Petfood: how to prevent insect infestation
Insect contamination of petfoods is a potential problem in tropical countries; this paper offers an overview of the situation and how the risks can be minimized
หมายเลขหัวข้อ 24.2 Other Scientific
เผยแพร่แล้ว 06/09/2023
สามารถอ่านได้ใน Français , Deutsch , Italiano , Português , Español และ English
“แมวน้ำหนักลด” เป็นสิ่งที่พบได้บ่อยในคลินิกสัตวแพทย์ บทความนี้นำเสนอแนวทางการเข้าถึงปัญหาแมวที่น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ © Shutterstock
แมวที่เกิดอาการน้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุควรได้รับการตรวจวินิจฉัยทันที เนื่องจากเป็นการบ่งบอกถึงการเกิดเปลี่ยนแปลงทางสุขภาพของแมว
การเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ อาจมีเบาะแสสำคัญเกี่ยวกับสาเหตุของการลดน้ำหนักที่ไม่สามารถอธิบายได้
โรคระบบทางเดินอาหารมักเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดภาวะน้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ แต่อาจไม่มีการแสดงอาการความผิดปกติทางระบบทางเดินอาหาร เช่น อาการท้องเสีย หรือ อาเจียน
ระหว่างการหาสาเหตุที่แท้จริงของภาวะน้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุในแมว ควรได้รับการปรับโภชนการให้เหมาะสมตามความต้องการของแมว
แมวที่มีภาวะน้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ เป็นสถานการณ์ที่พบได้บ่อยภายในห้องตรวจคลินิกสัตว์เล็ก ซึ่งอาจถือว่าเป็นเคสที่ท้าทายสำหรับสัตวแพทย์ บทความนี้จะนำเสนอแนวทางการวินิจฉัยอย่างมีเหตุผล และความอย่างเป็นขั้นตอน โดยยกตัวอย่างสถานการณ์ในกล่องข้อความที่ 1
กล่องข้อความที่ 1 ตัวอย่างสถานการณ์แมวเกิดภาวะน้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
ตัวอย่างสถานการณ์ในเช้าวันจันทร์ที่วุ่นวาย เมื่อเวลา 10.00 น. คุณนายสมิธนำแมวชื่อ เฟรดดี้ เพศผู้ ทำหมันแล้ว อายุ 8 ปีของเธอมาที่คลินิกเพื่อมาตรวจสุขภาพประจำปี ในการตรวจสุขภาพเบื้องต้นของเฟรดดี้ไม่พบความผิดปกติ ยกเว้นปัญหาเหงือกอักเสบ ระดับ 2 (grade 2 periodontal disease ) ส่วนผลตรวจห้องปฏิบัติการทางคลินิก* พบว่าทุกค่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน มีเพียงน้ำหนักที่ลดลงจากการตรวจสุขภาพครั้งล่าสุด 0.5 กิโลกรัม *การตรวจห้องปฏิบัติการทางคลินิก ได้แก่ การตรวจวิเคราะห์เลือด (Complete blood count) การตรวจวิเคราะห์ชีวเคมีทางซีรัม (serum biochemical profile) การตรวจวิเคราะห์ปัสสาวะ และการตกตะกอน (urinalysis with sediment examination) การตรวจอุจจาระด้วยวิธีการลอยตัว (fecal flotation) การตรวจฮอร์โมน thyroxine (total thyroxine concentration) และการทดสอบการติดเชื้อไวรัส FeLV และ FIV นัดติดตามผล จากความกังวลถึงโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร จึงได้มีการวัด serum folate, cobalamin และ PLI* เพิ่มเติม ค่าทั้งหมดอยู่ในช่วงค่ามาตรฐานเกณฑ์ปกติ แต่ cobalamin มีค่า 388 µg/dL จึงถูกตั้งข้อสงสัย (ค่ามาตรฐานปกติของ cobalamin ในซีรัมมีความหลากหลายขึ้นอยู่กับเครื่องตรวจในแต่ละห้องปฏิบัติการ) และจากผลการตรวจอัลตราซาวน์ช่องท้อง (abdominal ultrasonography) พบว่าลักษณะโดยรวม และความหนาของลำไส้เล็กปกติ
|
