การรักษาใน Tier 2
ยาขับน้ำ (diuretics)
ICP ที่เพิ่มขึ้นสามารถโหมรักษาได้โดยการให้ยาขับน้ำชนิด osmotic diuretics เช่น mannitol แต่จำเป็นต้องประเมินสภาพแห้งน้ำของสัตว์ก่อนใช้ มิฉะนั้นอาจก่อให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลันได้จึงถูกจัดให้อยู่ในการรักษา Tier 2 หลังให้ mannitol แล้วจะทำให้ปริมาตรของ plasma เพิ่มขึ้นและลดความหนืดของเลือดลง ซึ่งทำให้ cerebral blood flow เพิ่มขึ้นและมีออกซิเจนไปเลี้ยงสมองมากขึ้น ทั้งยังลด ICP จากการลดการบวมน้ำของสมอง PaO2 ที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้เกิด vasoconstrict ช่วยในการลด ICP อีกทางหนึ่ง osmotic effect ของ mannitol จะช่วยลด extracellular fluid ในสมอง 1 2 3 4 8 ช่วยในการกวาดล้างอนุมูลอิสระที่ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อสมอง 9
Mannitol ควรให้โดยวิธี bolus ในขนาด 0.5-2 g/kg เป็นเวลา 15 นาทีเพื่อให้ได้ผลในการเพิ่มปริมาตร plasma มากที่สุด การให้อย่างต่อเนื่องจะส่งผลให้ blood brain barrier มี permeability เพิ่มมากขึ้นและทำให้อาการบวมน้ำแย่ลง mannitol ในขนาดต่ำสามารถออกฤทธิ์ในการลด ICP ได้เช่นเดียวกันกับขนาดสูงแต่จะคงอยู่ได้ไม่นานเท่า mannitol สามารถลดอาการบวมน้ำของสมองได้ภายใน 15-30 นาทีหลังการให้และออกทธิ์ได้นาน 2-5 ชั่วโมง การให้ซ้ำอาจออกฤทธิ์ขับน้ำส่งผลให้ปริมาตร plasma ลดลง มี osmolarity เพิ่มมากขึ้น เกิดภาวะแห้งน้ำที่ระดับ intracellular hypotension และ ischemia จึงต้องมีการให้สาระลาย isotonic crystalloid หรือ colloid อย่างเหมาะสมเพื่อป้องกันการขาดน้ำ
การให้ furosemide ขนาด 0.7 mg/kg ก่อนการให้ mannitol จะออกฤทธิ์เสริมการทำงานกันในการลด ICP ควรเลือกใช้ mannitol ในสัตว์ที่อยู่ในภาวะวิกฤติ(MGCS < 8) สัตว์ที่อาการทรุดลงเรื่อยๆ หรือสัตว์ที่ไม่ตอบสนองด้วยการรักษาอื่นๆ ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานการศึกษาที่สนับสนุนข้อห้ามใช้ mannitol ในกรณีที่สงสัย intracranial hemorrhage
การรักษาอาการชัก
อาการชักอาจเกิดขึ้นได้ทันทีหลังการบาดเจ็บหรือช้ากว่านั้นซึ่งจำเป็นต้องโหมรักษาเพื่อป้องกันผลเสียที่อาจเกิดขึ้น ความเสียหายของเนื้อสมองที่เป็นผลจากการขาดออกซิเจนของสมอง และการบวมน้ำที่เกิดหลังการชัก การให้ยาระงับชักเพื่อป้องกันอาการชักหลังจากสมองได้รับความเสียหายรุนแรงยังคงเป็นที่โต้เถียงกัน ในผู้ป่วยคนพบว่าการให้ยาระงับชักภายในช่วง 7 วันหลังจากเกิดการบาดเจ็บที่ศีรษะลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะชักในช่วงเวลา 7 วันนี้ได้อย่างมีนัยยะสำคัญเทียบการการไม่ได้รับยาระงับชัก แต่การให้ยาระงับชักเพื่อป้องกันหลังจาก 7 วันไปแล้วไม่เกิดประโยชน์ใดๆ
