การให้อาหารแมวป่วยที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลสัตว์
คำถามที่ว่าเราควรให้อาหารแมวป่วยเมื่อใดนั้น โดยปกติแล้วควรให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
หมายเลขหัวข้อ 26.2 การตลาดและการขาย
เผยแพร่แล้ว 20/11/2021
สามารถอ่านได้ใน Français , Deutsch , Italiano , Español และ English
นับตั้งแต่เมื่อ 50 ปีก่อนที่ได้มีการตีพิมพ์ข้อมูลเกี่ยวกับโรคในแมวทั้งหมดซึ่งมีความยาวเพียง 10 หน้ากระดาษลงในวารสาร Canadian Veterinary Journal ปัจจุบันอายุรศาสตร์แมวได้มีการพัฒนาและได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น ในช่วงปี 1970 มีการตั้งสถานพยาบาลสำหรับแมวโดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรก ปัจจุบันสัตวแพทย์สามารถศึกษาต่อเฉพาะทางด้านแมวไม่ว่าจะเป็นด้านอายุรศาสตร์หรือศัลยศาสตร์ในหลากหลายประเทศ ทั้งยังมีบทความและตำรามากมายที่เขียนขึ้นสำหรับโรคในแมวโดยเฉพาะ (แปลโดน น.สพ. พีระ มานิตยกุล)
เจ้าของแมวพาแมวมาหาสัตวแพทย์น้อยกว่าเจ้าของสุนัขพาสุนัขมาหาสัตวแพทย์ถึงแม้จะมีความก้าวหน้าในด้านการวินิจฉัยและรักษาแมวช่วง 50 ปีที่ผ่านมา
นโยบายและขั้นตอนการดำเนินงานของสถานพยาบาลสัตว์ควรคำนึงแมวที่จะเข้ารับบริการเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ทั้งตัวแมว เจ้าของแมว และสัตวแพทย์โดยเริ่มจากทำความเข้าใจในธรรมชาติเฉพาะตัวของแมว
มีปัจจัยเล็กน้อยมากมายที่สร้างความแตกต่างระหว่างสถานพยาบาลสัตว์ที่ดูอบอุ่นและทำให้แมวรู้สึกดีกับสถานพยาบาลสัตว์ที่ทำให้ทั้งเจ้าของแมวและแมวรู้สึกแย่
การจัดการกับแมวด้วยความเข้าใจเป็นองค์ประกอบสำคัญในความสำเร็จของการรักษาแมวซึ่งมีหลากหลายวิธี
นับตั้งแต่เมื่อ 50 ปีก่อนที่ได้มีการตีพิมพ์ข้อมูลเกี่ยวกับโรคในแมวทั้งหมดซึ่งมีความยาวเพียง 10 หน้ากระดาษลงในวารสาร Canadian Veterinary Journal 1 ตอนนี้อายุรศาสตร์แมวได้มีการพัฒนาและได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น ในปี 1970 มีการตั้งสถานพยาบาลสำหรับแมวโดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรก ปัจจุบันสัตวแพทย์สามารถศึกษาต่อเฉพาะทางด้านแมวไม่ว่าจะเป็นด้านอายุรศาสตร์หรือศัลยศาสตร์ในหลากหลายประเทศ ทั้งยังมีบทความและตำรามากมายที่เขียนขึ้นสำหรับโรคในแมวโดยเฉพาะ ถึงแม้จะมีความก้าวหน้เกี่ยวกับโรคของแมวและการรักษาแต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสถานพยาบาลกลับตรงข้ามกัน ปัจจุบันแมวได้รับความนิยมมากกว่าสุนัขในฐานะสัตว์เลี้ยงในหลายประเทศแต่สถานพยาบาลสัตว์โดยมากมักออกแบบมาโดยคำนึงถึงสุนัขป่วยมากกว่า