โภชนาการที่เหมาะกับแมวป่วยด้วยโรคเบาหวาน
โรคเบาหวานเป็นโรคที่ส่งผลต่อระบบเมตาบอลิซึมของร่างกายสัตว์อย่างมาก การ...
หมายเลขหัวข้อ 29.3 ระบบต่อมมีท่อในตับอ่อน
เผยแพร่แล้ว 20/11/2021
สามารถอ่านได้ใน Français , Deutsch , Italiano , Português , Română , Español และ English
โรคตับอ่อนทำงานบกพร่องในสุนัขเป็นโรคที่ทำให้สภาพร่างกายทรุดโทรมและมักไม่ได้รับการวินิจฉัยในสุนัข โดย María-Dolores Tabar Rodríguez จะมาอธิบายถึงลักษณะ วิธีการวินิจฉัย และการรักษาโรคในบทความนี้
สัตวแพทย์จำเป็นต้องพิจารณาความเป็นไปได้ของโรคตับอ่อนทำงานบกพร่อง (Exocrine Pancreatic Insufficiency; EPI) เมื่อสุนัขแสดงอาการที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะการถ่ายเหลวที่มีสาเหตุจากลำไส้เล็กและน้ำหนักลด
การวินิจฉัย EPI ดูจากการทำงานของตับอ่อนโดยการตรวจวัดระดับ Serum Trypsin-like Immunoreactivity (TLI)
การรักษาสัตว์ป่วยทำโดยการให้เอนไซม์ตับอ่อน การคุมอาหาร และการเสริม cobalamin
ถึงแม้ว่าสัตว์ป่วยทุกตัวอาจไม่ตอบสนองต่อการรักษาเต็มที่แต่แนวโน้มการพยากรณ์โรคค่อนข้างดีและจำเป็นต้องได้รับการรักษาร่วมกับการเฝ้าติดตามอาการต่อเนื่อง
โรคตับอ่อนทำงานบกพร่อง (Exocrine Pancreatic Insufficiency; EPI) ในสุนัขส่งผลให้การย่อยและดูดซึมอาหารทำได้ไม่ดีและสุขภาพทรุดโทรมลงอย่างต่อเนื่อง สัตวแพทย์จำเป็นต้องทราบถึงสายพันธุ์สุนัขที่มีความเสี่ยงและการแสดงออกของโรครวมถึงความเจ็บป่วยอื่นที่สามารถเกิดร่วมกัน หากพบสุนัขป่วยที่มาด้วยอาการที่เกี่ยวข้องควรคำนึงถึงโรค EPI เพื่อที่จะทำการตรวจวินิจฉัยอย่างเหมาะสม
EPI มีความชุกค่อนข้างสูงในสัตว์เล็กแต่มักไม่ได้รับการวินิจฉัยซึ่งทำได้ยากเนื่องจากความซับซ้อนที่มีสาเหตุจากอาการทางคลินิกที่ไม่จำเพาะเจาะจง โรคอื่นที่อาจเกิดร่วมกับ EPI และความยากในการแปลผลจากห้องปฏิบัติการรวมถึงการตรวจภาพวินิจฉัย โรคของตับอ่อนที่พบบ่อยได้แก่ตับอ่อนอักเสบและตับอ่อนทำงานบกพร่องนอกจากนี้ยังอาจพบเนื้องอกที่ตับอ่อนได้แต่พบได้ยากในสัตว์เล็กและอาจสับสนกับรอยโรคอื่นเช่นถุงน้ำ (cyst) ถุงน้ำเทียม (pseudocyst) หรือฝี
หนึ่งในหน้าที่ของตับอ่อนคือการหลั่งสารต่างๆที่มีหน้าที่สำคัญแตกต่างกันเช่นการย่อยโปรตีน คาร์โบไฮเดรตและไขมันโดยเอนไซม์ การปรับสภาพในลำไส้เล็กส่วน duodenum ให้เหมาะสมผ่านการหลั่งไบคาร์บอเนต คลอรีนและน้ำ มีส่วนในการดูดซึม cobalamin โดยหลั่ง intrinsic factor และควบคุมสมดุลของแบคทีเรียในทางเดินอาหารโดยการหลั่งโปรตีนที่ออกฤทธิ์ต้านเชื้อแบคเทีเรีย EPI เป็นความผิดปกติของทางเดินอาหารที่เกิดความบกพร่องในการผลิตเอนไซม์ในการย่อยของเซลล์ตับอ่อน (pancreatic acinar) สุนัขจะเริ่มแสดงอาการผิดปกติเมื่อตับอ่อนสูญเสียการทำงานไปมากกว่าร้อยละ 90
