แผลที่ทำการตัดแต่งและล้างทำความสะอาดแล้วควรล้างซ้ำอีกทีด้วย lactated Ringer’s solution หรือสาระลายทีมีคุณสมบัติ isotonic เหมือนกันปริมาณมาก ปริมาณที่เหมาะสมคือสารละลาย 3-5 ลิตรต่อแผลขนาด 1 เซนติเมตร ความดันของสารละลายที่ใช้ชะล้างควรมีเท่ากับ 7-8 psi (pounds per square inch) เพื่อรบกวนการยึดเกาะของแบคทีเรียกับเนื้อเยื่อโดยไม่สร้างความเสียหายต่อเนื้อเยื่อโดยรอบ สามารถทำได้โดยใช้เครื่องเพิ่มความดันที่มีขายในท้องตลาดหรือใช้เข็มขนาด 19 G ต่อเข้ากับกระบอกฉีดยาขนาด 60 มิลลิลิตรพ่นเข้าไปที่แผลมากๆ ทั้งสองวิธีที่กล่าวมาจะทำให้ได้ความดันสารละลายเท่ากับ 8 psi ซึ่งเท่ากับแรงยึดเกาะของแบคทีเรียบนแผล หากใช้ความดันสูงกว่านี้จะไปรบกวนเนื้อเยื่อที่ดีและไม่แนะนำ การผสมยาต้านจุลชีพหรือสารฆ่าเชื้อลงในสารละลายที่ใช้ชะล้างนั้นไม่จำเป็นและอาจส่งผลองค์ประกอบของเซลล์เนื้อเยื่อแต่มีรายงานว่าการใช้ chlorhexidine เข้มข้นร้อยละ 0.05 ผสมในสารละลายชะล้างออกฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียได้ดีโดยไม่ทำอันตรายเนื้อเยื่อ 6
การทำความสะอาดแผลจนถึงการชะล้างแผลควรทำจนถึงความลึกของเนื้อเยื่อที่เกิดการหักของกระดูก หลังจากขั้นตอนชะล้างแล้วควรทำการเพาะเชื้อทั้งแบบ aerobe และ anaerobe ซ้ำอีกครั้งเพื่อดูปริมาณแบคทีเรียที่หลงเหลืออยู่ก่อนทำการปิดแผล สัตวแพทย์ควรใช้ข้อมูลที่ได้เพื่อเลือกวิธีการหายของแผลดังนี้ เย็บปิดแผลเพื่อการหายแบบปฐมภูมิ ทำการปิดแผลโดยการเย็บปลอดเชื้อและคาท่อ drainไว้ หรือรักษาแบบแผลเปิดโดยการใช้วัสดุปลอดเชื้อปิดแผลจนกว่าพร้อมที่จะทำการเย็บปิดภายหลังหรือจนกว่าแผลจะหายแบบทุติยภูมิ
การใช้ยาต้านจุลชีพแบบออกฤทธิ์เป็นวงกว้าง
สัตวแพทย์ควรเริ่มให้ยาต้านจุลชีพแบบออกฤทธิ์เป็นวงกว้างหลังจากที่ได้ทำการเพาะเชื้อครั้งแรก การใช้ยากลุ่ม cephalosporin generation ที่ 1 หรือ 2 ร่วมกับยากลุ่ม fluoroquinolone จะครอบคลุมแบคทีเรียทั้งแกรมบวกและแกรมลบ 3 4 ตัวอย่างเช่น cefazolin ขนาด 22 mg/kg q6hr IV ร่วมกับ enrofloxacin ขนาด 5 mg/kg q12hr IM เป็นตัวเลือกที่นิยมใช้กันจนกว่าจะได้ผลการเพาะเชื้อที่แน่นอน การติดเชื้อแทรกซ้อนจากสถานพยาบาล (nosocomial infection) พบได้มากในกระดูกหักแบบเปิด ดังนั้นรูปแบบการใช้ยาต้านจุลชีพแบบออกฤทธิ์เป็นวงกว้างควรปรับให้สอดคล้องกับผลการเฝ้าติดตามเชื้อแทรกซ้อนในสถานพยาบาลนั้นๆเป็นเวลานานอย่างน้อย 28 วันหลังเกิดการหักของกระดูก และถึงแม้ผลการเพาะเชื้อจากแผลจะเป็นลบก็ควรให้ยาต้านจุลชีพในระยะเวลาเท่ากัน ถึงแม้ว่าการให้ยาต้านจุลชีพให้เร็วที่สุดจะเป็นสิ่งที่แนะนำให้ปฏิบัติกัน มีรายงานกล่าวว่าเวลาในการให้ยาต้านจุลชีพไม่ได้มีผลมากนักต่ออัตราการติดเชื้อในกระดูกหักแบบเปิด 7