มีการตีพิมพ์ตัวเลขทางสถิติเกี่ยวกับการดูแลรักษาแมวในสถานพยาบาลสัตว์ที่น่าตกใจ จากรายงานฉบับหนึ่งกล่าวว่าในปี 2011 มีการพาแมวไปรักษาที่สถานพยาบาลลดลงร้อยละ 4.4 เทียบกับปี 2006 ในขณะที่มีสุนัขเข้ารับการรักษามากขึ้นมากกว่าร้อยละ 9 ในช่วงเวลาเดียวกัน 2 มีการประมาณว่าประชากรแมวที่เป็นสัตว์เลี้ยงประมาณ 74 ล้านตัว มีน้อยกว่าครึ่งหนึ่งเข้ารับการรักษาทั่วไปในสถานพยาบาลสัตว์ ในประเทศแคนาดาพบว่าเจ้าของแมวเพียงร้อยละ 46 พาแมวไปพบสัตวแพทย์ในปีที่ผ่านมาเทียบกับเจ้าของสุนัขร้อยละ 77 ที่พาสุนัขไปยังสถานพยาบาลสัตว์เพื่อพบสัตวแพทย์ 3 ค่าสถิติที่กล่าวมาดูน่ากังวลแต่ก็เป็นโอกาสในการพัฒนาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแมวรวมถึงปรับปรุงสถานพยาบาลให้เหมาะกับแมวเช่นกัน
สาเหตุที่แมวมายังสถานพยาบาลสัตว์น้อยลงมีหลายประการและซับซ้อน 4 ตัวอย่างเช่น
• ความยากในการพาแมวไปยังสถานพยาบาล
• เจ้าของแมวมีความตระหนักถึงความสำคัญในการพาแมวไปพบสัตวแพทย์น้อย
• เจ้าของแมวไม่รับรู้ถึงสัญญาณที่แมวแสดงออกว่าเจ็บป่วย
• ความเข้าใจที่ผิดว่าแมวสามารถดูแลตัวเองได้ดี
• ความเชื่อว่าแมวที่อาศัยอยู่แต่ในบ้านจะไม่เกิดการเจ็บป่วย
• ไม่ได้ให้ความสำคัญกับแมวเท่าที่ควรเพราะส่วนมากมักได้รับมาเลี้ยงโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
• เจ้าของแมวรู้สึกไม่สบายใจเพราะเคยมีประสบการณ์ที่ไม่ดีในการพาแมวมายังสถานพยาบาลสัตว์
สัตวแพทย์ที่ดูแลรักษาแมวจะได้ประโยชน์จากการทำความเข้าใจในพฤติกรรม สรีรวิทยา และธรรมชาติของแมวที่มีต่อความเครียด แมวเป็นสัตว์ที่อยู่ติดบ้านและไม่ชอบไปไหนโดยการบังคับ การถูกบังคับให้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่แปลกไปจะทำให้แมวเกิดความเครียดและความกระวนกระวาย แมวจะตอบโต้ความรู้สึกนี้โดยการพยายามหนีหรือหลบซ่อนตัวซึ่งทำได้ยากเมื่อมายังสถานพยาบาล การทำให้ประสบการณ์การมาสถานพยาบาลเป็นที่น่าพึงพอใจสำหรับแมวและเจ้าของจึงมีความสำคัญมาก เราสามารถเริ่มสร้างประสบการณ์ที่ดีได้ตั้งแต่ยังเป็นลูกแมวเพราะที่โอกาสที่จะเกิดประสบการณ์ที่ไม่ดีจะต่ำกว่าในกลุ่มแมวที่อายุมาก เจ้าของแมวบางคนที่เคยได้รับประสบการณ์ที่ไม่ดีจากการพาแมวไปยังสถานพยาบาลจะมีความรู้สึกว่าการไม่ให้แมวเจอกับเรื่องแย่ๆดีกว่าการที่แมวเจ็บป่วย การปรับปรุงสถานพยาบาลที่จะทำให้แมวรู้สึกดีรวมไปถึงการจัดการแมวด้วยความเข้าอกเข้าใจจะช่วยให้การทำงานของสัตวแพทย์ง่ายขึ้น นอกจากนี้การมุ่งเน้นดูแลสุขภาพแมวตามแต่ละช่วงอายุจะช่วยให้ระบุปัญหาสุขภาพได้ง่ายรวมถึงจัดการได้ทันท่วงทีเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับแมวทั้งยังเพิ่มความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสัตว์
