วารสารเชิงวิชาการและการรักษาสัตวป่วยเพื่อผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์
วารสารเชิงวิชาการและการรักษาสัตวป่วยเพื่อผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์

หมายเลขหัวข้อ 31.2 Other Scientific

การรักษาโรคขี้เรื้อนเปียกในสุนัขด้วย isoxazolines

เผยแพร่แล้ว 07/09/2022

เขียนโดย Vincent E. Defalque

สามารถอ่านได้ใน Français , Deutsch , Italiano , Română , Español , English และ 한국어

ในช่วงที่ผ่านมาได้มีสารเคมีชนิดใหม่หลายชนิดถูกนำมาใช้เพื่อการป้องกันปรสิตภายภายนอก สัตวแพทย์ Vincent E. Defalque ได้เขียนบทความนี้ขึ้นเพื่อทำความรู้จักกับ isoxazolines ซึ่งเป็นหนึ่งในยาชนิดใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงกับการนำมาใช้รักษาโรคขี้เรื้อนเปียกในสุนัข (แปลโดย น.สพ. พีระ มานิตยกุล)

วันที่ 44; เคนนีปรากฏขนขึ้นเต็มตัว

ประเด็นสำคัญ

Isoxazolines เป็นกลุ่มยาป้องกันปรสิตภายนอกกลุ่มใหม่ที่นำมาใช้ในวงการสัตวแพทย์โดยมีรายงานถึงประสิทธิภาพที่ดี มีความปลอดภัยและผลข้างเคียงค่อนข้างน้อย

 


Isoxazolines แสดงผลที่น่าประทับใจในการรักษาขี้เรื้อนเปียกในสุนัข (canine demodicosis) ช่วงที่ผ่านมาและน่าจะเป็นแนวทางรักษาหลักสำหรับโรคนี้ต่อไปอีกในระยะยาว


บทนำ

Isoxazolines เป็นกลุ่มยาป้องกันปรสิตภายนอกกลุ่มใหม่ที่ออกวางจำหน่ายในแคนาดาเมื่อปี 2014 โดยมีตัวยาที่ขึ้นทะเบียนในช่วงแรกคือ afoxolaner และ fluralaner รูปแบบยาเม็ดเพื่อการป้องกันเห็บและหมัดในสุนัขเท่านั้น จากรายงานอย่างไม่เป็นทางการพบว่าตัวยาสามารถออกฤทธิ์ในการกำจัดปรสิตภายนอกชนิดอื่นด้วยแต่ในขณะนั้นยังขาดหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนประสิทธิภาพของยาเมื่อใช้ off-label เพื่อการกำจัดปรสิตภายนอกชนิดอื่นในสุนัขเช่น ไรขี้เรื้อนขุมขน(demodex mite) แต่ในเวลาต่อมาได้มีรายงานเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น ภายในบทความนี้จะกล่าวถึงความเป็นมาของ isoxazolines และประสิทธิภาพต่อไรขี้เรื้อนขุมขน

 

ไรขี้เรื้อนขุมขนในสุนัข

ไรขี้เรื้อนขุมขนหรือขี้เรื้อนเปียกในสุนัข(canine demodicosis) เกิดจากการเพิ่มจำนวนของไร Demodex spp. เป็นโรคผิวหนังที่พบได้บ่อยทั่วโลก มีแนวทางการวินิจฉัยและรักษาที่หลากหลาย ข้อมูลต่างๆสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จาก WAVD Clinical Consensus Guidelines * ทั้งพยาธิสรีรวิทยา การวินิจฉัยและการรักษา 1 ก่อนที่จะมีการค้นพบตัวยาใหม่ สัตวแพทย์หลายคนใช้ ivermectin เป็นตัวเลือกแรกในการรักษาซึ่งเป็นยาที่ห่างไกลจากความเป็น drug-of-choice ในอุดมคติ