เจ้าของสัตว์เลี้ยงอาจคุ้นชินกับพฤติกรรมที่ผิดปกติ เช่น การอาเจียน ทำให้อาการทางคลินิกนั้นถูกมองข้ามไป จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากเจ้าของกล่าวว่าแมวของเขาดูสบายดี ไม่พบความผิดปกติอะไร เมื่อมีการพูดถึงแมวที่แสดงอาการอาเจียนเป็นประจำทุกสัปดาห์ ในทำนองเดียวกันเจ้าของอาจไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย ลักษณะ และความสม่ำเสมอของการอุจจาระ หรือการมีปัสสาวะเพิ่มขึ้น รวมถึงการไอเป็นครั้งคราวที่เกิดจากก้อนขน ซึ่งอาจไม่ได้มีการรายงานสัตวแพทย์ถึงปัญหานี้ ดังนั้นการซักประวัติควรมีการทบทวนถึงคำตอบ และใช้คำถามปลายเปิดเพื่อกระตุ้นให้เจ้าของตอบคำถามได้ละเอียดยิ่งขึ้น ซึ่งอาจเน้นไปที่ประเด็นของสาเหตุที่อาจทำให้น้ำหนักลด เพื่อให้เหมาะสมต่อการตรวจสอบเพิ่มเติมถึงสาเหตุของปัญหาต่อไป
การตรวจร่างกายซ้ำในแมวที่มีเกิดน้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุมักจะมีประโยชน์อย่างมาก เนื่องจากความผิดปกติเล็กน้อยอาจถูกมองข้าม หรือไม่ได้ให้ความสำคัญในตอนแรก ควรตรวจและบันทึกคะแนนมวลกล้ามเนื้อ (muscle condition score) เพื่อทำการเปรียบเทียบในภายหลัง แม้การตรวจช่องปากในแมวทำได้ยาก แต่การตรวจสอบภายในช่องปาก ไม่ว่าจะเป็นฟัน หรือแนวเหงือกอาจพบรอยโรคที่สำคัญได้ ทั้งนี้การตรวจด้วยสายตาคร่าวๆ ไม่สามารถแยกแยะโรคทางทันตกรรมที่อาจมีออกไปได้ ซึ่งความเจ็บปวดที่อาจเกิดขึ้นในช่องปาก เช่น การสลายของฟัน (tooth resorption) สามารถวินิจฉัยได้ด้วยการถ่ายภาพรังสีเท่านั้น (แสดงรูปที่ 1) 1 ไม่เพียงเท่านั้นการตรวจทางจักษุวิทยาก็ควรทำด้วย เช่น การตรวจหาอาการม่านตาอักเสบ (uveitis) หรืออาการจอประสาทตาอักเสบ (chorioretinitis) ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นอาการที่ไม่จำเพาะ แต่มักพบในแมวที่เกิดการติดเชื้อรา หรือโปรโตซัว (แสดงในรูปที่ 2) 2 การตรวจก้อนที่ผิวหนัง หรือใต้ผิวหนัง (skin or subcutaneous nodule) ควรตรวจอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะบริเวณที่ใกล้เคียงกับบริเวณเต้านม นอกจากนี้ยังต้องสังเกตถึงปัญหากระดูกและข้อต่อ รวมถึงความผิดปกติทางระบบประสาทด้วยในขณะที่แมวกำลังเคลื่อนที่ เนื่องจากสัตวแพทย์มักทำการตรวจร่างกายบนโต๊ะจึงทำให้พลาดที่จะสังเกตุการเปลี่ยนแปลงในระหว่างการเดิน การทำงานประสานกัน หรือความแข็งแรงขอกล้ามเนื้อ
รูปภาพ 1 (a) ภาพถ่ายกรามล่างด้านขวา (right mandible) ของแมวอายุ 8 ปี ที่มีภาวะน้ำหลักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ สังเกตพบบริเวณที่มีลักษณะเนื้อเยื่อแดงขึ้น เลือดเข้ามาสะสม (hyperemia) และเกิดการสึกกร่อน (erosion) ของฟันรหัส 407 ที่ด้าน rostral (b) ภาพถ่ายทางรังสีของแมวตัวเดียวกัน สังเกตเห็นบริเวณที่มีการโปร่งแสงบริเวณด้าน Caudal ของฟันรหัส 407 และสูญเสียโครงสร้างของรากฟัน การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้สอดคล้องกับการสลายฟันชนิดที่ 2 (type 2 tooth resorption) © Courtesy of Dr. Bert Dodd, Texas A&M University
ควรรวบรวมข้อมูลโดยละเอียดเกี่ยวกับปริมาณ และประเภทของอาหารที่มีการบริโภคทุกวัน เพื่อคำนวณปริมาณแคลอรี่ที่ได้รับอย่างแท้จริงของแมว แต่ในความเป็นจริงสามารถทำได้ยาก เนื่องจากแมวจำนวนมากได้รับอาหารเม็ดแบบไม่จำกัด (ad libitum dry food) และเจ้าของยังมีความไม่เข้าใจถึงความสำคัญของการวัดปริมาณอาหารที่ให้อย่างแท้จริง ภายใต้สถานการณ์นี้ควรขอให้เจ้าของวัด หรือชั่งน้ำหนักอาหารในแต่ละมื้อ และตรวจสอบปริมาณที่เหลือทิ้งไว้หลังจากแต่ละช่วงเวลา