การปรับนโยบายรวมถึงขั้นตอนการดำเนินงานของสถานพยาบาลโดยคำนึงถึงแมวจะเป็นประโยชน์กับทั้งแมวป่วยและสถานพยาบาลเอง เริ่มต้นจากการให้ความรู้แก่เจ้าของแมวในการใช้กรงสำหรับเดินทาง(carrier)และการเดินทางมายังสถานพยาบาล เจ้าของแมวร้อยละ 58 ยอมรับว่าแค่นึกถึงการพาแมวมายังสถานพยาบาลสัตว์ก็ทำให้เกิดความเครียด ซึ่งพบเพียงร้อยละ 38 ของเจ้าของสุนัข ในขณะที่เจ้าของแมวอีกร้อยละ 38 กล่าวว่าแมวไม่ชอบไปโรงพยาบาลสัตว์ (เจ้าของสุนัขร้อยละ 26 กล่าวเช่นเดียวกัน) 5
การลดความเครียดที่เกิดจากการมาสถานพยาบาลสัตว์เริ่มต้นตั้งแต่ที่บ้าน แมวควรถูกฝึกให้ชินกับการใช้กรงสำหรับเดินทางตั้งแต่อายุน้อย แมวควรอยู่ในกรงขณะเดินทางไปสถานพยาบาลเพราะการปล่อยให้แมวเดินอย่างอิสระในยานพาหนะอาจเกิดอันตรายได้ ไม่ควรใส่แมวมากกว่า 1ตัวในแต่ละกรงเพราะแมวอาจเบี่ยงเบนพฤติกรรมหวาดกลัวไปเป็นความดุร้ายใส่แมวอีกตัวได้ กรงสำหรับเดินทางที่แข็งแรง มีช่องเปิดทั้งด้านหน้าและด้านบนที่กว้างหรือมีด้านบนที่สามารถถอดออกได้ง่ายจะใช้งานได้ดีกว่า (รูป1)
กรงสำหรับเดินทางควรทำให้แมวรู้สึกปลอดภัย หากผนังกรงมีความโปร่งควรหาผ้าห่มหรือผ้าเช็ดตัวมาคลุมเพื่อสร้างความรู้สึกส่วนตัวให้กับแมว ฟีโรโมนจากต่อมบนใบหน้าแมวอาจใช้พ่นบนผ้าแล้วใส่ไว้ในกรง 15 นาทีก่อนจะนำแมวเข้ากรงเพื่อให้แอลกอฮอล์ระเหยออกหมดก่อน วิธีอื่นๆที่ช่วยให้แมวเกิดความคุ้นเคยกับกรงเช่นวางกรงทิ้งไว้ในบ้านเพื่อให้แมวทำความคุ้นเคย ให้แมวกินอาหารใกล้กับกรงหรือในกรง ใส่ของเล่นหรือกัญชาแมวไว้ในกรง ฝึกให้แมวเข้ากรงโดยมีขนมเป็นรางวัล และพาแมวออกไปท่องเที่ยวระยะสั้นโดยใส่ในกรงซึ่งไม่ใช่การเดินทางไปยังสถานพยาบาล ควรพาแมวไปยังสถานพยาบาลตอนท้องว่างเพื่อป้องกันการเมารถและทำให้แมวสนใจในขนมที่เป็นรางวัลมากขึ้น หากแมวเมารถมากอาจต้องใช้ยา เช่น maropitant
เจ้าของแมวควรรู้สึกได้รับการต้อนรับเมื่อมาถึงสถานพยาบาลโดยการติดตั้งป้ายหรือโปสเตอร์ที่แสดงให้เห็นว่าบุคลากรมีความใส่ใจในแมวเช่นรูปของบุคลากรกับแมวที่เข้ารับการรักษา ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับแมว และข้อมูลสำคัญในการเลี้ยงแมว สัตวแพทย์ที่เข้าหาแมวและเจ้าของแมวควรมีความรู้ความเข้าใจอย่างดีในเรื่องทั่วไปของแมว พฤติกรรม การจัดการ พันธุ์แมว โรคและการผ่าตัดต่างๆ ที่เกี่ยวกับแมว สถานพยาบาลสามารถจัดสัมมนาให้ความรู้แก่เจ้าของแมวในเรื่องเบาหวาน การป้องกันโรคอ้วนและการรักษา รวมถึงการดูแลแมวเด็ก การจัดสถานที่นั่งรอตรวจสำหรับแมวแยกจากสุนัขทำได้โดยการกั้นคอกแยกบริเวณประชาสัมพันธ์และห้ามสุนัขเข้า มีการจัดโต๊ะหรือชั้นวางสำหรับกรงแมวเพื่อไม่ให้กรงอยู่ติดกับพื้น (รูป 2) หากเป็นไปได้ควรให้เจ้าของแมวและแมวเข้าห้องตรวจให้เร็วที่สุดเพื่อลดความเครียดที่เกิดจากการนั่งรอ บางสถานพยาบาลยังประสบความสำเร็จในการลดความเครียดโดยการตั้งเวลานัดโดยเฉพาะสำหรับแมวเช่น ช่วงบ่ายของ 1 วันในแต่ละสัปดาห์หรือทุกวันเสาร์ 1 ครั้งในแต่ละเดือน
