วารสารเชิงวิชาการและการรักษาสัตวป่วยเพื่อผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์
วารสารเชิงวิชาการและการรักษาสัตวป่วยเพื่อผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์

หมายเลขหัวข้อ 29.2 Other Scientific

การจัดการกับนิ่วในทางเดินปัสสาวะและความถ่วงจำเพาะของปัสสาวะในแมว

เผยแพร่แล้ว 04/10/2022

เขียนโดย Cecilia Villaverde

สามารถอ่านได้ใน Français , Deutsch , Italiano , Español , English และ Українська

การป้องกันและการรักษานิ่วในทางเดินปัสสาวะในแมวนั้นต้องอาศัยการจัดการในหลายปัจจัย Dr. Cecilia Villaverde ได้อธิบายถึงหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่สุดซึ่งก็คือการคงค่าความถ่วงจำเพาะของปัสสาวะให้ต่ำ อีกทั้งยังได้แนะนำวิธีที่จะช่วยจัดการให้ค่าความถ่วงจำเพาะของปัสสาวะคงที่ได้ (แปลโดย สพ.ญ.กรณิศ รักเกียรติ)

การจัดการกับนิ่วในทางเดินปัสสาวะและความถ่วงจำเพาะของปัสสาวะในแมว

ประเด็นสำคัญ

นิ่วในทางเดินปัสสาวะ (urolithiasis) ที่พบได้ในแมวนั้นส่งผลให้เกิดการเจ็บป่วย หรือแม้แต่การเสียชีวิต ในสัตว์ที่เป็นได้ โดยนิ่วที่พบได้บ่อยที่สุดในแมวคือ นิ่วชนิด struvite และ calcium oxalate


การทำให้ปัสสาวะเจือจางลง (urine dilution) เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ ที่แนะนำสำหรับนิ่วทุกชนิด โดยมีเป้าหมายคือการทำให้ค่าความถ่วงจำเพาะของปัสสาวะ (urine specific gravity) อยู่ที่ 1.030 หรือต่ำกว่า


การเจือจางปัสสาวะนั้นสามารถทำได้หลายวิธีได้แก่ การให้อาหารที่มีความชื้นสูง หรือการเพิ่มน้ำในอาหารเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำที่ได้รับเข้าไปในร่างกายทั้งหมด


การใช้อาหารที่มีองค์ประกอบของโซเดียมสูงในบางสถานการณ์อาจมีความเหมาะสมในการเพิ่มการขับปัสสาวะ (diuresis)


บทนำ

นิ่วในทางเดินปัสสาวะเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเกิดกลุ่มอาการผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะส่วนล่างในแมว (feline lower urinary tract disease; FLUTD) เมื่ออ้างอิงจากกลุ่มตัวอย่างที่ส่งเข้ามาวิเคราะห์พบว่านิ่วในทางเดินปัสสาวะที่พบได้บ่อยในแมว (> ร้อยละ 80-90) คือนิ่วชนิด struvite (magnesium ammonium phosphate) และนิ่วชนิด calcium oxalate 1 2 นิ่วชนิด struvite นั้นเป็นชนิดที่มีการรายงานการพบบ่อยที่สุดตั้งแต่ช่วงกลางจนถึงปลายทศวรรษ 1990 แต่เมื่อเวลาผ่านไปจากการวิเคราะห์ในปัจจุบันกลับพบว่านิ่วชนิด calcium oxalate เป็นนิ่วที่พบได้บ่อยที่สุด โดยมีอุบัติการณ์ประมาณร้อยละ 40-50 ตามด้วยนิ่วชนิด struvite 1 2 ซึ่งสาเหตุที่ทำให้พบนิ่วชนิด calcium oxalate เพิ่มสูงขึ้นแต่นิ่วชนิด struvite กลับลดลงในแมวนั้นยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่อาจสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงส่วนประกอบของอาหารที่วางขายในท้องตลาดที่ช่วยป้องกันการเกิดนิ่วชนิด struvite ได้ เช่น การลดปริมาณแมกนีเซียมในอาหารและคุณสมบัติเพิ่มความเป็นกรดในปัสสาวะ 3

อาหารมีความสำคัญในการป้องกันและรักษานิ่วในทางเดินปัสสาวะ นอกจากนี้อาหารสูตรเฉพาะบางชนิดยังช่วยเพิ่มการละลายของนิ่วชนิด struvite และลดโอกาสที่จะกลับมาเป็นซ้ำได้ 4 5 ในทางตรงกันข้าม นิ่วชนิด calcium oxalate นั้นเป็นนิ่วที่ไม่สามารถละลายได้ด้วยการรักษาทางอายุรกรรม อีกทั้งแม้จะเชื่อว่าอาหารนั้นมีความสำคัญในการป้องกันการเกิดนิ่ว แต่กลไกของอาหารเหล่านั้นเองก็ยังไม่ชัดเจน รวมถึงยังขาดการศึกษาทางคลินิกในเรื่องผลของอาหารต่อการกลับมาเป็นนิ่วซ้ำ โดยทาง American College of Veterinary Internal Medicine (ACVIM) ได้ออกแนวทางเวชปฏิบัติในการรักษาและป้องกันนิ่วในทางเดินปัสสาวะของสุนัขและแมว (consensus statement on the treatment and prevention of canine and feline uroliths) 6 ซึ่งแม้จะเป็นที่สังเกตว่า Board Certified Veterinary NutritionistsTM นั้นไม่เคยออกแนวทางเวชปฏิบัติทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับข้อแนะนำทั้งหมดที่มีในแนวทางเวชปฏิบัติของ ACVIM เลยก็ตาม แต่ทว่าผู้เชี่ยวชาญหลายท่านเห็นพ้องกันว่านิ่วชนิด struvite ควรละลายได้ด้วยการรักษาทางอายุรกรรม (ยกเว้นในกรณีที่มีข้อห้าม) ซึ่งคือการละลายด้วยอาหารและ/หรือการรักษาทางยา

ความอิ่มตัวยิ่งยวดสัมพัทธ์ (relative supersaturation; RSS)