การมาถึงของกลุ่มยา isoxazolines ได้เปลี่ยนแนวคิดข้างต้น สัตวแพทย์ทุกคนย่อมมีกรณีตัวอย่างที่ประทับใจ สำหรับผู้เขียนบทความเป็นสุนัขพันธุ์ Australian shepherd อายุ 6 เดือน เพศผู้ยังไม่ได้ทำหมัน ชื่อ Kenny มาที่สถานพยาบาลสัตว์ในเดือนกันยายนปี 2015 ด้วยอาการโรคผิวหนังที่รุนแรงซึ่งได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นขี้เรื้อนเปียก(demodicosis) รอยโรคส่วนใหญ่พบที่ใบหน้า(รูป 1) แต่มีการติดเชื้อชนิดทุติยภูมิที่ผิวหนัง( secondary pyoderma) โดยเชื้อแบคทีเรีย methicillin-resistant Staphylococcus pseudintermediusอาการคันที่รุนแรงจากผิวหนังอักเสบส่งผลให้ Kenny ต้องใส่ Elizabethan collar ตลอด 24 ชั่วโมงจากการเกาขนร่วงบริเวณรอบปากและรอบดวงตา ผู้เขียนไม่เชื่อในตอนแรกว่าการให้ยากินเพียงครั้งเดียวสำหรับสุนัขที่ป่วยด้วยขี้เรื้อนเปียกจะทำให้หายจากการติดเชื้อปรสิตและอาการทางผิวหนังได้เมื่อเทียบกับการที่ให้สุนัขกิน ivermectin ทุกวันติดต่อกันหลายสัปดาห์ถึงจะเริ่มเห็นผลการรักษา อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาจากอายุและพันธุ์ของสุนัขที่ได้ชื่อว่ามีความไวต่อไรขี้เรื้อนขุมขนทำให้เป็นโอกาสที่ดีในการทดสอบประสิทธิภาพของยา fluralaner ในการจัดการไรขี้เรื้อนขุมขนโดยการกินเพียงครั้งเดียว สิ่งที่พบในการนัดตรวจร่างกายครั้งถัดมาทำให้ผู้เขียนรู้สึกตื่นเต้นมาก รอยโรคที่ผิวหนังหายไปหมดภายใน 44 วัน(รูป 2) บ่งบอกถึงประสิทธิภาพที่ดีของยารวมถึงการไม่มีผลข้างเคียง สิ่งนี้ส่งผลให้เกิดสองคำถามตามมา ประการแรกคือเราสามารถหลีกเลี่ยงการใช้ ivermectin ซึ่งก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่อันตรายในบางครั้งได้หรือไม่ ประการที่สองคือยากลุ่ม isoxazolines จะเป็นตัวแปรสำคัญในการรักษาขี้เรื้อนเปียกในสุนัขโดยเฉพาะในสถานพักพิงชั่วคราวและเขตชุมชนที่มีข้อจำกัดในการเข้ารับบริการทางสัตวแพทย์ได้หรือไม่ คำตอบคือสามารถกระทำได้และจากการที่ยากลุ่มนี้ให้ผลที่ยอดเยี่ยมในการรักษาขี้เรื้อนเปียกในสุนัขส่งผลให้มีโอกาสจะเป็นทางเลือกหลักในการรักษาไปอีกนาน สัตวแพทย์สามารถหยุดการใช้ ivermectin เพื่อการรักษาขี้เรื้อนเปียกได้แล้ว

 

* https://wavd.org/continuing-education/consensus-guidelines

 

Kenny ที่ day 0 หรือวันแรกที่เข้ารับการรักษาโดยการป้อน fluralaner

รูป 1 Kenny ที่ day 0 หรือวันแรกที่เข้ารับการรักษาโดยการป้อน fluralaner © Vincent E. Defalque

วันที่ 44 หลังได้รับยาพบว่า Kenny มีขนขึ้นเต็มใบหน้า

รูป 2 วันที่ 44 หลังได้รับยาพบว่า Kenny มีขนขึ้นเต็มใบหน้า © Vincent E. Defalque

 

ยากลุ่ม Isoxazolines

กลุ่ม isoxazolines ประกอบไปด้วยตัวยาหลายชนิดซึ่งรวมถึง afoxolaner fluralaner lotilaner และ sarolaner 2 สารเคมีเหล่านี้มีรูปแบบการทำงานที่แปลกใหม่ในการยับยั้ง ligand-gated chloride channel ของแมลงและไรโดยจับกับตัวรับของ gamma-aminobutyric acid (GABA) และ glutamate ทำให้การดูดซึม chloride ที่ควบคุมโดย GABA และ glutamate เกิดความผิดปกติ ผลลัพธ์คือการกระตุ้นทางระบบประสาทที่มากจนเกินไปส่งผลให้ปรสิตถึงแก่ความตาย 3.

ผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม isoxazolines ที่มีวางจำหน่ายในปัจจุบันมีทั้งรูปแบบยากินและยาหยอดหลังโดยในช่วงแรกจะมีตัวยาออกฤทธิ์เพียงชนิดเดียว ในหลายประเทศมีการขึ้นทะเบียนยาเพื่อการป้องกันและกำจัดเห็บหมัดเท่านั้น แต่ในบางประเทศได้มีการเพิ่มโรคอื่นในสุนัขเข้าไปด้วยเช่น ขี้เรื้อนเปียกในสุนัข(demodicosis) ขี้เรื้อนแห้ง(scabies) และไรในช่องหู นอกจากนี้ในช่วงหลังยังมีผลิตภัณฑ์ที่มีการผสม isoxazolines กับกลุ่ม macrocyclic lactone และอาจมี pyrantel pamoate ร่วมด้วยซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเพื่อการป้องกันและกำจัดเห็บหมัด รวมถึงปรสิตภายนอกและภายในอื่นๆ 

ปัจจุบัน isoxazolines ได้มีการวางจำหน่ายในหลายประเทศ การทบทวนรายงานผลการใช้น่าจะเป็นประโยชน์แก่สัตวแพทย์ การศึกษาที่ได้รับการตีพิมพ์ 18 ชิ้นพบว่า isozaxolines ที่มีวางจำหน่าย 4 ชนิดให้ผลในการกำจัดไร Demodex spp. ดีมาก ประสิทธิภาพของยา afoxolaner โดยการกินที่ประเมินในสุนัข 253 ตัวจากการศึกษา 7 ชิ้น 456 78910 และยา fluralaner โดยการกินและการหยอดหลังในสุนัข 371 ตัวจากการศึกษา 8 ชิ้น 111213 1415161718 ผลการศึกษาอยู่ในตารางที่ 1 และ 2 ตามลำดับ มีการศึกษา 1 ชิ้นที่ประเมินผลของ lotilaner โดยการกิน สุนัขจะได้รับยา lotilaner ทั้งหมด 3 ครั้งห่างกันครั้งละ 28 วัน (20 mg/kg PO) พบว่าทั้งหมดมีภาวะปลอดไรขี้เรื้อนที่ 70 วันโดยไม่พบผลข้างเคียงจากยา 19 นอกจากนี้ยังมีการทดลองที่มีกลุ่มควบคุมอีก 2 เรื่องเพื่อดูประสิทธิภาพของ sarolaner ในการทดลองหนึ่งทำการให้ยา sarolaner เพียงอย่างเดียวแก่สุนัข 8 ตัวขนาด 2 mg/kg PO เป็นเวลา 3 ครั้งห่างกันครั้งละ 30 วัน สุนัขอีกกลุ่มจำนวน 8 ตัวได้รับยาหยดหลังที่ประกอบด้วย imidacloprid และ moxidectin สัปดาห์ละ 1 ครั้ง 20 สุนัขทุกตัวพบว่ามีภาวะปลอดไรขี้เรื้อนที่ 44 วันโดยไม่พบผลข้างเคียงจากยาแต่ sarolaner โดยการกินดูมีประสิทธิภาพดีกว่ายาอีกกลุ่มหนึ่ง ในการศึกษาอีกชิ้นแบบ non-inferiority ทำการเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์แบบเดียวกัน 21 สุนัข 53 ตัวได้รับยา sarolaner ขนาด 2-4 mg/kg PO ห่างกัน 30 วัน โดยสุนัขททุกตัวเข้าสู่ภาวะปลอดไรขี้เรื้อนที่ 150 วัน ในขณะที่สุนัขอีก 28 ตัวได้รับการหยดหลังด้วย imidacloprid - moxidectin สัปดาห์ละครั้งหรือเดือนละครั้ง สุนัขกลุ่มที่ได้รับยา sarolaner ไม่พบผลข้างเคียงจากยาและประสิทธิภาพของยากินดีกว่ายาหยดหลัง