ภายในห้องตรวจควรมีอุปกรณ์สำหรับแมวเตรียมไว้อย่างครบครันโดยไม่จำเป็นต้องออกจากห้องเพื่อไปหยิบจับอุปกรณ์ (รูป 3) ควรทำความสะอาดอุปกรณ์ทุกครั้งระหว่างเคส (stethoscope และ thermometer) ไม่ใช่เพียงเพื่อลดการติดเชื้อระหว่างแมวป่วยแต่ยังเป็นการลดกลิ่นของแมวที่ค้างอยู่ด้วย หากทำได้ควรกำหนดห้องตรวจห้องหนึ่งไว้สำหรับแมวโดยเฉพาะ เมื่อเจ้าของแมวและแมวเข้ามาในห้องตรวจแล้ว สัตวแพทย์ควรใช้เวลาในการซักประวัติจากเจ้าของแมวและปล่อยให้แมวทำความคุ้นเคยกับห้องตรวจโดยปล่อยออกมาจากกรงหากทำได้ ห้องตรวจควรมีสภาพแวดล้อมที่เงียบสงบเพราะแมวจะมีความไวต่อภาพ (แมวตัวอื่น สัตว์ชนิดอื่น) เสียง (เสียงพูดคุย เสียงสัตว์ เสียงอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ) และกลิ่น (น้ำหอม สารฆ่าเชื้อ แอลกอฮอล์) สถานพยาบาลจึงต้องใส่ใจในรายละเอียดเหล่านี้มาก
การตรวจร่างกายแมวไม่จำเป็นต้องทำบนโต๊ะเหล็กเสมอไป แมวหลายตัวรู้สึกสบายใจกว่าที่จะถูกตรวจในกรงโดยเปิดฝาด้านบนออก บนตัก บนพื้น บนชั้น บนขอบหน้าต่าง หรือแม้แต่บนเครื่องชั่งหลังชั่งน้ำหนักเสร็จแล้ว โต๊ะตรวจสามารถปูทับด้วยวัสดุที่สามารถล้างทำความสะอาดได้เช่นพรมยางรองอาบน้ำ โต๊ะตรวจที่ดัดแปลงมาจากเฟอร์นิเจอร์เช่นโต๊ะไม้ขนาดเล็ก โต๊ะที่สั่งทำเป็นรูปร่างต่างๆ จะเหมาะสมในการใช้ตรวจแมวมากกว่าโต๊ะเหล็กและควรให้แมวอยู่บนผ้าปูหรือสิ่งรองนอนที่มาในกรงแมว ควรติดตั้งเครื่องพ่นฟีโรโมนจากต่อมบนใบหน้าแมวบริเวณนั่งรอตรวจ ห้องตรวจ และบริเวณอื่นที่แมวจะเข้าถึง ในด้านความปลอดภัยควรมีมาตรการที่ทำให้แน่ใจว่าแมวที่หลุดจะไม่สามารถออกไปนอกสถานพยาบาลหรือเข้าไปติดในบริเวณที่มนุษย์เข้าไม่ถึง
ขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ไม่ซับซ้อนเช่นการตัดเล็บ วัดความดันโลหิต เก็บตัวอย่างเลือดและปัสสาวะควรทำในห้องตรวจโดยไม่เคลื่อนย้ายแมว บุคลากรที่จำเป็นควรเป็นฝ่ายมาหาแมวเพื่อที่แมวจะได้ไม่ต้องปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ๆ หากเจ้าของแมวไม่สบายใจที่จะเห็นภาพการทำหัตถการบางอย่างสามารถนั่งรอภายนอกได้จนกว่าจะเสร็จ
Susan Little