เมื่อพิจารณาถึงความสำคัญของอาหารต่อการรักษาและป้องกันโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ จึงจำเป็นที่จะต้องมีวิธีการทดสอบที่เชื่อถือได้ในการประเมินผลของอาหารที่มีต่อสภาพแวดล้อมและองค์ประกอบของปัสสาวะ การเกิดผลึกในปัสสาวะ (crystallization) คือขั้นตอนเริ่มต้นที่ทำให้เกิดนิ่ว เกิดขึ้นเมื่อสารตั้งต้นของนิ่ว (urolith precursors) เป็นอิสระและอยู่ในรูปแบบทางเคมีที่ถูกต้องเพื่อทำปฏิกิริยาระหว่างกัน โดยพบอยู่ในปัสสาวะที่มีความเข้มข้นสูง กล่าวคือปัสสาวะจะมีความอิ่มตัวยิ่งยวดด้วยสารตั้งต้นเหล่านี้ อย่างไรก็ตามการอิ่มตัวยิ่งยวดอาจจะไม่ใช่ปัจจัยเพียงชนิดเดียวที่ทำให้เกิดนิ่ว เนื่องจากโดยปกติแมวมักจะมีปัสสาวะที่อิ่มตัวยิ่งยวดด้วย calcium oxalate 7 แต่มีเพียงบางตัวที่ก่อตัวเป็นนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ

ความอิ่มตัวยิ่งยวดสัมพัทธ์ (relative supersaturation; RSS) แสดงให้เห็นถึงระดับความอิ่มตัวยิ่งยวดในปัสสาวะสำหรับสารประกอบผลึกคริสตัลที่กำหนด และถูกใช้เป็นตัววัดความเสี่ยงของการเกิดนิ่วทั้งในสุนัขและแมว การคำนวณค่าความอิ่มตัวยิ่งยวดสัมพัทธ์ 8 9 10 นั้นจำเป็นต้องให้อาหารที่กำหนดในกลุ่มสัตว์เป็นเวลาติดต่อกันหลายวันซึ่งเป็นการศึกษาตามแผน (cohort study) จากนั้นเก็บรวบรวมปัสสาวะทั้งหมดเพื่อวัดปริมาตร ค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) ค่าความถ่วงจำเพาะของปัสสาวะ (urine specific gravity; USG) และความเข้มข้นของไอออนที่ตกผลึก (crystallizing ion) (รูปภาพที่ 1) ผลิตภัณฑ์ที่มีกิจกรรมทางปฏิกิริยาเคมีของผลึกคริสตัล (activity product) จะถูกนำมาเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์ที่ละลายน้ำได้ (solubility product) โดยใช้ซอฟต์แวร์พิเศษเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าความอิ่มตัวยิ่งยวดสัมพัทธ์ ซึ่งค่าความอิ่มตัวยิ่งยวดสัมพัทธ์ที่ได้มาจากผลึกคริสตัลที่กำหนดในการทดลองจะช่วยแยกสถานะกึ่งเสถียร (metastable state) ออกจากสถานะอิ่มตัวยิ่งยวด (supersaturation state) ได้

การหาค่าความอิ่มตัวยิ่งยวดสัมพัทธ์ (relative supersaturation; RSS) สำหรับผลึกคริสตัลที่กำหนดในภายใต้เงื่อนไขของการทดลอง

รูปภาพที่ 1 การหาค่าความอิ่มตัวยิ่งยวดสัมพัทธ์ (relative supersaturation; RSS) สำหรับผลึกคริสตัลที่กำหนดในภายใต้เงื่อนไขของการทดลอง © Cecilia Villaverde/วาดใหม่โดย by Sandrine Fontègne

การหาค่าความอิ่มตัวยิ่งยวดสัมพัทธ์นั้นมีค่าใช้จ่ายที่สูงและมีความซับซ้อนในการดำเนินการ ดังนั้นระเบียบวิธีวิจัยจึงต้องมีความเข้มงวด ค่าความอิ่มตัวยิ่งยวดสัมพัทธ์จะต้องได้มาจากแมวที่มีสุขภาพดีเป็นหลัก และมีความเป็นไปได้ว่าผลการศึกษาอาจจะแตกต่างกันไปในแมวแต่ละตัว เพราะฉะนั้นเราจึงควรระมัดระวังเมื่อคาดการณ์ผลที่ได้จากแมวที่มีสุขภาพดีไปจนถึงแมวที่มีปัญหาโรคนิ่ว

มีข้อมูลที่สนับสนุนว่าการใช้อาหารที่ช่วยส่งเสริมให้ค่าความอิ่มตัวยิ่งยวดสัมพัทธ์น้อยกว่า 1 ในแมวที่มีนิ่วชนิด struvite สามารถทำให้เกิดการละลายของนิ่วได้ 11 12 การศึกษายังได้แนะนำว่าค่าความอิ่มตัวยิ่งยวดสัมพัทธ์นั้นจะเป็นตัวบ่งบอกที่ดีของการละลายนิ่วชนิด struvite อีกด้วย 13 ในขณะที่นิ่วชนิด caclium oxalate หรือนิ่วชนิดอื่นๆที่ไม่ใช่ struvite นั้นยังมีข้อมูลที่ค่อนข้างน้อย หลายการศึกษาแสดงให้เห็นว่าอาหารสูตรที่จำเพาะสำหรับทางเดินปัสสาวะจะช่วยลดค่าความอิ่มตัวยิ่งยวดสัมพัทธ์ของ calcium oxalate ให้อยู่ในสถานะกึ่งเสถียรในแมวและสุนัขที่อยู่ในช่วงการเกิดนิ่วได้ 14 15 (รูปภาพที่ 2) ทั้งหมดนี้จึงแสดงให้เห็นว่าอาหารนั้นมีบทบาทสำคัญในการลดความเสี่ยงของการกลับมาเป็นนิ่วชนิด calcium oxalate ซ้ำในสัตว์ป่วย แต่ทั้งนี้จำเป็นที่จะต้องมีงานวิจัยเพิ่มเติมเพื่อช่วยหาและยืนยันถึงความสัมพันธ์ของอาหารกับผลลัพธ์ทางคลินิกที่ต้องการซึ่งก็คือการป้องกันหรือชะลอการกลับมาเป็นซ้ำ 6

ค่าความอิ่มตัวยิ่งยวดสัมพัทธ์แต่ละส่วนนั้นมีความเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงในการเกิดนิ่วในทางทางเดินปัสสาวะที่แตกต่างกัน ตารางนี้ได้สรุปเงื่อนไขทั้งของนิ่วชนิด struvite และ calcium oxalate

รูปภาพที่ 2 ค่าความอิ่มตัวยิ่งยวดสัมพัทธ์แต่ละส่วนนั้นมีความเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงในการเกิดนิ่วในทางทางเดินปัสสาวะที่แตกต่างกัน ตารางนี้ได้สรุปเงื่อนไขทั้งของนิ่วชนิด struvite และ calcium oxalate