สิ่งสำคัญ คือ การตั้งคําถามเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมการกินของแมว บางครั้งเจ้าของอาจพูดว่าแมวยังสามารถกินได้ดี หรือแสดงอาการหิวมากกว่าปกติเมื่อแมวมีการแสดงพฤติกรรมการหาอาหาร เช่น การคลอเคลียกับขาของเจ้าของ หรือส่งเสียงร้องในช่วงเวลาอาหาร ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้บ่งบอกถึงความสนใจในการกินก็จริง แต่ก็ยังต้องหาว่าแมวกินอาหารเข้าไปมากเท่าไหร่ ในแมวบางตัวอาจมีพฤติกรรมการขออาหาร และกินอาหารกระป๋องหรือขนม แทนการกินอาหารเม็ด ซึ่งเจ้าของอาจมองว่าปริมาณการกินเพียงต่อแมวแล้ว ทั้งที่ความเป็นจริงปริมาณพลังงานที่แมวควรได้รับต่อวันไม่เพียงพอ
อาจเป็นเรื่องยากในการระบุปริมาณการกินของแมวแต่ละตัวในบ้านที่มีการเลี้ยงแมวร่วมกันหลายตัว ในสถานการณ์นี้ เจ้าของต้องมีความใส่ใจในการสังเกตพฤติกรรมแมวในกลุ่ม (group dynamics) ที่อาจมีแมวตัวที่ไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้เหมือนแมวตัวอื่นๆ ซึ่งทำให้แมวตัวนั้นไม่ได้รับอาหารที่เพียงพอ 3 ชื่อกันว่าแมวมักกินอาหารทีละน้อย แต่บ่อยครั้งเมื่ออยู่ตัวเดียว และไม่ถูกรบกวนจากแมวด้วยกันเอง หรือสัตว์อื่นๆ ซึ่งอาจทำให้เกิดการจำกัดการกินของตัวแมวเอง ดังนั้นจึงควรพิจารณาตำแหน่งที่ตั้งของชามอาหารแมว หากมีการตั้งชามอาหารไม่เหมาะสม แมวที่มีปัญหากระดูกและข้ออาจเกิดความไม่สบายตัว และต้องใช้ความพยายามอย่างมากทำให้แมวได้รับอาหารน้อยลง หรือการตั้งชามอาหารอยู่ใกล้กับเครื่องจักรที่มีเสียงดัง เช่น เครื่องซักผ้า ก็อาจเป็นปัญหาได้เช่นกัน
ระดับพลังงานต่อวันของแมวแต่ละตัวที่ต้องการมีความแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับอายุ เพศ และระดับกิจกรรมเฉพาะตัว สำหรับแมวที่สูงอายุ และทำหมัน ควรได้รับพลังงานแบบคร่าวๆ อย่างน้อย 40 ถึง 66 kcal ต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัมต่อวัน สำหรับการคำนวณปริมาณพลังงานที่สัตว์ต้องการต่อวัน (Basal/resting energy requirement; RER) สามารถคิดได้จากสูตร RER = น้ำหนักตัว(kg)0.75 x 70 ส่วนในแมวโตการคิด RER ต้องคูณด้วย factor ที่ 1.2 -1.4 ตามระดับกิจกรรมของแมวแต่ละตัว เพื่อคำนวณหาพลังงานที่สัตว์ต้องการต่อวัน 4 หากแมวมีน้ำหนักตัวต่ำกว่าที่ควรจะเป็น (ideal body weight) ควรใช้น้ำหนักตัวที่เหมาะสมเพื่อกำหนดความต้องการพลังงานที่แท้จริงในแต่ละวัน จากประสบการณ์ของผู้เขียนสำหรับกรณีที่แมวมีน้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ เช่น แมวที่มีน้ำหนักลดโดยไม่แสดงความผิดปกติใดในผลทางห้องปฎิบัติการ ทั้งที่ได้รับปริมาณอาหารและพลังงานอย่างเพียงพอ ถือเป็นความผิดปกติ
การวินิจฉัยที่ต้องพิจารณาภายใต้สถานการณ์เหล่านี้ ได้แก่ ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติระยะเริ่มต้น (early hyperthyroidism) โรคลำไส้อักเสบ (IBD) และโรคตับอ่อนทำงานบกพร่อง (exocrine pancreatic insufficiency) (แสดงในตารางที่ 1) นอกจากนี้แมวบางตัวที่มีภาวะผอมหนังหุ้มกระดูก (cachexia) ซึ่งอาจมีความเกี่ยวข้องกับมะเร็ง หรือการติดเชื้อแบบเรื้อรัง สามารถเกิดภาวะน้ำหนักลดทั้งที่กินอาหารเพียงพอ อย่างไรก็ตามการเบื่ออาหาร หรือความอยากอาหารลดลงจะเป็นอาการที่แสดงออกได้บ่อยในโรคกลุ่มนี้ 5 ในแมวที่เกิดภาวะผอมผิดปกติจนหนังหุ้มกระดูก (cachectic disorder) อาจมีการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อมากกว่าเนื้อเยื่อไขมัน (adipose tissue) ชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของระบบเผาผลาญของร่างกาย (metabolism) ส่งผลให้มีการเพิ่มขึ้นของสารอักเสบ (inflammatory cytokines) เช่น tumor necrosis factor-alpha และ interleukins 1 และ 6 การวินิจฉัยสำหรับแมวที่มีภาวะน้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ และการกินลดลง มีความเป็นไปได้มากมายหลากหลายสาเหตุ จำเป็นต้องพิจารณาถึงความแตกต่างในแต่ละโรคให้ถี่ถ้วนและครอบคลุม (แสดงในตารางที่ 2)
