วารสารเชิงวิชาการและการรักษาสัตวป่วยเพื่อผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์
วารสารเชิงวิชาการและการรักษาสัตวป่วยเพื่อผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์

หมายเลขหัวข้อ 26.1 ระบบทางเดินอาหาร

อาการท้องเสียช่วงหย่านมในลูกสุนัข

เผยแพร่แล้ว 28/02/2023

เขียนโดย Aurélien Grellet

สามารถอ่านได้ใน Français , Deutsch , Italiano , Română , Español และ English

โรคระบบทางเดินอาหารเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยที่สุดในสุนัข โดยลูกสุนัขจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาท้องเสียได้มากกว่าสุนัขที่โตเต็มวัยแล้ว อีกทั้งยังพบว่าลูกสุนัขร้อยละ 10-25 จะมีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหารในช่วงอายุ 1 ปีแรก

อาการท้องเสียช่วงหย่านมในลูกสุนัข

ประเด็นสำคัญ

อาการท้องเสียช่วงหย่านม (weaning diarrhea) เป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนและเกิดได้จากหลายปัจจัย (multi-factorial origins) สาเหตุของอาการท้องเสียที่เกิดจากการติดเชื้อ (infectious) และไม่ติดเชื้อ (non-infectious) นั้นอาจเกิดขึ้นได้พร้อมกัน เมื่อสาเหตุทั้ง 2 อย่างมีการเสริมฤทธิ์กัน (synergy) สามารถทำลายสุขภาพของระบบทางเดินอาหารได้


พาร์โวไวรัสประเภทที่ 2 ในสุนัข (type-2 canine parvovirus) เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่เกี่ยวข้องกับอาการท้องเสียช่วงหย่านม (weaning diarrhea) ถึงแม้ว่าไวรัสชนิดนี้สามารถทำให้เกิดอาการแสดงทางระบบที่รุนแรงได้ แต่ก็อาจทำให้คุณภาพอุจจาระเปลี่ยนแปลงไปโดยไม่มีผลต่อสุขภาพโดยทั่วไปได้เช่นกัน


การป้องกันอาการท้องเสียช่วงหย่านมจำเป็นต้องใช้การป้องกันทางการแพทย์ (medical prophylaxis) และการใช้ข้อกำหนดด้านการจัดการ (management protocols) ที่ออกแบบมาเพื่อรักษาสุขภาพของสัตว์


 

บทนำ

โรคระบบทางเดินอาหารเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยที่สุดในสุนัข 1 2 3 โดยลูกสุนัขมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการท้องเสียได้มากกว่าสุนัขที่โตเต็มวัยแล้ว ซึ่งลูกสุนัขร้อยละ 10-25 จะมีปัญหาทางเดินอาหารในช่วงปีแรกของชีวิต 4 5 บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพิจารณาทบทวนปัจจัยที่อาจจะส่งผลต่อสุขภาพทางเดินอาหารของลูกสุนัข และเพื่ออภิปรายขั้นตอนต่างๆที่จะช่วยจัดการและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาท้องเสียนี้อีก
 

 

 

การหย่านม: ระยะวิกฤต

การหย่านมเป็นระยะที่มีความสำคัญสำหรับลูกสุนัขเป็นอย่างมาก โดยในมุมมองของการย่อยอาหารจะเป็นการเปลี่ยนอาหารจากน้ำนมไปเป็นอาหารแข็ง (solid food) ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างชั้นเยื่อเมือกของระบบทางเดินอาหาร (the digestive mucosal architecture) (เพิ่มความลึกของ intestinal crypts) ในมุมมองของการขนส่งสารอาหาร (transport of nutrients) การทำงานของเอนไซม์ lactase จะลดลง แต่การทำงานของเอนไซม์ amylase และ lipase จะเพิ่มขึ้น ในมุมมองของจุลินทรีย์ประจำถิ่นในลำไส้ (intestinal flora) พบว่าจำนวนแบคทีเรียที่ต้องการออกซิเจนในการดำรงชีวิต (aerobic bacteria) ลดลง ในขณะเดียวกันลูกสุนัขที่อยู่ในช่วงภูมิคุ้มกันลดลง (immunity gap) ซึ่งคือช่วงที่การทำวัคซีนนั้นไม่ได้ผล (refractory to vaccination) อันเนื่องมาจากการคงอยู่ของภูมิคุ้มกันจากแม่ (maternal antibodies) 6 จะไวต่อการติดเชื้อโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบทางเดินอาหาร นอกจากนี้การแยกลูกสุนัขออกจากแม่สุนัขอาจก่อให้เกิดความเครียดอย่างมากซึ่งส่งผลต่อกระบวนการเมตาบอลิซึม (metabolism) ระบบภูมิคุ้มกัน (immune system) และการทำงานของลำไส้ (intestinal function) ปรากฏการณ์ต่างๆที่กล่าวมาทั้งหมดนี้สามารถอธิบายความชุก (prevalence) ของอาการท้องเสียในลูกสุนัขที่สูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับสุนัขโตเต็มวัย

อาการท้องเสียช่วงหย่านม - ความเสี่ยง

อาการท้องเสียช่วงหย่านมนั้นเป็นทั้งปัญหาสำหรับลูกสุนัขและเป็นความเสี่ยงต่อสาธารณสุข (public health) อาการท้องเสียอาจจะลดอัตราการเจริญเติบโตและเพิ่มโอกาสในการเสียชีวิตได้ 7 ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหารนั้นสามารถเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตในสุนัขที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปี 8 เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำการรักษาสัตว์ป่วยทุกตัวที่มีความผิดปกติของระบบทางเดินอาหารอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้การได้รับแจ้งปัญหาระบบทางเดินอาหารยังแสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงของสาธารณสุข เนื่องจากเชื้อก่อโรคติดต่อ (infetious agents) บางชนิดที่สามารถถูกขับออกมากับอุจจาระของลูกสุนัขได้อาจจะเป็นเชื้อติดต่อจากสัตว์สู่คน (zoonotic) เช่น Giardia duodenalis และ Toxocara canis 9 บทบาทของสัตวแพทย์ในการป้องกันและรักษาอาการท้องเสียเหล่านี้จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก

คำจำกัดความของคำว่าท้องเสีย

นอกเหนือจากการวิเคราะห์เชิงอัตวิสัย (subjective analysis) เกี่ยวกับสิ่งที่อาจจะถูกจัดว่าเป็นอุจจาระนิ่ม (soft stool) แล้ว ความยากที่แท้จริงคือการระบุให้ได้ว่าอุจจาระที่มีความผิดปกติ (abnormal stool) จริงๆนั้นเป็นอย่างไร คุณภาพของอุจจาระสามารถประเมินได้โดยใช้คะแนนอุจจาระของลูกสุนัข (puppy fecal score) ซึ่งเป็นมาตรวัดเต็ม 13 ระดับ (รูปภาพที่ 1) โดย 1 = อุจจาระเหลว และ 13 = อุจจาระที่เป็นก้อนและแห้งมาก 7 ทั้งนี้มาตรวัดที่ใช้ในลูกสุนัขจะแตกต่างจากที่ใช้ในสุนัขโตเต็มวัย เนื่องจากต้องคำนึงถึงความแปรปรวนทางสรีรวิทยา (physiological variations) เพื่อกำหนดคะแนนอุจจาระร่วมด้วย
 