บทบาทของการเจือจางปัสสาวะในการป้องกันนิ่วในทางเดินปัสสาวะ

ระดับของการเจือจางปัสสาวะนั้นเป็นหนึ่งในปัจจัยที่มีผลต่อความอิ่มตัวยิ่งยวดของปัสสาวะ และการเพิ่มการเจือจางปัสสาวะนั้นก็เป็นหลักสำคัญในการรักษาและป้องกันนิ่วในทางเดินปัสสาวะในมนุษย์ อากาศในเขตที่อุณหภูมิสูงกว่าถูกระบุว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะเช่นกัน 16 ซึ่งอาจจะเกี่ยวข้องกับการสูญเสียน้ำที่มากขึ้น อย่างไรก็ตามสาเหตุของการเกิดนิ่วนั้นค่อนข้างซับซ้อน ดังนั้นจึงยากที่จะให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนอาหารของสัตว์แต่ละตัวเพียงอย่างเดียว อีกทั้งยังไม่มีงานวิจัยเกี่ยวกับผลของการเจือจางปัสสาวะโดยการเพิ่มปริมาณน้ำเข้าสู่ร่างกายเพียงอย่างเดียวอีกด้วย (ไม่ขึ้นกับปริมาณแร่ธาตุ ความเป็นกรด-ด่างของปัสสาวะ และปัจจัยทางอาหารอื่นๆ) แต่มีความเห็นพ้องร่วมกันว่าการเพิ่มการเจือจางปัสสาวะจะช่วยลดค่าความอิ่มตัวยิ่งยวดดังนั้นจึงช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดนิ่วได้

การศึกษาทางระบาดวิทยาที่ทำการศึกษาแมว 173 ตัวที่มีนิ่วชนิด calcium oxalate แมว 290 ตัวที่มีนิ่วชนิด struvite และแมว 827 ตัวที่ไม่ได้เป็นโรคระบบทางเดินปัสสาวะ (กลุ่มควบคุม) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหาปัจจัยเสี่ยงด้านอาหารสำหรับนิ่วทั้งชนิด struvite และ calcium oxalate 17 ผลการศึกษาพบว่าอาหารที่มีความชื้นสูงสุดจะมีความเสี่ยงในการเกิดนิ่วชนิด calcium oxalate ลดลง แต่ไม่ส่งผลผลกับการเกิดนิ่วชนิด struvite อย่างไรก็ตามการศึกษานี้มีข้อจำกัดเนื่องจากเป็นการศึกษาย้อนหลัง (retrospective studies) และการปรับเปลี่ยนอาหารอื่นๆอาจส่งผลต่อผลลัพธ์เหล่านี้ได้เช่นกัน ทั้งนี้ยังไม่มีการศึกษาไปข้างหน้า (prospective clinical study) ที่ศึกษาเกี่ยวกับผลของการเจือจางปัสสาวะเพียงอย่างต่อการเกิดนิ่วในแมว

การใช้ภาพอย่างง่ายเพื่อแสดงให้เจ้าของเห็นว่าการที่ปัสสาวะเจือจางลงจะช่วยลดความเข้มข้นของตัวละลายได้อย่างไร และยังทำให้โอกาสในการตกผลึกคริสตัลลดลงอีกด้วย

รูปภาพที่ 3 การใช้ภาพอย่างง่ายเพื่อแสดงให้เจ้าของเห็นว่าการที่ปัสสาวะเจือจางลงจะช่วยลดความเข้มข้นของตัวละลายได้อย่างไร และยังทำให้โอกาสในการตกผลึกคริสตัลลดลงอีกด้วย © Cecilia Villaverde/วาดใหม่โดย by Sandrine Fontègne

ปริมาณปัสสาวะที่เพิ่มขึ้นที่ส่งผลต่อการเจือจางของปัสสาวะสามารถช่วยป้องกันการเกิดนิ่วได้ โดยการลดความเข้มข้นของสารตั้งต้น (รูปภาพที่ 3) และการเพิ่มความถี่ในการปัสสาวะ ส่งผลให้เวลาในการกักเก็บแร่ธาตุในทางเดินปัสสาวะลดลง (reduced mineral retention time in the urinary tract) มีงานวิจัยหลายฉบับระบุว่าการเจือจางปัสสาวะ/การเพิ่มปริมาณปัสสาวะเป็นหนึ่งในขั้นตอนที่ช่วยป้องกันการกลับเป็นนิ่วซ้ำได้ 3 18 สัตวแพทย์หลายท่านได้ให้คำแนะนำว่าการจัดการนิ่วในทางเดินปัสสาวะ (โดนไม่ได้สนใจองค์ประกอบของนิ่ว) นั้นต้องใช้การเจือจางปัสสาวะเพื่อลดหรือป้องกันการเป็นนิ่วซ้ำ โดยมีเป้าหมายคือให้มีค่าความถ่วงจำเพาะปัสสาวะเท่ากับหรือน้อยกว่า 1.030 6 จากประสบการณ์ของผู้เขียนบทความจะแนะนำให้แจ้งเจ้าของก่อนว่าเป้าหมายของการรักษาคือการทำให้แมวมีปัสสาวะมาก ดังนั้นเจ้าของอาจจะต้องทำความสะอาดกระบะทรายบ่อยขึ้น

วิธีการที่จะเจือจางปัสสาวะอย่างเหมาะสม

แมวมีความสามารถที่น่าทึ่งในการเพิ่มความเข้มข้นของปัสสาวะเมื่อกินอาหารที่มีความชื้นต่ำและ/หรือกินน้ำได้ไม่เพียงพอ มีรายงานว่าพบค่าความถ่วงจำเพาะของปัสสาวะสูงได้ถึง 1.065 18 ด้วยสาเหตุนี้จึงทำให้การเจือจางปัสสาวะในแมวนั้นยากกว่าในสุนัข แต่มีข้อแนะนำบางประการที่อาจช่วยเพิ่มการกินน้ำของแมวและทำให้ปัสสาวะเจือจางได้(รูปภาพที่ 4)

A summary of methods that can promote water intake and urine dilution.

การกระตุ้นให้ดื่มน้ำมากขึ้น (stimulate water intake)

  • น้ำสะอาด
  • เพิ่มที่กินน้ำหรือเพิ่มชามน้ำ
  • น้ำไหล (running water) เช่น น้ำพุ ฯลฯ
A summary of methods that can promote water intake and urine dilution.

ใช้อาหารเปียก

  • ความชื้น > ร้อยละ70
  • อาหารเปียกบางอย่างอาจจะมีความชื้น > ร้อยละ 80
  • อาจมีการเติมน้ำเข้าไปในอาหารเปียกเพื่อให้ได้ความชื้นตามที่ต้องการ
A summary of methods that can promote water intake and urine dilution.