ตารางที่ 1 ข้อควรพิจารณาในการวินิจฉัยในแมวที่มีการลดน้ำหนักโดยไม่ทราบสาเหตุ แม้จะได้รับปริมาณแคลอรี่เพียงพอหรือมากเกินไป
ความผิดปกติ | ข้อควรพิจารณาสำหรับการวินิจฉัย |
ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติ (Hyperthyroidism) | ตรวจวัดระดับฮอร์โมน thyroxine และ/หรือ TSH (feline thyroid stimulating hormone) |
โรคตับอ่อนทำงานบกพร่อง (Exocrine pancreatic insufficiency) | ตรวจหาระดับ fasted trypsin-like immunoreactivity |
โรคลำไส้อักเสบ (Inflammatory/infiltrative bowel disease) | ตรวจวัดระดับ folate และ cobalamin (B12) ในซีรัม |
ภาวะผอมหนังหุ้มติดกระดูก (Cachectic disorders) | ถ่ายภาพรังสีช่องอก (Thoracic radiographs) และอัลตราซาวน์ช่องท้อง (abdominal ultrasonography) |
ตารางที่ 2 ข้อควรพิจารณาในการวินิจฉัยในแมวที่มีการลดน้ำหนักโดยไม่ทราบสาเหตุ และไม่ได้รับพลังงานอย่างเพียงพอ
ความผิดปกติ | ข้อควรพิจารณาสำหรับการวินิจฉัย |
ความผิดปกติในช่องปาก (Oral discomfort) | สังเกตพฤติกรรมการกิน หรือการวางยาซึมเพื่อทำการตรวจในช่องปาก |
ความเครียด (Psychological stress) | ประเมินสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย วิธีการให้อาหาร และรูปแบบการเลี้ยง |
โรคไตเรื้อรัง (Chronic kidney disease) | ตรวจวัดค่า SDMA ตรวจความดันโลหิต วัดปริมาณโปรตีนในปัสสาวะ และอัลตราซาวน์ |
ตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis) | ตรวจวัด pancreas-specific lipase activity และอัลตราซาวน์ |
ลำไส้อักเสบ (Inflammatory/infiltrative bowel disease | ตรวจวัดระดับ folate และ cobalamin (B12) ในซีรัม และการทำและอัลตราซาวน์ |
ภาวะแคลเซียมในเลือดสูงโดยไม่ทราบสาเหตุ (Idiopathic hypercalcemia) | ตรวจวัดระดับ ionized calcium ฮอร์โมน parathyroid และ parathyroid-related protein |
ภาวะผอมหนังหุ้มติดกระดูก (Cachectic disorders) ที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็ง หรือการติดเชื้อแบบเรื้อรัง | ถ่ายภาพรังสีช่องอก (Thoracic radiographs) และอัลตราซาวน์ช่องท้อง (abdominal ultrasonography) |
ฐานข้อมูลมาตรฐาน (minimum database) สำหรับแมวที่เกิดภาวะน้ำหนักลดควรประกอบไปด้วย การวิเคราะห์เลือด (complete blood count) การวิเคราะห์ชีวเคมี และอิเล็กโทรไลต์ของซีรัม (serum biochemical profile with electrolytes) และการวิเคราะห์ปัสสาวะ (urinalysis) การตรวจอุจจาระด้วยการลอยตัวแบบง่าย (fecal floatation) แนะนำให้ทำในแมวที่มีการเลี้ยงปล่อยให้ออกไปนอกบ้าน หากแมวมีอายุมากกว่า 7 ปีขึ้นไป ควรตรวจวัดระดับฮอร์โมน total thyroxine concentration ร่วมด้วยตามคำแนะนําจาก American Association of Feline Practitioners ในแมวบางตัวที่มีภาวะการเกิดโรคทางระบบร่างกายควรตรวจหาไวรัส feline leukemia (FeLV) และ feline immunodeficiency (FIV) ด้วย
ถึงแม้ว่าการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่กล่าวมานั้นจะครอบคลุมในระดับหนึ่งแล้ว แต่ยังมีแมวบางตัวที่ป่วยแต่มีผลการตรวจเลือดอยู่ในระดับปกติ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องประเมินข้อมูลที่มีอยู่อย่างรอบคอบ และเปรียบเทียบกับผลทางห้องปฏิบัติการที่เคยมีการตรวจและจดบันทึกไว้อย่างสม่ำเสมอ (แสดงในตารางที่ 3) ในการวิเคราะห์ เช่น ค่า creatinine และ albumin อาจดึงดูดความสนใจชวนให้ตั้งคำถามได้ในแมวที่สุขภาพดีบางตัว ดังนั้น การมองหาแนวโน้มแทนที่จะมุ่งเน้นไปหาความผิดปกติอาจมีประโยชน์มากกว่า ยกตัวอย่าง
