วารสารเชิงวิชาการและการรักษาสัตวป่วยเพื่อผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์
วารสารเชิงวิชาการและการรักษาสัตวป่วยเพื่อผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์

หมายเลขหัวข้อ 24.3 โภชนาการ

ประโยชน์ของเส้นใยอาหารต่อแมว

เผยแพร่แล้ว 20/11/2021

เขียนโดย Allison Wara และ Craig Datz

สามารถอ่านได้ใน Français , Deutsch , Italiano , Español และ English

เส้นใยอาหาร (dietary fiber) ได้รับความสนใจจากนักโภชนาการและสัตวแพทย์มานานหลายปีในฐานะส่วนประกอบของอาหารและอาหารเสริมโดยถูกนำมาใช้เพื่อปรับสภาพของอุจจาระและช่วยในการควบคุมน้ำหนัก จากการศึกษาเมื่อไม่นานมานี้พบว่าเส้นใยอาหารยังส่งผลต่อเชื้อจุลชีพในอาศัยในทางเดินอาหาร (gastrointestinal microbiome) ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ในการรักษาโรคต่างๆอีกด้วย (แปลโดน น.สพ. พีระ มานิตยกุล

A demonstration of the solubility and viscosity of different fiber sources where equal amounts are added to 100 mL water. The oat and wheat bran do not absorb water and no changes are seen after 24 hours, whilst the wheat dextrin powder dissolves immediately and stays in solution. Psyllium powder absorbs water and forms a thick gel after 24 hours.

ประเด็นสำคัญ

การจะระบุว่าสารใดคือเส้นเส้นใยอาหารนั้นทำได้ยากแต่มักจะจัดเอาตามคุณสมบัติเช่น ความสามารถในการละลายน้ำ ความหนืด และความสามารถในการถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ในทางเดินอาหาร อาหารแมวสำเร็จรูปในท้องตลาดมักประกอบด้วยเส้นใยอาหารสองชนิดขึ้นไป


เส้นใยอาหารชนิดที่ถูกย่อยสลายได้ช้าเช่นเซลลูโลสสามารถเพิ่มปริมาณอาหารภายในทางเดินอาหารได้โดยที่ไม่เกิดพลังงานส่วนเกิน


การศึกษาเพิ่มเติมพบว่าประโยชน์ของเส้นใยอาหารต่อแมวที่เป็นเบาหวานยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่แนะนำให้อาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตและเส้นใยอาหารปริมาณต่ำ


คำแนะนำด้านโภชนาการในการรักษาอาการท้องผูกมีความหลากหลายมาก มีทั้งแนะนำให้อาหารที่ย่อยง่ายและมีเส้นใยอาหารต่ำในขณะที่อีกด้านหนึ่งแนะนำให้อาหารที่มีเส้นใยอาหารสูงหรือมีการเสริมใยอาหาร


 

บทนำ

เส้นใยอาหาร (dietary fiber) ได้รับความสนใจจากนักโภชนาการและสัตวแพทย์มานานหลายปีในฐานะส่วนประกอบของอาหารและอาหารเสริมโดยถูกนำมาใช้เพื่อปรับสภาพของอุจจาระและช่วยในการควบคุมน้ำหนัก จากการศึกษาเมื่อไม่นานมานี้พบว่าเส้นใยอาหารยังส่งผลต่อเชื้อจุลชีพในอาศัยในทางเดินอาหาร(gastrointestinal microbiome)ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ในการรักษาโรค บทความนี้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับเส้นใยอาหารและประโยชน์ในการใช้จัดการบางโรคที่พบได้ทั่วไปในแมว

นิยาม

การนิยามหรือคำจำกัดความของเส้นใยอาหารนั้นทำได้ยาก มาตรฐานอาหารของคนในปัจจุบันได้ให้นิยามเกี่ยวกับเส้นใยอาหารว่า “โพลีเมอร์ของคาร์โบไฮเดรตที่ประกอบด้วยหน่วยโมโนเมอร์ 10 หน่วยขึ้นไปซึ่งไม่ถูกไฮโดรไลซ์โดยเอนไซม์ในลำไส้เล็ก” 1 ในขณะที่วงการอาหารสัตว์ในสหรัฐอเมริกาให้นิยามไว้ว่า “คาร์โบไฮเดรตขนาดใหญ่จากพืชที่ไม่สามารถถูกย่อยในทางเดินอาหาร” 2 นอกจากที่กล่าวมาแล้วยังมีนิยามเกี่ยวกับเส้นใยอาหารอีกหลากหลากซึ่งแตกต่างกันไปในแง่ของแหล่งที่มา องค์ประกอบ วิธีการในการวิเคราะห์ ผลทางสรีรวิทยา และกฏหมายเกี่ยวกับการแสดงฉลากอาหาร