เติมน้ำในอาหาร

  • ค่อยๆเติมน้ำลงในอาหารเม็ดเพื่อให้แมวเกิดความคุ้นเคยและยอมรับอาหาร
  • เติมน้ำ 2 ถ้วยต่ออาหารแห้ง 2 ถ้วย (ปรับตามเป้าหมายที่ต้องการ)
  • ปั่นผสมให้เข้ากัน ถ้าหากการเติมน้ำลงในอาหารเพียงอย่างเดียวทำให้แมวไม่กินอาหาร
A summary of methods that can promote water intake and urine dilution.

ใช้อาหารที่มีปริมาณเกลือสูง (salt-enriched diets)/span>

  • ในกรณีที่แมวไม่กินอาหารเปียกหรือเจ้าของไม่ให้อาหารเปียกกับสัตว์เลี้ยง
  • ห้ามใช้ในกรณีที่สัตว์ป่วยเป็นโรคที่ไวกับเกลือ (salt-sensitive diseases)
รูปภาพที่ 4  สรุปวิธีที่จะช่วยเพิ่มการกินน้ำและเจือจางปัสสาวะ

การเพิ่มน้ำในอาหาร (increase dietary water)

หนึ่งในวิธีที่ปลอดภัยที่สุดที่ช่วยเพิ่มการกินน้ำคือการให้อาหารกระป๋องที่มีความชื้นสูง หรือการเติมน้ำลงไปในอาหารเม็ด โดยวิธีหลังจะเป็นทางเลือกที่จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหารเปียกได้ มีการศึกษาพบว่าการกินอาหารที่มีความชื้นสูงจะช่วยเพิ่มปริมาณปัสสาวะและลดค่าความถ่วงจำเพาะของปัสสาวะได้ 19 20 มีการศึกษา 21 โดยให้อาหารที่แตกต่างกันไป 4 แบบในแมวสุขภาพดีจำนวน 6 ตัว ซึ่งอาหารทั้ง 4 แบบจะมีพื้นฐานเป็นอาหารชนิดเดียวกันแต่จะมีการเติมน้ำเข้าไปในปริมาณที่แตกต่างกัน (เพื่อให้ได้ความชื้นรวมร้อยละ6.3 ร้อยละ25.4 ร้อยละ53.3 และ ร้อยละ73.3) แมวทุกตัวจะต้องกินอาหารชนิดเดิมติดต่อกันเป็นเวลา 3 สัปดาห์โดยออกแบบการศึกษาเป็นแบบข้ามกลุ่ม (crossover study) จากนั้นจึงทำการประเมินปริมาณน้ำที่เข้าไปกิน (water intake) การผลิตปัสสาวะ ค่าความถ่วงจำเพาะของปัสสาวะ และค่าความอิ่มตัวยิ่งยวดในแมวแต่ละตัว นักวิจัยพบว่าการเพิ่มความชื้นในอาหารจะทำให้การกินน้ำลดลง แต่อย่างไรก็ตามแมวที่กินอาหารที่มีความชื้นสูงที่สุด (ร้อยละ73.3) พบว่าได้รับน้ำโดยรวมมากขึ้นจากการกินน้ำร่วมกับน้ำที่มีในอาหาร เมื่อเปรียบเทียบกับอาหารอีก 3 ชนิด เมื่อแมวได้รับอาหารชนิดนี้ยังทำให้มีปริมาณปัสสาวะมากขึ้นในระยะเวลา 24 ชั่วโมง (โดยเฉลี่ย 86.7 มิลลิลิตร) เมื่อเปรียบเทียบกับอาหารชนิดอื่นๆ อีกทั้งอาหารที่มีความชื้นสูงที่สุดจะส่งผลให้ค่าความถ่วงจำเพาะของปัสสาวะลดลง (โดยเฉลี่ย 1.036) เมื่อเปรียบเทียบกับอาหารชนิดอื่นๆ (1.052-1.054) และยังลดค่าความอิ่มตัวยิ่งยวดสำหรับนิ่วชนิด calcium oxalate ในขณะที่อาหารไม่มีผลต่อค่าความอิ่มตัวยิ่งยวดสำหรับนิ่วชนิด struvite

ยังมีการศึกษา 14 ในแมวที่เป็นนิ่วชนิด calcium oxalate 10 ตัวที่ได้รับอาหารหลายชนิดที่มีองค์ประกอบทางสารอาหารแตกต่างกัน แต่มีความชื้นอยู่ระหว่างร้อยละ 9-18 โดยแมวจะถูกเปลี่ยนอาหารเป็นอาหารกระป๋องสูตรสำหรับโรคทางเดินปัสสาวะที่มีความชื้นร้อยละ 78 จากนั้นพบว่ามีแนวโน้มที่จะมีปริมาณปัสสาวะเพิ่มมากขึ้นและค่าความถ่วงจำเพาะของปัสสาวะลดลง ซึ่งส่งผลให้ค่าความอิ่มตัวยิ่งยวดของนิ่วชนิด calcium oxalate นั้นลดลง อย่างไรก็ตามมีความแตกต่างหลายอย่างระหว่างอาหารเดิมกับอาหารที่นำมาใช้ทดลอง ดังนั้นผลที่เกิดขึ้นอาจจะมาจากการรวมกันของปัจจัยด้านอาหารหลายประการ

มีการแนะนำว่าอาหารสูตรสำหรับโรคทางเดินปัสสาวะนั้นควรมีความชื้นอย่างน้อย 75% 8 แต่ตามประสบการณ์ของผู้เขียนเป้าหมายของความชื้นในอาหารควรอยู่ที่ร้อยละ 85 (กล่องข้อความ 1) เพื่อช่วยลดค่าความถ่วงจำเพาะของปัสสาวะอย่างสม่ำเสมอตลอดทั้งวันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่สัตว์ป่วยกลับมาเป็นนิ่วซ้ำ ทั้งนี้ไม่ใช่แมวทุกตัวที่จะยอมกินอาหารที่มีการเติมน้ำเข้าไป ดังนั้นสำหรับสัตว์เหล่านี้จึงควรค่อยๆเพิ่มน้ำเข้าไปในอาหารอย่างช้าๆหรือใช้อาหารที่มีความชื้นสูงเพื่อให้มีความชื้นมากกว่าร้อยละ 80

 