การจัดการกับแมวด้วยความเข้าอกเข้าใจและเคารพในตัวตนของแมวคือองค์ประกอบหลักของการตรวจรักษาแมว 6 เจ้าของมีแนวโน้มจะกลับมาใช้บริการที่สถานพยาบาลสูงขึ้นหากรู้สึกว่าสัตวแพทย์และทีมงานมีทักษะและความระมัดระวังในการจับและจัดการกับแมว สิ่งที่เป็นปัญหาต่อทีมงานมากที่สุดคือการขาดทักษะและอุปกรณ์ที่จำเป็นในการทำงานเพราะมีโอกาสก่อให้เกิดการบาดเจ็บรวมไปถึงการแพร่ของโรคสัตว์สู่คน (zoonosis) ทำให้การดูแลรักษาแมวที่ดุเป็นไม่เป็นไปอย่างราบรื่น สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดคือแม้แต่หัตถการพื้นฐานเช่นการตรวจร่างกาย เก็บตัวอย่างเพื่อตรวจทางห้องปฏิบัติการ การถ่ายภาพรังสีวินิจฉัยอาจทำได้ยากหรือทำไม่ได้เลย ความกลัวและความเครียดยังส่งผลกับผลทางห้องปฏิบัติการดังในตารางที่ 1
Stress hyperglycemia |
“White coat” hypertension |
Lymphocytosis and neutrophilia |
Increased urine pH |
Hypokalemia |
การรับมือกับแมวที่หวาดกลัวและพยายามป้องกันตนเองด้วยการใช้ถุงมือหนังและดึงหนังคอแมวเป็นเรื่องที่ล้าสมัยแล้ว กุญแจสำคัญในการรับมือกับพฤติกรรมไม่พึงประสงค์คือเข้าใจในธรรมชาติของแมว พฤติกรรมที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ในสถานพยาบาลถูกกระตุ้นด้วยความเจ็บปวดหรือความกลัว การเผชิญหน้าทางกายภาพเป็นทางออกสุดท้ายของแมวในการแก้ไขปัญหา แมวมักเลือกที่จะหลบหนีหรือซ่อนตัว หากสามารถทำให้แมวสงบได้มากเท่าไหร่จะทำให้ลดการจับบังคับด้วยความรุนแรงได้มากขึ้นทำให้ผลของการเข้าหาแมวเป็นไปด้วยดี แมวที่กระวนกระวายสามารถทำให้สงบเพื่อการตรวจร่างกายได้โดยการใช้ผ้าคลุมบริเวณศีรษะแมวเอาไว้ ลดการมองเห็นคนแปลกหน้าหรือสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปซึ่งก่อให้เกิดความกลัว การเข้าหาแมวควรเป็นไปอย่างสงบและใช้เสียงให้น้อยที่สุด หลีกเลี่ยงการจ้องหน้าแมวโดยตรงเพราะถือเป็นการเผชิญหน้าแบบหนึ่ง การจับบังคับให้น้อยที่สุดเป็นวิธีการจัดการกับแมวที่ถูกต้อง การใช้ผ้าขนหนูห่อตัวแมวไว้เป็นวิธีที่ทำได้แต่ควรเริ่มการจับบังคับโดยวิธีที่จะก่อให้เกิดความเครียดน้อยที่สุดก่อนแล้วค่อยไล่ขึ้นมาหากจำเป็น สนับสนุนให้แมวแสดงพฤติกรรมด้านบวกผ่านของเล่นหรือขนม (รูป 4) โดยได้รับอนุญาตจากเจ้าของแมวก่อน และเมินเฉยต่อพฤติกรรมด้านลบแทนที่จะพยายามแก้ไข
จดบันทึกในประวัติของแมวทุกครั้งว่าวิธีการจัดการและเข้าหาแมววิธีใดใช้การได้ดีที่สุดในแมวแต่ละตัว รวมถึงวิธีการจัดการที่ควรหลีกเลี่ยง แมวที่แสดงอาการหวาดกลัวหรือกระวนกระวายเมื่อมายังสถานพยาบาลควรใช้เวลาอยู่กับแมวให้นานขึ้นในห้องตรวจเพื่อหลีกเลี่ยงการรีบเร่งในการตรวจรักษา หากทำทุกวิถีทางแล้วยังไม่ประสบความสำเร็จควรพิจารณาการวางยาซึมแมวมากกว่าพยายามจับบังคับด้วยวิธีที่รุนแรงขึ้น