คะแนนอุจจาระในลูกสุนัข

รูปภาพที่ 1 ระบบคะแนนอุจจาระสำหรับลูกสุนัข

ลูกสุนัขพันธุ์ใหญ่ (ที่เมื่อโตเต็มวัยน้ำหนักมากกว่า 25 กิโลกรัม) นั้นมักจะมีอุจจาระที่นิ่มกว่าอุจจาระของสุนัขพันธุ์เล็ก และลูกสุนัขอายุน้อย (อายุ 4-5 สัปดาห์) จะมีอุจจาระที่นิ่มกว่าลูกสุนัขโตอย่างมีนัยสำคัญ เพราะฉะนั้นคะแนนอุจจาระที่จะระบุพยาธิสภาพของอุจจาระ (pathological stool) นั้นจะแตกต่างกันไปตามขนาดพันธุ์ (breed size) และอายุ (age) แต่ทั้งนี้สามารถกำหนดเป็น ≤ 5 สำหรับลูกสุนัขพันธุ์ใหญ่ ≤ 6 สำหรับลูกสุนัขพันธุ์เล็กที่มีอายุ 4-5 สัปดาห์ และ ≤ 7 สำหรับลูกสุนัขพันธุ์เล็กที่มีอายุ 6-8 สัปดาห์ 7

วิธีจัดการปัญหาอย่างเป็นระบบ

อาการท้องเสียช่วงหย่านม (weaning diarrhea) นั้นเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนจากหลายสาเหตุ ประการแรกคือลูกสุนัขมักติดเชื้อจากสิ่งก่อโรค (agents) ต่างๆได้หลากหลาย (ตารางที่ 1) แต่การมีเชื้อก่อโรคในระบบทางเดินอาหาร (enteropathogen) นั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับอาการของปัญหาระบบทางเดินอาหารเสมอไป ในความเป็นจริงแล้วนั้นร้อยละ 18-54 ของสุนัขสามารถขับพยาธิหรือไวรัสได้โดยไม่แสดงอาการทางคลินิก 5 10 11
 
ตารางที่ 1 มีการศึกษามากมายได้ระบุถึงเชื้อก่อโรคระบบทางเดินอาหาร (gastro-intestinal infectious agents) ในลูกสุนัขและความชุกของแต่ละเชื้อก่อโรค 5 21 22
เชื้อก่อโรค อายุของกลุ่มประชากรที่ทำการศึกษา จำนวนลูกสุนัขที่ทำการศึกษา ความชุก (ร้อยละ)
เชื้อพาร์โวไวรัสประเภทที่ 2 ในสุนัข อายุ 5-8 สัปดาห์ 266 14.7
เชื้อโคโรนาไวรัสในสุนัข อายุ 5-8 สัปดาห์ 266 20.3
Toxocara canis อายุ 5-8 สัปดาห์
ช่วงอายุหลากหลาย*
อายุน้อยกว่า 3 เดือน
266
143
2661
22.2
12
12
Cystoisospora ohioensis complex อายุ 5-8 สัปดาห์
อายุน้อยกว่า 3 เดือน
266
2661
25.6
15.6
Cystoisospora canis อายุ 5-8 สัปดาห์
อายุน้อยกว่า 3 เดือน
266
2661
13.2
11.8
Cystoisospora spp. ช่วงอายุหลากหลาย* 143 9
Giardia duodenalis อายุ 5-8 สัปดาห์
ช่วงอายุหลากหลาย*
อายุน้อยกว่า 3 เดือน
266
143
2661
41
34
37.5
Cryptosporidium parvum อายุ 5-8 สัปดาห์ 266 25.9

*ลูกสุนัขจากร้านขายสัตว์เลี้ยง ดังนั้นจึงมีช่วงอายุที่หลากหลาย

ประการที่ 2 การที่ลูกสุนัขได้รับเชื้อก่อโรคในระบบทางเดินอาหาร (enteropathogen) ตัวเดียวกันนั้นไม่ได้โน้มนำให้เกิดอาการแสดงทางคลินิกแบบเดียวกันเสมอไป ความสามารถในการก่อโรค (pathogenicity) ของเชื้อก่อโรค (infectious agent) และอาการแสดงทางคลินิกนั้นจะขึ้นอยู่กับอายุและภูมิต้านทานโรค (immune status) ของลูกสุนัข รวมไปถึงสายพันธุ์ (strain) ของเชื้อก่อโรคในระบบทางเดินอาหารนั้นๆด้วย 12 13 ยกตัวอย่างเช่น เชื้อพาร์โวไวรัสในสุนัข (canine parvovirus; CPV) ได้รับการยอมรับว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกสุนัขมีอาการท้องเสียแล้วโน้มนำไปสู่อาการแสดงทั่วร่างกายอย่างรุนแรง (severe systemic signs) ได้แก่ อาเจียน (vomit) เบื่ออาหาร (anorexia) อาการปวดท้อง (prostration) ภาวะแห้งน้ำ (dehydration) และในบางกรณีลูกสุนัขอาจเสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตามในลูกสุนัขบางตัว ไวรัสอาจจะเปลี่ยนแปลงแค่คุณภาพของอุจจาระ (alter the stool quality) โดยไม่ส่งผลต่อสุขภาพทั่วไปของสัตว์หรืออาจไม่มีอาการแสดงทางคลินิกอื่นๆเลยก็ได้ 5 ในทำนองเดียวกัน ไวรัสโคโรนานั้นสามารถทำให้เกิดอาการแสดงทางคลินิกได้หลากหลายและได้มีการระบุสายพันธุ์ใหม่ของไวรัสชนิดนี้คือ pantropic coronavitus ซึ่งดูเหมือนว่าจะก่อให้เกิดอาการแสดงทางคลินิกที่รุนแรงกว่าเดิมมาก รวมถึงอาจทำให้เกิดการเสียชีวิตได้ในบางกรณี โรคบิด (coccidiosis) นั้นสามารถก่อให้เกิดความผิดปกติของระบบทางเดินอาหารได้แต่มีความรุนแรงที่แตกต่างกันไป โดย Cystoisospora ohioensis complex อาจรบกวนการย่อยอาหารในลูกสัตว์อายุน้อย (อายุน้อยกว่า 7 วัน) แต่ไม่ส่งผลต่อลูกสุนัขที่หย่านมแล้ว ในขณะที่ Cystoisospora canis นั้นมักก่อให้เกิดอาการแสดงทางคลินิกในลูกสุนัขที่หย่านมแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากมีความเครียด เช่น ตอนย้ายบ้าน 14

ประการที่ 3 การติดเชื้อร่วม (co-infections) และปฏิกิริยา (interactions) ระหว่างเชื้อก่อโรคในระบบทางเดินอาหาร (enteropathogens) นั้นสามารถพบได้บ่อยครั้ง มีการศึกษาหนึ่งที่ศึกษาในลูกสุนัข 316 ตัวที่มีอาการท้องเสีย พบว่าร้อยละ 75 ของลูกสุนัขทั้งหมดนั้นมักจะมีเชื้อก่อโรคมากกว่า 1 ชนิด (รูปภาพที่ 2) 5 นอกจากนี้เชื้อก่อโรคบางชนิดยังสามารถมีปฏิกิริยาตอบสนองและเพิ่มความรุนแรงของอาการแสดงทางคลินิกได้ด้วย เช่น ไวรัสโคโรนาจะทำให้มีอาการแสดงทางคลินิกที่รุนแรงมากขึ้นหากมีการติดเชื้อพาร์โวไวรัสประเภทที่ 2 ร่วมด้วย (co-infection with type 2 CPV) 15