เป้าหมายของความชื้นในอาหารอยู่ที่ร้อยละ 85 = น้ำ 85 กรัมในอาหาร 100 กรัม
การคำนวณค่าความชื้นซ้ำเมื่อเติมน้ำเข้าไปในอาหาร 100 กรัม ต้องใช้สูตรที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ โดยให้ X เป็นปริมาณน้ำ (มิลลิลิตรหรือกรัม) ที่เติมเข้าไปในอาหาร 100 กรัม
85% total moisture = [% moisture diet + x/100 g + x] x 100

ตัวอย่างในอาหารแห้งที่มีความชื้นร้อยละ 10
 
85% = [10% + x/100 g + x] x 100
85/100 = [10 + x/100 + x]
0.85(100 + x) = 10 + x
85 + 0.85x = 10 + x
75 = 0.15x
500 = x
 
เติมน้ำ 500 มิลลิลิตร (ประมาณ 2 ถ้วย) ต่ออาหารแห้ง 100 กรัม (อัตราส่วนโดยน้ำหนัก 5:1 หรือ โดยปริมาตร 2:1)

ตัวอย่างในอาหารเปียกที่มีความชื้น 70%
 
85% = [70% + x/100 g + x] x 100
85/100 = [70 + x/100 + x]
0.85(100 + x) = 70 + x
85 + 0.85x = 70 + x
15 = 0.15x
100 = x
 
เติมน้ำ 100 มิลลิลิตรต่ออาหารเปียก 100 กรัม (ปริมาตร 1:1)

กล่องข้อความ 1 ตัวอย่างของวิธีคำนวณปริมาณน้ำที่ต้องเติมเข้าไปในอาหารเพื่อให้ได้ความชื้นที่ต้องการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้อาหารแห้งและอาหารกระป๋องมีความชื้นอยู่ที่ 85%

 

อาหารแห้งสามารถช่วยลดค่าความอิ่มตัวยิ่งยวดสำหรับนิ่วชนิด struvite และ calcium oxalate 7 ในปัสสาวะของแมวที่มีสุขภาพดีโดยการเปลี่ยนแปลงปัจจัยด้านอาหารอื่นๆที่จะมีผลต่อการเกิดนิ่ว เช่น ค่าความเป็นกรด-ด่าง และความเข้มข้นของสารตั้งต้นและสารยับยั้ง โดยอาหารแห้งบางชนิดยังช่วยลดค่าความอิ่มตัวยิ่งยวดด้วยวิธีการอื่นๆที่นอกเหนือจากการเพิ่มการกินน้ำเพื่อให้ขับปัสสาวะมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น อาหารที่มีปริมาณเกลือสูง (salt-enriched diets) เป็นต้น

สัตวแพทย์ควรตระหนักเสมอว่าการเติมน้ำเข้าไปในอาหารจะเปลี่ยนแปลงรสชาติและเนื้อสัมผัสของอาหารซึ่งมีโอกาสทำให้แมวปฏิเสธที่จะกินอาหารนั้น อีกทั้งยังลดระดับพลังงานในอาหารซึ่งอาจทำให้แมวที่เคยมีน้ำหนักปกติ ผอมหรือเลือกกินอยู่แล้วนั้นน้ำหนักลดลงไปอีกได้เช่นกัน ถ้าเติมน้ำลงไปในอาหารเม็ดก็จะทำให้เกิดการเน่าเสียได้ง่ายในกรณีที่มีอาหารเหลือ และอาหารเม็ดที่นิ่มลงนั้นยังหมายถึงการหวังผลด้านทันตกรรมนั้นหายไปด้วยเช่นกัน (เช่น การขัดฟัน)

การใช้อาหารที่มีโซเดียมสูง (use high sodium diets)

อาหารแห้งสูตรสำหรับนิ่วในทางเดินปัสสาวะของแมวบางชนิดนั้นจะมีปริมาณโซเดียมสูง (สูงถึง 3.5 กรัม/1000 กิโลแคลอรี) โดยสูงกว่าอาหารทั่วไปที่มีโซเดียมอยู่เพียงประมาณ 1 กรัม/1000 กิโลแคลอรีหรือน้อยกว่านี้ อาหารโซเดียมสูงสามารถช่วยเพิ่มการเจือจางปัสสาวะโดยกระตุ้นการขับปัสสาวะ 22 ก่อนหน้านี้มีการศึกษาย้อนหลัง (retrospective study) ที่ประเมินปัจจัยเสี่ยงด้านอาหารกับการเกิดนิ่วชนิด struvite และ calcium oxalate ในแมว  17 ระบุว่าอาหารที่มีโซเดียมต่ำจะมีความเสี่ยงในการเกิดนิ่วชนิด calcium oxalate สูงขึ้น ทั้งนี้เช่นเดียวกันกับการศึกษาอื่นๆผลของการศึกษานี้อาจจะมีปัจจัยอื่นๆเข้ามาเกี่ยวข้องและไม่สามารถใช้บ่งชี้สาเหตุของการเกิดนิ่วได้

มีการศึกษาระยะยาวในแมวโดยใช้เวลามากถึง 2 ปี เพื่อหาผลของอาหารที่มีปริมาณโซเดียมสูง (3.1 กรัม/1000 กิโลแคลอรี) และอาหารควบคุมที่มีปริมาณโซเดียม 1 กรัม/1000 กิโลแคลอรี ต่อค่าไต (renal parameters) ความดันโลหิต (blood pressure) และค่าต่างๆของปัสสาวะ (urinary parameters) 23 อาหารสูตรรักษาโรค (treatment diet) นั้นพบว่าไม่ได้ส่งผลเสียต่อค่าไตหรือความดันโลหิต อีกทั้งยังช่วยลดค่าความถ่วงจำเพาะของปัสสาวะ (USG) เมื่อเปรียบเทียบกับอาหารกลุ่มควบคุม แต่จะได้ผลลัพธ์ที่ดีเป็นระยะเวลาประมาณ 3 เดือนเท่านั้น ซึ่งอาจหมายความว่าผลของอาหารที่มีปริมาณโซเดียมสูงซึ่งช่วยเพิ่มการขับปัสสาวะ (promote diuresis) นั้นอาจจะไม่ได้ยั่งยืนในระยะยาว มีอีกหนึ่งการศึกษา 24 ที่รายงานว่าอาหารที่มีปริมาณเกลือสูงนั้นมีผลในเชิงบวกต่อปริมาณปัสสาวะ เมื่อให้แมวสุขภาพดีกินติดต่อกันเป็นเวลา 2 สัปดาห์ พบว่าไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงของค่าความถ่วงจำเพาะของปัสสาวะกับค่าความอิ่มตัวยิ่งยวดสำหรับนิ่วชนิด calcium oxalate หรือ struvite เลย ซึ่งผลการศึกษาเหล่านี้คล้ายคลึงกับผลการศึกษาอื่นๆ เช่น การศึกษาในแมวสุขภาพดีเป็นเวลา 3 สัปดาห์ 25 ที่เป็นการศึกษาระยะสั้นในแมวเพียงไม่กี่ตัว