ความกังวลที่เกิดขึ้นจากการไปสถานพยาบาลสัตว์ไม่ได้เกิดกับแมวเพียงเท่านั้นแต่เจ้าของแมวที่เข้ามาในห้องตรวจก็สามารถเกิดความกังวลที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของเจ้าของแมวได้เช่นกัน คำแนะนำแก่เจ้าของแมวต่อไปนี้จะช่วยความตึงเครียดภายในห้องตรวจได้
เมื่อการตรวจรักษาเสร็จสิ้นแล้ว ควรให้เจ้าของแมวทำการชำระเงินภายในห้องตรวจหรือให้แมวอยู่ในกรงภายในห้องตรวจในขณะที่เจ้าของแมวออกไปด้านหน้าเพื่อทำการชำระเงิน
มีหลากหลายวิธีที่จะสร้างประสบการณ์ที่ดีในการเข้าพักรักษาที่โรงพยาบาลสำหรับแมวไม่ว่าจะเป็นแมวสุขภาพดีที่เข้ามารับการผ่าตัดทางเลือกหรือแมวป่วยที่เข้ารับการวินิจฉัยและรักษาอย่างต่อเนื่อง (รูป 5) 7 กรงแมวควรอยู่ในห้องพักที่แยกกับสุนัขเมื่อสามารถทำได้ การจัดวางกรงควรอยู่ในตำแหน่งที่แมวไม่สามารถมองเห็นแมวตัวอื่น วัสดุของกรงควรมีคุณสมบัติลดเสียงและกักเก็บความร้อนได้ดี นอกจากนี้ควรมีสิ่งรองนอนหรือผ้าห่มที่นำมาจากบ้านปูภายในกรง อาจใส่กล่องสำหรับหลบซ่อนตัวที่สามารถล้างทำความสะอาดหรือทิ้งได้เช่นลังกระดาษ หากกรงใหญ่พอให้ใส่กรงสำหรับเดินทางของแมวไว้ภายในอีกทีโดยเปิดฝากรงไว้และหันฝากรงสำหรับเดินทางไปยังทิศที่ลับตาเพื่อเพิ่มความเป็นส่วนตัวให้กับแมว พื้นที่ในกรงควรใหญ่พอที่จะจัดวางอาหารและนำให้ห่างจากกระบะทรายเพื่อการขับถ่าย อาจพ่นฟีโรโมนจากใบหน้าของแมวบนผ้าหรือสิ่งรองนอน 15 นาทีก่อนนำแมวเข้าเพื่อเพิ่มความอยากอาหารและปรับพฤติกรรมของแมวให้ปกติ 8
แมวเป็นสัตว์ที่วิวัฒนาการขึ้นในแถบทะเลทรายทำให้ช่วงอุณหภูมิที่เหมาะสมกับแมวจะสูงกว่าช่วงอุณหภูมิที่เหมาะสมกับมนุษย์ จากความรู้นี้เราสามารถเพิ่มสิ่งรองนอนในกรงเพื่อเป็นฉนวนความร้อนและให้แมวลงนอนได้ แมวที่เข้ารับการรักษาแบบค้างที่สถานพยาบาลหลายตัวมีความอยากอาหารที่ลดลง นอกจากการระบุและแก้ไขภาวะคลื่นไส้หรือความเจ็บปวดแล้ว การปรับปรุงสภาพแวดล้อมในกรงเช่นเพิ่มที่หลบซ่อนตัวอาจทำให้แมวกินอาหารมากขึ้นหรืออาจขอให้เจ้าของแมวนำอาหารที่แมวกินเป็นประจำมาจากบ้านเพื่อที่จะลดปัญหาจากการเปลี่ยนอาหาร
ในปัจจุบันมีทรัพยากรและแหล่งข้อมูลมากมายที่จะช่วยให้สัตวแพทย์เน้นการทำงานกับแมวในสถานพยาบาลมากขึ้น มีโปรแกรมจาก International Cat Care(www.icatcare.org) และ the American Association of Feline Practitioners (www.catvets.com) ที่สามารถเข้าถึงได้ในหลายประเทศจะช่วยเพิ่มจำนวนแมวที่เข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาลทั้งยังยกระดับการให้บริการทางการแพทย์แก่แมวอีกด้วย สถานพยาบาลที่เข้าร่วมโปรแกรมดังกล่าวมีโอกาสที่จะได้รับสมญาว่าเป็น “Cat Friendly Practice” หรือ “Cat Friendly Clinic” ซึ่งหมายถึงสถานพยาบาลที่ทำให้แมวรู้สึกดี โปรแกรมนี้จะสนับสนุนด้านการอบรมบุคลากร