ความถี่ของการติดเชื้อร่วมในลูกสุนัขที่มีอาการท้องเสียช่วงหย่านม

รูปภาพที่ 2 ความถี่ของการติดเชื้อร่วมในลูกสุนัขที่มีอาการท้องเสียช่วงหย่านม

สุดท้ายนี้ ในปัจจุบันยังมีการค้นพบเชื้อก่อโรคในระบบทางเดินอาหารชนิดใหม่อยู่เรื่อยๆ มีเชื้อไวรัสก่อโรคในระบบทางเดินอาหารในสุนัขและปรสิตที่พึ่งค้นพบล่าสุด เช่น แอสโตรไวรัส (astrovirus) 16 โนโรไวรัส (norovirus) 17 และทริโคโมแนส (trichomonads) 18 19 ทั้งนี้แม้ว่าจะมีความชุกสูงในลูกสุนัข (อยู่ระหว่างร้อยละ 5-23 ขึ้นอยู่กับเชื้อก่อโรคและแหล่งที่อยู่ของสัตว์) แต่บทบาทของเชื้อก่อโรคเหล่านี้ต่ออาการท้องเสียช่วงหย่านมนั้นยังไม่สามารถอธิบายได้แน่ชัด 16 18 20 อีกทั้งการศึกษาส่วนใหญ่ที่พิจารณาถึงเชื้อก่อโรคเหล่านี้ก็ยังไม่ได้คำนึงถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดการติดเชื้อร่วม (co-infections) อีกด้วย

อาการท้องเสียช่วงหย่านม (weaning diarrhea) นั้นเป็นปรากฏการณ์ทางชีววิทยาที่มีความซับซ้อน (complex biological phenomenon) ซึ่งจะแตกต่างจากความผิดปกติอื่นๆที่สามารถวิเคราะห์ได้อย่างง่ายดาย ( เช่น เชื้อก่อโรค 1 ชนิด = 1 โรค) และแนวทางในการจัดการกับปัญหานี้อย่างเป็นระบบ (systemic approach) นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก โดยอาการท้องเสียช่วงหย่านมพื้นฐานแล้วจะได้รับอิทธิพลจากปัจจัยทั้งหมด 3 ปัจจัย ได้แก่

  • โฮสต์ (host) : อายุ กรรมพันธุ์ และระบบภูมิคุ้มเฉพาะที่/ทั่วร่างกาย (local/systemic immunity)
  • เชื้อก่อโรค (pathogen) : ศักยภาพก่อโรค (virulence) สายพันธุ์ (strain) ปริมาณเชื้อก่อโรคที่ได้รับ (dose)
  • สิ่งแวดล้อม (environment) : ความหนาแน่นของประชากร (population density) ความเครียด (stress) ระดับสุขอนามัย (hygiene levels) อุณหภูมิ/ความชื้น (temperature/humidity)

ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้แนวทางการจัดการแบบสหวิทยาการ (disciplinary approach) โดยการประเมินปัจจัยหลักทั้ง 3 ปัจจัย ได้แก่ โภชนาการ (nutrition) เชื้อก่อโรคในระบบทางเดินอาหารที่เป็นสาเหตุ (causal enteropathogens) และสิ่งแวดล้อม (environment) (รูปภาพที่ 3)

 
 การประเมินและการจัดการอาการท้องเสียช่วงหย่านมในลูกสุนัข

รูปภาพที่ 3 การประเมินและการจัดการอาการท้องเสียช่วงหย่านมในลูกสุนัข

การประเมินคุณค่าทางโภชนาการ

จากมุมมองทางโภชนาการ การซักประวัติสัตว์ป่วยที่สมบูรณ์นั้นมีความจำเป็นและสำคัญอย่างมาก โดยสัตวแพทย์ควรสอบถามเจ้าของเกี่ยวกับ

  • อาหารที่สัตว์ป่วยบริโภค เพื่อประเมินถึงคุณภาพ (อาการท้องเสียช่วงหย่านมในบางกรณีจะเกี่ยวข้องกับการกินเนื้อดิบที่มีการปนเปื้อนเชื้อ Salmonella enterica 23)
  • จำนวนมื้ออาหารที่ให้ (การแบ่งอาหารในแต่ละวันออกเป็น 4 ส่วนเท่าๆกันจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดท้องเสียในลูกสุนัขอายุน้อยได้) 5)
  • • ปริมาณอาหารที่ให้ (ควรหลีกเลี่ยงการให้อาหารปริมาณมากเกินไป (overfeeding)) และคุณภาพของอาหาร (ควรเป็นอาหารที่สามารถย่อยได้ง่าย (high digestibility))

การประเมินเชื้อก่อโรคในระบบทางเดินอาหาร

เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องระบุให้ได้ว่าสัตว์กำลังขับเชื้อก่อโรคในระบบทางเดินอาหาร 1 ชนิดหรือมากกว่านั้นออกมากับอุจจาระหรือไม่และขับออกมาในปริมาณเท่าใด โดยสีของอุจจาระอาจจะช่วยบ่งบอกถึงเชื้อก่อโรคที่ทำให้สัตว์มีอาการท้องเสียได้ เช่น การติดเชื้อไกอาเดีย (giardiasis) นั้นอาจจะทำให้วิลไลในลำไส้เล็ก (intestinal villi) ฝ่อลงบางส่วน (partial atrophy) อีกทั้งยังทำให้การทำงานของเอนไซม์ disaccharidase ลดลงจนส่งผลให้เกิดการดูดซึมอาหารลดลงและเกิดภาวะถ่ายอุจจาระเป็นมัน (steatorrhea) โดยเราอาจพบว่าอุจจาระมีสีเหลือง (รูปภาพที่ 4) และอาจสังเกตเห็นพฤติกรรมที่สุนัขกินอุจจาระของตัวเอง (coprophagia) ได้ (เนื่องจากปริมาณไขมันที่เพิ่มขึ้นทำให้อุจจาระมีความน่ากินสูง) ส่วนอุจจาระที่ไม่เป็นรูปทรง (unformed) มีมูกและเลือดปนนั้นก็อาจบ่งชี้ว่ามีการติดเชื้อบิด (coccidiosis) (รูปภาพที่ 5) หรือเราอาจมองเห็นพยาธิในอุจจาระได้ด้วยตาเปล่าเลยก็เป็นได้ (รูปภาพที่ 6)

 
อุจจาระสีเหลืองที่มีไขมันปนอยู่จำนวนมากอาจจะบ่งบอกถึงการติดเชื้อไกอาเดีย

รูปภาพที่ 4 อุจจาระสีเหลืองที่มีไขมันปนอยู่จำนวนมากอาจจะบ่งบอกถึงการติดเชื้อไกอาเดีย (giardia) © Aurélien Grellet

 
 อุจจาระที่ไม่เป็นรูปทรงและปนมูกกับเลือดอาจจะบ่งบอกถึงการติดเชื้อบิด

รูปภาพที่ 5 อุจจาระที่ไม่เป็นรูปทรงและปนมูกกับเลือดอาจจะบ่งบอกถึงการติดเชื้อบิด (coccidiosis) © Aurélien Grellet

 
 ปรสิต เช่น พยาธิตัวกลม (roundworms) อาจจะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าในสัตว์ป่วยท้องเสียบางกรณี

รูปภาพที่ 6 ปรสิต เช่น พยาธิตัวกลม (roundworms) อาจจะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าในสัตว์ป่วยท้องเสียบางกรณี © Aurélien Grellet

 

อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างทั้งหมดเหล่านี้ไม่สามารถนำมาใช้ในการวินิจฉัยยืนยัน (definitive diagnosis) ได้ และยังจำเป็นที่จะต้องมีการทดสอบอื่นๆเพิ่มเติม โดยตัวเลือกในการทดสอบอื่นๆที่มีประโยชน์ เช่น การส่องกล้องจุลทรรศน์ การทำ ELISA หรือ PCR นั้นควรเลือกทดสอบตามสถานะทางการเงินของเจ้าของสัตว์และประสบการณ์ของสัตวแพทย์ รวมไปถึงข้อสงสัยทางคลินิก (clinical suspicions) การประเมินอุจจาระด้วยการส่องกล้องจุลทรรศน์นั้นจะมีประโยชน์หากสงสัยว่ามีการติดเชื้อปรสิต แต่ตัวอย่างอุจจาระที่นำมาใช้ทดสอบนั้นจะต้องสดใหม่และไม่เหลวจนเกินไป (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องการหาเชื้อโปรโตซัว) กรณีที่ผลทดสอบจากตัวอย่างอุจจาระเพียง 1 ตัวอย่างให้ผลเป็นลบนั้นแปลผลอะไรไม่ได้มาก เนื่องจากเชื้อก่อโรคนั้นสามารถถูกกำจัดได้เป็นช่วงๆ (eliminated intermittently) เพราะฉะนั้นจึงควรทำการทดสอบซ้ำเป็นเวลา 3 วันติดต่อกัน โดยหากลูกสุนัขครอกเดียวกันหรือกลุ่มเดียวกันมีอาการท้องเสีย สัตวแพทย์สามารถนำตัวอย่างอุจจาระแบบรวมตัวอย่าง (pooled fecal samples) มาทำการทดสอบได้ซึ่งจะช่วยลดการเกิดผลลบลวง (false negative) ที่เกี่ยวข้องกับระยะฟักตัว (pre-patent period) และการขับพยาธิออกเป็นช่วงๆ (intermittent parasitic excretion) ในปัจจุบันมีชุดตรวจสำเร็จรูป (commercial test kit) สำหรับระบุปรสิตบางชนิด (เช่น เชื้อไกอาเดีย) วางจำหน่ายอยู่มากมาย ชุดตรวจเหล่านี้นอกจากจะมีราคาถูกแล้ว ยังสามารถให้ผลทดสอบได้อย่างรวดเร็วและไม่จำเป็นต้องใช้ตัวอย่างที่มีความจำเพาะเจาะจง (specific sample material) แต่อย่างไรก็ตามชุดตรวจเหล่านั้นสามารถระบุเชื้อก่อโรคได้แค่ครั้งละ 1 ชนิดเท่านั้นซึ่งอาจจะมีข้อจำกัดหากสัตว์ป่วยมีเชื้อก่อโรคในระบบทางเดินอาหารหลายชนิด

การติดเชื้อพาร์โวไวรัสในสุนัข (CPV) นั้นมักจะถูกสงสัยในกรณีลูกสุนัขเกิดอาการท้องเสียช่วงหย่านมหรือมีการเสียชีวิตกระทันหันในลูกสุนัข สัตวแพทย์จึงจำเป็นต้องตรวจหาเชื้อไวรัสโดยไม่จำเป็นต้องคำนึงการฉีดวัคซีนของลูกสัตว์เหล่านั้น การทดสอบโดยใช้ชุดตรวจ ELISA นั้นเป็นวิธีที่ง่ายและรวดเร็ว มีความจำเพาะสูง (ร้อยละ 18-82) 24 25 26 โดยขึ้นกับปริมาณเชื้อไวรัสที่ถูกขับออกในอุจจาระ (viral load excreted) ทั้งนี้ชุดตรวจอาจให้ผลลบลวง (false negative) ได้ในกรณีที่มีปริมาณเชื้อไวรัสที่ถูกขับออกในอุจจาระน้อย แต่ผลทดสอบที่เป็นลบไม่ได้หมายความว่าจะสามารถตัดข้อสงสัยการติดเชื้อพาร์โวไวรัสออกไปได้ นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดผลบวกลวง (false positive) ได้หากทำการทดสอบภายหลังจากการฉีดวัคซีนไม่กี่วัน ถึงแม้ว่าผลทดสอบที่ได้จะไม่ค่อยชัดเจนเท่ากับผลทดสอบที่ได้จากสัตว์ป่วยที่มีการติดเชื้อพาร์โวไวรัสจริงก็ตาม การทดสอบด้วยวิธี Real-time PCR นั้นมีความไว (sensitivity) และความจำเพาะ (specificity) สูงกว่าวิธีอื่นๆและเป็นวิธีทดสอบที่เหมาะสมที่สุด (method of choice) สำหรับการวินิจฉัยการติดเชื้อพาร์โวไวรัสในสุนัข (CPV) เนื่องจากวิธีนี้สามารถแยกการขับไวรัสหลังจากฉีดวัคซีน (post-vaccine excretion) (มีปริมาณไวรัสต่ำถึงต่ำมาก) ออกจากการติดเชื้อจริงๆ (มีปริมาณไวรัสสูงถึงสูงมาก) ได้

การเพาะเชื้อแบคทีเรียจากอุจจาระ (fecal bacterial culture) นั้นไม่ค่อยมีประโยชน์ในการประเมินอาการท้องเสียช่วงหย่านม ในความเป็นจริงนั้นแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของอาการท้องเสียมักจะ isolate ได้จากสัตว์ที่มีอาการแสดงทางคลินิกเป็นปกติเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามในกรณีที่สัตวแพทย์สงสัยว่ามีแบคทีเรียก่อโรคที่มีความจำเพาะ (specific pathogenic bacteria) ก็อาจเพาะเชื้อแบคทีเรียขึ้นได้ ( เช่น Salmonella spp., Campylobacter jejuni, Clostridium perfringens และ C. difficile)

การประเมินสิ่งแวดล้อม

เมื่อสัตวแพทย์เจอกับปัญหาท้องเสียในช่วงหย่านมที่สถานเพาะพันธุ์สัตว์ (breeding establishment) สัตวแพทย์จำเป็นที่จะต้องเข้าไปตรวจเยี่ยมสถานเพาะพันธุ์สัตว์นั้นๆด้วย ทั้งนี้จะต้องตระหนักไว้เสมอว่าในกรณีที่มีสุนัขหลายๆกลุ่มมีปัญหาท้องเสียแบบเดียวกัน การรักษาเพียงครั้งเดียวอาจไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมด และในบางครั้งก็ควรแก้ไขปัจจัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหานี้ (contributory factors) มากกว่าการแก้ไขที่เชื้อก่อโรคที่เป็นสาเหตุ (causative agents) โดยตรง การไปตรวจเยี่ยมสถานที่เพาะพันธุ์สัตว์จะช่วยให้สัตวแพทย์มีความเข้าใจเกี่ยวกับสถานที่อย่างครบถ้วน โดยแนะนำให้สัตวแพทย์มุ่งความสนใจไปยัง

  • เจ้าของสัตว์และวิธีที่ใช้ผสมพันธุ์สัตว์
  • สัตว์และสภาพแวดล้อม (เช่น บริเวณที่เลี้ยงสัตว์ ลักษณะของโรงเรือน อาหารที่ให้)
  • การจัดการกับตัวสัตว์ (การสืบพันธุ์ การอนุบาลลูกสัตว์)
  • สภาพสุขอนามัยโดยรวม (overall sanitary conditions)