 

ตารางที่ 1 การศึกษาประสิทธิภาพของ afoxolaner
รูปแบบการศึกษาและการอ้างอิง  ขั้นตอนการรักษาและผล
การทดลองแบบมีกลุ่มควบคุม (สุนัข 8 ตัว) 4 
3 ครั้งห่างกันครั้งละ 14 วัน และครั้งที่ 4 ห่างจากครั้งที่ 3 28 วัน ( ≥2.5 mg/kg PO)
เข้าสู่ภาวะปลอดไรขี้เรื้อนที่ 84 วัน
ไม่พบผลข้างเคียง
สุนัขอีก 8 ตัวได้รับการหยดหลังด้วย imidacloprid-moxidectin ระยะห่างเท่ากับ afoxolaner
Isoxazolines มีประสิทธิภาพดีกว่ายาหยดหลัง
ชุดกรณีสัตว์ป่วย(case series) 4 ตัว 5 
3 ครั้งห่างกันครั้งละ 28 วัน ( ≥2.5 mg/kg PO)
เข้าสู่ภาวะปลอดไรขี้เรื้อนที่ 56 วัน
ไม่พบบันทึกผลข้างเคียงจากยา
ชุดกรณีสัตว์ป่วย(case series) 102 ตัวซึ่งไม่ได้ตีพิมพ์ 6
ให้ยาทุก 2 ถึง 4 สัปดาห์( ≥2.5 mg/kg PO)
เข้าสู่ภาวะปลอดไรขี้เรื้อนที่ 90 วัน
ไม่พบบันทึกผลข้างเคียงจากยา
ชุดกรณีสัตว์ป่วย(case series) 6 ตัว 7
ให้ยา 1 2 หรือ 3 ครั้งห่างกัน 21 28 35 และ 42 วัน(2.7-5.6 mg/kg PO)
เข้าสู่ภาวะปลอดไรขี้เรื้อนที่ 77 วัน
ไม่พบผลข้างเคียงจากยา
ชุดกรณีสัตว์ป่วย(case series) 15 ตัว 8
ให้ยา afoxolaner ร่วมกับ milbemycin oxime
3 ครั้งห่างกันครั้งละ 28 วัน (2.5-6.3 mg/kg PO)
เข้าสู่ภาวะปลอดไรขี้เรื้อนร้อยละ 99.9 ที่ 84 วัน
ไม่พบผลข้างเคียงจากยา
ชุดกรณีสัตว์ป่วย(case series) 50 ตัว 9
ให้ยา afoxolaner 31 ตัว และ afoxolanerร่วมกับ milbemycin oxime 19 ตัว
3 ครั้งห่างกันครั้งละ 28 วัน (2.5-2.7 mg/kg PO)
เข้าสู่ภาวะปลอดไรขี้เรื้อนร้อยละ 98 ที่ 84 วัน
พบผลข้างเคียงคือการอาเจียนในสุนัข 1 ตัว
ชุดกรณีสัตว์ป่วย(case series) 68 ตัว 10
ให้ยา afoxolanerร่วมกับ milbemycin oxime
ให้ยาเพียงครั้งเดียว (2.50-5.36 mg/kg PO)
ไรขี้เรื้อนลดลงร้อยละ 82.4 ที่ 28 วัน
ไม่พบบันทึกเกี่ยวกับผลข้างเคียง

 