การตรวจทางจุลพยาธิวิทยาจะวินิจฉัยสาเหตุที่แท้จริงของการเกิด EPI ได้ ตามปกติแล้วในหลายกรณีมักจะใช้แค่การซักประวัติ ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการและ/หรือการตรวจภาพวินิจฉัย ข้อมูลจากการศึกษาพบว่าสาเหตุที่ทำให้เกิด EPI มากที่สุดได้แก่ การฝ่อของเซลล์ตับอ่อนและโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง
การฝ่อของเซลล์ตับอ่อน (PAA) เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของการเกิด EPI ในสุนัขโดยเฉพาะในพันธุ์ german shepherd rough collie eurasier และ chow chow 1 การศึกษาในสายพันธุ์ดังกล่าวพบว่าเกิดกระบวนการของภูมิคุ้มกันต่อร่างกายในสุนัขที่มีความผิดปกติของพันธุกรรมโดยเกิดการแทรกซึมของเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์สะสมในตับอ่อนนำไปสู่การทำลายเซลล์ตับอ่อนแต่การทำงานของต่อมไร้ท่อยังคงมีอยู่ คาดว่า EPI สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้แต่ยังไม่มีความเข้าใจในกระบวนการอย่างชัดเจนเพราะประกอบไปด้วยยีนหลายตัวและมีปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมมาเกี่ยวข้องในกระบวนการเกิดพยาธิสภาพของตับอ่อนด้ว 2 กระบวนการเกิด PAA สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ระยะได้แก่ระยะ subclinical และ clinical การเปลี่ยนแปลงจากระยะ subclinical ไปสู่ระยะ clinical นั้นคาดเดาได้ยากโดยสุนัขบางตัวอาจใช้เวลาหลายปีกว่าจะเข้าสู่ระยะที่แสดงอาการในขณะที่บางตัวไม่แสดงอาการเลย ระยะ subclinical สามารถระบุได้จากการฝ่อของเซลล์ตับอ่อนบางส่วนโดยสุนัขไม่แสดงอาการทางคลินิก เมื่อกระบวนการอักเส[และทำลายเซลล์ตับอ่อนรุนแรงมากขึ้นจะส่งผลให้การฝ่อรุนแรงขึ้นทำให้สุนัขเข้าสู่ระยะ clinical โดยจะแสดงอาการที่เกี่ยวข้องกับความบกพร่องในการทำงานของตับอ่อน ผู้ทำการศึกษาบางคนเสนอให้ใช้นิยามการเปลี่ยนแปลงทางพยาธิสภาพของตับอ่อนก่อนที่จะเข้าสู่ระยะท้ายของการฝ่อว่า immune-mediated atrophic lymphocytic pancreatitis 1
ตับอ่อนอักเสบเรื้อรังเป็นสาเหตุของ EPI ที่พบได้บ่อยที่สุดในแมวและเป็นสาเหตุอันดับ 2 ในสุนัขโดยเฉพาะในพันธุ์ cavalier king charles spaniel และ cocker spaniel 1 ตับอ่อนอักเสบเรื้อรังต่างกับ PAA ในความรุนแรงของการทำลายเซลล์ตับอ่อนทั้งส่วนที่เป็นต่อมไร้ท่อและต่อมมีท่อ นอกจากนี้หากตรวจพบโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรังยังต้องพิจารณาถึงการเกิดโรคเบาหวานและ EPI ร่วมกันหรือเฝ้าระวังการเกิด EPI หากพบว่าสัตว์ป่วยด้วยโรคเบาหวาน