การจัดการอาการท้องเสียช่วงหย่านม

เนื่องจากมีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลต่อสุขภาพระบบทางเดินอาหาร จึงแนะนำให้ใช้แนวทางสากลในการจัดการและรักษาอาการท้องเสียช่วงหย่านม โดยมีตัวอย่างบางส่วนที่ใช้เพื่ออธิบายสิ่งที่กล่าวมานี้ ได้แก่

สถานการณ์ที่ 1: ลูกสุนัขที่มีอาการท้องเสียแต่ไม่มีอาการแสดงทางคลินิกอื่นๆ

โดยปกติมักจะแนะนำให้ลูกสุนัขเหล่านี้อดอาหารเป็นเวลา 24-48 ชั่วโมงก่อนที่จะค่อยๆเพิ่มปริมาณอาหารทีละน้อยๆในช่วง 3-7 วัน โดยถึงแม้ว่าวิธีนี้การจะไม่เคยได้รับการทดสอบทางวิทยาศาสตร์แต่ก็เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป มีการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าการให้อาหารผ่านระบบทางเดินอาหาร (enteral feeding) ในระหว่างที่มีอาการท้องเสียอย่างฉับพลันนั้นจะช่วยรักษาความสมบูรณ์ของระบบทางเดินอาหาร จำกัดการทำลายวิลไลในลำไส้เล็ก จำกัดการเกิดภาวะลำไส้รั่ว (intestinal permeability) และจำกัดการรุกล้ำของแบคทีเรียเข้าสู่ผนังลำไส้ (bacterial translocation) ลูกสุนัขที่ป่วยด้วยโรคลำไส้อักเสบจากเชื้อพาร์โวไวรัส (parvovirus) เมื่อได้รับอาหารผ่านระบบทางเดินอาหารแต่เนิ่นๆนั้นพบว่าจะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเร็วกว่าและฟื้นตัวกลับมามีความอยากอาหารตามปกติได้ดีกว่า รวมถึงคุณภาพของอุจจาระดีกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับลูกสุนัขที่อดอาหารจนกระทั่งหยุดอาเจียน 27 ผู้เขียนบางท่านแนะนำให้ลดปริมาณการให้อาหารลง (โดยให้เพียงแค่ 25% ของความต้องการพลังงานเพื่อการดำรงชีพต่อวัน (daily maintenance energy needs) และให้อาหารที่สามารถย่อยได้ง่าย) เพื่อป้องกันไม่ให้อาการท้องเสียรุนแรงขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ยังได้รับประโยชน์จากการให้อาหารด้วย ทั้งนี้การตัดสินใจว่าจะให้อาหารกับสัตว์ป่วยที่มีอาการท้องเสียนั้นจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของสัตวแพทย์ ในกรณีที่มีการติดเชื้อพยาธิ สัตว์ควรได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม รวมไปถึงควรทำความสะอาดเพื่อลดปริมาณพยาธิในสิ่งแวดล้อม โดยแนะนำให้ทำความสะอาดสิ่งแวดล้อมด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อที่มีส่วนประกอบของ quaternary ammonium ส่วนการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะในกรณีที่มีอาการท้องเสียแต่ไม่มีอาการแสดงทางคลินิกอื่นๆนั้นยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ แต่จริงๆแล้วควรพิจารณาการใช้ยาปฏิชีวนะต่อเมื่อเยื่อบุผนังลำไส้ (intestinal mucosa) ได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง (เช่น มีเลือดปนในอุจจาระ) หรือหากมีปฏิกิริยาการอักเสบทั่วร่างกาย (systemic inflammatory reaction) (เช่น มีไข้และมีภาวะเม็ดเลือดขาวในกระแสเลือดสูง (leukocytosis)) และ/หรือมีผลเพาะเชื้อจากอุจจาระที่ผิดปกติ (abnormal fecal culture)
 
สถานการณ์ที่ 2 : ลูกสุนัขที่มีอาการท้องเสียร่วมกับอาการแสดงทางคลินิกอื่นๆ

กรณีนี้ให้ปฏิบัติตามมาตรการที่กล่าวไว้ในข้างต้น แต่สัตว์ป่วยควรได้รับการรักษาตัวในโรงพยาบาลสัตว์เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแห้งน้ำ (dehydration) และภาวะของเหลวในร่างกายพร่อง (hypovolemia) เพราะฉะนั้นการได้รับสารน้ำเข้าทางหลอดเลือดดำจึงมีความจำเป็น หากมีอาการท้องเสียรุนแรงมาก ลูกสุนัขอาจมีภาวะน้ำตาลในกระแสเลือดต่ำ (hypoglycemia) อันเนื่องมาจากภาวะทุพโภชนาการ (malnutrition) มีภาวะเผาผลาญพลังงานที่ผิดปกติ (hypermetabolism) มีการทำงานของตับที่ไม่เหมาะสม (inadequate liver function) และ/หรือมีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (sepsis) ในกรณีที่สัตว์ป่วยที่มีอาการรุนแรง สามารถให้สารละลายแบบสมดุล (isotonic crystalloid solution) เข้าไปในหลอดเลือดดำในระยะเวลาสั้นๆ (bolus) ก่อนในเบื้องต้น จากนั้นจึงค่อยให้สารน้ำเข้าหลอดเลือดดำอย่างช้าๆด้วยอัตราเร็วคงที่ (continuous rate infusion) การคำนวณปริมาณสารน้ำที่ให้นั้นสัตวแพทย์จำเป็นต้องคำนึงถึงปริมาณน้ำที่เสียไปต่อวันของลูกสุนัข (fluid deficit) ปริมาณสารน้ำที่ร่างกายสัตว์ควรได้รับต่อวัน (maintenance needs) และปริมาณสารน้ำที่อาจสูญเสียได้จากการอาเจียนหรือท้องเสีย สุนัขจะมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ (hypokalemia) แม้แต่ในกรณีที่มีระดับโพแทสเซียมปกติเมื่อได้รับการรักษาตัวในโรงพยาบาลสัตว์ก็ตาม ดังนั้นจึงควรตรวจสอบระดับโพแทสเซียมซ้ำอีกครั้งภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังจากได้รับการบำบัดด้วยสารน้ำ ถ้าพบว่าระดับโพแทสเซียมผิดปกติสัตวแพทย์จำเป็นต้องทำการแก้ไข ทั้งนี้ต้องตระหนักไว้เสมอว่าการให้สารน้ำที่มีโพแทสเซียมเป็นส่วนประกอบนั้นไม่สามารถให้เข้าหลอดเลือดดำในระยะเวลาสั้นๆได้ โดยต้องให้สารน้ำที่มีโพแทสเซียมเข้าทางหลอดเลือดดำช้าๆด้วยอัตราเร็วไม่เกิน 0.5 mEq/กก./ชม. 28

สถานการณ์ที่ 3 : ลูกสุนัขในสถานเพาะพันธุ์สัตว์

ในสถานการณ์แบบนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการจัดการกับภาวะท้องเสียเท่าที่จำเป็น (ตามที่เคยระบุไว้ในข้างต้น) ร่วมกับการวางแผนเพื่อลดความเสี่ยงของสัตว์ตัวอื่นๆ โดยต้องใช้ทั้งมาตรการทางการแพทย์และมาตรการทางสุขอนามัย