เส้นใยอาหารมักถูกจำแนกตามคุณสมบัติเช่น การละลายน้ำได้ ความหนืดและการถูกย่อยสลายในลำไส้ ในตารางที่ 1 ได้ รวบรวมคุณสมบัติของเส้นใยอาหารที่พบได้บ่อยในอาหารสัตว์ การที่จะระบุผลของเส้นใยอาหารจากแต่ละแหล่งต่อสุขภาพสัตว์นั้นทำได้ยากและอาหารแมวสำเร็จรูปที่มีจำหน่ายมักประกอบไปด้วยเส้นใยอาหารสองชนิดขึ้นไป ยกตัวอย่างเช่นเส้นใยอาหารที่ถูกย่อยสลายได้ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานของแบคทีเรียในทางเดินอาหารส่วนล่างทำให้เกิดการสร้างกรดไขมันสายสั้น 3 กรดไขมันเหล่านี้จะถูกดูดซึมส่งผลต่อโครงสร้างและการทำงานของเซลล์ลำไส้ เส้นใยอาหารที่ถูกย่อยสลายไม่ได้จะเพิ่มมวลและปริมาตรของอุจจาระทั้งยังลดระยะเวลาที่อุจจาระผ่านลำไส้ 3 เส้นใยอาหารที่มีความหนืดสูงมักเพิ่มความสามารถในการอุ้มน้ำของอุจจาระทำให้อุจจาระนิ่มขึ้น มีความเป็นไปได้สูงที่ชนิดและปริมาณของเส้นใยอาหารที่หลากหลายจะส่งผลต่อประชากรจุลชีพในทางเดินอาหารแต่ว่าการศึกษาเกี่ยวกับไมโครไบโอมยังอยู่ในระยะแรกเริ่ม 4 รูปที่ 1แสดงการละลายน้ำได้และความหนืดของเส้นใยอาหารแต่ละชนิด ตารางที่ 1 แสดงคุณสมบัติของเส้นใยอาหารที่นิยมใช้ในอาหารสัตว์

 

Table 1. Properties of fiber sources commonly used in pet food.
แหล่ง/ชนิดเส้นใยอาหาร ความสามารถในการละลายน้ำ ความหนืด ความสามารถในการถูกหมัก/ย่อยสลายโดยแบคทีเรียในทางเดินอาหาร
Beet pulp Low Low Moderate
Bran Low Low Moderate
Cellulose Low Low Low
Guar gum  High High High
Pectin High High High
Psyllium  Moderate High Moderate
Soybean hulls Low Low Low

 

รูปที่ 1 แสดงความสามารถในการะลายน้ำได้และความหนืดของเส้นใยอาหารจากแหล่งที่ต่างกันเมื่อเติมปริมาณเท่ากันลงในน้ำปริมาตร 100 มิลลิลิตร oat bran และ wheat bran ไม่ดูดซับน้ำและไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงหลัง 24 ชั่วโมง ในขณะที่ wheat dextrin ละลายน้ำทันทีและไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงในสารละลายหลัง 24 ชั่วโมง psyllium powder ดูดซับน้ำและกลายเป็นเจลข้นหลัง 24 ชั่วโมง © Allison Wara - Craig Datz

เส้นใยอาหารและบทบาทในการจัดการโรค

โรคอ้วน

โรคอ้วนเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยทางสัตวแพทย์ในทวีปอเมริกาเหนือ มีการประมาณว่าร้อยละ 35.1 ของแมวที่โตเต็มวัยจะมีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน 5 (รูปที่ 2) โรคอ้วนเป็นสาเหตุโน้มนำให้เกิดโรคอื่นตามมาเช่นเบาหวาน โรคระบบทางเดินปัสสาวะ โรคเกี่ยวกับกระดูก และความผิดปกติของผิวหนัง

รูปที่ 2 โรคอ้วนเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยทางสัตวแพทย์ มีการประมาณว่าร้อยละ 35.1 ของแมวที่โตเต็มวัยจะมีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน © Shutterstock

 

เส้นใยอาหารได้ถูกนำมาใช้เพื่อการควบคุมน้ำหนักทั้งในสุนัขและแมว เส้นใยชนิดที่ถูกย่อยสลายได้ช้าเช่นเซลลูโลส หรือ เปลือกถั่วลิสงพบว่าสามารถเพิ่มปริมาตรของอาหารในทางเดินอาหารได้ดีโดยไม่ทำให้ปริมาณพลังงานที่ได้จากอาหารเพิ่มขึ้น การเพิ่มใยอาหารในอาหารสำเร็จรูปจะเป็นประโยชน์ในการลดพลังงานจากอาหารที่สัตว์กินเข้าไป การใช้ใยอาหารหลายชนิดผสมกันยังมีส่วนช่วยลดการดูดซึมน้ำตาลจากทางเดินอาหาร ทำให้กระเพาะอาหารขยายซึ่งจะกระตุ้นความอิ่มผ่านสารสื่อ cholecystokinin กระเพาะอาหารใช้เวลาในการบีบตัวนานขึ้น เพิ่มระยะเวลาที่อาหารอยู่ในลำไส้ 6 ผลของเส้นในอาหารที่มีต่อการกินอาหารในแมวยังไม่มีผลการศึกษาที่ชัดเจนแต่คาดว่าอาหารที่มีใยอาหารผสมอยู่ด้วยอาจลดการกินที่มากเกินไปทำให้ป้องกันการเกิดโรคอ้วนในแมวได้ 7