อาหารที่มีปริมาณโซเดียมสูงนั้นไม่สามารถใช้ในแมวป่วยเป็นโรคที่ไวต่อปริมาณโซเดียม (salt-sensitive disease) เช่น โรคไตหรือโรคหัวใจได้ อีกทั้งยังไม่แนะนำให้ใช้กับนิ่วชนิด urate หรือ cystine เนื่องจากกังวลว่าอาหารที่มีปริมาณโซเดียมสูงจะทำให้มีแคลเซียมในปัสสาวะ (calcinuria) แต่จากการศึกษาระยะสั้นในแมวสุขภาพดี 25 ชี้ให้เห็นว่าแม้การขับแคลเซียมทางไต (renal calcium excretion) จะเพิ่มขึ้นแต่ระดับความเข้มข้นของแคลเซียมในปัสสาวะนั้นอาจไม่ได้รับผลกระทบเนื่องจากผลของเกลือต่อปริมาณปัสสาวะที่เพิ่มขึ้นพร้อมกัน (concurrent effect)

สิ่งสำคัญในอนาคตคือการวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลของอาหารที่มีปริมาณโซเดียมสูงต่อค่าความถ่วงจำเพาะของปัสสาวะ ค่าความอิ่มตัวยิ่งยวด ค่าอื่นๆของระบบปัสสาวะและผลลัพธ์ที่แสดงออกทางคลินิก (clinical outcomes) แม้ว่าหลักการของ ACVIM จะแนะนำให้ใช้อาหารที่มีความชื้นสูงมากกว่าอาหารที่มีปริมาณโซเดียมสูงก็ตาม 6โดยอาหารที่มีปริมาณโซเดียมสูงอาจจะเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าหรือเจ้าของสัตว์ป่วยที่มีข้อจำกัดด้านการเงินหรือปฏิเสธที่จะใช้อาหารที่มีความชื้นสูงได้

การเพิ่มการกินน้ำ (promote drinking water intake)

คำแนะนำทั่วไปสำหรับเจ้าของสัตว์ป่วยโรคนิ่วนั่นคือการให้แมวกินน้ำมากขึ้น ซึ่งอาจจะทำได้โดยการใช้น้ำที่ไหล (running water) เช่น น้ำพุ น้ำที่มีรสชาติหรือผ่านการปรุงแต่ง การเพิ่มชามน้ำหรือที่กินน้ำ และการใช้ชามน้ำที่ทำจากวัสดุเฉพาะ 26ผู้เขียนพบว่าการใช้น้ำที่มีรสชาติหรือผ่านการปรุงแต่งโดยการผสมน้ำจากซุปไก่กระป๋องหรือปลาทูน่ากระป๋อง (จะทำเองหรือเป็นยี่ห้อที่วางขายทั่วไปในท้องตลาดก็ได้แต่ต้องไม่มีหัวหอมหรือกระเทียม) สูงสุดไม่เกิน 15 มิลลิลิตรต่อน้ำสะอาด 500 มิลลิลิตรนั้นได้ผลดีที่สุด อย่างไรก็ตาม ยังขาดงานวิจัยที่จะช่วยสนับสนุนประสิทธิภาพของสิ่งต่างๆที่กล่าวไปในข้างต้นต่อการเจือจางปัสสาวะและผลลัพธ์ที่แสดงออกทางคลินิก มีการศึกษาเรื่องผลของระบบการให้น้ำแบบต่างๆในแมวกลุ่มหนึ่งต่อค่าความอิ่มตัวยิ่งยวดของนิ่วชนิด calcium oxalate และ struvite ค่าความถ่วงจำเพาะของปัสสาวะ ค่าความเข้มข้นของสารละลายในปัสสาวะ (urine osmolality) และปริมาณปัสสาวะ 27 โดยเปรียบเทียบระหว่างชามที่ใส่น้ำนิ่ง (still bowl) ชามน้ำระบบหมุนวน (circulating bowl) และชามน้ำระบบน้ำไหลลงอิสระ (free-falling bowl) เป็นเวลา 2 สัปดาห์ ผลของการศึกษาพบว่าไม่มีความแตกต่างในค่าความอิ่มตัวยิ่งยวด ปริมาณน้ำที่กินโดยเฉลี่ย ปริมาณปัสสาวะหรือค่าความถ่วงจำเพาะของปัสสาวะ แต่พบว่าแมวที่ใช้ชามน้ำระบบหมุนวนจะมีค่าความเข้มข้นของสารละลายในปัสสาวะสูงกว่าแมวที่ใช้ชามน้ำแบบอื่น อย่างไรก็ตามค่าความถ่วงจำเพาะของปัสสาวะที่พบในการศึกษานี้จะอยู่ที่ 1.044 ซึ่งถือว่ายังสูงเกินไปสำหรับการป้องกันการเกิดนิ่วอยู่ดี

การศึกษาที่กล่าวถึงในข้างต้นนั้นไม่ได้แสดงให้เห็นว่าการใช้น้ำพุจะช่วยส่งผลต่อการเจือจางปัสสาวะ ทว่าแมวบางตัวในการศึกษานี้ได้แสดงให้เห็นว่ามีการชอบชามน้ำชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นพิเศษ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องเสนอทางเลือกของชามน้ำรูปแบบต่างๆให้กับสัตว์ป่วยเพื่อหาความชอบของสัตว์ป่วยตัวนั้นให้พบ ซึ่งรวมไปถึงวัสดุและรูปร่างของชามน้ำด้วย ชามน้ำควรวางในที่สะอาด ไม่มีกลิ่น รวมถึงวางแยกจากกระบะทรายและอาหาร การมีชามน้ำหลายๆอันตั้งไว้ในที่ต่างๆของบ้านยังมีประโยชน์ช่วยให้แมวสามารถเข้าถึงน้ำได้ตลอดเวลา

การเฝ้าติดตามอาการ (monitoring)