การรักษาทางยา (medical treatment) นั้นประกอบไปด้วยการให้ยาถ่ายพยาธิและการทำวัคซีน โดยการถ่ายพยาธินั้นขึ้นอยู่กับชนิดของพยาธิที่เจอในสถานเพาะพันธุ์สัตว์ การประเมินอุจจาระประจำปีโดยใช้ตัวอย่างอุจจาระแบบรวมตัวอย่าง (pooled fecal samples) (เก็บอุจจาระจากสุนัข 3-5 ตัว) นั้นมีประโยชน์อย่างมาก แนะนำให้เก็บตัวอย่างอุจจาระจากประชากรสุนัข 3 กลุ่มที่แตกต่างกัน ได้แก่ สุนัขตัวผู้และเมียที่ไม่เป็นสัด สุนัขตัวเมียที่ตั้งท้องและให้นมลูกอยู่ และลูกสุนัขที่อยู่ในช่วงหย่านม (อายุ 4-8 สัปดาห์) ในกรณีที่มีลูกสุนัขหลายครอกที่อายุต่างกันในเวลาเดียวกัน สัตวแพทย์อาจจะทำการตรวจอุจจาระแบบรวมตัวอย่าง 2 ครั้ง โดยใช้ตัวอย่างจากลูกสุนัขที่อายุ 4-6 สัปดาห์ และอีกตัวอย่างจากลูกสุนัขที่อายุระหว่าง 6-9 สัปดาห์ การรักษาด้วยยาต้านปรสิต (anti-parasite treatment) ผลลัพธ์จะขึ้นอยู่กับยาที่เลือกใช้ โดยต้องดูขอบเขตของการออกฤทธิ์ของยา (spectrum of action) ช่วงเวลาที่ยาออกฤทธิ์ (treatment duration) ความถี่ในการใช้ (frequency) ความสะดวกในการให้ยา (ease of administration) และราคา (cost) ทั้งนี้จะแนะนำให้ถ่ายพยาธิ Toxocara canis เป็นประจำเนื่องจากพยาธิชนิดนี้ความชุกสูง ลูกสุนัขสามารถถ่ายพยาธิทุก 15 วันตั้งแต่อายุได้ 2 สัปดาห์จนถึงอายุ 2 เดือน จากนั้นค่อยปรับเป็นถ่ายพยาธิรายเดือนจนถึงอายุ 6 เดือน ทั้งนี้ควรให้ยาถ่ายพยาธิกับแม่สุนัขไปพร้อมๆกับลูกสุนัขด้วย

โปรแกรมวัคซีน (vaccination regime) นั้นจะขึ้นกับสถานการณ์ของสุนัขแต่ละตัว ในกรณีที่มีสัตว์อยู่ร่วมกันหลายๆตัวในบ้านเดียวกัน โปรแกรมการทำวัคซีนสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความจำเป็น หากมีหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการติดเชื้อพาร์โวไวรัสในสุนัข (CPV) มีการศึกษาแสดงให้เห็นว่าการฉีดวัคซีนพาร์โวไวรัสจากเชื้อชนิดเดียว (monovalent CPV vaccine) ให้กับลูกสุนัขที่มีอายุ 4 สัปดาห์ ลูกสุนัขร้อยละ 80 จะมีระดับแอนติบอดีไตเตอร์หลังรับวัคซีน (seroconversion) สูงกว่าระดับแอนติบอดีไตเตอร์ปกติที่ป้องกันโรคได้ (protective threshold) 29 เพราะฉะนั้นการฉีดวัคซีนในลูกสุนัขตั้งแต่เนิ่นๆเป็นประจำอาจช่วยลดผลกระทบด้านลบของไวรัสนี้ในสถานเพาะพันธุ์สัตว์ได้

สัตวแพทย์ควรใช้มาตรการทางสุขอนามัยต่างๆเพื่อจำกัดการแพร่กระจายของเชื้อและลดความเสี่ยงในการเกิดการติดเชื้อซ้ำ โดยควรสร้างและบำรุงรักษาบริเวณเฉพาะที่แยกออกจากกันภายในสถานเพาะพันธุ์สัตว์ ได้แก่ บริเวณคลอดและเลี้ยงลูก (maternity/nursery unit) บริเวณกักโรคสำหรับสัตว์ที่นำเข้ามาใหม่ (quarantine section) บริเวณสำหรับสัตว์โตเต็มวัย และบริเวณสำหรับแยกสัตว์ป่วยที่มีอาการแสดงของโรค สิ่งที่สำคัญคือการเน้นย้ำให้เจ้าของสถานเพาะพันธุ์สัตว์เข้าใจถึงความสำคัญของความสะอาดและการฆ่าเชื้อของแต่ละบริเวณรวมไปถึงอุปกรณ์ที่ใช้ต่างๆ ทั้งนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแยกความแตกต่างระหว่าง 2 อย่างนี้อย่างชัดเจน โดยการทำความสะอาดที่มีการใช้สารเคมีและอุปกรณ์ทำความสะอาด (การขัดถูหรือการใช้เครื่องล้างแรงดันสูงร่วมกับสารทำความสะอาด) เพื่อกำจัดสารอินทรีย์ คราบส่วนใหญ่นั้นเป็นสารอินทรีย์ในธรรมชาติและมีความเป็นกรด (อุจจาระ) ดังนั้นจึงแนะนำให้ใช้สารทำความสะอาดที่มีความเป็นด่าง 6 วันใน 7 วัน แล้วค่อยใช้สารทำความสะอาดที่มีความเป็นกรดสัปดาห์ละครั้งเพื่อกำจัดคราบแร่ธาตุ (แคลเซียม) เราควรใช้สารฆ่าเชื้อเมื่อพื้นผิวทั้งหมดได้รับการทำความสะอาดและล้างด้วยน้ำสะอาดแล้วเท่านั้นเนื่องจากสารฆ่าเชื้อส่วนใหญ่จะถูกทำให้หมดฤทธิ์ (inactivated) เมื่อมีสารอินทรีย์อยู่ การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดนั้นจะขึ้นกับสารก่อโรคที่ระบุได้หรือสงสัย ลักษณะพื้นผิวที่ต้องการทำความสะอาด/ฆ่าเชื้อ ความสะดวกในการใช้ผลิตภัณฑ์ และความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ต่อผู้ใช้ ความคงตัวของสารฆ่าเชื้อก็เป็นสิ่งที่มีความสำคัญเช่นกัน เนื่องจากผลิตภัณฑ์บางอย่างเช่น โซเดียมไฮโปคลอไรต์ (sodium hypochlorite) หรือสารฟอกขาวที่ใช้ในครัวเรือนนั้นหลังจากเจือจางจะสูญเสียความคงตัวไป (unstable) จึงควรเตรียมสารนี้ไว้ก่อนจะใช้ทำความสะอาดเพียงไม่นาน แต่ทั้งนี้ไม่มีผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดใดที่เหมาะสมใช้ได้กับทุกสถานการณ์