โดยทั่วไปแล้วกระดูกหักที่อยู่ใน grade I สามารถทำความสะอาดและเย็บปิดแผลเพื่อการหายแบบปฐมภูมิได้ทันทีหากการบาดเจ็บเกิดไม่เกิน 6-12 ชั่วโมง กระดูกหัก grade II จะมีการปนเปื้อนมากขึ้นและเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อ แต่ยังสามารถตัดแต่ง ทำความสะอาด ชะล้างแผลจนกลายเป็นแผลสะอาดและเย็บปิดแผลจนหายแบบปฐมภูมิได้เช่นเดียวกับ grade I กระดูกหัก grade III ซึ่งรวมถึงการหักของกระดูกที่เกิดจากสิ่งของคล้ายลูกปืนทุกกรณี ไม่สามารถรักษาแบบแผลปิดได้ จำเป็นต้องรักษาแบบแผลเปิดจนกว่าจะหายช้าแบบปฐมภูมิหรือหายแบบทุติยภูมิ หากสัตวแพทย์เลือกที่จะรักษาแบบแผลเปิดหลังการผ่าตัด ควรทำการล้างทำความสะอาดแผลเป็นประจำ วันละ 1-2 ครั้ง ใช้วัสดุปิดแผลปลอดเชื้อชนิด wet-to-dry จนกว่าจะมี granulation tissue ขึ้นมาเติมเต็มแผล จากนั้นจึงเปลี่ยนมาใช้วัสดุชนิดไม่ยึดติด (non-adherent) ในการปิดแผลจนกว่าแผลจะหายดี ความถี่ในการล้างทำความสะอาดแผลขึ้นอยู่กับสภาพของแผลและปริมาณสารคัดหลั่งที่ออกมา การหายของแผลในระยะเวลาที่สั้นที่สุดจะทำให้ลดการเกิดโรคอื่นร่วมได้
การจำกัดการเคลื่อน (stabilization) ของกระดูกที่หักแบบชั่วคราวและแบบแน่นหนา
กระดูกหักแบบเปิดไม่จำเป็นต้องจำกัดการเคลื่อนของกระดูกแบบแน่นหนาทันทีหากได้รับการดูแลในขั้นตอนฉุกเฉินอย่างเหมาะสม การจำกัดการเคลื่อนของกระดูกแบบแน่นหนาควรทำเมื่อสัตว์ปลอดภัยพ้นขีดอันตรายแล้ว สัตวแพทย์ที่มีประสบการณ์จะเลือกใช้อุปกรณ์การพันที่เหมาะสมและมีให้เลือกใช้ในขณะนั้น
การจำกัดการเคลื่อนของกระดูกแบบชั่วคราวทำเพื่อเพิ่มความสบายให้กับสัตว์และลดการบวมของเนื้อเยื่อโดยรอบ กระดูกขาส่วนปลายที่หักจะมีเนื้อเยื่อมาปกคลุมน้อยและอาจเปลี่ยนจากกระดูกหักแบบปิดมาเป็นแบบเปิดได้ หรือเกิดการหักเพิ่มเติมเป็นชิ้นย่อยๆหากไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสม ยาระงับความเจ็บปวดกลุ่ม opioid agonist เช่น morphine จะทำให้สัตว์สบายมากขึ้น
การหักของกระดูกที่อยู่ใกล้กับ elbow joint หรือ stifle joint นั้นยากที่จะจำกัดการเคลื่อนได้โดยการพันอุปกรณ์ภายนอกเพียงอย่างเดียว สัตว์ป่วยจำเป็นต้องจำกัดบริเวณโดยไม่ต้องใส่ splint และได้รับยาระงับปวดจนกว่าจะทำการซ่อมแซมกระดูกที่หัก การหักที่อยู่ห่างจาก elbow joint หรือ stifle joint สามารถลดการเคลื่อนของกระดูกได้โดยใช้อุปกรณ์พันภายนอกเช่น Robert-Jones bandage หรือ modified Robert-Jones bandage ร่วมกับ splint ที่ทำจากไฟเบอร์กลาสเพื่อรอการซ่อมแซมกระดูกที่หักหรือส่งตัวต่อไป ในกรณีที่กระดูกหักยังคงมีแผลเปิดหลังจากที่ล้างทำความสะอาดแล้วอุปกรณ์ปิดแผลทุกชิ้นควรปลอดเชื้อและทำอย่างถูกหลัก การจำกัดการเคลื่อนของกระดูกต้องครอบคลุมตั้งแต่ข้อต่อที่อยู่เหนือกระดูกส่วนที่หักมาจนถึงปลายเท้า