ตารางที่ 3 พารามิเตอร์ทางห้องปฏิบัติการที่สำคัญต่อแนวโน้มในแมวที่มีการลดน้ำหนักโดยไม่ทราบสาเหตุ
พารามิเตอร์ | การวินิจฉัย |
Albumin |
การตรวจวัดปริมาณ Albumin หากมีค่าต่ำกว่าระดับค่ามาตรฐานปกติ อาจบ่งชี้ถึงโรคในระบบทางเดินอาหารรวมถึงพิจารณาตรวจวัดค่า serum folate และ cobalamin เพิ่มเติม |
Creatinine |
หากสูงกว่าค่ามาตรฐานอาจบ่งชี้ถึงโรคไตเรื้อรัง (CKD) ในรายที่มีค่า Creatinine อยู่ในช่วงปกติเสมอ ร่วมกับการพิจารณาวัดความดันโลหิต และการทำอัลตราซาวน์ดูโครงสร้างไต Consider measurement of systolic blood pressure and renal ultrasonography |
Thyroxine |
หากเพิ่มสูงกว่าปกติ หรือมากกว่าครึ่งบนของค่ามาตรฐานปกติ อาจบอกถึงภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติ พิจารณาร่วมกับการตรวจวัดค่า free T4 และ/หรือฮอร์โมน feline-specific thyroid stimulating |
Calcium |
หากมีปริมาณ total calcium มากพอ อาจบ่งบอกถึงภาวะแคลเซียมในเลือดสูง พิจารณาร่วมกับการวัดแคลเซียมที่แตกตัวเป็นไอออน (ionized calcium) |
Eosinophil count |
หากมีปริมาณมากอาจชี้ให้เห็นถึง lymphoma หรือ mast cell tumor การติดเชื้อโปรโตซัว หรือเชื้อรา การเกิด eosinophilic IBD ร่วมกับการพิจารณาอัลตราซาวน์ช่องท้อง และ/หรือการทดสอบการติดเชื้อ |
ฐานข้อมูลมาตรฐาน (minimum database) ไม่ได้ใช้เบาะแสที่เป็นประโยชน์ ทางผู้เขียนแนะให้ตรวจสอบการทำงานของระบบทางเดินอาหาร และวัดปริมาณความเข้มข้นของ folate และ cobalamin ในซีรัม
ภาวะโฟเลตต่ำ (Hypofolatemia) บ่งชี้ถึงการทำหน้าที่ดูดซึมที่ผิดปกติไปของลำไส้เล็กส่วน duodenum แต่ความผิดปกตินี้ไม่สามารถเป็นตัวชี้วัดที่ชัดเจนได้ และถึงแม้ว่าค่า serum folate อยู่ในช่วงค่ามาตรฐานปกติ ก็ไม่สามารถตัดปัญหาการอักเสบ หรือการเกิดเนื้องอกในลำไส้ได้เช่นกัน 14 การใช้ความเข้มข้นของ cobalamin (B12)ในซีรัม ดูเหมือนจะมีประโยชน์มากกว่า เมื่อมีค่าต่ำกว่าค่ามาตรฐานปกติจะสามารถบ่งบอกถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในส่วนลำไส้เล็กส่วน ileal (ileal disease) การเปลี่ยนแปลงของจุลชีในลำไส้ (intestinal dysbiosis) หรือตับอ่อนทำงานผิดปกติ (exocrine pancreatic insufficiency) ในทางปฏิบัติเมื่อความเข้มข้นของ cobalamin (B12) ในซีรัม มีค่าน้อยกว่า 400 ng/L (ช่วงค่ามาตรฐาน 290-1,500 ng/L) ถือว่านัยยะสำคัญ การขาด Cobalamin อาจส่งผลต่อความอยากอาหาร ดังนั้นการรับรู้และจัดการ hypocobalaminemia จึงเป็นสิ่งสำคัญ 15
แมวที่มีภาวะตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง (chronic pancreatitis) อาจไม่แสดงอาการอาเจียน (vomit) หรืออาการไม่สบายบริเวณช่องท้อง (abdominal discomfort) แต่อาจแสดงอาการไม่อยากกินอาหารแทน แม้ว่าในการวินิจฉัยยืนยันต้องใช้จุลพยาธิวิทยาของตัวอย่างตับอ่อน แต่การวินิจฉัยทางคลินิกในการสันนิษฐานมักจะขึ้นอยู่กับการแสดงอาการทางคลินิกร่วมกัน ซึ่งอาจแสดงอาการแค่ความอยากอาหารลดลง (hyporexia) ร่วมกับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมด้วยการทำอัลตราซาวน์ช่องท้อง และ/หรือการตรวจวัด pancreas-specific lipase immunoreactivity ซึ่งการเพิ่มขึ้นของพารามิเตอร์นี้บ่งชี้ถึงความเสียหายของ acinar cell ในตับอ่อน อย่างไรก็ตาม โรคตับอ่อนอักเสบอาจไม่สาเหตุเดียวของการเกิดน้ำหนักลดในแมว ควรพิจารณาความเป็นไปได้ของการเปิดปัญหาระบบทางเดินอาหาร หรือความผิดปกติอื่นๆ16 นอกจากนี้การอักเสบของตับอ่อนอาจแสดงอาการแบบเป็นๆ หายๆ ดังนั้นผลการตรวจที่อยู่ในระดับปกติไม่สามารถตัดปัญหาเกี่ยวกับการอักเสบนี้ออกไปได้ การตรวจวัดระดับ pancreas-specific lipase ซ้ำจ่ะช่วยในการวินิจฉัยนี้ได้