ตารางที่ 2 การศึกษาประสิทธิภาพของ fluralaner
รูปแบบการศึกษาและการอ้างอิง ขั้นตอนการรักษาและผล
การทดลองแบบมีกลุ่มควบคุม(สุนัข 8 ตัว) 11 
ให้ยาครั้งเดียว( ≥ 25 mg/kg PO)
เข้าสู่ภาวะปลอดไรที่ 56 วัน
ไม่มีผลข้างเคียง
สุนัขอีก 8 ตัวได้รับการรักษาด้วยยาหยดหลัง imidacloprid – moxidectin 3 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 28 วัน
Fluralaner รูปแบบยากินให้ผลดีกว่ายาหยดหลัง imidacloprid-moxidectin
ชุดกรณีสัตว์ป่วย สุนัข 163 ตัว 12
ให้ยาครั้งเดียว( ≥ 25 mg/kg PO)
เข้าสู่ภาวะปลอดไรที่ 60 วัน
ไม่พบผลข้างเคียง
ชุดกรณีสัตว์ป่วย สุนัข 4 ตัว 13
ให้ยา 2 ครั้งห่างกัน 60 วัน( ≥ 25 mg/kg PO)
ไรขี้เรื้อนลดลงร้อยละ 98 ที่ 90 วัน
ไม่พบผลข้างเคียง
รายงานสัตว์ป่วย สุนัข 1 ตัว 14
ให้ยาครั้งเดียว
เข้าสู่ภาวะปลอดไรขี้เรื้อน (Demodex injai) ที่ 49 วัน
ไม่พบบันทึกผลข้างเคียง
ชุดกรณีสัตว์ป่วย สุนัข 67 ตัว 15
ให้ยา 1-3 ครั้งห่างกัน 84 วัน( 25-50 mg/kg PO)
เข้าสู่ภาวะปลอดไรที่ 90 วัน
ไม่พบผลข้างเคียง
ชุดกรณีสัตว์ป่วย สุนัข 20 ตัว 16 
ให้ยา 1 ครั้ง( 25-56 mg/kg PO)
เข้าสู่ภาวะปลอดไรที่ 56 วัน
ไม่พบผลข้างเคียง
การทดลองแบบมีกลุ่มควบคุม(สุนัข 8 ตัว) 17 
ให้ยาหยดหลังครั้งเดียว( ≥ 25 mg)
เข้าสู่ภาวะปลอดไรที่ 84 วัน
ไม่มีผลข้างเคียง
สุนัขอีก 8 ตัวได้รับการรักษาด้วยยาหยดหลัง imidacloprid – moxidectin ทุกสัปดาห์หรือทุกเดือนเป็นเวลา 84 วัน
Fluralaner รูปแบบยาหยดหลังให้ผลดีกว่า imidacloprid-moxidectin ชนิดหยดหลัง
การทดลองแบบมีกลุ่มควบคุม(สุนัข 100 ตัว)
18 
ให้ยาหยดหลังหรือยากินครั้งเดียว( 25-56 mg/kg)
สุนัขที่ได้รับยากินเข้าสู่ภาวะปลอดไรที่ 84 วัน ส่วนสุนัขที่ได้รับยาหยดหลังร้อยละ 98 เข้าสู่ภาวะปลอดไรที่ 84 วัน
ไม่มีผลข้างเคียง
สุนัขอีก 24 ตัวได้รับการรักษาด้วยยาหยดหลัง imidacloprid – moxidectin ทุกสัปดาห์หรือทุกเดือนเป็นเวลา 84 วัน
Fluralaner รูปแบบยาหยดหลังและยากินให้ผลดีกว่า imidacloprid-moxidectin ชนิดหยดหลัง
Vincent E. Defalque

isoxazolines เป็นยาที่จะมาเปลี่ยนโฉมรูปแบบการรักษาขี้เรื้อนเปียกในสุนัข(canine demodicosis) ทำให้สัตวแพทย์สามารถเลิกใช้ยา ivermectin ในการรักษาที่อาจเกิดผลข้างเคียงซึ่งมีความรุนแรงได้

Vincent E. Defalque

 