พฤติกรรมการขออาหารจากเจ้าของมีส่วนทำให้เจ้าของใจอ่อนและทำให้การลดความอ้วนไม่ประสบความสำเร็จ มีแนวคิดว่าการให้อาหารสำเร็จรูปที่มีการเสริมเส้นใยอาหารจะช่วยให้อิ่มมากขึ้นจนถึงจุดที่ลดพฤติกรรมการขออาหารได้ ในการศึกษาเพื่อประเมินวิธีการลดความอ้วนในแมวที่เป็นโรคอ้วนพบว่าแมวมีพฤติกรรมการขออาหารลดลง (สังเกตจากพฤติกรรมการส่งเสียงร้องและการเข้าหาเจ้าของ) เมื่อให้อาหารที่ประกอบด้วยเส้นใยอาหารชนิดที่จับกับน้ำได้ดีเทียบกับการให้อาหารที่มีเส้นใยอาหารชนิดที่ไม่ละลายน้ำเป็นหลัก ดังนั้นทั้งปริมาณและชนิดของเส้นใยอาหารจึงมีผลต่อความอิ่มของสัตว์

ถึงแม้ว่าการเสริมเส้นใยอาหารจะมีส่วนช่วยในการคุมน้ำหนักของแมวได้ แต่พึงระวังว่าการเสริมเส้นใยอาหารสามารถลดการดูดซึมโปรตีนได้ด้วย อาหารเพื่อการลดน้ำหนักจึงต้องชดเชยจุดนี้โดยการเพิ่มปริมาณโปรตีนในอาหาร นอกจากนี้สัดส่วนของเส้นในอาหารที่ถูกย่อยได้ช้าและเร็วยังมีความสำคัญเพราะหากมีเส้นใยอาหารชนิดที่ถูกย่อยได้เร็วปริมาณมากพอที่จะกระตุ้นให้เกิดการอิ่มอาจพบผลข้างเคียงเช่นท้องอืดและถ่ายเหลว 9 โดยรวมแล้วถึงแม้จะยังมีข้อมูลไม่มากนักในแมวและมีผลข้างเคียงบางประการ การเติมเส้นใยอาหารลงในอาหารสำเร็จรูปอาจเป็นประโยชน์ในการลดน้ำหนักในสัตว์ที่มีความเสี่ยงต่อโรคอ้วน

โรคเบาหวาน

การศึกษาในอดีตสรุปว่าเส้นใยอาหารมีส่วนทำให้การคุมระดับน้ำตาลในเลือดของสุนัขและแมวดีขึ้น มีส่วนช่วยในการจัดการโรคเบาหวาน 10 แต่จากการศึกษาไม่นานมากนี้พบว่าเส้นใยอาหารยังไม่ก่อให้เกิดผลที่เด่นชัดในแมวที่เป็นโรคเบาหวาน ทั้งยังแนะนำให้ใช้อาหารที่มีปริมาณคาร์โบไฮเดรตและเส้นใยอาหารต่ำมากกว่า 11 การศึกษาเกี่ยวกับโภชนาการในแมวที่เป็นเบาวานทำได้ยากในการแปลผลเพราะมีความแตกต่างทั้งในส่วนของเส้นใยอาหาร โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต และส่วนประกอบอื่นๆในอาหาร
 
การทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม 12 ทำการให้อาหารแมวที่เป็นเบาหวาน 16 ตัวด้วยอาหารที่มีปริมาณเส้นใยอาหารสูง (high-fiber; HF) ซึ่งประกอบด้วยเซลลูโลสร้อยละ 12 หรืออาหารที่มีปริมาณเส้นใยอาหารต่ำ (low-fiber; LF) ซึ่งใช้แป้งข้าวโพด ผลการเจาะน้ำตาลในเลือดก่อนและหลังกินอาหารในแมวกลุ่มที่กินอาหาร HF จะต่ำกว่า LF ขนาดของอินซูลินที่ใช้และความเข้มข้นของ glycated hemoglobin ในแมวแต่ละตัวไม่มีความแตกต่างกันมาก มีแมว 4ตัวที่กินอาหาร HF แล้วผลน้ำตาลในเลือดไม่เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น ผู้ทำการศึกษาได้สรุปว่าผลการทดลองสนับสนุนการให้อาหาร HF แก่แมวที่เป็นเบาหวานซึ่งสอดคล้องกับผลการทดลองที่ไม่ได้ตีพิมพ์จากผู้ทำการศึกษาคนเดียวกันที่พบว่าแมว 9 จาก 13 ตัวสามารถคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้นเมื่อกินอาหาร HF อย่างไรก็ตามมีความแตกต่างในอาหารของทั้ง 2 การทดลองที่อาจส่งผลต่อระดับน้ำตาลได้ อาหารชนิด LF มีปริมาณโปรตีนที่น้อยกว่าและมีปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่มากกว่าเมื่อเทียบกับอาหาร HFและปริมาณพลังงานของอาหาร HF ต่ำกว่าอาหาร LF แมว 4 ตัวที่ไม่ตอบสนองต่ออาหาร HF มีน้ำหนักเฉลี่ยต่ำกว่าตัวที่เหลือ (4.7 และ 5.5 กิโลกรัม) ดังนั้นปริมาณไขมันในร่างกายจึงมีความต่างกันอย่างเห็นได้ชัด 12
การทดลองแบบสุ่มอีกกรณีหนึ่ง 13 ทำการประเมินอาหารกระป๋องสองชนิดในแมวที่เป็นเบาหวานและได้รับการรักษาโดยการฉีดอินซูลิน อาหารชนิดหนึ่งมีปริมาณคาร์โบไฮเดรตปานกลางและมีปริมาณเส้นใยอาหารสูง (moderate-carbohydrate high-fiber; MC-HF) ประกอบด้วย crude fiber ร้อยละ 11 และคาร์โบไฮเดรตร้อยละ 26 อาหารอีกชนิดหนึ่งมีปริมาณคาร์โบไฮเดรตและเส้นใยอาหารต่ำ (low-carbohydrate low-fiber; LC-LF) ประกอบด้วย crude fiber ร้อยละ 1 และคาร์โบไฮเดรตร้อยละ 15 แมวเกือบทุกตัวที่ได้รับอาหารทั้งสองชนิดมีระดับน้ำตาลในเลือดและ fructosamine ดีขึ้น หลังจากกินอาหารไป 16 สัปดาห์สามารถหยุดให้อินซูลินได้คิดเป็นจำนวนแมวร้อยละ 68 ของกลุ่มที่กิน LC-LF และร้อยละ 41 ของกลุ่มที่กิน MC-MF ผู้ทำการศึกษาได้สรุปว่าอาหารชนิด LC-LF สามารถช่วยในการคุมระดับน้ำตาลหรือทำให้หยุดการใช้อินซูลินได้ดีกว่าอาหารชนิด MC-MF อย่างไรก็ตามส่วนประกอบของอาหารทั้งสองชนิดมีความแตกต่างกัน(MC-HF ใช้ข้าวโพดป่นในขณะที่ LC-LF ใช้ถั่วเหลืองป่นและ corn gluten meal) และมีปริมาณไขมันไม่เท่ากัน(ร้อยละ 41 ใน MC-HF และ ร้อยละ 51 ใน LC-LF คิดจากปริมาณพลังงานที่ย่อยสลายได้) ดังนั้นจึงเป็นการยากที่จะบอกว่าปัจจัยจากเส้นใยอาหาร คาร์โบไฮเดรต ปริมาณไขมัน หรือส่วนผสมอื่นในอาหารเป็นปัจจัยส่งผลต่อผลการทดลอง 13
แนวทางการรักษาโรคเบาหวานในคนได้กำหนดโภชนบำบัดทางการแพทย์ไว้ 14 ในคนพบว่าการกินเส้นใยอาหารเกี่ยวข้องกับอัตราการตายที่ลดลงในผู้ป่วยเบาหวาน แต่มีหลักฐานไม่มากที่บ่งชี้ว่าการกินเส้นใยอาหารหรือธัญพืชไม่ขัดสีเพิ่มมากขึ้นมีส่วนช่วยในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ การศึกษาผลของเส้นใยอาหารในสุนัขที่ป่วยด้วยโรคเบาหวานให้ผลที่ไม่แน่นอน การลดปริมาณพลังงานที่กินเข้าไปและการเพิ่มปริมาณเส้นใยอาหารอาจช่วยในการคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ 11 ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานมากพอที่จะสนับสนุนผลโดยตรงของเส้นใยอาหารที่มีต่อแมวที่ป่วยด้วยโรคเบาหวาน แต่การลดน้ำหนักเพื่อการจัดการภาวะเบาหวานอาจใช้อาหารที่มีการเพิ่มปริมาณเส้นใยอาหารได้
 
อาการถ่ายเหลว 

 

ความผิดปกติในลำไส้หลายกรณีสามารถทำให้แมวมีอาการถ่ายเหลวหรือท้องเสียเรื้อรังซึ่งเป็นอาการที่เกิดได้บ่อยและสร้างความลำบากใจแก่เจ้าของเป็นสาเหตุให้มาพบสัตวแพทย์ อาการที่พบในกรณีถ่ายเหลวคือความถี่ในการขับถ่าย ปริมาณอุจจาระ ความเหลวของอุจจาระเพิ่มมากขึ้น สาเหตุหลักของอาการถ่ายเหลวเรื้อรังในแมวที่โตแล้วได้แก่การอักเสบ (ลำไส้อักเสบแบบตอบสนองต่อการรักษาด้วยสเตียรอยด์) อาหาร (การแพ้อาหาร) และที่พบได้ไม่บ่อยนักคือเนื้องอกหรือมะเร็ง บทบาทของอาหารในการจัดการกับอาการถ่ายเหลวคือลดโอกาสและความรุนแรงของอาการ คุณสมบัติทางกายภาพของเส้นใยอาหารสามารถลดหรือเพิ่มระยะเวลาที่อุจจาระเคลื่อนผ่านลำไส้ได้ ตัวอย่างเช่นมีการพบว่า beet pulp จะเพิ่มระยะเวลาที่อุจจาระเคลื่อนผ่านลำไส้ในสุนัข ขณะที่เซลลูโลสจะทำให้ลดเวลาลง 15 ข้อมูลชนิดเดียวกันในแมวยังมีไม่มากนักแต่หากนำข้อมูลจากในคน สุนัข รวมถึงประสบการณ์จริงทางคลินิกทำให้คาดว่าน่าจะส่งผลเช่นเดียวกันในแมว
เส้นใยที่ละลายน้ำได้จะดูดน้ำจากทางเดินอาหารเกิดเป็นเจลเหนียวส่งผลให้น้ำที่ไม่ดูดซึมในอุจจาระมีปริมาณน้อยลง ช่วยในการทำให้ลักษณะของอุจจาระไม่เหลวเกินไป เจลที่เกิดขึ้นยังช่วยเพิ่มระยะเวลาที่อุจจาระเคลื่อนผ่านลำไส้ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ในกรณีที่เกิด secretory หรือ osmotic diarrhea เพราะช่วยดูดซับสารพิษในลำไส้ เส้นใยอาหารชนิดที่ไม่ละลายน้ำได้จะช่วยในกรณีที่อาการถ่ายเหลวมีสาเหตุมาจากการบีบตัวของลำไส้ที่มากเกินไปเพราะมีคุณสมบัติลดการส่งคลื่นสัญญาณไฟฟ้าของชั้นกล้ามเนื้อในลำไส้ได้ 16
สัตวแพทย์บางคนแนะนำให้ใช้การเสริมเส้นใยอาหารสำหรับสุนัขและแมวที่เป็นโรคลำไส้อักเสบ (Inflammatory Bowel Disease; IBD) ถึงแม้ว่าจะยังขาดการทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมที่สนับสนุนแนวคิดนี้ หากพบว่าภาวะแพ้อาหารเป็นสาเหตุของอาการถ่ายเหลว คำแนะนำพื้นฐานคือการให้อาหารที่มีโปรตีนที่สัตว์ไม่เคยได้รับหรือโปรตีนที่ถูกไฮโดรไลซ์ อาจมีการเสริมเส้นใยอาหารอย่าง psyllium husk และ wheat bran เพื่อเพิ่มการบีบตัวของลำไส้ สร้างสมดุลของน้ำและจุลชีพในลำไส้ 6 ในกรณี IBD จะตอบสนองได้ดีต่ออาหารที่ย่อยได้ง่ายและมีปริมาณเส้นใยอาหารต่ำ ดังนั้นจึงควรระวังการเสริมเส้นใยอาหารในสัตว์ป่วยบางตัว การประเมินสภาพสัตว์แต่ละตัวจึงมีความสำคัญในการจัดการให้ผลการรักษาออกมาดีที่สุด
 