ในสุนัข การใช้ C-reactive protein เป็น biomarker สำหรับการบ่งชี้การอักเสบ และการเพิ่มขึ้นของโปรตีนนี้ก็สามารถบ่งชี้ถึงความผิดปกติได้อีกหลายๆอย่าง 17 ซึ่ง C-reactive protein เป็นโปรตีนที่ถูกสร้างจากตับเพื่อตอบสนองต่อการอักเสบของร่างกายในระยะเฉียบพลัน (acute phase protein) ซึ่งจะมีค่ามากกว่าปกติถึง 20 เท่าเมื่อมีการตอบสนองต่อการอักเสบ การบาดเจ็บ และการเกิดเนื้องอกในสุนัข แต่ในแมวไม่สามารถใช้โปรตีนชนิดนี้เป็นตัวบ่งชี้ของการอักเสบ หรือการเกิดเนื้องอกได้ จากการศึกษาเปรียบเทียบปริมาณ C-reactive protein ไม่พบความแตกต่างทางคลินิกระหว่างแมวที่มีสุขภาพดีกับแมวหลังการผ่าตัด (post-operative) 18
Audrey K. Cook
ในความคิดเห็นของผู้เขียน การทำอัลตราซาวน์ช่องท้องมักเป็นแนวทางการตรวจสอบที่ดีในแมวที่มีภาวะน้ำหนักลดอย่างไม่ทราบสาเหตุ โดยเฉพาะการให้ความสนใจเป็นพิเศษกับระบบทางเดินอาหาร ด้วยการดูความหนาตัวในส่วนต่างๆ ของลำไส้ ดูสัดส่วนความหนาตัวของชั้นเยื่อบุ (mucosal versus) และชั้นกล้ามเนื้อ (muscularis layer) ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลหากผนังส่วนใดของลำไส้มีความหนามากกว่า 3 มม. แต่ในขณะเดียวกันชั้นกล้ามเนื้อที่หนากว่าปกติก็บ่งบอกถึงความผิดปกติพยาธิสภาพได้เช่นกัน 19 บางครั้งการหนาขึ้นของกล้ามเนื้อแบบกระจายจะพบในแมวปกติได้ แต่ส่วนมากมักเกี่ยวข้องกับ IBD หรือภาวะทางเดินอาหาร เช่น small cell lymphoma หรือ histoplasmosis (แสดงในรูปที่ 3) ในส่วนอื่นๆในช่องท้องที่อาจทำให้เกิดความไม่สบายในช่องท้อง และความอยากกินลดลง ซึ่งเป็นผลทุติยภูมิมาจากตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง สามารถระบุปัญหานี้ได้ด้วยการทำอัลตราซาวน์ ซึ่งอาจสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยของ echogenicity ในภาพที่แสดงผล หากเครื่องอัลตราซาวน์ไม่ได้มีคุณภาพสูงพอ หรือประสบการณ์ของผู้ตรวจยังน้อยอาจเป็นเรื่องยากที่จะพบความผิดปกติ (แสดงในรูปที่ 4) 16 ปัญหาที่ส่งผลต่อไต ตัวอย่างเช่น การอุดตันของท่อนำปัสสาวะ (ureteral obstruction) หรือภาวะไตบวมน้ำ (hydronephrosis) ซึ่งสามารถระบุปัญหาได้ด้วยการทำอัลตราซาวน์ ปัญหาเหล่านี้อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความไม่สบายท้อง และส่งผลต่อการกินของสัตว์เลี้ยง 20 จำเป็นต้องตระหนักว่าหากไตอีกหนึ่งข้างยังไม่ได้รับผลกระทบ ปริมาณ creatinine ในซีรัม และความถ่วงจำเพาะของปัสสาวะอาจยังอยู่ในช่วงค่ามาตรฐานปกติ
หากสังเกตเห็นการขยายขนาดของ หรือการเปลี่ยนแปลง echogenicity ของอวัยวะ เช่น ตับ ม้าม หรือต่อมน้ำเหลือง ควรมีการเก็บตัวอย่างเพื่อทำ cytology ด้วยวิธีการ fine needle aspiration
ภาพถ่ายรังสีช่องอกเป็นขั้นตอนที่ควรทำต่อไปหากการทำอัลตราซาวน์ช่องท้องไม่สามารถให้ข้อมูลใดๆ เพิ่มเติม ถึงแม้ว่าจะไม่มีการแสดงอาการทางคลินิกเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจแต่ก็ไม่สามารถตัดความเป็นไปได้ของสาเหตุการเกิดปัญหา เช่น การเกิดเนื้องอกในปอด (pulmonary neoplasia) ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการลดของน้ำหนักได้ 21 ควรถ่ายภาพ 3 มุมมอง (ภาพด้านข้าง (lateral) ซ้ายและขวา และ ventrodorsal) และอ่านภาพแปลผลโดยนักรังสีวิทยา (แสดงผลในรูปภาพ 5)