เทคนิคใหม่ในการประเมินสุขภาพระบบทางเดินอาหาร

ตัวบ่งชี้ทางชีวภาพของสุขภาพระบบทางเดินอาหาร

ดังที่กล่าวไว้ในข้างต้น อาการท้องเสียช่วงหย่านมนั้นมักเป็นผลมาจากปฏิกิริยาระหว่างโฮสต์/เชื้อก่อโรค/สิ่งแวดล้อม และงานวิจัยล่าสุดได้ศึกษามุ่งเน้นไปที่ตัวบ่งชี้ทางชีวภาพในระบบทางเดินอาหารและเลือดที่ไม่ส่งผลกระทบต่อตัวสัตว์ (non-invasive gastrointestinal and blood markers) โดยมีจุดประสงค์เพื่อประเมินปัจจัยบางอย่าง เช่น ความเครียด เชื้อก่อโรค การเปลี่ยนอาหาร การเปลี่ยนแปลงของจุลินทรีย์ที่อยู่ในลำไส้ (gut flora) ที่อาจจะส่งผลต่อสุขภาพของระบบทางเดินอาหาร ตัวบ่งชี้ทางชีวภาพของความสามารถในการซึมผ่านของลำไส้ (intestinal permeability) (α1-proteinase inhibitor) การอักเสบของลำไส้ (intestinal inflammation) (fecal calprotectin และ protein S100A12) การทำงานของเซลล์เอ็นเทโรไซต์ (enterocyte function) (citrulline) และภูมิคุ้มกันเฉพาะที่ (local immunity) (immunoglobulin A) นั้นได้รับการศึกษาในลูกสุนัขแล้ว และจากการศึกษาเบื้องต้นพบว่าลูกสุนัขที่มีปัญหาระบบทางเดินอาหาร (โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคพาร์โวไวรัสในสุนัข) นั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงของระดับตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ แต่ผลลัพธ์นั้นจะแตกต่างกันไปตามอายุและ/หรือสายพันธุ์ของสัตว์ ประโยชน์ของตัวบ่งชี้ทางชีวภาพเหล่านี้ในการวินิจฉัย (diagnosis) การพยากรณ์โรค (prognosis) และการเฝ้าติดตามอาการ (monitoring) ในลูกสุนัขที่มีอาการท้องเสียช่วงหย่านมนั้นยังคงต้องศึกษาเพิ่มเติมต่อไป แต่ในอนาคตตัวบ่งชี้ทางชีวภาพเหล่านี้น่าจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยจัดการปัญหาท้องเสียในช่วงหย่านมได้อย่างมีนัยสำคัญ

เมตาจีโนมิกส์กับเมตาโบโลมิกส์

ไมโครไบโอมในระบบทางเดินอาหาร (digestive microbiome) หรือจุลินทรีย์ประจำถิ่นในลำไส้ (intestinal microflora) นั้นมีบทบาทสำคัญต่อสุขภาพของสัตว์ทุกตัวโดยการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน มีอิทธิพลต่อโครงสร้างของระบบทางเดินอาหาร และมีส่วนช่วยในการป้องกันเชื้อก่อโรคหลัก (major pathogens) นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ทางโภชนาการต่อโฮสต์ ( เช่น การผลิตกรดไขมันสายสั้น (short-chain fatty acids)) การศึกษาความหลากหลายของไมโครไบโอมของแบคทีเรียนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งนี้เป็นเพราะการเพาะเลี้ยงแบคทีเรีย (bacterial culture) แบบปกตินั้นไม่สามารถที่จะระบุชนิดของจุลินทรีย์ (microorganisms) ทั้งหมดที่มีอยู่ในระบบทางเดินอาหารของสัตว์ได้ อย่างไรก็ตามมีเทคนิคใหม่ๆ (ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการจัดลำดับของ bacterial ribosomal RNA16S) ที่ทำให้สามารถระบุชนิดของแบคทีเรียในลำไส้ทั้งหมดได้ (microbiota) ซึ่งจะช่วยให้สัตวแพทย์มีความเข้าใจความซับซ้อนของจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหารได้ดียิ่งขึ้น

นอกจากการศึกษาเหล่านี้ ยังมีรายงานการวิจัยใหม่ๆเกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาระหว่างไมโครไบโอม (microbiome) กับโฮสต์ของมัน การวิเคราะห์เมตาบอไลท์ของแบคทีเรีย (bacterial metabolites) และเมตาบอไลท์ของโฮสต์ในของเหลวร่างกาย เช่น ซีรั่ม (serum) และปัสสาวะ (urine) ซึ่งเทคนิคนี้เรียกว่าเมตาโบโลมิกส์ (metabolomics) จะช่วยระบุปัญหาต่างๆรวมไปถึงปัญหาภาวะเสียสมดุลของชีวนิเวศจุลชีพในลำไส้ (intestinal dysbiosis) ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของข้อมูลสารเมตาบอไลท์ (metabolic profile) โดยรวมในสุนัขโตเต็มวัยที่มีอาการท้องเสียฉับพลัน (acute diarrhea) 30และการปรับเปลี่ยนไมโครไบโอมในสุนัขที่เป็นพาหะของเชื้อไกอาเดีย Giardia spp. ได้ 31 ถึงแม้ว่าเทคนิคดังกล่าวจะยังอยู่ในช่วงของการวิจัยแต่ในอนาคตการวิเคราะห์ไมโครไบโอมและเมตาโบโลมิกส์อาจจะเป็นประโยชน์ในการประเมินสุขภาพของระบบทางเดินอาหารของลูกสุนัขในช่วงหย่านมได้

 สรุป

คุณภาพของอุจจาระของสุนัขนั้นอาจได้รับอิทธิมาจากลักษณะของตัวสัตว์เอง (สายพันธุ์และอายุ) การติดเชื้อก่อโรคในระบบทางเดินอาหาร (enteropathogens) (ไวรัส พยาธิ แบคทีเรีย) และอาหาร (เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากการเปลี่ยนอาหารหรือคุณภาพอาหาร) ดังนั้นอาการท้องเสียช่วงหย่านมนั้นจึงเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน เพราะเป็นผลมาจากอิทธิพลและปฏิกิริยาระหว่างปัจจัยต่างๆ รวมถึงการจัดการกับปัญหานี้ยังต้องอาศัยแนวทางที่ครอบคลุมทั้งด้านโภชนาการ การติดเชื้อและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย สิ่งที่สำคัญที่สุดในการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาท้องเสียช่วงหย่านมคือต้องควบคุมโภชนาการด้วยความระมัดระวังเสมอ โดยควรให้อาหารที่สามารถย่อยได้ง่าย (highly digestible) และมีความชุ่มชื้นสูง (rehydratable) เพื่อให้มั่นใจว่าช่วงเปลี่ยนอาหารจากน้ำนมไปเป็นอาหารแข็งนั้นสามารถดำเนินการไปได้อย่างราบรื่น นอกจากนี้การแบ่งอาหารออกเป็นส่วนๆก็มีความสำคัญในการช่วยหลีกเลี่ยงอาการท้องเสียจากการกินมากเกินไป (overconsumption) โดยปริมาณอาหารที่ควรได้รับภายใน 1 วันควรแบ่งออกเป็นมื้อเล็กๆประมาณ 4 มื้อเพื่อให้ย่อยอาหารได้ง่ายขึ้น

กิตติกรรมประกาศ: ผู้เขียนบทความขอขอบคุณศาสตราจารย์ Sylvie Chastant-Maillard สำหรับการการพิสูจน์อักษรให้กับบทความนี้

 