ภาวะท้องผูก

ความชุกของภาวะท้องผูกในแมวยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดแต่สัตวแพทย์เกือบทุกคนน่าจะเคยรักษาแมวที่มีภาวะท้องผูกซึ่งมีความรุนแรงแตกต่างกันไป (รูปที่ 3) ภาวะท้องผูกที่เป็นถี่หรือมีการกลับมาเป็นซ้ำอาจนำไปสู่ภาวะท้องผูกดื้อด้าน (obstipation) ซึ่งไม่ตอบสนองต่อการรักษาทั่วไป หากภาวะท้องผูกยังดำเนินต่อไปอาจทำให้แมวเกิดภาวะลำไส้ใหญ่พองขยาย (megacolon) ซึ่งเป็นระยะสุดท้ายที่มีลักษณะการพองขยายของลำไส้ส่วน colon กล้ามเนื้อเรียบสูญเสียการทำงานทำให้ไม่สามารถขับอุจจาระออกได้ การรักษาท้องผูกขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค ความรุนแรงและความเรื้อรัง ในระยะแรกหรือในรายที่อาการท้องผูกไม่รุนแรงอาจใช้วิธีการสวนอุจจาระที่แน่นแข็งออกด้วยยาระบาย หากมีความรุนแรงปานกลางอาจต้องใช้ยาที่ช่วยในการบีบตัวของลำไส้ รายที่มีความรุนแรงมากจนเกิดภาวะท้องผูกดื้อด้านหรือ megacolon อาจต้องใช้การผ่าตัดร่วมด้วย
 

รูปที่ 3 ภาพถ่ายรังสีในแมวที่มีปัญหาท้องผูกเรื้อรัง แมวมีประวัติได้รับอุบัติเหตุซึ่งส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังส่วน coccygeus ทำให้เกิดความเจ็บปวดเมื่อขับถ่าย การให้อาหารที่เสริมใยอาหารอย่างเหมาะสมจะช่วยบรรเทาอาการได้ © Dr. Ewan McNeill

การใช้โภชนบำบัดเพื่อจัดการภาวะท้องผูกมีหลากหลายรูปแบบ ผู้ทำการศึกษาบางคนแนะนำให้ใช้อาหารที่ย่อยได้ง่าย มีปริมาณเส้นใยอาหารต่ำ ในขณะที่บางคนแนะนำให้ใช้อาหารที่มีปริมาณเส้นใยอาหารสูงหรือใช้เส้นใยอาหารเป็นอาหารเสริม 17 เส้นใยอาหารแต่ละชนิดรวมถึงปริมาณที่ใช้จะส่งผลต่อการทำงานของลำไส้ใหญ่แตกต่างกันไป เซลลูโลสซึ่งถูกย่อยสลายโดยแบคทีเรียได้ยากจะทำหน้าที่ยาระบายโดยการทำให้อุจจาระจับตัวเป็นก้อน ทำให้ช่องว่างในลำไส้ขยายขนาด และทำให้อุจจาระเคลื่อนตัวในลำไส้ได้เร็วขึ้น 17 อย่างไรก็ตามชนิดและความยาวของเซลลูโลสส่งผลต่อเนื้อของอุจจาระ 18 ใยอาหารชนิดอื่นเช่น psyllium จะก่อให้เกิดลักษณะเจลเหนียวจากการที่สามารถเข้าจับกับน้ำได้ดีซึ่งช่วยให้อุจจาระเคลื่อนผ่านในลำไส้ได้ดีขึ้น อาหารที่ถูกย่อยและดูดซึมได้ง่าย มีปริมาณใยอาหารต่ำจะทำให้ปริมาณอุจจาระลดลงแต่ไม่ได้ส่งผลกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้หรือการเคลื่อนผ่านของอุจจาระในลำไส้ 17 การขาดน้ำเป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะท้องผูก การให้อาหารกระป๋องจะทำให้สัตว์ได้รับน้ำมากขึ้นร่วมกับการป้อนน้ำหากจำเป็น อย่างไรก็ตามอาหารกระป๋องมีชนิดและปริมาณของใยอาหารแตกต่างกันและอาจไม่เหมาะสมกับแมวทุกตัวที่มีภาวะท้องผูก