รูปภาพ 5 (a) ภาพถ่ายรังสีช่องอกด้านขวา ของแมวอายุ 11 ปีที่มีปัญหาน้ำหนักลดผิดปกติแบบหาสาเหตุไม่ได้ พบการสะสมของแร่ธาตุ (mineralized) บริเวณ Caudal to the carina (b) ภาพถ่ายรังสีช่องอกด้วยมุม Ventrodorsal ของแมวตัวเดียวกัน สังเกตเห็นก้อนเนื้องอกบริเวณช่องอกด้านซ้าย ตำแหน่งทับซ้อนเค้าโครงเงาหัวใจ และผนังช่องอก รวมถึงสังเกตเห็นการทึบแสงของแร่ธาตุ (mineral opacities) หลายตำแหน่งบริเวณเนื้องอก โดยเฉพาะส่วนหน้า (dorsally) อีกทั้งยังพบลักษณะเป็นกลม ขนาดใหญ่ คล้ายแก๊สอยู่ภายในก้อนเนื้อ และพบการเคลื่อน mediastinal ไปทางขวาเล็กน้อย จากผลตรวจทางเซลล์วิทยา (Cytologic) พบว่าเป็นเซลล์มะเร็ง (carcinoma) © Courtesy Diagnostic Imaging Service, Texas A&M University
หากแมวมีปริมาณการกินไม่เพียงพอ จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณพลังงานที่ต้องการด้วยแนวทางที่เหมาะสมภายหลังได้รับการวินิจฉัย เช่น การให้อาหารทางเลือก หรือการใช้ยากระตุ้นความอยากอาหาร อาการชนิดใหม่ที่ให้ควรมีพลังงานเพียงพอ และมีความน่ากินสูง รวมถึงการย่อยได้อาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องให้ความสำคัญในแมวที่มีข้อกังวลเกี่ยวกับความผิดปกติของการทำงานระบบทางเดินอาหาร
โดยปกติแมวมีพฤติกรรมที่ซับซ้อนในการเลือกกินอาหาร และมักต่อต้านอาหารที่ไม่มีความคุ้นชิน อย่างเช่น การเปลี่ยนอาหารในแมวที่กินแต่อาหารเม็ดมาตลอดไปเป็นอาหารเปียกก็เป็นเรื่องยาก แมวบางตัว ทดลองกินอาหารใหม่ได้แต่ก็ไม่สามารถกินได้อย่างเพียงพอตามปริมาณที่ต้องการ ในการเปลี่ยนอาหารเพียงแค่เปลี่ยนรูปร่าง หรือรสชาติของอาหารเม็ดก็อาจเป็นปัญหาได้หากแมวไม่คุ้นเคยกับอาหารใหม่ แนวทางที่ปฏิบัติกันทั่วไปในการเปลี่ยนอาหารควรเริ่มจากให้อาการเก่าควบคู่กับอาหารใหม่หนึ่ง หรือสองตัวเลือกโดยใช้ชามอาหารแยกกัน ใช้ทดสอบเป็นเวลา 24 ชั่วโมงก่อนตัดสินใจเลือกอาหารใหม่ให้แก่แมว หัวใจสำคัญ คือการวัดปริมาณอาหารที่แมวได้รับอย่างเคร่งครัด เพื่อที่จะสามารถติดตาม และคำนวณปริมาณพลังงานที่แมวได้รับอย่างใกล้ชิด
การเพิ่มความน่ากินของอาหารที่เคยกิน หรืออาหารใหม่ ทำได้โดยการเพิ่มโปรตีนที่มีรสชาติ (highly flavored protein) ลงไปเล็กน้อย เช่น โปรตีนจากทูน่า หรือ แซลมอน จะช่วยเพิ่มปริมาณการกินได้ ในระยะสั้น (ประมาณ 2-3 สัปดาห์) การให้อาหารที่ปรุงเองที่บ้าน (home-cooked diet) อาจไม่เป็นส่งผลต่อปัญหาสุขภาพ แต่ในระยะยาวการให้อาหารที่มีสารอาหารไม่ความครบถ้วนและสมดุลอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างมีนัยยะสำคัญ จึงควรอยู่ภายใต้คำแนะนำจากนักโภชนาการ
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมามีการใช้ยานอกข้อบ่งใช้ (off-label) เพื่อกระตุ้นให้แมวมีความอยากอาหาร จึงเกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับความปลอดภัย และประสิทธิภาพของการใช้งานขึ้นมามากมาย ในขณะนี้มีผลิตภัณฑ์สองรายการที่ได้รับอนุญาตในหลายประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาแมวที่มีน้ำหนักลดMirtazapine 22 เป็นยาที่สามารถให้โดยอาศัยการซึมผ่านผิวหนัง บริเวณใบหูด้านใน ขนาดยาที่ใช้ 2 มก.ต่อแมวหนึ่งตัว วันละหนึ่งครั้ง (ทุก 24 ชั่วโมง) ซึ่งยาตัวนี้จะไปกระตุ้นความอยากอาหารด้วยการเพิ่มระดับ central norepinephrine ควบคู่ไปกับการยับยั้ง serotonin receptor subtypes แบบจำเพาะ จากการศึกษาในแมวที่มีน้ำหนักลดโดยไม่คาดคิด มากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 5 ของน้ำหนักตัว พบว่าในกลุ่มทดลองที่มีการให้ยาตัวนี้มีน้ำหนักเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 3.9% ของน้ำหนักตัวเริ่มต้นภายใน 2 สัปดาห์ ในขณะที่อีกกลุ่มทดสอบซึ่งได้รับยาหลอก (placebo group) มีน้ำหนักขึ้นจากเดิมเพียง 0.4% ของน้ำหนักตัวในระยะเวลาเท่ากัน 22. โดยแมวทั่วไปมีการตอบสนองต่อ mirtazapine ผ่านการซึมผ่านผิวหนังได้ดีแม้ว่าจะมีรายงานการระคายเคืองผิวหนังในบริเวณที่ใช้ หากมีการใช้ยาเกินขนาดจะส่งผลให้เกิดการส่งเสียงร้อง (vocalization) กระสับกระส่าย (agitation) และอาเจียน (vomiting) ในแมวที่มีปัญหาโรคตับ และไต แนะนำให้ลดขนาดยา และความถี่ในการใช้