ความผิดปกตินี้เป็นสาเหตุที่พบได้น้อยที่สุดของการเกิด EPI มีบันทึกการพบในลูกสุนัขที่มีความผิดปกติของทั้งต่อมไร้ท่อและต่อมมีท่อโดยแสดงอาการของโรค EPI และเบาหวาน แต่ PAA ในบางกรณีสามารถเกิดได้ในสัตว์ที่อายุน้อยมากๆ 3 ทำให้ไม่สามารถหาสาเหตุที่แน่นอนได้หากไม่ทำการตัดชิ้นเนื้อตับอ่อนไปตรวจ
มีโอกาสพบได้น้อยมากในสัตว์เล็ก
María-Dolores Tabar Rodríguez
EPI สามารถเกิดได้ในสุนัขหลายสายพันธุ์แต่จะพบได้มากกว่าในสายพันธุ์ที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น 4 ในสายพันธุ์ที่มีสาเหตุจาก PAA จะพบว่าสุนัขมักเริ่มแสดงอาการทางคลินิกที่อายุน้อยกว่า 4 ปีแต่ในบางตัวอาจพบได้ที่อายุมากกว่านั้น หากว่า PAA มีสาเหตุมาจากโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรังจะพบในสุนัขที่อายุประมาณ 7 ปี บางสายพันธุ์เช่น german shepherd, chow chow และ cavalier king charles spaniel พบว่าเกิดในสุนัขเพศเมียมากกว่าเพศผู้ 4
รูป 1 สัตว์ป่วยด้วย EPI มักตรวจพบอุจจาระนิ่ม สีเหลือง มีเศษอาหารที่ไม่ถูกย่อยปนอยู่ © María-Dolores Tabar Rodríguez
รูป 2 สุนัขพันธุ์ giant schnauzer ที่ป่วยด้วยโรค EPI มี body condition score ที่ไม่ดี © María-Dolores Tabar Rodríguez
รูป 3 สุนัขตัวเดียวกันกับในรูป 2 สามารถพบความผิดปกติของผิวหนังที่มีสาเหตุจาก EPI ทั้ง seborrhea และ desquamation ชัดเจน © María-Dolores Tabar Rodríguez
Sign | Small intestinal diarrhea | Large intestinal diarrhea |
---|---|---|
Defecation frequency | Normal or slight increase (3-5 times a day) | Large increase (> 5 times a day) |
Stool volume | Normal or increased amounts | Decreased |
Mucus in stool | Generally absent | Often present |
Blood in stool | Melena | Hematochezia |
Tenesmus | Absent | Often present |
Urgency | No | Yes |
Steatorrhea | Sometimes | Absent |
Weight loss | Frequent | Infrequent |