มีการศึกษาเพียงชื้นเดียวที่ติดตามผลของอาหารสำเร็จรูปในแมวที่มีภาวะท้องผูก 19 การศึกษานี้เป็นการติดตามทางคลินิกโดยไม่มีกลุ่มควบคุม แมวที่มีภาวะท้องผูกจำนวน 66 ตัวได้รับอาหารสำเร็จรูปชนิดเม็ดที่มีปริมาณใยอาหารพอเหมาะโดยมี psyllium เป็นใยอาหารที่มีปริมาณมากที่สุด และยังมีใยอาหารจากแหล่งอื่นเช่น chicory fructo-oligosaccharides mannan-oligosaccharides ข้าว และข้าวโพด ทำการประเมินลักษณะของอุจจจาระและอาการทางคลินิกที่แสดงออกโดยการสังเกตจากเจ้าของและสัตวแพทย์ พบว่ามีแมว 56 ตัวที่อยู่จนจบการทดลองและทุกตัวกินอาหารที่กำหนดโดยมีลักษณะอุจจาระที่ดีขึ้น แมวเกือบทุกตัวที่ได้รับยาเพื่อรักษาภาวะท้องผูกสามารถลดหรือหยุดยาได้ ถึงแม้จะไม่มีกลุ่มควบคุมในการศึกษานี้แต่ผลการศึกษาที่เป็นไปในทางที่ดีสนับสนุนให้ใช้อาหารที่อุดมด้วย psyllium เป็นทางเลือกในการจัดการแมวที่มีภาวะท้องผูกหรือท้องผูกเรื้อรัง 19

ภาวะ Hypercalcemia

ภาวะ hypercalcemia พบได้ไม่บ่อยในแมว สาเหตุของความผิดปกติที่พบได้บ่อยได้แก่ ไม่มีสาเหตุ (idiopathic) มะเร็ง (hypercalcemia of malignancy) โรคไตวายเรื้อรัง และ primary hyperparathyroidism ในระยะแรกของโรคมักไม่พบอาการทางคลินิกที่เด่นชัดแต่อาจตรวจพบโดยบังเอิญเมื่อทำการตรวจเลือด เมื่อโรคลุกลามมากขึ้นสัตว์จะเริ่มแสดงอาการอาเจียน เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ปัสสาวะขัด ปัสสาวะเรี่ยราด การรักษาทางยามักเน้นไปที่สาเหตุของ hypercalcemia
การจัดการด้วยอาหารมักไมได้ผลเพราะภาวะ hypercalcemia ที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการดูดกลับแคลเซียมจากกระดูกและบริเวณท่อไตเพิ่มมากขึ้น การให้อาหารที่มีปริมาณแคลเซียมต่ำจะได้ผลดีต่อเมื่อสัตว์มีการดูดซึมแคลเซียมจากลำไส้มากขึ้นเช่นในกรณีภาวะ hypervitaminosis D การให้อาหารที่มีปริมาณใยอาหารสูงมีรายงานว่าลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะ hypercalcemia และนิ่วชนิดแคลเซียมออกซาเลตในคนโดยการจับกับแคลเซียมในทางเดินอาหาร ลดการดูดซึมแคลเซียมจากทางเดินอาหาร และลดเวลาการเคลื่อนผ่านของอาหารในลำไส้ 20 ในทางสัตวแพทย์มีการศึกษาในเรื่องนี้น้อยมาก จากการทดลองหนึ่งพบว่าการให้อาหารที่เพิ่มปริมาณใยอาหารมีส่วนช่วยให้แมว 5 ตัวที่มีปัญหา hypercalcemia แบบไม่ทราบสาเหตุและมีนิ่วชนิดแคลเซียมออกซาเลตอาการดีขึ้น 21 แต่จากอีกการทดลองไม่พบการเปลี่ยนแปลงใดๆ 22 จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมก่อนที่จะนำมาเป็นข้อสรุปคำแนะนำการใช้อาหารในการรักษาแมวที่มีภาวะ hypercalcemia
 

ก้อนขน

การอาเจียนหรือสำรอกก้อนขนในแมวเป็นเรื่องที่พบได้บ่อยแต่ไม่ได้มีการศึกษามากนัก (รูปที่ 4) การทบทวนเกี่ยวกับเนื้อหาเมื่อมานานมานี้ 23 ได้ระบุสาเหตุของก้อนขนว่าเป็นการกินเส้นขนมากเกินไปหรือการบีบตัวของทางเดินอาหารส่วนต้นมีความผิดปกติ การกินเส้นขนพบได้ในแมวที่มีโรคผิวหนังที่ก่อให้เกิดอาการคันหรือการ overgroom จากความเครียดหรือความเจ็บปวด ปัญหาระบบทางเดินอาหารที่เรื้อรังเช่น inflammatory bowel disease อาจทำให้การบีบตัวของทางเดินอาหารผิดปกติและนำไปสู่การสะสมของเส้นขน หากแมวไม่สามารถกำจัดก้อนขนโดยการอาเจียนอาจก่อให้เกิดการอุดตันของลำไส้ทั้งแบบบางส่วนและสมบูรณ์ ก้อนขนติดคาในหลอดอาหาร หรือแม้แต่เข้าไปอยู่ในคอหอยร่วมจมูก (nasopharynx)
 