Diazepam ขนาด 0.5-2 mg/kg IV สามารถรักษาอาการชักได้ อาจให้ phenobarbital ขนาด 2-3 mg/kg IM หรือ IV หลังจากนั้นปรับเป็นยากินโดยมีขนาดเริ่มต้น 18-24 mg/kg ในช่วง 24-48 ชั่วโมงแรก ไม่นานมานี้มีการใช้ levetiracetam ขนาด 20-60 mg/kg IV รักษาอาการชักในภาวะฉุกเฉิน เพราะอยู่ได้นานถึง 8 ชั่วโมงและไม่ต้องผ่านการสลายที่ตับ หากเกิดอาการชักซ้ำหลายครั้งอาจต้องให้ยาเข้าเส้นเลือดอย่างต่อเนื่องเช่น diazepam ขนาด 0.5-1.0 mg/kg/hr หรือ propofol โดยทำการ bolus ขนาด 4-8 mg/kg ตามด้วยขนาด 1-5 mg/kg/hr การรักษาอาการชักเรื้อรังควรทำต่อเนื่องอย่างน้อย 12 เดือนนับจากครั้งสุดท้ายที่พบอาการชักที่มีสาเหตุจากการบาดเจ็บที่ศีรษะ
การรักษาใน Tier 3
หากการรักษาโดยการให้สารน้ำ การให้ออกซิเจน การจัดการการหายใจ และยาขับน้ำไม่ประสบความสำเร็จในการทำให้สัตว์พ้นขีดอันตรายและมีอาการทางระบบประสาทดีขึ้น จำเป็นต้องทำการรักษาที่แตกต่างออกไปซึ่งควรตรวจ MRI ก่อน 6 7 การรักษาที่จะกล่าวต่อไปยังไม่ได้รับการประเมินทางสัตวแพทย์ในแง่ของประสิทธิภาพและยังคงเป็นที่ถกเถียงหรือยังไม่ได้รับการพิสูจน์ในผู้ป่วยคนที่มีการบาดเจ็บที่ศีรษะ
Hyperventilation
ภาวะ hypercapnea ทำให้เกิด vasodilate นำไปสู่ ICP ที่สูงขึ้น ควรหลีกเลี่ยงภาวะ hypoventilation โดย hyperventilation ได้ถูกแนะนำให้ใช้เพื่อลด ICP อย่างรวดเร็ว การใช้เครื่องช่วยหายใจหรือบีบถุงช่วยหายใจ (ambu bag) สามารถลด PaCO2 ให้อยู่ในช่วง 35-40 mmHg เพื่อที่จะลด ICP ในสัตว์ที่มีอาการทรุดลงซึ่งไม่ตอบสนองต่อการรักษาโดยวิธีอื่น อย่างไรก็ตามไม่ควรใช้วิธี hyperventilation นานเกินไป เพราะหาก PaCO2 ลดลงต่ำกว่าช่วง 30-35 mmHg จะทำให้เกิด vasoconstrict ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงสมองลดลงและภาวะขาดเลือด (ischemia) ได้ 1 2 3 4
Hypothermia
การรักษาโดยทำให้อุณหภูมิร่างกายต่ำลงกว่าปกติ (hypothermia) ยังคงอยู่ในขั้นทดลองใช้โดยที่ยังไม่ได้มีการอนุญาตให้ใช้ทางสัตวแพทย์และยังเป็นที่ถกเถียงในการแพทย์ของคน การเผาผลาญพลังงานของสมองอาจเพิ่มมากขึ้นหลังการบาดเจ็บทำให้เกิดความเสียหายมากขึ้น สัตว์จะเข้าสู่ภาวะ hypothermia เมื่อลดอุณหภูมิร่างกายจนอุณหภูมิที่วัดผ่านทวารหนักอยู่ในช่วง 32-35 °C ทำให้การเผาผลาญพลังงานและการใช้ออกซิเจนลดลง ส่งผลให้ CBF และ ICP ลดลงตามมา พึงระวังว่าการลดอุณหภูมิร่างกายมีโอกาสทำให้เกิด cardiac arrhythmia coagulopathy electrolyte disturbance hypovolemia และ insulin resistance การใช้ barbiturate อาจเหนี่ยวนำให้สัตว์เข้าสู่สภาวะ coma ได้แต่ทำให้ไม่สามารถตรวจระบบประสาทอีกทั้งยังต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