แมวที่เป็นโรคนิ่วควรมีการเฝ้าติดตามอาการในระยะยาวเพื่อลดโอกาสกลับมาเป็นนิ่วซ้ำ การเฝ้าติดตามจะช่วยให้เราสามารถตรวจพบนิ่วในทางเดินปัสสาวะได้ตั้งแต่เนิ่นๆและในกรณีที่จำเป็นจะสามารถกำจัดนิ่วโดยใช้วิธีการที่ไม่ล่วงล้ำเข้าสู่ร่างกาย (non-invasive methods) ความถี่และประเภทของการวินิจฉัยที่ใช้ในการเฝ้าติดตามอาการ (เช่น วิเคราะห์ปัสสาวะ (urinalysis) ภาพถ่ายรังสี การเพาะเชื้อจากปัสสาวะ ฯลฯ) จะแตกต่างกันไปในแต่ละกรณี (ชนิดของนิ่ว ความสัมพันธ์กับการติดเชื้อ อาการเจ็บป่วยร่วม อาการของโรคก่อนหน้านี้ ฯลฯ) รวมถึงงบประมาณของเจ้าของ

 

Cecilia Villaverde

การปรุงแต่งรสชาติน้ำที่แมวกินอาจช่วยให้แมวกินน้ำเพิ่มมากขึ้น แต่ยังขาดงานวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวิธีนี้ต่อการเจือจางปัสสาวะและผลลัพธ์ทางคลินิกที่ได้

Cecilia Villaverde

วิธีการติดตามค่าความถ่วงจำเพาะปัสสาวะ (USG) ที่ใช้บ่อยที่สุดในชีวิตประจำวันก็คือการวัดด้วยเครื่องวัดการหักเหของแสง (refractometer) เนื่องจากการตรวจโดยใช้แผ่นทดสอบสำเร็จรูป (dipstick) นั้นให้ผลไม่ค่อยน่าเชื่อถือ เจ้าของสัตว์ป่วยสามารถซื้อเครื่องวัดการหักเหของแสงมาใช้ตรวจเองหรือนำปัสสาวะของสัตว์ป่วยที่ไม่ได้ถูกดูดซับด้วยทรายมาให้สัตวแพทย์เป็นผู้ทำการทดสอบนี้เองก็ได้ โดยการทดสอบครั้งแรกควรทำหลังจากเริ่มการป้องกันการเกิดนิ่วไปแล้ว 4-6 สัปดาห์ ปัสสาวะที่นำมาตรวจควรเก็บในเวลาเดียวกันทุกครั้ง เนื่องจากค่าความถ่วงจำเพาะของปัสสาวะจะแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลาของวัน เช่น ตัวอย่างจากปัสสาวะแรกของวันมักจะมีค่าความเข้มข้นมากกว่าตัวอย่างปัสสาวะที่เก็บในช่วงบ่าย

หากค่าความถ่วงจำเพาะของปัสสาวะยังไม่อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องการ (< 1.030) ควรตรวจสอบการรักษาที่ได้แนะนำไว้ (อาหาร ยา การเติมน้ำในอาหาร ฯลฯ) หากเจ้าของสัตว์ป่วยปฏิบัติตามได้ดี สัตวแพทย์จำเป็นที่ต้องระบุให้เจ้าของสัตว์ป่วยให้อาหารที่มีความชื้นสูงกว่าอาหารที่ให้อยู่ในปัจจุบัน (หรือเติมน้ำลงในอาหารมากขึ้น) ต่อเนื่องไปจนกว่าค่าความถ่วงจำเพาะของปัสสาวะจะอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ โดยอาจแนะนำให้เจ้าของวางชามน้ำไว้ในบริเวณต่างๆของบ้าน >1 อัน (ในกรณีที่ยังไม่เคยทำมาก่อน) และพยายามหาวิธีกินน้ำที่แมวชอบ (เช่น ขนาดหรือวัสดุของชามน้ำ น้ำนิ่งหรือน้ำไหล น้ำที่มีรสชาติหรือน้ำจืด เป็นต้น)

การเลือกอาหารสำหรับแมวที่เป็นโรคนิ่วนั้นจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับชนิดของนิ่ว เป้าหมาย (เพื่อละลายนิ่วหรือเพื่อป้องกันการเกิดนิ่ว) อาการเจ็บป่วยร่วมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน อาการของโรคก่อนหน้านี้ และงบประมาณของเจ้าของสัตว์ป่วย อย่างไรก็ตามในทุกกรณีอาหารที่เลือกควรจะเป็นอาหารที่เพิ่มการเจือจางปัสสาวะ ไม่ว่าจะด้วยการมีความชื้นที่สูงหรือหรือปริมาณเกลือที่สูง(ถ้าไม่มีข้อห้ามใช้) หากอาหารนั้นไม่ได้มีองค์ประกอบเป็นไปตามที่ต้องการ ควรเพิ่มน้ำเข้าไปในอาหารอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ผู้เขียนแนะนำให้ค่อยๆเพิ่มน้ำให้ถึงเป้าหมายที่ต้องการอย่างช้าๆเพื่อให้แมวค่อยๆยอมรับในอาหารและหลีกเลี่ยงปัญหาทั่วไปที่จะตามมาภายหลังจากการเปลี่ยนอาหารอย่างทันทีทันใด เช่น ท้องเสีย การตรวจปัสสาวะเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอในระยะยาวนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อให้ทราบว่าสุขภาพโดยรวมของสัตว์ป่วยนั้นอยู่ในเกณฑ์ดี อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญคือการตระหนักไว้เสมอว่าค่าความอิ่มตัวยิ่งยวด (RSS) นั้นยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการควบคุมการเกิดนิ่วในแมว และโปรแกรมการรักษาที่ออกแบบมาเพื่อสัตว์ป่วยที่มีความเสี่ยงจะต้องมีลักษณะแบบองค์รวมตามที่กล่าวมาข้างต้น