รูปที่ 4 การอาเจียนหรือสำรอกก้อนขนในแมวเป็นเรื่องที่พบได้บ่อยแต่ก้อนขนอาจสร้างปัญหาหลายประการเช่นการอุดตันในหลอดอาหารหรือลำไส้ © Royal Canin

อาหารสำเร็จรูปสำหรับควบคุมก้อนขนมีวางจำหน่ายโดยมีความหลากหลายของชนิดและปริมาณเส้นใยอาหารที่ใส่ลงไป จากการสำรวจอาหารแมวที่อ้างว่าสามารถปริมาณลดก้อนขนทั้งชนิดแห้งและเปียกที่มีจำหน่ายในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่ามีความหลากหลายในชนิดของเส้นใยอาหารที่นำมาใช้ตั้งแต่ ผงเซลลูโลส dried beet pulp soybean hulls dried chicory root rice hulls rice bran pea bran meal pea fiber oat fiber inulin และ psyllium ผลการทดลองที่ตีพิมพ์ยังมีไม่มาก มีการทดลองแบบ crossover โดยเปรียบเทียบการให้อาหารปกติและอาหารที่มีการเพิ่มใยอาหารลงไปในแมวจำนวน 102 ตัวในระยะเวลา 2 เดือนขึ้นไปพบว่าแมวมีก้อนขนลดลงโดยเฉลี่ยร้อยละ 21.5 และความถี่ในการอาเจียนลดลงร้อยละ 21.8 24 อีกการทดลองหนึ่งศึกษาการขับเส้นขนออกมากับอุจจาระในแมวสุขภาพดีจำนวน 16 ตัว ที่ได้รับอาหารอาหารแห้งสองชนิด ชนิดแรกมีปริมาณเส้นใยอาหารปานกลาง (ร้อยละ 6.9) และอีกชนิดมีปริมาณเส้นใยอาหารสูง (ร้อยละ 14.2) 25 หลังจาก 3 สัปดาห์พบว่าแมวที่กินอาหารที่มีปริมาณใยอาหารสูงจะมีการขับเส้นขนออกมากับอุจจาระคิดเป็นปริมาณเฉลี่ยสองเท่าเมื่อเทียบกับแมวกลุ่มที่กินอาหารที่มีปริมาณใยอาหารปานกลาง จากผลการทดลองนี้ทำให้สรุปได้ว่าปริมาณหรือชนิดของเส้นใยอาหาร (psyllium และ เซลลูโลส) ในอาหารที่มีปริมาณเส้นใยอาหารสูงจะช่วยให้เส้นขนผ่านทางเดินอาหารออกมากับอุจจาระได้ง่ายขึ้นและอาจช่วยลดการอาเจียนหรือสำรอกก้อนขนได้

สรุป

ปริมาณและชนิดของเส้นใยอาหารในอาหารส่งผลต่อทั้งสุขภาพและการทำงานของลำไส้ ทำให้มีประโยชน์ในการรักษาโรคหลายอย่าง การศึกษาเพิ่มเติมจะช่วยให้ระบุผลของอาหารบางชนิดและการเสริมเส้นใยอาหารในแมวได้

พิเศษสำหรับสัตวแพทย์ไทย

ทำแบบทดสอบเพื่อสะสม VET-CE ได้ที่นี่

ทำแบบทดสอบ VET-CE

แหล่งอ้างอิง

  1. Cho SS, Almeida N (eds). Dietary fiber and health. Boca Raton, FL: CRC Press, 2012;219-239.

  2. 2014 Official Publication. Association of American Feed Control Officials Incorporated:346.

  3. Case LP, Daristotle L, Hayek MG, et al. Canine and feline nutrition. 3rd ed. Maryland Heights, MO: Mosby Elsevier, 2011;13-16.

  4. Barry KA, Wojcicki BJ, Middelbos IS, et al. Dietary cellulose, fructo-oligosaccharides, and pectin modify fecal protein catabolites and microbial populations in adult cats. J Anim Sci 2010;88:2978-2987.
  5. Lund EM, Armstrong PJ, Kirk CA, et al. Prevalence and risk factors for obesity in adult cats from private US veterinary practices. Intern J Appl Res Vet Med 2005;3:88-96.
  6. Gross KL, Yamka RM, Khoo C, et al. Macronutrients, in: Hand MS, Thatcher CD, Remillard RL, Roudebush P (eds). Small animal clinical nutrition. 5th ed. Topeka, KS: Mark Morris Institute, 2010;49-105.

  7. Backus R. Management of Satiety. WALTHAM Focus 2006:16(1):27-32.
  8. Bissot T, Servet E, Vidal S, et al. Novel dietary strategies can improve the outcome of weight loss programmes in obese client-owned cats. J Feline Med Surg 2010;12(2):104-12.
  9. Fahey GC, Merchen NR, Corbin JE, et al. Dietary fiber for dogs: I. Effects of graded levels of dietary beet pulp on nutrient intake, digestibility, metabolizable energy and digesta mean retention time. J Anim Sci 1990;68:4221-4228.
  10. Zicker SC, Ford RB, Nelson RW, et al. Endocrine and lipid disorders, in: Hand MS, Thatcher CD, Remillard RL, et al (eds). Small animal clinical nutrition. 4th ed. Topeka, KS: Mark Morris Institute, 2000;855.