แนวทางในการรักษาขี้เรื้อนเปียกในสุนัข

สัตวแพทย์ควรปฏิบัติตามคำแนะนำการใช้ยาโดยใช้ในขนาดที่แนะนำสำหรับการป้องกันเห็บหมัดเมื่อใช้ isoxazolines ในการรักษาขี้เรื้อนเปียกโดยพิจารณาตามอายุและน้ำหนักของสุนัข ผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในรูปแบบยากินบางชนิดอาจมี bioavailability ลดลงหากสัตว์อดอาหารก่อนได้รับยา ดังนั้นการให้ fluralaner และ lotilaner ควรให้พร้อมอาหาร ระดับของ afoxolaner และ sarolaner ในพลาสมานั้นไม่มีความแตกต่างกันระหว่างการให้ยาพร้อมอาหารหรือแยกจากมื้ออาหาร ตัวเลือกแรกของผู้เขียนบทความในการรักษาคือใช้ fluralaner รูปแบบยาหยดหรือยากินเพียง 1 ครั้ง สาเหตุที่ใช้วิธีนี้เพราะหลักฐานเกี่ยวกับประสิทธิภาพที่สูงซึ่งได้มาจากการทดลองแบบที่มีกลุ่มควบคุมหลายการทดลองมากกว่าผลิตภัณฑ์ตัวอื่น อีกประการหนึ่งคือการที่ fluralaner มีการออกฤทธิ์ที่ยาวนานถึง 12 สัปดาห์มีความสัมพันธ์กับความร่วมมือจากเจ้าของสุนัขในการให้ยามากขึ้นเมื่อเทียบกับการให้ยาทุกเดือน 22 ทางเลือกอื่นในการรักษาได้แก่การให้ afoxolaner รูปแบบยากินเดือนละครั้ง(หรือผลิตภัณฑ์ที่มี afoxolaner ควบคู่กับ milbemycin oxime) เป็นเวลา 3 เดือน วิธีนี้ยังสามารถใช้ได้กับ sarolaner รูปแบบยากิน (หรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของ sarolaner /moxidectin/pyrantel embonate) และ lotilanerในกรณีส่วนมากมักไม่จำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะทางระบบ การใช้เพียงยาปฏิชีวนะเฉพาะที่ร่วมกับยาฆ่าไรมักเพียงพอต่อการรักษายกเว้นในกรณีที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียรุนแรง 1

ข้อควรระวังเมื่อทำการรักษาขี้เรื้อนเปียกด้วยกลุ่ม isoxozalines คือความแตกต่างของการขึ้นทะเบียนยาในแต่ละประเทศ สัตวแพทย์ต้องคำนึงถึงข้อมูลดังกล่าวเมื่อสั่งจ่ายยาสำหรับการรักษาขี้เรื้อนเปียกในประเทศที่จัดว่าวิธีดังกล่าวถือเป็น extra-label use ซึ่งจะสามารถใช้ isoxazolines ในการรักษาขี้เรื้อนเปียกได้ก็ต่อเมื่อยาที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเพื่อการรักษาขี้เรื้อนเปียกไม่สามารถรักษาให้หายจากโรคได้หรือสุนัขมีข้อห้ามที่ไม่สามารถใช้ยาดังกล่าวได้ 1 นอกจากนี้ภาวะขี้เรื้อนเปียกในสุนัขที่เริ่มตอนโตมักเกี่ยวข้องกับภาวะกดภูมิคุ้มกันหรือโรคอื่นๆที่เกิดร่วมกันทำให้การกลับมาเป็นซ้ำเกิดขึ้นได้ไม่ว่าจะใช้ผลิตภัณฑ์ใดในการรักษา สุนัขที่ได้รับการรักษาขี้เรื้อนเปียกแบบทั่วตัว(generalized demodicosis) ควรทำการตรวจร่างกายและขูดตรวจผิวหนังทุกเดือนจนกว่าจะขูดตรวจไม่พบไรขี้เรื้อนเป็นครั้งที่ 2 ควรทำการติดตามอาการอย่างน้อย 12 เดือนหลังหยุดการรักษาเพื่อที่จะประกาศได้ว่าสุนัขหายจากขี้เรื้อนเปียกโดยสมบูรณ์ 1 สุดท้ายคือแม้ว่า isoxazolines จะมีความปลอดภัยค่อนข้างสูง แต่มีโอกาสที่จะเกิดผลข้างเคียงได้เช่น อาเจียน ถ่ายเหลว เบื่ออาหาร อ่อนแรงและชัก สัตวแพทย์ควรระมัดระวังในการใช้ยากลุ่มนี้กับสุนัขที่เคยมีประวัติการชักหรืออาการของโรคทางระบบประสาท การใช้ isoxazolines ควรใช้กับสัตว์ป่วยตามความเหมาะสมและอยู่ใต้การดูแลของสัตวแพทย์

