โรคที่ใช้ในการวินิจฉัยแยกแยะเมื่อพบ pustule ได้แก่โรคที่เกิดจากการติดเชื้อเช่นแบคทีเรีย(impetigo หรือ bacterial folliculitis) ไรขี้เรื้อนขุมขน(demodicosis) และเชื้อรา โรคที่เกิดจากภูมิคุ้มกันเช่น pemphigus foliaceus lupus-like reaction vasculitis การแพ้ยา โรคมะเร็งเช่น lymphoma ควรอยู่ในข้อพิจารณาจากการขยายตัวที่รวดเร็วและการแพร่เข้าสู่ต่อมน้ำเหลือง
การวินิจฉัยโรคอาศัยประวัติการเจ็บป่วยและรอยโรครวมถึงอาการที่พบ สิ่งสำคัญคือการตัดการวินิจฉัยโรคอื่นที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น โดยอาจมีโรคที่ป็นสาเหตุได้มากกว่า 1 โรค การตรวจด้วย direct impression test สามารถใช้ประเมินการติดเชื้อแบคทีเรีย การขูดตรวจผิวหนังชั้นลึกเพื่อดูไรขี้เรื้อนขุมขน เก็บตัวอย่างเส้นขนเพื่อเพาะเชื้อรา การย้อมสีเซลล์จะพบลักษณะ mixed pyogranulomatous inflammatory response โดยมักไม่พบแบคทีเรียร่วมด้วย ควรทำการเจาะดูดต่อมน้ำเหลืองและตัดชิ้นเนื้อไปตรวจเพื่อวินิจฉัยแยกแยะ lymphoma และยืนยัน juvenile cellulitis สัตว์ป่วยมักได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น juvenile cellulitis โดยดูจากอาการที่แสดงออกร่วมกับการวินิจฉัยตัดโรคอื่นออก การตัดชิ้นเนื้อเพื่อตรวจจุลพยาธิวิทยาและการเพาะเชื้อแบคทีเรียควรทำเมื่อสัตว์ไม่ตอบสนองต่อการรักษาหรือสัตว์ที่แสดงอาการโดยที่อายุไม่เข้าข่าย
การรักษาที่นิยมใช้คือยา prednisone หรือ prednisolone โดยการกินในขนาดกดภูมิ 1.5-2 mg/kg/วัน ขนาดของยาเพื่อลดการอักเสบ(0.5-1 mg/kg/วัน) ไม่สามารถกดอาการของโรคได้ อาจใช้ dexamethasone ขนาด 0.2/mg/kg/วันร่วมด้วยในระยะแรกที่ prednisone ยังออกฤทธิ์ไม่เต็มที่แต่ควรหลีกเลี่ยงสเตียรอยด์แบบฉีดเพราะมีระยะเวลาการออกฤทธิ์ที่ไม่แน่นอน อาการทางคลินิกที่แสดงออกสามารถหายได้อย่างรวดเร็วหลังเริ่มให้ยาสเตียรอยด์ไม่กี่วันโดยอุณหภูมิในร่างกายลดลงและสุนัขมีความอยากอาหารมากขึ้นบ่งบอกถึงการรักษาที่ถูกต้อง ควรให้ยาสเตียรอยด์ในขนาดปกติจนกว่าอาการที่ผิวหนังจะหายสนิทซึ่งอาจใช้เวลามากกว่า 1 สัปดาห์ ลดขนาดยาอย่างค่อยเป็นค่อยไปจนกระทั่งหยุดยาเมื่ออาการคงที่แล้ว ไม่ควรให้ยาเป็นระยะเวลานานเกินความจำเป็น การกลับมาเป็นซ้ำพบได้ไม่บ่อยยกเว้นว่าหยุดการให้ยาเร็วเกินไป การให้ยาปฏิชีวนะควบคู่กันไประหว่างการรักษายังมีข้อโต้เถียงในการใช้เพราะสัตว์ป่วยส่วนใหญ่มักไม่พบการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วยแต่ในกรณีที่รุนแรงมากอาจพบแผลหลุมที่ต่อมน้ำเหลืองหรือที่ผิวหนังซึ่งมีโอกาสเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้ การให้ยาสเตียรอยด์จะกดการสร้างภูมิคุ้มกันทำให้ผู้เขียนบทความนิยมให้ยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์ได้ดีต่อ Staphylococcus spp. ในช่วงเวลาเดียวกับที่ใช้ยาสเตียรอยด์ อาจใช้การประคบอุ่นในการบรรเทาอาการของ panniculitis สำหรับรอยโรคที่ใบหน้าจะสร้างความเจ็บปวดให้กับสุนัขค่อนข้างมากจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาเฉพาะที่บริเวณนั้น
การพยากรณ์โรคถือว่าดีมากแต่มักทิ้งรอยแผลเป็นหรือบริเวณขนร่วงซึ่งรักษาไม่หายในจุดที่เป็นหนัก รวมถึงอาจพบลักษณะ hypo-หรือ hyper pigmentation หลังการอักเสบได้ ไม่มีข้อมูลที่สนับสนุนว่าโรคนี้มีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมหรือโรคนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคภูมิคุ้มกันอื่นๆในสุนัขโต
Scaling
รังแค(scale)หรือสะเก็ดผิวหนังร่วงพบได้บ่อยในลูกสุนัข สะเก็ดที่พบอาจมีปริมาณน้อยถึงปานกลาง แห้งหรือมัน หลุดลอกง่ายหรือติดกับผิวหนัง เป็นจุดหรือกระจายทั่วลำตัว การวินิจฉัยสาเหตุปฐมภูมิออกจากสาเหตุทุติยภูมิของการเกิดรังแคมีความสำคัญมากในการพยากรณ์โรค
สาเหตุหลักของการเกิดรังแคเกี่ยวข้องกับกลุ่มของโรคที่เรียกว่า ichthyosis หรือ โรคหนังเกล็ดปลาซึ่งเป็นได้ทั้งโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมและโรคที่เป็นมาแต่กำเนิด ลูกสุนัขมักแสดงอาการตั้งแต่อายุน้อยแต่อาจพบได้เมื่ออายุมากขึ้นเช่นกัน พบความผิดปกติที่ระดับโมเลกุลในพัฒนาการของผิวหนังชั้น stratum corneum ในสัตว์ป่วย บางสายพันธุ์มีแนวโน้มที่จะพบโรคนี้ได้มากเช่น jack russel terrier soft-coated wheaten terrier west highland white terrier cavalier king Charles spaniel American bulldog และ golden retriever ความหลากหลายของอาการทางคลินิกต่างกันไปในสุนัขแต่ละสายพันธุ์ซึ่งรวมถึงความรุนแรงและการยึดติดของสะเก็ดรังแค ในบทความนี้จะไม่ได้ลงรายละเอียดไว้
สุนัขพันธุ์ golden retriever มีการแสดงออกที่เฉพาะตัวของภาวะ ichthyosis ซึ่งจะพบรูปแบบนี้มากกว่ารูปแบบอื่นซึ่งอาจเป็นผลจากการสังเกตว่าอาการทางคลินิกที่ลูกสุนัขมีรังแคเพิ่มมากขึ้นนั้นพบได้บ่อย บางครั้งสุนัขอาจไม่แสดงอาการจนกระทั่งมีอายุมากขึ้น ลักษณะรังแคอาจละเอียดหรือหยาบแทรกอยู่ตามเส้นขน(รูป 6) รังแคไม่ยึดติดแน่นกับผิวหนังและอาจมีสีเข้มหรืออ่อนขึ้นอยู่กับเม็ดสีของผิวหนัง