พิเศษสำหรับสัตวแพทย์ไทย

เข้าทำเเบบทดสอบเพื่อสะสม VET-CE ภายในวันที่ 15 ก.พ. - 15 เม.ย. 2023

ทำเเบบทดสอบ VET-CE

แหล่งอ้างอิง

  1. Freeman LM, Abood SK, Fascetti AJ, et al. Disease prevalence among dogs and cats in the United States and Australia and proportions of dogs and cats that receive therapeutic diets or dietary supplements. J Am Vet Med Assoc 2006;229(4):531-534.
  2. Jones PH, Dawson S, Gaskell RM, et al. Surveillance of diarrhoea in small animal practice through the Small Animal Veterinary Surveillance Network (SAVSNET). Vet J 2014;201(3):412-418.
  3. Hubbard K, Skelly BJ, McKelvie J, et al. Risk of vomiting and diarrhoea in dogs. Vet Rec 2007;161(22):755-757.
  4. Tupler T, Levy JK, Sabshin SJ, et al. Enteropathogens identified in dogs entering a Florida animal shelter with normal feces or diarrhea. J Am Vet Med Assoc 2012;241(3):338-343.
  5. Grellet A, Chastant-Maillard S, Robin C, et al. Risk factors of weaning diarrhea in puppies housed in breeding kennels. Prev Vet Med 2014;117(1):260-265.
  6. Day MJ. Immune system development in the dog and cat. J Comp Pathol 2007;137 Suppl 1:S10-15.
  7. Grellet A, Feugier F, Chastant-Maillard S, et al. Validation of a fecal scoring scale in puppies during the weaning period. Prev Vet Med 2012;106(3-4):315-323.
  8. Fleming, JM, Creevy KE, Promislow DE. Mortality in North American dogs from 1984 to 2004: an investigation into age-, size-, and breed-related causes of death. J Vet Intern Med 2011;25(2):187-198.
  9. Inpankaew T, Traub R, Thompson RCA, et al. Canine parasitic zoonoses in Bangkok temples. Southeast Asian J Trop Med Public Health 2007;38(2):247-255.
  10. Schulz BS, Strauch C, Mueller RS, et al. Comparison of the prevalence of enteric viruses in healthy dogs and those with acute haemorrhagic diarrhoea by electron microscopy. J Small Anim Pract 2008;49(2):84-88.
  11. Hackett T, Lappin MR. Prevalence of enteric pathogens in dogs of North-central Colorado. J Am Anim Hosp Assoc 2003;39(1):52-56.
  12. Rice JB, Winters KA, Krakowka S, et al. Comparison of systemic and local immunity in dogs with canine parvovirus gastroenteritis. Infect Immun 1982;38(3):1003-1039.
  13. Decaro N, Campolo M, Lorusso A, et al. Experimental infection of dogs with a novel strain of canine coronavirus causing systemic disease and lymphopenia. Vet Microbiol 2008;128(3-4):253-260.
  14. Lindsay DS, Dubey JP, Blagburn BL. Biology of Isospora spp. from humans, non-human primates, and domestic animals. Clin Microbiol Rev 1997;10(1):19-34.
  15. Appel MJG. Does canine coronavirus augment the effects of subsequent parvovirus infection? Vet Med 1988;360-366.
  16. Grellet A, De Battisti C, Feugier A, et al. Prevalence and risk factors of astrovirus infection in puppies from French breeding kennels. Vet Microbiol 2012;157(1-2):214-219.
  17. Ntafis V, Xylouri E, Radogna A, et al. Outbreak of canine norovirus infection in young dogs. J Clin Microbiol 2010;48(7):2605-2608.
  18. Grellet A, Polack B, Feugier A, et al. Prevalence, risk factors of infection and molecular characterization of trichomonads in puppies from French breeding kennels. Vet Parasitol 2013;197(3-4):418-426.
  19. Gookin JL, Birkenheuer, AJ, St John V, et al. Molecular characterization of trichomonads from feces of dogs with diarrhea. J Parasitol 2005;91(4):939-943.
  20. Caddy S, Goodfellow I. Complete genome sequence of canine astrovirus with molecular and epidemiological characterisation of UK strains. Vet Micro 2015;177:206-213.
  21. Stehr-Green JK, Murray G, Schantz P, et al. Intestinal parasites in pet store puppies in Atlanta. Am J Pub Health 1987;77:345-346.
  22. Barutzki D, Schaper R. Results of parasitological examinations of faecal samples from cats and dogs in Germany between 2003 and 2010. Parasitol Res 2011;109 Suppl 1:S45-60.
  23. Morley PS, Strohmeyer RA, Tankson JD, et al. Evaluation of the association between feeding raw meat and Salmonella enterica infections at a Greyhound breeding facility. J Am Vet Med Assoc 2006;228(10):1524- 1532.
  24. Markovich JE, Stucker KM, Carr AH, et al. Effects of canine parvovirus strain variations on diagnostic test results and clinical management of enteritis in dogs. J Am Vet Med Assoc 2012;241(1):66-72.
  25. Desario C, Decaro N, Campolo M, et al. Canine parvovirus infection: which diagnostic test for virus? J Virol Methods 2005;126(1-2):179-185.
  26. Schmitz S, Coenen C, Matthias K, et al. Comparison of three rapid commercial canine parvovirus antigen detection tests with electron microscopy and polymerase chain reaction. J Vet Diagn Invest 2009;21(3):344-345.
  27. Mohr AJ, Leisewitz AL, Jacobson LS, et al. Effect of early enteral nutrition on intestinal permeability, intestinal protein loss, and outcome in dogs with severe parvoviral enteritis. J Vet Intern Med 2003;17(6):791-798.
  28. Brown AJ, Otto CM. Fluid therapy in vomiting and diarrhea. Vet Clin North Am Small Anim Pract 2008;38(3):653-675,xiii.
  29. De Cramer KG, Stylianides E, van Vuuren M. Efficacy of vaccination at 4 and 6 weeks in the control of canine parvovirus. Vet Microbiol 2011;149(1-2):126-132.
  30. Guard BC, Barr JW, Reddivari L, et al. Characterization of microbial dysbiosis and metabolomic changes in dogs with acute diarrhea. PLoS One 2015;10(5);e0127259.
  31. Šlapeta J, Dowd SE, Alanazi AD, et al. Differences in the faecal microbiome of non-diarrhoeic clinically healthy dogs and cats associated with Giardia duodenalis infection: impact of hookworms and coccidia. Int J Parasit 2015;45(9-10):585-594.
Aurélien Grellet

Aurélien Grellet

Aurélien Grellet, ศูนย์วิจัยและพัฒนา, Royal Canin, Aimargues, France อ่านเพิ่มเติม

บทความอื่นๆ ในประเด็นนี้

หมายเลขหัวข้อ 26.1 เผยแพร่แล้ว 24/10/2022

อุบัติการณ์ของโรคที่เป็นมาแต่กำเนิดในลูกสุนัข

การมีลูกสุนัขเพิ่มมาเป็นสมาชิกในบ้านเป็นประสบการณ์ที่สนุกและน่าตื่นเต้นสำหรับคนในครอบครัว ...

โดย Emi Kate Saito และ Catherine Rhoads

หมายเลขหัวข้อ 26.1 เผยแพร่แล้ว 20/11/2021

นมน้ำเหลืองในสุนัข

ระยะแรกคลอดเป็นช่วงที่มีความเสี่ยงสูงในสุนัขเนื่องจากร้อยละ 20 ของลูกสุนัขจะเสียชีวิตก่อนที่จะมีอายุได้ 21 วันโดย...

โดย Sylvie Chastant และ Hanna Mila

หมายเลขหัวข้อ 26.1 เผยแพร่แล้ว 15/03/2021

อุบัติการณ์ของโรคที่เป็นมาแต่กำเนิดในลูกสุนัข

การมีลูกสุนัขเพิ่มมาเป็นสมาชิกในบ้านเป็นประสบการณ์ที่สนุกและน่าตื่นเต้นสำหรับคนในครอบครัว

โดย Emi Kate Saito และ Catherine Rhoads

หมายเลขหัวข้อ 26.1 เผยแพร่แล้ว 11/03/2021

โรคผิวหนังในลูกสุนัข

โรคผิวหนังในลูกสุนัขมีมากมายและมีสาเหตุการเกิดโรคที่ต่างกันไป

โดย Robert Kennis