การศึกษาต่อเนื่องทางสัตวแพทย์ และการประชาสัมพันธ์ผ่าน social media เช่น facebook pinterest และ twitter ซึ่งเจ้าของแมวมีโอกาสเข้ามาดู เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สถานพยาบาลสามารถแสดงให้เห็นถึงความรู้ความสามารถในการตรวจรักษาแมวและความทุ่มเทในการพัฒนาเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีแก่แมวและเจ้าของแมว
จุดสูงสุดที่มีในปัจจุบันคือการตั้งสถานพยาบาลเพื่อแมวโดยเฉพาะ ในทวีปอเมริกาเหนือมีสถานพยาบาลดังกล่าวเกิดขึ้นหลายร้อยแห่ง แนวคิดเดียวกันเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นในทวีปยุโรปและเอเชีย ข้อดีของสถานพยาบาลที่รักษาสัตว์เพียงชนิดเดียวได้แก่การมีบุคลากรที่มีความสนใจด้านแมวอย่างแท้จริงและมีความชำนาญในการจัดการกับแมว แมวมีขนาดเล็กกว่าสุนัขเกือบทุกสายพันธุ์ทำให้สถานพยาบาลสำหรับแมวไม่จำเป็นต้องมีขนาดใหญ่เหมือนสถานพยาบาลสัตว์ทั่วไปซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญในด้านทำเลที่ตั้งที่มีราคาสูง อุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ต้องการความหลากหลายน้อยกว่า รวมถึงการจัดซื้อและเก็บรักษาเวชภัณฑ์อื่นๆ ในขณะเดียวกันสามารถรักษาเฉพาะทางเกี่ยวกับแมวได้ลงลึกมากขึ้นเพราะต้นทุนมุ่งเน้นไปที่การตรวจรักษาสัตว์เพียงชนิดเดียว
อีกทางเลือกหนึ่งที่เป็นจุดสูงสุดในการดูแลด้านสัตวแพทย์เกี่ยวกับแมวคือการรักษาตามบ้าน สัตวแพทย์พร้อมด้วยพยาบาลและ/หรือบุคลากรที่จำเป็น สามารถให้บริการเวชศาสตร์เชิงป้องกันเกือบทั้งหมดได้ที่บ้าน การตรวจรักษาบางอย่าง การเก็บตัวอย่างเลือดและปัสสาวะสามารถทำได้ รวมไปถึงการทำการุณยฆาตซึ่งเป็นเรื่องที่เจ้าของแมวให้ความสำคัญอย่างมากหากสามารถกระทำได้ที่บ้าน ผลดีต่อแมวและเจ้าของหลายประการในการที่สัตวแพทย์มาให้บริการที่บ้านได้แก่การที่แมวไม่ต้องออกจากสิ่งแวดล้อมที่คุ้นเคย ลดความเครียดจากการเดินทางไปยังสถานพยาบาล เจ้าของแมวเองอาจมีปํญหาในการเดินทาง หรือมีเวลาว่างไม่พอที่จะทำการนัดมาที่สถานพยาบาลโดยเฉพาะหากมีเรื่องการจราจรติดขัดเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย นอกจากนี้ยังเกิดประโยชน์แก่สัตวแพทย์เพราะการไปตรวจรักษาที่บ้านหากมีเวลามากพอจะทำให้การซักประวัติและการตรวจร่างกายได้ผลมากที่สุด นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสให้สัตวแพทย์ตรวจสอบสภาพแวดล้อมภายในบ้านหากพบว่าแมวมีปัญหาด้านพฤติกรรมหรือการทำลายสิ่งของในบ้าน ข้อเสียอย่างหนึ่งของการตรวจรักษาที่บ้านคือแมวป่วยบางกรณีอาจจำเป็นต้องเดินทางไปยังสถานพยาบาลเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมหรือทำการรักษาที่ไม่สามารถทำได้ที่บ้าน