 

สรุป

isoxazolines ที่เปิดตัวในฐานะยาป้องกันปรสิตภายนอกได้กลายมาเป็นแนวทางใหม่ที่มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูงในการรักษาขี้เรื้อนเปียกซึ่งเป็นโรคที่มีความยากในการรักษาและสร้างความวิตกกังวลโดยมีความถี่ในการให้ยาต่ำ สัตวแพทย์สามารถมองข้ามการใช้ ivermectin ในการรักษาและมีความมั่นใจมากยิ่งขึ้นในการเลือกผลิตภัณฑ์ที่จะส่งผลดี่ที่สุดแก่สุนัข สิ่งที่ควรระวังคือการขึ้นทะเบียนยาในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันทำให้สัตวแพทย์ต้องระมัดระวังในการสั่งจ่ายยาเพื่อการรักษาโรค

พิเศษสำหรับสัตวแพทย์ไทย

เข้าทำเเบบทดสอบเพื่อสะสม VET-CE ภายในวันที่ 10 ก.ย. - 30พ.ย. 2022


ทำแบบทดสอบ VET-CE

แหล่งอ้างอิง

  1. Mueller RS, Rosenkrantz W, Bensignor E, et al. Diagnosis and treatment of demodicosis in dogs and cats. Vet Dermatol 2020;31:4-e2. https://doi.org/10.1111/vde.12806 

  2. Weber T, Selzer PM. Isoxazolines: a novel chemotype highly effective on ectoparasites. Chem Med Chem 2016;11:270-276.

  3. Lahm GP, Cordova D, Barry JD, et al. 4-Azolylphenyl isoxazoline insecticides acting at the GABA gated chloride channel. Bioorg Med Chem Lett 2013;23:3001-3006.

  4. Beugnet F, Halos L, Larsen D, et al. Efficacy of oral afoxolaner for the treatment of canine generalised demodicosis. Parasite 2016;23:14.

  5. Chávez F. Case report of afoxolaner treatment for canine demodicosis in four dogs naturally infected with Demodex canis. Int J Appl Res Vet Med 2016;14(2):123-127.

  6. Mueller RS, Shipstone MA. Update on the diagnosis and treatment of canine demodicosis (workshop report). In: Torres SMF, Roudebush P (eds.) Advances in Veterinary Dermatology, Vol 8. Wiley Online Books 2017:206.

  7. Iijima Y, Itoh Naoyuki, Kimura Y. Efficacy of afoxolaner in six cases of canine demodicosis. Jpn J Vet Dermatol 2018;24:83-87. 

  8. Murayama N, Oshima Y. Efficacy of oral afoxolaner for the treatment of canine generalized demodicosis in Japan. Vet Dermatol 2018;29:269-270.

  9. Lebon W, Beccati M, Bourdeau P, et al. Efficacy of two formulations of afoxolaner (NexGard and NexGard Spectra) for the treatment of generalised demodicosis in dogs, in veterinary dermatology referral centers in Europe. Parasit Vectors 2018;11:506.

  10. Romero-Núñez C, Guiliana Bautista-Gómez L, Sheinberg G, et al. Efficacy of afoxolaner plus milbemycin oxime in the treatment of canine demodicosis. IJARVM 2019;17(1):35-41.

  11. Fourie JJ, Liebenberg JE, Horak IG, et al. Efficacy of orally administered fluralaner (Bravecto) or topically applied imidacloprid/moxidectin (Advocate) against generalized demodicosis in dogs. Parasit Vectors 2015;8:187. 

  12. Karas-Tecza J, Dawidowicz J. Efficacy of fluralaner for the treatment of canine demodicosis. Vet Dermatol 2015;26:307.

  13. Arias PT, Cordero AM. Effectiveness of fluralaner (Bravecto MSD) in treating generalized demodicosis in four dogs. Vet Dermatol 2016;27(S1):112.