อาการทางคลินิกที่เด่นชัดคือความถี่ในการขับถ่ายและปริมาณอุจจาระ มักพบอุจจาระสีออกเหลืองและมีไขมันปนอยู่ (steatorrhea) ร่วมกับอาการน้ำหนักลดและท้องอืด (รูป 1) สุนัขป่วยด้วย EPI พบว่าอุจจาระเหลวซึ่งมีสาเหตุจากลำไส้เล็ก (ตารางที่ 1) กินอาหารมากและกินอุจจาระ สุนัขบางตัวอาจมีอาการปวดเป็นระยะซึ่งแสดงออกในรูปแบบของความดุร้ายเป็นช่วง สุนัขโดยมากมักมีสภาพร่างกายและขนไม่สมบูรณ์ (รูป 2) ร่วมกับรังแค (รูป 3) ที่พบได้ไม่บ่อยคือการอาเจียนอาการถ่ายเหลว กินอาหารมาก และน้ำหนักลดเป็นอาการทางคลินิกที่ชัดเจนและพบได้บ่อยแต่สุนัขบางตัวอาจไม่แสดงอาการเหล่านี้ จากการศึกษาพบว่ามีสุนัขป่วยร้อยละ 5 ไม่พบอาการถ่ายเหลว ร้อยละ 35 กินอาหารปกติ ร้อยละ 12 กินอาหารลดลง และร้อยละ 13 มีน้ำหนักปกติหรือเพิ่มมากขึ้น 5
สุนัขที่มีอาการถ่ายเหลวจากลำไส้เล็กซึ่งสงสัยว่ามีภาวะลำไส้อักเสบเรื้อรังจำเป็นต้องวินิจฉัยแยกโรค EPI ออกก่อน (แผนภาพ 1) เพราะ EPI เป็นสาเหตุที่ไม่ได้มาจากทางเดินอาหารโดยตรงทซึ่งพบบ่อยว่าทำให้เกิดอาการถ่ายเหลวจากลำไส้เล็ก 6
แผนภาพ 1 แสดงแนวทางการตรวจวินิจฉัยสุนัขที่มีปัญหาถ่ายเหลวจากลำไส้เล็กเรื้อรัง
การตรวจวินิจฉัย EPI เป็นการดูความสามารถในการทำงานโดยวัดจากการลดลงของปริมาณสารที่หลั่งออกมาจากตับอ่อน แต่การหาสาเหตุของ EPI จำเป็นต้องเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อตับอ่อนมาตรวจเพิ่มเติม
การตรวจทางห้องปฏิบัติการที่เหมาะสมคือการตรวจหาระดับ trypsin-like reactivity (TLI) ตับอ่อนจะหลั่ง trypsinogen เข้าไปในลำไส้เล็กจากนั้นจะถูกเปลี่ยนเป็น trypsin ซึ่งเป็นเอนไซม์ย่อยโปรตีนที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถตรวจพบ trypsin ในตับอ่อนได้บ้าง trypsinogen บางส่วนจะเข้าสู่กระแสเลือดในระดับที่สามารถตรวจพบได้ แต่ trypsin จะสามารถพบได้ในซีรั่มเมื่อเกิดภาวะตับอ่อนอักเสบเท่านั้น trypsinogen และ trypsin จะถูกสลายที่ไตและระบบ mononuclear phagocytic system การตรวจ TLI เป็นวีธี immunoassay ที่ตรวจวัด trypsin trypsinogen และ trypsin ที่จับกับ protease inhibitor 7
การตรวจ TLI มีความจำเพาะเจาะต่อการทำงานของตับอ่อนรวมถึงจำเพาะกับสายพันธุ์สัตว์จึงต้องเลือกวิธี canine TLI (cTLI) เพื่อการตรวจในสุนัขเท่านั้น ระดับ TLI สามารถสูงขึ้นได้หลังกินอาหาร (postprandial period)จึงต้องอดอาหารก่อนเก็บตัวอย่างเลือดอย่างน้อย 12 ชั่วโมง ผู้ทำการวิจัยบางคนแนะนำให้หยุดการให้เอนไซม์ตับอ่อนอย่างน้อย 1 สัปดาห์ก่อนทำการตรวจเพราะอาจส่งผลต่อค่า TLI แต่ในงานวิจัยหลายฉบับพบว่าการให้เอนไซม์ตับอ่อนไม่ส่งผลต่อระดับของ TLI ทั้งในสุนัขปกติ 8 และสุนัขที่เป็น EPI 9 ดังนั้นไม่มีความจำเป็นต้องงดให้เอนไซม์ตับอ่อนก่อนที่จำทำการตรวจ
แผนภาพ 2 การแปลผล cTLI ที่ตรวจได้ แบ่งออกเป็นสูง(> 50 μg/L) ปกติ(5.7-50 μg/L) ขอบล่าง(2.5-5.7 μg/L) และต่ำ(< 2.5 μg/L)
โดยทั่วไป (แผนภาพ 2) หากพบว่าค่า cTLI น้อยกว่า 2.5 μg/L จะเป็นการยืนยันว่าสุนัขมีภาวะ EPI หากค่าที่ได้อยู่ในระดับที่คลุมเครือ (ระหว่าง 2.5-5.7 μg/L) ให้ทำการตรวจซ้ำในอีก 1 เดือนถัดมาเพราะสุนัขบางตัวอาจมีระดับ cTLI ไม่ต่ำจนเกิด EPI ในบางกรณีโดยเฉพาะสุนัขสายพันธุ์ที่มีโอกาสเกิด PAA สูง อาจอยู่ในระยะ subclinical ที่ตับอ่อนยังสามารถหลั่งเอนไซม์ได้และยังไม่เข้าสู่ระยะแสดงอาการที่เซลล์ตับอ่อนฝ่อไปเกือบหมด 1
TLI อาจเพิ่มขึ้นได้ในกรณีของตับอ่อนอักเสบแต่มีความแม่นยำต่ำเพราะระดับที่สูงจะเกิดขึ้นภายใน 24-36 ชั่วโมงแรกของโรคเท่านั้นจึงควรตรวจยืนยันโรคตับอ่อนอักเสบด้วยวิธีอื่น กรณีอื่นที่อาจพบค่า TLI สูงขึ้นได้แก่โรคทางเดินอาหารบางชนิดซึ่งมีรายงานว่าพบเหตุการณ์นี้ในคนและแมว 10 11 12 ผู้ทำการศึกษาบางคนกล่าวว่าลำไส้สามารถสังเคราะห์ trypsin ได้ปริมาณเล็กน้อย (10) ในคนสามารถพบ trypsin ได้ที่ลำไส้เล็ก เยื่อบุท่อน้ำดี รวมถึงเนื้องอกของรังไข่หรือระบบตับและท่อน้ำดีบางชนิด 7
ค่า TLI ที่อยู่ในระดับปกติสามารถตัดข้อสงสัย EPI ได้โดยโอกาสที่สุนัขจะมีภาวะ EPI แต่มีค่า TLI อยู่ในระดับปกติมีน้อยมากเช่นในกรณีที่มีการอุดตันของท่อตับอ่อน 13 oหรือมีภาวะพร่อง pancreatic lipase เพียงอย่างเดียว 14
การแปลผล TLI ในสุนัขที่ป่วยด้วยโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรังจะมีความซับซ้อนมากกว่าปกติ หากสุนัขอยู่ในระยะตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันซึ่งแสดงอาการของระบบทางเดินอาหาร เบื่ออาหาร ปวดเกร็งช่องท้อง ต้องจัดการให้สัตว์ป่วยมีอาการดีขึ้นก่อนจากนั้นอีก 1สัปดาห์จึงตรวจหาค่า TLI เพื่อใช้ในการวินิจฉัย EPI ส่วนในสุนัขที่ป่วยด้วยโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรังร่วมกับน้ำหนักลดซึ่งไม่มีคำอธิบายการเกิดโรคอื่นได้และตรวจพบค่า TLI เกือบสูง (> 50 μg/L) หลายครั้งแนะนำให้รักษาโดยการให้เอนไซม์ตับอ่อน
การตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นไม่ค่อยมีประโยชน์ในการวินิจฉัย EPI ค่า PLI จะลดลงในสุนัขที่มีภาวะ EPI เกือบทุกตัวแต่จะมีช่วงคาบเกี่ยวของค่าที่อยู่ระหว่างสุนัขป่วยและสุนัขปกติ การใช้ canine pancreatic lipase test (cPLI) อาจช่วยแยกกรณีภาวะพร่อง pancreatic lipase เพียงอย่างเดียวได้ 14 ไม่แนะนำให้ตรวจหา proteolytic activity ในอุจจาระเพราะมีความไวและความจำเพาะต่ำ ในคนใช้การตรวจหา pancreatic elastase เพื่อประเมินการทำงานส่วนต่อมมีท่อของตับอ่อนอย่างกว้างขวางแต่ในสุนัขขาดความเจาะจงโดยค่าที่สูงสามารถตัดข้อสงสัย EPI ออกแต่หากได้ค่าที่ต่ำไม่สามารถบอกได้ 1 13