ไม่ว่าจะเลือกเส้นทางใดสัตวแพทย์ที่ทำการตรวจรักษาแมวได้จะได้รับการขนานนามว่าเป็น”หมอแมว” หากทำตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านแมวที่มีชื่อเสียง Barbara Stein ผู้เน้นย้ำว่า”แมวไม่ใช่สุนัขตัวเล็ก” และใช้โอกาสจากข้อมูลและแหล่งความรู้ที่มีมากมายในปัจจุบัน สัตวแพทย์ทุกคนสามารถผลักดันตัวเองให้เพิ่มคุณภาพการดูแลแมวสร้างประสบการณ์ที่ดีต่อแมวในการมายังสถานพยาบาลรวมถึงเจ้าของและบุคลากรด้วย
Graham JEB. An outline of feline medicine. Can Vet J 1961;2:257-260, 282-287.
AVMA. US pet ownership and demographic sourcebook. Schaumburg, Ill: AVMA, 2012.
Canada’s Pet Wellness Report, CVMA & Hill’s Pet Nutrition, 2011. Available at: https://www.canadianveterinarians.net/documents/canada-s-pet-wellness- report2011. Accessed 29th Feb 2016.
Lue TW, Pantenburg DP, Crawford PM. Impact of the owner-pet and client-veterinarian bond on the care that pets receive. J Am Vet Med Assoc 2008;232:531-540.
Volk JO, Felsted KE, Thomas JG, et al. Executive summary of the Bayer veterinary care usage study. J Am Vet Med Assoc 2011;238(10):1275-1282.
Rodan I, Sundahl E, Carney H, et al. AAFP and ISFM Feline-Friendly Handling Guidelines. J Feline Med Surg 2011;13:364-375. Available at: http://www. catvets.com/guidelines/practice-guidelines. Accessed 29th Feb 2016.
Carney HC, Little S, Brownlee-Tomasso D, et al. AAFP and ISFM Feline-Friendly Nursing Care Guidelines. J Feline Med Surg 2012;14:337-349. Available at: http://www.catvets.com/guidelines/practice-guidelines. Accessed 29th Feb 2016.
Griffith CA, Steigerwald ES, Buffington CAT. Effects of a synthetic facial pheromone on behavior of cats. J Am Vet Med Assoc 2000;217(8):1154-1156.
Susan Little
Susan Little, Bytown Cat Hospital, Ottawa, Canada อ่านเพิ่มเติม
คำถามที่ว่าเราควรให้อาหารแมวป่วยเมื่อใดนั้น โดยปกติแล้วควรให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
มนุษย์ได้ประโยชน์จากการเลี้ยงสัตว์เป็นเพื่อน สัตว์เลี้ยงช่วยลดความเครียด สร้างความแน่นอนในการใช้ชีวิต และทำให้สุขภาพดีขึ้น...
การแต่งขนเป็นพฤติกรรมปกติของแมวซึ่งประกอบด้วยการแทะเลียเส้นขนและผิวหนังรวมถึงการถูใบหน้าด้วยอุ้งเท้า ...
การแต่งขนเป็นพฤติกรรมปกติของแมวซึ่งประกอบด้วยการแทะเลียเส้นขนและผิวหนังรวมถึงการถูใบหน้าด้วยอุ้งเท้า มีจุดประสงค์เพื่อ ...