Surgery
การแก้ไขทางศัลยกรรมควรทำเฉพาะในสัตว์ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาที่กล่าวมาทั้งหมด หรือมีอาการทรุดลงแม้ว่าจะทำการโหมรักษาแล้ว การตรวจภาพวินิจฉัยขั้นสูงเช่น CT หรือ MRI จำเป็นต่อการวางแผนการผ่าตัด การผ่าตัดอาจทำเพื่อแก้ไข hematoma ลด intracranial pressure และการแตกของกะโหลกศีรษะ หากพบ ventricular obliteration หรือ mass effect จากการทำ CT หรือ MRI ก็เป็นอีกข้อบ่งชี้ในการแก้ไขทางศัลยกรรมในสัตว์ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาทางยา
การรักษาแบบประคับประคอง (suportive treatment)
สัตวแพทย์ต้องไม่ละเลยการรักษาประคับประคองในสัตว์ป่วยทุกตัวที่มาด้วยอาการบาดเจ็บที่ศีรษะ การสวนท่อปัสสาวะทำให้ง่ายต่อการจัดการระบบขับถ่ายปัสสาวะในสัตว์ป่วยที่นอนตะแคงและติดตามอัตราการผลิตปัสสาวะ(urine output) อัตราการผลิตปัสสาวะที่เหมาะสมคือ 1-2 ml/kg/hr โดยต้องสัมพันธ์กับปริมาณของเหลวที่ให้เข้าร่างกายสัตว์ป่วย หากพบว่าอัตราการผลิตปัสสาวะลดลงอาจมีสาเหตุมาจากภาวะแห้งน้ำ hypovolemia หรือไตมีการทำงานลดลง ผลจากการใช้ osmotic diuretic และ diabetes insipidus ที่มีโอกาสเกิดหลังสมองได้รับความเสียหายอาจทำให้พบอัตราการผลิตปัสสาวะที่สูงขึ้น
โภชนาการที่เหมาะสมจะทำให้สัตว์ฟื้นตัวได้เร็วขึ้นหลังมีการบาดเจ็บที่ศีรษะแต่ควรระวังภาวะ hyperglycemia ที่ทำให้การเผาผลาญพลังงานของสมองสูงขึ้นนำไปสู่การเผาผลาญแบบ anaerobic ส่งผลให้เกิดภาวะ acidosis ตามมาได้ การให้อาหารในช่วงแรกอาจทำโดยให้ผ่าน nasoesophageal feeding tube แต่ไม่แนะนำให้ทำในสัตว์ที่มี ICP สูง เพราะการสอดท่อจะทำให้สัตว์จามและส่งผลให้ความดันสูงมากขึ้น ในสัตว์ป่วยที่หลอดอาหารทำงานได้ปกติอาจใช้ esophagostomy tube เพื่อง่ายต่อการจัดการในระยะกลางถึงยาวในขณะที่การใส่ gastrotomy tube จะเหมาะสมกับสัตว์ป่วยที่มีการทำงานของหลอดอาหารผิดปกติช่วยในการจัดการด้านโภชนาการในระยะยาว สัตว์ที่นอนตะแคงต้องมีการจัดสิ่งรองนอนให้เหมาะสมและระวังแผลหลุมที่เกิดจากการกดทับ สิ่งรองนอนควรมีการบุหนาเพียงพอและหมั่นตรวจสอบให้พื้นผิวสิ่งรองนอนมีความแห้งและสะอาด มีการพลิกตัวสัตว์ทุก 4-6 ชั่วโมง