การซ่อมแซมกระดูกที่หัก
ความต้องการและมาตรฐานที่สูงขึ้นในการดูแลรักษาที่เป็นผลมาจากความคาดหวังของเจ้าของสัตว์รวมไปถึงจำนวนสัตวแพทย์ที่มีความชำนาญด้านกระดูกมากขึ้นทำให้สัตวแพทย์ทั่วไปขาดแรงจูงใจและเวลาที่จะเสริมสร้างความรู้และประสบการณ์หรือเตรียมอุปกรณ์ในการแก้ไขกระดูกหักแบบเปิดไว้พร้อม อีกทั้งการซ่อมแซมการหักของกระดูกแบบเปิดต้องทำงานแข่งกับเวลาและใช้วัตถุดิบหลายอย่างทำให้สัตวแพทย์ทั่วไปมักเลือกที่จะส่งตัวต่อไปยังผู้เชี่ยวชาญหรือสถานพยาบาลที่มีความพร้อมมากกว่า
กระดูกหักแบบเปิดไม่ควรรักษาโดยใช้การพันเฝือกเป็นระยะเวลานานเกินไปเพราะทำให้ค่าใช้จ่ายสูง สร้างความไม่สบายตัวแก่สัตว์ เพิ่มโอกาสการติดเชื้อที่แผลจากการแกะเฝือกเพื่อทำความสะอาดแผล การซ่อมแซมกระดูกหักแบบเปิดต้องขึ้นอยู่กับ
- การวางแผนอย่างระมัดระวังซึ่งรวมไปถึงการถ่ายภาพรังสีตำแหน่ง orthogonal หรือการทำ computed tomography (CT)
- ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของสัตวแพทย์ผู้ทำการผ่าตัด รวมไปถึงอุปกรณ์ยึดกระดูกที่เหมาะสมกับลักษณะการหักของกระดูก
- ลักษณะนิสัยของสัตว์แต่ละตัว โอกาสในการกักบริเวณ ความร่วมมือของเจ้าของในการปฏิบัติตามคำแนะนำ
สิ่งที่ต้องนำมาพิจารณาในการซ่อมแซมกระดูกหักแบบเปิดที่สำคัญนอกจากการทำความสะอาดแผลแรกเริ่มและการเลือกวิธีผ่าตัดคือการมีอยู่ของแผลเปิดหลังการผ่าตัด กระดูกหักที่ต้องรักษาแผลเปิดไปพร้อมกันมักจะต้องทำการซ่อมแซมกระดูกโดยใช้ rigid หรือ circular ring external skeletal fixator เพราะเอื้อต่อการล้างทำความสะอาดแผลอย่างต่อเนื่องโดยไม่รบกวนอุปกรณ์ยึดกระดูก อีกทั้งลักษณะการใส่อุปกรณ์ที่ลดการบาดเจ็บเนื้อเยื่อเพิ่มเติมและเพิ่มเซลล์กระดูกที่มีชีวิต(รูป 2a/2b) สัตวแพทย์ไม่ควรตัด bone plate ออกจากตัวเลือกในการซ่อมแซมกระดูกหักแบบเปิด แต่หากมีการใส่ plate ในตำแหน่งที่มีแผลเปิดสู่ภายนอกต้องพึงระลึกว่าอาจมีความจำเป็นต้องถอด plate ออกหลังจากที่กระดูกหายดีแล้วเพราะตัว plateจะกลายเป็น nidus ที่เป็นแหล่งของเชื้อแบคทีเรียได้ ในบางกรณีที่มีการสูญเสียเนื้อเยื่อไปมากอาจใช้ bone plateในการซ่อมแซมกระดูกเพื่อให้เกิด granulation tissue มาคลุม plate และเกิดการหายของแผล หากอุปกรณ์จัดกระดูกมีความแน่นหนาแข็งแรงมากพอ กระดูกจะสามารถเชื่อมต่อได้ถึงแม้จะมีการปนเปื้อนหรือการติดเชื้อร่วมด้วยทำให้ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดแก้ไขการติดเชื้อในทันที หากมีการตัดเศษกระดูกออกไปบางส่วนขณะทำความสะอาดและจำเป็นต้องปลูกถ่าย bone graft เพื่อปิดระยะห่างของกระดูกที่หักควรทำ autogenous bone grafting 2 สัปดาห์หลังจากที่แผลปิดแล้วหรือรักษาการติดเชื้อสำเร็จ