  14. Benito MM, Sastre N, Ravera I. A case of demodicosis (Demodex injai) treated with a novel isoxazoline. In; Proceedings, Southern European Veterinary Conference 2017 (abstract).

  15. Duangkaew L, Larsuprom L, Anukkul P, et al. A field trial in Thailand of the efficacy of oral fluralaner for the treatment of dogs with generalized demodicosis. Vet Dermatol 2018;29:208-e74. 

  16. Djuric M, Milcic Matic N, Davitkov D, et al. Efficacy of oral fluralaner for the treatment of canine generalized demodicosis: a molecular-level confirmation. Parasit Vectors 2019;12(1):270.

  17. Fourie JJ, Meyer L, Thomas E. Efficacy of topically administered fluralaner or imidacloprid/moxidectin on dogs with generalised demodicosis. Parasit Vectors 2019;12:59.

  18. Petersen I, Chiummo R, Zschiesche E, et al. A European field assessment of the efficacy of fluralaner (Bravecto) chewable and spot-on formulations for treatment of dogs with generalized demodicosis. Parasit Vectors 2020;13(1):304. 

  19. Snyder DE, Wiseman S, Liebenberg JE. Efficacy of lotilaner (Credelio), a novel oral isoxazoline against naturally occurring mange mite infestations in dogs caused by Demodex spp. Parasit Vectors 2017;10:532.

  20. Six RH, Becskei C, Mazaleski MM, et al. Efficacy of sarolaner, a novel oral isoxazoline, against two common mite infestations in dogs: Demodex spp. and Otodectes cynotis. Vet Parasitol 2016;222:62-66.

  21. Becskei C, Cuppens O, Mahabir SP. Efficacy and safety of sarolaner against generalized demodicosis in dogs in European countries: a non-inferiority study. Vet Dermatol 2018;29:203-e72.

  22. Lavan R, Armstrong R, Tunceli K, et al. Dog owner flea/tick medication purchases in the USA. Parasit Vectors 2018;11:581.

Vincent E. Defalque

Vincent E. Defalque

North West Veterinary Dermatology Services, Vancouver, BC, Canada อ่านเพิ่มเติม

บทความอื่นๆ ในประเด็นนี้

หมายเลขหัวข้อ 31.2 เผยแพร่แล้ว 11/02/2023

การติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยากลุ่ม Staphylococcus ที่ผิวหนัง

การจัดการกับการติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยากลุ่ม Staphylococcus ทางสัตวแพทย์ถือว่ามีความยากในระดับหนึ่ง แต่ปัญหาต่างๆนั้นสามารถจัดการได้อย่างเป็นขั้นตอนตามคำแนะนำในบทความนี้

โดย Eleanor K. Wyatt และ Laura M. Buckley

หมายเลขหัวข้อ 31.2 เผยแพร่แล้ว 08/02/2023

ภาพรวมของอาการไม่พึงประสงค์จากอาหารที่พบในสุนัข

อาการไม่พึงประสงค์จากอาหารนั้นมักจะคล้ายคลึงกับความผิดปกติทางผิวหนังอื่นๆ การมีความรู้ที่ดีเกี่ยวกับพยาธิวิทยาและตัวเลือกในการวินิจฉัยนั้นจะเป็นกุญแจที่นำไปสู่ความสำเร็จในการรักษาอาการไม่พึงประสงค์จากอาหาร

โดย Elisa Maina

หมายเลขหัวข้อ 31.2 เผยแพร่แล้ว 04/10/2022

ความท้าทายในการวินิจฉัยโรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้อะโทปีในสุนัข

สัตวแพทย์ส่วนมากมักประสบปัญหาในการวินิจฉัยเมื่อพบกับสุนัขที่คาดว่าเป็นโรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้อะโทปีหรือเรียกอย่างสั้นว่าอะโทปี

โดย Ana Rostaher

หมายเลขหัวข้อ 31.2 เผยแพร่แล้ว 07/09/2022

การรักษาผิวหนังอักเสบอะโทปีในสุนัข

สัตวแพทย์มีโอกาสพบสุนัขที่มาด้วยโรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้อะโทปีได้บ่อยครั้งในการทำงาน

โดย Annette van der Lee