  11. Fascetti AJ, Delaney SJ. Nutritional management of endocrine diseases. In: Fascetti AJ, Delaney SJ (eds). Applied veterinary clinical nutrition. Ames IA: Wiley-Blackwell, 2012;291-292.
  12. Nelson RW, Scott-Moncrieff JC, Feldman EC, et al. Effect of dietary insoluble fiber on control of glycemia in cats with naturally acquired diabetes mellitus. J Am Vet Med Assoc 2000;216:1082-1088.
  13. Bennett N, Greco DS, Peterson ME, et al. Comparison of a low carbohydrate-low fiber diet and a moderate carbohydrate-high fiber diet in the management of feline diabetes mellitus. J Feline Med Surg 2006;8:73-84.
  14. Evert AB, Boucher JL, Cypress M, et al. Nutrition therapy recommendations for the management of adults with diabetes. Diabetes Care 2014;37:S120-S143.
  15. Sunvold GD, Fahey GC, Merchen NR, et al. Dietary fiber for dogs: IV. In vitro fermentation of selected fiber sources by dog fecal inoculum and in vivo digestion and metabolism of fiber-supplemented diets. J Anim Sci 1995;73:1099-1119.
  16. Burrows CF, Merritt AM. Influence of alpha-cellulose on myoelectric activity of proximal canine colon. Am J Physiol 1983;245:301-306.
  17. Davenport DJ, Remillard RL, Carroll M. Constipation/obstipation/megacolon, in: Hand MS, Thatcher CD, Remillard RL, et al (eds). Small animal clinical nutrition. 5th ed. Topeka, KS: Mark Morris Institute, 2010;1120-1123.

  18. Wichert B, Schuster S, Hofmann M, et al. Influence of different cellulose types on feces quality of dogs. J Nutr 2002;132:1728S-1729S.
  19. Freiche V, Houston D, Weese H, et al. Uncontrolled study assessing the impact of a psyllium-enriched extruded dry diet on faecal consistency in cats with constipation. J Feline Med Surg 2011;13:903-911.
  20. Parivar F, Low RK, Stoller, ML. The influence of diet on urinary stone disease. J Urol 1996;155:432-440.
  21. McClain HM, Barsanti JA, Bartges JW. Hypercalcemia and calcium oxalate urolithiasis in cats: A report of five cases. J Am Anim Hosp Assoc 1999;35:297-301.
  22. Midkiff AM, Chew DJ, Randolph JF, et al. Idiopathic hypercalcemia in cats. J Vet Intern Med 2000;14:619-626.
  23. Cannon M. Hairballs in cats. J Feline Med Surg 2013;15:21-29.
  24. Hoffman LA, Tetrick MA. Added dietary fiber reduces feline hairball frequency. In Proceedings. 21st Annual ACVIM Forum, 2003;431.

  25. Tournier C. Validation d’une stratégie alimentaire innovante pour stimuler l’élimination fécale des poils ingérés par les chats. In Proceedings. 9th ESVCN Congress, 2005.

Allison Wara

Allison Wara

ดร. วราจบการศึกษาจากวิทยาลัยสัตวแพทย์แอตแลนติกในปรินซ์เอ็ดเวิร์ดไอแลนด์ประเทศแคนาดาในปี 2010 อ่านเพิ่มเติม

Craig Datz

Craig Datz

Dr. Datz is a 1987 graduate of the Virginia-Maryland Regional College of Veterinary Medicine. อ่านเพิ่มเติม

บทความอื่นๆ ในประเด็นนี้

หมายเลขหัวข้อ 24.3 เผยแพร่แล้ว 05/09/2022

การคำนวณปริมาณพลังงานในอาหารสัตว์

สาเหตุที่ปริมาณพลังงานในอาหารสัตว์มีความสำคัญเป็นเพราะ...

โดย Richard Butterwick

หมายเลขหัวข้อ 24.3 เผยแพร่แล้ว 16/06/2022

คำถามที่มักพบได้บ่อยเกี่ยวกับอาหารสัตว์

สัตวแพทย์และบุคลากรที่ปฏิบัติงานในสถานพยาบาลสัตว์มักพบคำถามหรือข้อคิดเห็นเกี่ยวกับอาหารสัตว์จากเจ้าของสัตว์เลี้ยงอยู่บ่อยครั้ง...

โดย Caitlin Grant

หมายเลขหัวข้อ 24.3 เผยแพร่แล้ว 15/04/2022

การคำนวณปริมาณพลังงานในอาหารสัตว์

สาเหตุที่ปริมาณพลังงานในอาหารสัตว์มีความสำคัญเป็นเพราะ...

โดย Richard Butterwick

หมายเลขหัวข้อ 24.3 เผยแพร่แล้ว 20/12/2021

จิตวิทยาในการสื่อสารกับเจ้าของสัตว์เลี้ยง

มนุษย์มีสัตว์เลี้ยงเพื่อตอบสนองความต้องการทางด้านจิตวิทยา เช่น...

โดย Franco Favaro และ Serena Adamelli