สุนัขที่มีภาวะ EPI ทุกตัวควรตรวจหาระดับของ cobalamin ในเลือดเพราะมักมีปริมาณลดลง ทั้งยังเป็นปัจจัยสำคัญในการพยากรณ์โรค 15 และส่งผลต่อการรักษาโดยสุนัขที่มีระดับ cobalamin ต่ำจำเป็นต้องได้รับการเสริม
การรักษา EPI โดยหลักคือการให้เอนไซม์ตับอ่อน การเปลี่ยนอาหาร และการเสริมวิตามิน B12 หรือ cyanocobalamin
อาจเสริมในรูปแบบของผงแป้ง ผงแกรนูล แคปซูล หรือเม็ดเคลือบ(ป้องกันการถูกทำลายจากน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร) สัตวแพทย์บางคนอาจแนะนำให้ป้อนตับอ่อนดิบแต่มีความเสี่ยงต่อโรคติดเชื้อได้ มีรายงานว่าเอนไซม์ที่อยู่ในรูปแบบที่ไม่เคลือบจะมีประสิทธิภาพดีกว่าแต่ปัจจุบันมีการศึกษาที่สนับสนุนประสิทธิภาพของเม็ดแบบเคลือบว่าออกฤทธิ์ได้ดีเช่นกัน 9 16 ควรให้เอนไซม์พร้อมกับอาหารหรือหากใช้ในรูปแบบผงควรคลุกกับอาหารก่อนให้สุนัขกิน การคลุกเอนไซม์กับอาหารทิ้งไว้ก่อนให้สุนัขกินไม่ทำให้ประสิทธิภาพของเอนไซม์ดีขึ้น 13 ขนาดที่ให้ควรปรับตามอาการของสุนัข ความสามารถในการย่อยอาหารอาจไม่กลับมาเป็นปกติได้เต็มที่ถึงแม้ว่าจะทำการเสริมอาหารอย่างเหมาะสม 1 ผลข้างเคียงของเอนไซม์ตับอ่อนมีน้อยมากแต่มีรายงานการพบอาการเลือดออกในปากสุนัขหากให้ในขนาดที่สูงสามารถแก้ไขได้โดยลดขนาดเอนไซม์ลง 1
การดูดซึมไขมันไม่อาจกลับมาสมบูรณ์เป็นปกติถึงแม้จะมีการเสริมเอนไซม์จากตับอ่อน อาหารไขมันต่ำที่นิยมให้ในสุนัขที่เป็น EPI อาจเกิดผลเสียได้ในสุนัขที่ผอมมากเพราะพลังงานที่ได้จะต่ำเกินไปทำให้สุนัขไม่สามารถมีน้ำหนักที่เหมาะสม ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีใยอาหารสูงเพราะส่งผลต่อการทำงานของเอนไซม์ตับอ่อนและอาจลดการนำสารอาหารอื่นไปใช้ 17 โดยปกติแล้วแนะนำให้ใช้อาหารที่มีความย่อยง่าย ปริมาณไขมันปานกลางและมีใยอาหารปริมาณต่ำ สุนัขบางตัวตอบสนองดีต่ออาหารควบคุมน้ำหนัก อย่างไรก็ตามการศึกษายังไม่สามารถบอกประโยชน์ที่ชัดเจนของอาหารแต่ละชนิดและสุนัขแต่ละตัวจะตอบสนองต่ออาหารแต่ละชนิดต่างกันไป ในทางปฏิบัติจำเป็นต้องทดลองให้อาหารเพื่อหาชนิดที่เหมาะสมกับสุนัขแต่ละตัว 17 18
ภาวะ hypocobalaminemia พบได้บ่อยในสุนัขที่เป็น EPI และสามารถเกิดขึ้นได้ในสุนัขที่ได้รับการเสริมเอนไซม์ตับอ่อนอยู่แล้ว การเฝ้าติดตามระดับ cobalamin จึงมีความสำคัญ มีการศึกษาพบว่าภาวะ hypocobalaminemia ส่งผลลบต่อการพยากรณ์โรคของ EPI โดยผลกระทบหลักอยู่ที่ความอยู่รอดในระยะยาวของสุนัข 5 15 สุนัขป่วยทุกตัวที่ตรวจพบระดับ cobalamin ต่ำควรได้รับการเสริมโดยในสมัยก่อนนิยมฉีดเข้าใต้ผิวหนังแต่ปัจจุบันมีการศึกษาที่บ่งชี้ว่าการกินอาจได้ผลดีกว่า 19
