจำเป็นต้องมีมากกว่าอาหารปกติเพื่อป้องกันภาวะทุพโภชนาการในสัตว์ อาหารสำหรับควบคุมน้ำหนักที่วางขายในร้านขายสัตว์เลี้ยงมีมากมายโดยที่มีความแตกต่างในพลังงานและสารอาหารที่อยู่ในอาหาร 13

บางยี่ห้ออาจลดปริมาณพลังงานในอาหารโดยที่ไม่มีการเพิ่มสารอาหาร ยกตัวอย่างเช่นอาหารควบคุมน้ำหนักชนิดเม็ดสำหรับสุนัขที่มีจำหน่ายในท้องตลาดหลายยี่ห้อมีปริมาณโปรตีนที่ต่ำซึ่งการเพิ่มปริมาณโปรตีนในอาหารสูตรควบคุมน้ำหนักจำเป็นต่อการรักษามวลกล้ามเนื้อไม่ให้สูญเสียไประหว่างลดน้ำหนัก

อาหารสูตรควบคุมน้ำหนักที่สั่งจ่ายโดยสัตวแพทย์มักมีปริมาณพลังงานต่ำโดยมีสารอาหารอื่นสูงเช่นโปรตีน นอกจากนี้ยังมีปริมาณวัตถุดิบอื่นเช่นใยอาหารสูงเพื่อช่วยในการลดน้ำหนัก รักษามวลกล้ามเนื้อ และทำให้รู้สึกอิ่มท้อง อาหารนี้จะช่วยให้การลดน้ำหนักประสบความสำเร็จและเป็นไปอย่างสุขภาพดีในสัตว์ที่มีความต้องการพลังงานต่ำเมื่อเทียบกับอาหารสูตรควบคุมน้ำหนักที่จำหน่ายในท้องตลาดทั่วไป(รูป 4)


รูป 4 สัตวแพทย์และบุคลากรในสถานพยาบาลต้องสามารถอธิบายความแตกต่างระหว่างอาหารรักษาโรคที่สั่งจ่ายโดยสัตวแพทย์และอาหารที่หาซื้อได้ทั่วไปเพื่อที่เจ้าของสัตว์จะได้เข้าใจถึงประโยชน์ของอาหารรักษาโรค © Shutterstock

References

  1. Hoyt RF, Withrow SJ, Hoyt RF, et al. Oral malignancy in the dog. J Am Anim Hosp Assoc 1984;20:83-92.
  2. Stebbins KE, Morse CC, Goldschmidt MH. Feline oral neoplasia: a ten-year survey. Vet Pathol 1989;26:121-8.
  3. Liptak JM, Withrow SJ. Oral Tumors. In: Withrow, SJ and Vail, DM eds. Small Animal Clinical Oncology 4th ed. St Louis, Missouri: Saunders Elsevier; 2007:455-510. 

  4. Ramos-Vara JA, Beissenherz ME, Miller MA, et al. Retrospective study of 338 canine oral melanomas with clinical, histologic, and immunohistochemical review of 129 cases. Vet Pathol 2000;37(6):597-608.
  5. Bergman PJ. Canine oral melanoma. Clin Tech Small Anim Pract 2007;22(2): 55-60.
  6. Bergin IL, Smedley RC, Esplin DG, et al. Prognostic evaluation of Ki67 threshold value in canine oral melanoma. Vet Pathol 2011;48(1):41-53.
  7. USDA licenses DNA vaccine for treatment of melanoma in dogs. J Am Vet Med Assoc 2010;236(5):495.
  8. Pires I, Garcia A, Prada J, et al. COX-1 and COX-2 expression in canine cutaneous, oral and ocular melanocytic tumors. J Comp Pathol 2010;143(2- 3):142-9.
  9. Clarke BS, Mannion PA, White RAS. Rib metastases from a non-tonsillar squamous cell carcinoma in a dog. J Small Anim Pract 2011;52(3):163-7. 10.
  10. Grier CK, Mayer MN. Radiation therapy of canine nontonsillar squamous cell carcinoma. Can Vet J - Revue Vétérinaire Canadienne 2007;48(11):1189-91.
  11. Frazier SA, Johns SM, Ortega J, et al. Outcome in dogs with surgically resected oral fibrosarcoma (1997-2008). Vet Comp Oncol 2012;10(1):33-43.
  12. Fiani N, Verstraete FJM, Kass PH, et al. Clinicopathologic characterization of odontogenic tumors and focal fibrous hyperplasia in dogs: 152 cases (1995-2005). J Am Vet Med Assoc 2011;238(4):495-500.
  13. Mayer MN, Anthony JM. Radiation therapy for oral tumors: Canine acanthomatous ameloblastoma. Can Vet J - Revue Vétérinaire Canadienne. 2007;48(1):99-101.
  14. Kelly JM, Belding BA, Schaefer AK. Acanthomatous ameloblastoma in dogs treated with intralesional bleomycin. Vet Comp Oncol 2010;8(2):81-6.
  15. Murray RL, Aitken ML, Gottfried SD. The use of rim excision as a treatment for canine acanthomatous ameloblastoma. J Am Anim Hosp Assoc 2010;46(2): 91-6.
  16. Moore A. Treatment choices for oral cancer in cats; What is possible? What is reasonable? J Fel Med Surg 2009;11(1):23-31.
  17. Fidel J, Lyons J, Tripp C, et al. Treatment of oral squamous cell carcinoma with accelerated radiation therapy and concomitant carboplatin in cats. J Vet Int Med 2011;25(3):504-10.
Cailin Heinze

Cailin Heinze

หลังจากจบการศึกษาจากคณะสัตวแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียดร. ไฮน์เซทำงานในการปฏิบัติงานด้านสัตว์เล็กเป็นเวลาสามปีในชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริก อ่านเพิ่มเติม

บทความอื่นๆ ในประเด็นนี้

หมายเลขหัวข้อ 24.3 เผยแพร่แล้ว 05/09/2022

การคำนวณปริมาณพลังงานในอาหารสัตว์

สาเหตุที่ปริมาณพลังงานในอาหารสัตว์มีความสำคัญเป็นเพราะ...

โดย Richard Butterwick

หมายเลขหัวข้อ 24.3 เผยแพร่แล้ว 16/06/2022

คำถามที่มักพบได้บ่อยเกี่ยวกับอาหารสัตว์

สัตวแพทย์และบุคลากรที่ปฏิบัติงานในสถานพยาบาลสัตว์มักพบคำถามหรือข้อคิดเห็นเกี่ยวกับอาหารสัตว์จากเจ้าของสัตว์เลี้ยงอยู่บ่อยครั้ง...

โดย Caitlin Grant

หมายเลขหัวข้อ 24.3 เผยแพร่แล้ว 15/04/2022

การคำนวณปริมาณพลังงานในอาหารสัตว์

สาเหตุที่ปริมาณพลังงานในอาหารสัตว์มีความสำคัญเป็นเพราะ...

โดย Richard Butterwick

หมายเลขหัวข้อ 24.3 เผยแพร่แล้ว 20/12/2021

จิตวิทยาในการสื่อสารกับเจ้าของสัตว์เลี้ยง

มนุษย์มีสัตว์เลี้ยงเพื่อตอบสนองความต้องการทางด้านจิตวิทยา เช่น...

โดย Franco Favaro และ Serena Adamelli