พิเศษสำหรับสัตวแพทย์ไทย

เข้าทำเเบบทดสอบเพื่อสะสม VET-CE ภายในวันที่ 15 ต.ค. - 15 ธ.ค. 2022


ทำแบบทดสอบ VET-CE

แหล่งอ้างอิง

  1. Cannon AB, Westropp JL, Ruby AL, et al. Evaluation of trends in urolith composition in cats: 5,230 cases (1985-2004). J Am Vet Med Assoc 2007;231(4):570-576.
  2. Houston DM, Vanstone NP, Moore AE, et al. Evaluation of 21,426 feline bladder urolith submissions to the Canadian Veterinary Urolith Centre (1998-2014). Can Vet J 2016;57:196-201.
  3. Palm C, Westropp J. Cats and calcium oxalate: strategies for managing lower and upper tract stone disease. J Feline Med Surg 2011;13:651-660.
  4. Smith DM, Weese HE, Evason MD, et al. A diet with a struvite relative supersaturation less than 1 is effective in dissolving struvite stones in vivo. Br J Nutr 2011;106 Suppl 1:S90-S92.
  5. Luich JP, Kruger JM, Macleay JM, et al. Efficacy of two commercially available, low-magnesium, urine-acidifying dry foods for the dissolution of struvite uroliths in cats. J Am Vet Med Assoc 2013;243:1147-1153.
  6. Lulich JP, Berent AC, Adams LG, et al. ACVIM Small Animal Consensus Recommendations on the Treatment and Prevention of Uroliths in Dogs and Cats. J Vet Intern Med 2016;30:1564-1574.
  7. Smith BH, Stevenson AE, Markwell PJ. Urinary relative supersaturations of calcium oxalate and struvite in cats are influenced by diet. J Nutr 1998;128:2763S-2764S.
  8. Stevenson AE, Wrigglesworth DJ, Smith BH, et al. Effects of dietary potassium citrate supplementation on urine pH and urinary relative supersaturation of calcium oxalate and struvite in healthy dogs. Am J Vet Res 2000;61:430-435.
  9. Markwell PJ, Smith BHE. An effective urine pH monitoring system for cats. Anim Tech 1993;44: 239-245.
  10. Robertson WG, Jones JS, Heaton MA, et al. Predicting the crystallization potential of urine from cats and dogs with respect to calcium oxalate and magnesium ammonium phosphate (struvite). J Nutr 2002;132:1637S-41S.
  11. Houston DM, Weese HE, Evason MD, et al. A diet with a struvite relative supersaturation less than 1 is effective in dissolving struvite stones in vivo. Br J Nutr 2011;106 Suppl 1:S90-S92.
  12. Torres-Henderson C, Bunkers J, Contreras ET, et al. Use of Purina Pro Plan Veterinary Diet UR Urinary St/Ox to dissolve struvite cystoliths. Top Companion Anim Med 2017;32:49-54.
  13. van Hoek I, Malandain E, Tournier C, et al. RSS is a better predictor for struvite dissolution than urine pH. Vet Focus 2009; 9(2):47-48.
  14. Lulich JP, Osborne CA, Lekcharoensuk C, et al. Effects of diet on urine composition of cats with calcium oxalate urolithiasis. J Am Anim Hosp Assoc 2004;40:185-191.
  15. Stevenson AE, Blackburn JM, Markwell PJ, et al. Nutrient Intake and Urine Composition in Calcium Oxalate Stone-Forming Dogs: Comparison with Healthy Dogs and Impact of Dietary Modification. Vet Ther 2004;5(3):218-231.
  16. Gomes VDR, Ariza PC, Borges NC, et al. Risk factors associated with feline urolithiasis. Vet Res Commun 2018;42:87-94.
  17. Lekcharoensuk C, Osborne CA, Lulich JP, et al. Association between dietary factors and calcium oxalate and magnesium ammonium phosphate urolithiasis in cats. J Am Vet Med Assoc 2001;219: 1228-1237.
  18. Bartges JW, Callens AJ. Urolithiasis. Vet Clin North Am Small Anim Pract 2015;45:747-768.
  19. Deng P, Iwazaki E, Suchy SA, et al. Effects of feeding frequency and dietary water content on voluntary physical activity in healthy adult cats. J Anim Sci 2014;92:1271-1277.
  20. Thomas DG, Post M, Bosch G. The effect of changing the moisture levels of dry extruded and wet canned diets on physical activity in cats. J Nutr Sci 2017;6:e9.
  21. Buckley CM, Hawthorne A, Colyer A, et al. Effect of dietary water intake on urinary output, specific gravity and relative supersaturation for calcium oxalate and struvite in the cat. Br J Nutr 2011;106 Suppl 1:S128-S130.
  22. Nguyen P, Reynolds B, Zentek J, et al. Sodium in feline nutrition. J Anim Physiol Anim Nutr 2017;101:403-420.
  23. Reynolds BS, Chetboul V, Nguyen P, et al. Effects of dietary salt intake on renal function: a 2-year study in healthy aged cats. J Vet Intern Med 2013;27:507-515.
  24. Xu H, Laflamme DP, Bartges JW, et al. Effect of dietary sodium on urine characteristics in healthy adult cats. J Vet Intern Med 2006;20:738.
  25. Paßlack N, Burmeier H, Brenten T, et al. Short-term effects of increasing dietary salt concentrations on urine composition in healthy cats. Vet J 2014;201:401-405.
  26. Larsen JA. The role of water in disease management. In; Proceedings ACVIM Forum 2018; access online.
  27. Robbins MT, Cline MG, Bartges JW, et al. Quantified water intake in laboratory cats from still, free-falling and circulating water bowls, and its effects on selected urinary parameters. J Feline Med Surg 2018 [Epub ahead of print].
Cecilia Villaverde

Cecilia Villaverde

Dr. Villaverde ได้รับปริญญาสัตวแพทยศาสตรบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิตจาก Universitat Autònoma de Barcelona อ่านเพิ่มเติม

บทความอื่นๆ ในประเด็นนี้

หมายเลขหัวข้อ 29.2 เผยแพร่แล้ว 04/10/2022

การนำนิ่วในกระเพาะปัสสาวะออกโดยรบกวนสัตว์ป่วยน้อยที่สุด

ทางเลือกในการนำนิ่วในทางเดินปัสสาวะออกโดยรบกวนผู้ป่วยน้อยที่สุดนั้นในปัจจุบันได้กลายเป็น...

โดย Marilyn Dunn

หมายเลขหัวข้อ 29.2 เผยแพร่แล้ว 01/08/2021

การตรวจคัดกรองเบื้องต้นสำหรับภาวะปัสสาวะมีเลือดปนระยะแรกเริ่มในแมว

การตรวจคัดกรองภาวะปัสสาวะมีเลือดปน (hematuria) ในแมวสามารถทำได้โดยการเติม...

โดย Elodie Khenifar

หมายเลขหัวข้อ 29.2 เผยแพร่แล้ว 01/07/2021

การจัดการภาวะปัสสาวะกะปริบกะปรอยในสุนัข

ภาวะปัสสาวะกะปริบกะปรอยเป็นอาการแสดงที่สัตวแพทย์สัตว์เล็กพบได้บ่อย...

โดย Rafael Nickel

หมายเลขหัวข้อ 29.2 เผยแพร่แล้ว 20/06/2021

การตรวจภาพวินิจฉัยทางเดินปัสสาวะในแมวเพื่อการคัดกรองเบื้องต้น

สถานพยาบาลสัตว์ในปัจจุบันส่วนมากมักมีเครื่องอัลตราซาวด์เพื่อ...

โดย Gregory Lisciandro