การฉีดยาใต้ผิวหนัง: 50 μg/kg (หรือขนาดโดสตามตาราง) ทุกๆ สัปดาห์ต่อเนื่อง 6 สัปดาห์ และฉีดทุกๆ 2-4 สัปดาห์หลังจากนั้น |
|||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
น้ำหน้ก | < 5 kg | 5-10 kg | 10-20 kg | 20-30 kg | 30-40 kg | 40-50 kg | > 50 kg |
ขนาดโดส (μg) | 250 | 400 | 600 |
800 |
1000 |
1200 |
1500 |
การให้ยาผ่านการกิน: 50 μg/kg (หรือขนาดโดสตามตาราง) ทุกวันต่อเนื่องอย่างน้อย 12 สัปดาห์แล้วจึงปรับขนาดตามความจำเป็น |
|||
---|---|---|---|
น้ำหนัก | 1-10 kg | 10-20 kg | > 20 kg |
ขนาดโดส |
¼ x 1 mg tablet | ½ x 1 mg tablet | 1 x 1 mg tablet |
ปัจจุบันไม่มีหลักฐานว่าการให้ยาปฏิชีวนะช่วยให้สุนัขที่มีภาวะ EPI มีอาการดีขึ้นได้ อาจพบว่ามีภาวะแบคทีเรียเจริญมากกว่าปกติหรือมีความไม่สมดุลของแบคทีเรียในลำไส้ (dysbiosis) ซึ่งอยู่ในระยะ subclinical อย่างไรก็ตามหากพบว่ามีการตอบสนองที่ไม่ดีต่อการเสริมเอนไซม์ตับอ่อนและการปรับอาหารอาจให้ยาปฏิชีวนะเช่น ampicillin metronidazole และ tylosin 17
จากข้างต้นที่พบว่าสุนัขที่มีภาวะ EPI บางตัวอาจมี dysbiosis ร่วมด้วยอาจพิจารณาให้ probiotics ซึ่งมีการศึกษาพบว่า probiotics อาจช่วยลดการอักเสบของลำไส้ ปรับสมดุลแบคทีเรียในทางเดินอาหารรวมถึงลดการใช้ยาปฎิชีวนะได้ด้วย 20 ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมถึงประสิทธิภาพและข้อบ่งชี้ในการใช้ prebiotics กับสุนัขที่มีภาวะ EPI ต่อไป สาเหตุที่สุนัขมีการตอบสนองต่อการเสริมเอนไซม์ตับอ่อนและการเปลี่ยนอาหารได้ไม่ดีอาจเพราะมีโรคอื่นเกิดร่วมด้วยจึงควรกลับไปวินิจฉัยเพิ่มเติมโดยใช้ขั้นตอนจากในแผนภาพที่ 1ในทางทฤษฎีสามารถให้ยาลดกรดเพื่อลดการทำลายเอนไซม์ตับอ่อนในกระเพาะอาหารแต่ไม่มีการศึกษษถึงประสิทธิภาพและทางแก้ที่ดีคือเพิ่มขนาดของเอนไซม์ตับอ่อนจะเหมาะสมกว่า พบว่ายาลดกรดสามารถลดการทำลายเอนไซม์ lipase ได้แต่ไม่ได้นำไปสู่ผลประโยชน์ในการรักษา 17
ยากลุ่ม glucocorticoids อาจให้ผลดีในสุนัขที่มีโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังเช่น IBD หรือกรณีของตับอ่อนอักเสบเรื้อรังในสุนัขพันธุ์ English cocker spaniel ที่มีหลักฐานว่าเกิดจากภูมิคุ้มกันตนเองร่วมด้วย 21
ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าการวินิจฉัยเพิ่มเติมจะแยกแยะโรคที่เกิดขึ้นร่วมกันได้ซึ่งอาจต้องใช้วิธีรักษาที่แตกต่างออกไปและการใช้ glucocorticoids อาจจำเป็นในบางกรณี ประสิทธิภาพและประโยชน์ของการให้ยากดภูมิคุ้มกันเช่น azathioprine ในระยะ subclinical ของ EPI ยังไม่ได้รับการพิสูจน์และไม่แนะนำให้ปฏิบัติการศึกษาระบุว่าร้อยละ 60 ของสัตว์ป่วยด้วย EPI มีการตอบสนองที่ดีต่อการรักษา ร้อยละ 17 มีการตอบสนองบ้าง และร้อยละ 23 มีการตอบสนองที่ไม่ดีซึ่งนำไปสู่การทำการุณยฆาตในสัตว์บางตัว โดยทั่วไปแล้วการตอบสนองในการรักษาช่วงต้นที่ดีจะนำไปสู่ความอยู่รอดในระยะยาว 5
สัตว์ที่มีโรคอื่นซ่อนอยู่เช่นตับอ่อนอักเสบเรื้อรังจำเป็นต้องเฝ้าระวังโรคเบาหวานที่จะเกิดตามมา การตรวจพบภาวะ hypocobalaminemia โดยไม่พบ folate ในระดับสูงถือเป็นการพยากรณ์โรคที่ไม่ดี 15การฝ่อของเซลล์ตับอ่อนเป็นกระบวนการที่ย้อนกลับไม่ได้และจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาตลอดชีวิต การสื่อสารกับเจ้าของสัตว์เกี่ยวกับงบที่จะต้องใช้ในการรักษาและการดูแลสัตว์เป็นสิ่งสำคัญมาก การพยากรณ์โรคโดยทั่วไปจัดว่าดีโดยอย่างน้อยสัตว์ป่วยจะมีอาการทางคลินิกที่ดีขึ้นบ้าง
EPI เป็นโรคที่ทำให้สุขภาพทรุดโทรมซึ่งเกิดจากการฝ่อหรือทำลายของเซลล์ตับอ่อน สัตวแพทย์จะต้องวินิจฉัยตัดข้อสงสัย EPI ในสัตว์ป่วยทุกตัวที่แสดงอาการลำไส้อักเสบเรื้อรังและแสดงอาการทางคลินิกที่เข้าข่าย (น้ำหนักลด กินอาหารมาก ถ่ายเหลว) รวมถึงในสุนัขที่มีภาวะตับอ่อนอักเสบเรื้อรังและสุนัขที่มีน้ำหนักลดลงแบบหาสาเหตุไม่ได้ การเสริมเอนไซม์ตับอ่อน เปลี่ยนอาหารให้เหมาะสม และการเสริม cobalamin คือหัวใจสำคัญในการจัดการโรคนี้
Biourge VC, Fontaine J. Pancreatic insufficiency and adverse reaction to food in dogs: a positive response to a high-fat, soy isolate hydrolysate-based diet. J Nutr 2004;134;2166S-2168S.
Coddou MF, Constantino-Casas F, Blacklaws B, et al. Identification of IgG4-related disease in the English Cocker Spaniel and dogs of other breeds. J Vet Intern Med 2018; 32(1);538.
María-Dolores Tabar Rodríguez
Dr. Tabar Rodríguez qualified from the University of Zaragoza in 2001 and undertook a small animal internship and a European Residency in Internal Medicine อ่านเพิ่มเติม
โรคเบาหวานเป็นโรคที่ส่งผลต่อระบบเมตาบอลิซึมของร่างกายสัตว์อย่างมาก การ...
โรคเบาหวานเป็นโรคที่ส่งผลต่อระบบเมตาบอลิซึมของร่างกายสัตว์อย่างมาก การ...
โรคตับอักเสบเรื้อรังเป็นโรคที่พบได้บ่อยในสุนัขและอาจะถูกมองข้าม..
ภาวะดีซ่านในแมวไม่ได้เป็นเพียงแค่...