Capromorelin เป็นยากลุ่ม ghrelin receptor agonist อยู่ในรูปแบบของเหลวให้ผ่านการกิน ได้รับใบอนุญาตให้ใช้กับแมวได้ในประเทศสหรัฐอเมริกา ขนาดยาที่แนะนำ 2 mg/kg วันลหนึ่งครั้ง (ทุก 24 ชั่วโมง) 23 เกรลิน (ghrelin) เป็นฮอร์โมนชนิดเพปไทด์ (peptide hormone) ที่ถูกหลั่งออกมาจากเยื่อบุผิวที่กระเพาะอาหาร (gastric mucosa) ซึ่งจะมีระดับเพิ่มขึ้นในซีรัมช่วงระหว่างตอนกลางวัน และตอนกระตุ้นให้มีพฤติกรรมการหาอาหาร (food-seeking behaviors) ผลิตภัณฑ์นี้ได้รับการอนุมัติให้ใช้ได้ในแมวที่ป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรัง เพื่อส่งเสริมการเพิ่มน้ำหนักในแมวที่ป่วยภาวะนี้ จากการศึกษาเป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์ ในแมวกลุ่มที่ได้รับผลิตภัณฑ์นี้มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเฉลี่ยมากกว่า 5% เทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (placebo group) ที่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียง 1.6% 24 เกรลิน (Ghrelin) มีคุณสมบัติต้านการอักเสบ และยังช่วยกระตุ้นการหลั่ง growth hormone จึงทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ เช่น การมีน้ำลายมากกว่าปกติ (salivation) และบางครั้งอาจมีอัตราการเต้นของหัวใจ และความดันโลหิตลดลงชั่วคราว (temporary decrease in heart rate and blood pressure) หลังจากการได้รับยาในสอง ถึงสามครั้งแรก
ทั้งนี้หากยังไม่สามารถให้สัตว์เลี้ยงทานอาหารให้ถึงปริมาณขั้นต่ำที่ร่างกายต้องการได้อาจมีความเป็นต้องพิจารณาให้อาหารด้วยการสอดท่อสอดอาหาร (placement of an esophageal feeding tube)
ถึงแม้ว่าน้ำหนักของแมวจะลดลงเพียงเล็กน้อย แต่ก็อาจเป็นสัญญาณถึงความผิดปกติที่สำคัญได้ ในแมว (เช่นเดียวกับมนุษย์) มักจะรักษาน้ำหนักให้คงที่ หรือเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ เมื่อเวลาผ่านไป เว้นแต่จะถูกจำกัดปริมาณพลังงานที่ได้โดยเจตนา หรือโดยโรคที่เกิดขึ้น การที่เกิดภาวะน้ำหนักลดโดยไม่สามารถอธิบายได้จึงต้องประเมินอย่างมีเหตุผล และละเอียดถี่ถ้วน ในระหว่างการวินิจฉัยหาสาเหตุควรมีการดูแลแบบประคับประคองเพื่อส่งเสริมการกินให้เพียงพอต่อการรักษาสมดุลของร่างกาย
Audrey K. Cook
Dr. Cook graduated with distinction from Edinburgh University in Scotland and completed her residency in small animal internal medicine at the University of California, Davis อ่านเพิ่มเติม
Insect contamination of petfoods is a potential problem in tropical countries; this paper offers an overview of the situation and how the risks can be minimized
ความผิดพลาดนั้นสามารถเกิดขึ้นได้กับพวกเราทุกคนในการปฏิบัติงานด้านสัตวแพทย์ บทความนี้จะพิจารณาว่าผู้คนจะมีปฏิกิริยาอย่างไรเมื่อสิ่งต่างๆเกิดความผิดพลาดขึ้นและที่สำคัญคือเพื่อหารือเกี่ยวกับวิธีที่จะช่วยให้เราสามารถรับมือกับความผิดพลาดได้ดีที่สุด
ในปัจจุบันมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้นมามากมายซึ่งช่วยให้สัตวแพทย์สามารถเข้าถึงการติดตามระดับน้ำตาลกลูโคสอย่างต่อเนื่อง (continuous glucose monitoring) ในแมวที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานได้