เนื้องอกในช่องปาก
เนื้องอกในช่องปากพบได้บ่อยทั้งในสุนัขและแมวโดยมีโอกาสพบในสุนัขสูงกว่าแมว...
เผยแพร่แล้ว 16/06/2022
สามารถอ่านได้ใน Français , Deutsch , Italiano , Español และ English
เนื้องอกในช่องปากพบได้บ่อยทั้งในสุนัขและแมวโดยมีโอกาสพบในสุนัขสูงกว่าแมว เนื้องอกในช่องปากคิดเป็นร้อยละ 6 ของเนื้องอกที่พบในสุนัขและร้อยละ 3 ของเนื้องอกที่พบในแมว (แปลโดย น.สพ. พีระ มานิตยกุล)
เนื้องอกในช่องปากที่พบได้มากที่สุดในสุนัขได้แก่ malignant melanoma squamous cell carcinoma fibrosarcoma และ acanthomatous ameloblastoma
ระยะของโรค ตำแหน่ง การแบ่งเกรดทางจุลพยาธิวิทยา มีส่วนในการพยากรณ์โรคเนื้องอกในช่องปาก การรักษามักทำโดยการผ่าตัดและการฉายรังสี
การเจาะต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียงเพื่อเก็บตัวอย่างและการถ่ายภาพรังสีช่องอกมีความจำเป็นต่อการเฝ้าติดตามเนื้องอกในช่องปาก
Squamous cell carcinoma เป็นเนื้องอกในช่องปากที่พบบ่อยที่สุดในแมว รักษาได้ยากและมีการพยากรณ์โรคที่ไม่ดี
เนื้องอกในช่องปากพบได้บ่อยทั้งในสุนัขและแมว โดยพบในสุนัขมากกว่าในแมว เนื้องอกในช่องปากคิดเป็นร้อยละ 6 ของเนื้องอกที่พบในสุนัข 1 และร้อยละ 3 ของเนื้องอกที่พบในแมว 2 เนื้องอกในช่องปากที่พบบ่อยที่สุดในสุนัขได้แก่ malignant melanoma squamous cell carcinoma fibrosarcoma และ acanthomatous ameloblastoma ในแมวจะพบ squamous cell carcinoma ในช่องปากมากที่สุด รองลงมาคือ fibrosarcoma ในบทความนี้จะให้ข้อมูลภาพรวมเกี่ยวกับเนื้องอกในส่วนช่องปากและช่องปากร่วมคอหอยของสุนัขและแมว อาการทางคลินิกของเนื้องอกในช่องปากที่พบได้บ่อย แนวทางการวินิจฉัย และแนวทางการรักษาที่มีในปัจจุบันรวมถึงการพยากรณ์โรค
สัตว์ป่วยส่วนมากมักมาด้วยก้อนเนื้อที่เห็นได้ชัดในช่องปาก อย่างไรก็ตามเจ้าของอาจไม่สังเกตรอยโรคบริเวณปากโดยเฉพาะหากก้อนเนื้ออยู่ด้านหลังช่องปาก
อาการทางคลินิกที่พบบ่อยได้แก่ halitosis น้ำลายไหล dysphagia ฟันโยก น้ำหนักลด เจ็บบริเวณปาก อาการที่พบไม่บ่อยได้แก่ exophthalmos และ ใบหน้าไม่สมมาตร
ขั้นตอนการวินิจฉัยสัตว์ที่มาด้วยอาการมีก้อนเนื้อที่ช่องปากควรทำการซักประวัติอย่างละเอียดรวมถึงการตรวจร่างกาย ต่อจากนั้นจึงทำการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมและการทำ staging การวินิจฉัยเนื้องอกของช่องปากส่วนใหญ่อาศัยจุลพยาธิวิทยาซึ่งต้องทำการเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อเป็นบริเวณกว้างในขณะที่สัตว์ถูกวางยาสลบ การเก็บตัวอย่างเซลล์อย่างง่ายอาจทำได้แต่รอยโรคที่ช่องปากมักมีการอักเสบแบบทุติยภูมิ การติดเชื้อ ทำให้ตัวอย่างที่เก็บไม่สามารถใช้วินิจฉัยได้ รอยโรคบริเวณช่องปากมีเส้นเลือดมาเลี้ยงจำนวนมากจึงควรเตรียมการห้ามเลือดอย่างเหมาะสมหลังการเก็บตัวอย่างด้วยวิธี punch biopsy หรือ incisional biopsy เพื่อเป็นการป้องกันการนำเซลล์เนื้องอกมาติดที่ผิวหนังปกติ ควรเก็บตัวอย่างจากในช่องปากและหลีกเลี่ยงการเก็บผ่านผิวหนัง การพิจารณาตัดเนื้องอกออกหมดเพื่อหวังผลการรักษาในกรณีที่รอยโรคมีขนาดเล็กโดยเฉพาะบริเวณ labial mucosa อาจสามารถทำได้ แต่ไม่แนะนำให้ทำในกรณีที่รอยโรคมีขนาดใหญ่ 3
การวางยาสลบแบบทั้งตัวนอกจากทำให้ง่ายต่อการเก็บตัวอย่างชื้อเนื้อแล้วยังทำให้สามารถตรวจช่องปากได้อย่างละเอียด คอหอย ต่อมทอนซิล และเพดานแข็งควรได้รับการตรวจอย่างละเอียดรวมไปถึงขอบเขตของรอยโรค ต่อมาคือการถ่ายภาพรังสีช่องปากหรือการทำ computed tomography(CT) scan บริเวณศีรษะเพื่อประเมินการกระจายตัวของโรค การทำ CT scan สามารถให้รายละเอียดได้ดีกว่าและช่วยในการวิเคราะห์ตำแหน่งและขนาดของเนื้องอกได้อย่างแม่นยำรวมถึงการทำลายกระดูกที่เกิดขึ้น หลังจากการทำภาพวินิจฉัยแล้วจึงสามารถหาแนวทางในการผ่าตัดเพื่อนำก้อนเนื้อออกซึ่งอาจรวมไปถึงความพยายามในการตัดเนื้องอกออกเป็นวงกว้างมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ การฉีดสีเข้าไปที่ต่อมน้ำเหลืองเพื่อดูการแพร่กระจาย การทำ CT scan ยังช่วยในการวางแผนรักษาด้วยรังสีบำบัดกรณีที่ไม่สามารถผ่าตัดได้หรือเจ้าของไม่ยินยอม
การทำ staging ในการเฝ้าติดตามโรคควรทำโดยการเจาะเก็บตัวอย่างต่อมน้ำเหลือง mandibular lymph node หากสามารถคลำพบ(หรือแม้แต่คลำแล้วปกติ) การเจาะต่อมทอนซิลที่ดูผิดปกติ ต่อมน้ำเหลืองในบริเวณใกล้เคียงประกอบด้วย mandibular parotid และ medial retropharyngeal lymph node ตามปกติแล้วมักคลำพบเพียง mandibular lymph node เท่านั้น การภ่ายภาพรังสีช่องอกมีประโยชน์ในการเฝ้าระวังการแพร่กระจายของเนื้องอกไปยังบริเวณที่ไกลออกไปโดยอาจถ่ายภาพรังสีช่องอก 3 ท่าหรือทำ CT scan ช่องอก
การแบ่งระยะของเนื้องอกที่จัดทำโดย World Health Organization หรือ WHO สำหรับช่องปากสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับเนื้องอกในสุนัขได้ (ตารางที่1) และควรพิจารณาเป็นรายตัวไปเพราะระยะของเนื้องอกสามารถใช้พยากรณ์โรคได้โดยเฉพาะ malignant melanoma
T : Primary tumor | |||
- T1a without bone invasion
- T1b with bone invasion
- T2a without bone invasion
- T2b with bone invasion
- T3a without bone invasion
- T3b with bone invasion
|
|||
N: Regional lymph node | |||
- N1a no evidence of lymph node metastasis
- N1b evidence of lymph node metastasis
- N2a no evidence of lymph node metastasis
- N2b evidence of lymph node metastasis
|
|||
M: Distant metastasis | |||
|
|||
Stage I
Stage II Stage III Stage IV |
T1 T2 T3 Any T Any T Any T |
N0, N1a, N2a N0, N1a, N2a N0, N1a, N2a N1b N2b, N3 Any N |
M0 M0 M0 M0 M0 M1 |
ความรุนแรงของเนื้องอกในช่องปากมักมีความรุนแรงบริเวณที่เกิดโรคและมีโอกาสในการแพร่กระจายของเนื้องอกต่ำถึงปานกลาง(ยกเว้น malignant melanoma) พบบ่อยในสัตว์อายุมากกว่า 8 ปีและพบการสลายของกระดูกร่วมด้วย สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงในการเกิดเนื้องอกในช่องปากได้แก่ cocker spaniel german shepherd german shorthaired pointer Weimaraner golden retriever Gordon setter miniature poodle chow และ boxer 3
การรักษาหลักสำหรับเนื้องอกในช่องปากได้แก่การผ่าตัดและการใช้รังสีบำบัด ขอบเขตของการผ่าตัดจะขึ้นกับตำแหน่งและขนาดของรอยโรค เกือบทุกกรณีจำเป็นต้องมีการตัดกระดูกออกด้วยและควรอธิบายให้เจ้าของสัตว์เข้าใจเพื่อให้สามารถควบคุมเนื้องอกในบริเวณนั้นได้ดีขึ้น ผลลัพธ์ด้านการใช้งานและความสวยงามหลังผ่าตัดในสัตว์ป่วยส่วนมากทั้งวิธี mandibulectomy (segmental และ hemi) maxillectomy (segmental) และ orbitectomy ถือว่าดีมากและเจ้าของสัตว์มีความพึงพอใจสูง เนื้องอกส่วนใหญ่ต้องมีขอบเขตในการผ่าตัดนำออกโดยรอบอย่างน้อย 2 เซนติเมตรเพื่อลดการกลับมาเป็นซ้ำซึ่งอาจเป็นความท้าทายอย่างมากในกรณีที่เนื้องอกอยู่ด้านหลังของช่องปากหรือเนื้องอกอยู่เลยตำแหน่งกึ่งกลางของเพดานปาก
รังสีบำบัดอาจใช้เป็นการรักษาหลักได้ในแง่ของการหวังผลการรักษา ประคับประคองอาการ หรืออาจใช้ร่วมกับการผ่าตัดที่ไม่สามารถนำเนื้องอกออกได้หมด ควรพิจารณาลักษณะทางชีวภาพของเนื้องอกแต่ละชนิด ประเมินการตอบสนองของเนื้องอกต่อการรักษาทั้งจากลักษณะที่มองเห็นและลักษณะทางจุลพยาธิวิทยาเพื่อวางแผนแนวการรักษาอย่างเหมาะสม
เนื้องอกชนิดนี้มีความรุนแรงบริเวณรอยโรคและมีโอกาสแพร่กระจายสูง ตำแหน่งที่เนื้องอกมักกระจายไปได้แก่ ต่อมน้ำเหลืองข้างเคียง (มากถึงร้อยละ 74) และปอด (มากถึงร้อยละ 67) ระบบการแบ่งระยะของเนื้องอกโดย WHO สามารถใช้พยากรณ์โรค malignant melanoma ได้ โดยขนาดของเนื้องอกมีผลมากที่สุด อัตราการแพร่กระจายขึ้นอยู่กับขนาด ตำแหน่งและระยะของเนื้องอก ปัจจัยอื่นที่ทำให้การพยากรณ์โรคออกมาไม่ดีได้แก่การไม่สามารถผ่าตัดเอาเนื้องอกออกได้หมด ตำแน่งของเนื้องอก(caudal mandible และ rostral maxilla) mitotic index > 3 การสลายของกระดูก 5 และค่า ki-67 value protein สูงจากการตรวจชิ้นเนื้อซึ่งมีการบันทึกเมื่อเร็วนี้ 6
การผ่าตัดและการฉายรังสีบำบัดช่วยให้สามารถควบคุมเนื้องอกได้ดี ข้อกังวลในการรักษาเนื้องอกชนิดนี้อยู่ที่ข้อจำกัดในการรักษาทางระบบที่มีน้อยและข้อเท็จจริงที่ว่าสัตว์ป่วยมักเสียชีวิตจากการแพร่กระจายของเนื้องอกไปยังจุดที่ห่างไกล
การรักษาพื้นฐานในกรณีที่ไม่พบการกระจายของเนื้องอกไปยังอวัยวะอื่นอาศัยการผ่าตัดโดยตัดออกเป็นวงกว้าง การผ่าตัดถือว่าเป็นวิธีที่เร็วและประหยัดค่าใช้จ่ายในสัตว์ป่วยส่วนใหญ่ซึ่งสามารถหวังผลการรักษาได้ การฉายรังสีบำบัดสามารถนำมาใช้ในกรณีไม่สามารถผ่าเอาเนื้องอกออกได้หมด บริเวณผ่าตัดค่อนข้างแคบ หรือใช้ทดแทนการผ่าตัดหากประเมินแล้วว่าไม่สามารถทำการผ่าตัดได้ การใช้รังสีบำบัดใช้วิธีฉาย hypo-fractionated ขนาด 6-9 Gy สัปดาห์ละครั้งจนถึงขนาด 24-36 Gy พบว่าก้อนเนื้อตอบสนองต่อการรักษาได้ดี
Malignant melanoma มีความต้านทานต่อยาเคมีบำบัด platinum agent ถูกนำมาใช้บ่อยเพื่อการควบคุมทั้งระบบและ/หรือทำให้เนื้องอกมีความไวต่อรังสีบำบัดมากขึ้น ยา carboplatin และ melphalan มีโอกาสนำมาใช้รักษาได้แต่ผลการตอบสนองต่อยาที่มีบันทึกไว้พบว่าน้อยกว่าร้อยละ 30 3
การพยากรณ์โรคสำหรับสุนัขที่มี malignant melanoma ถือว่าไม่ดีนัก melanoma ที่อยู่ในระยะที่ 1 ซึ่งได้รับการรักษามาตรฐานประกอบไปด้วยการผ่าตัด การฉายรังสีบำบัด และเคมีบำบัดมีอัตรารอดชีวิตเฉลี่ยที่ 12-14 เดือน โดยที่สุนัขส่วนมากเสียชีวิตจากกการแพร่กระจายของเนื้องอกมากกว่าจากเนื้องอกที่ตำแหน่งหลัก 5 ด้วยสาเหตุนี้จึงมีการศึกษาเพื่อหาการรักษาทางระบบที่พุ่งเป้าไปยังเนื้องอกทุติยภูมิจากการแพร่กระจาย ภูมิคุ้มกันบำบัดเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เป็นไปได้ ในบางประเทศได้มีการขึ้นทะเบียน DNA วัคซีนสำหรับสุนัขที่เป็น melanoma ในช่องปาก วัคซีนได้จากการถอดรหัสโปรตีนในคนที่เรียกว่า tyrosinase ซึ่งพบได้ทั้งในเซลล์มะเร็ง melanoma ของคนและสุนัข การฉีดวัคซีนจะกระตุ้นให้สุนัขสร้างโปรตีน tyrosinase ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายมีการตอบสนองต่อโปรตีนและทำลายโปรตีนชนิดเดียวกันที่อยู่บนเซลล์มะเร็ง 7 วัคซีนสามารถฉีดเข้าใต้ผิวหนังทุก 2 สัปดาห์จำนวน 4 ครั้ง ต่อหนึ่งคอร์สการรักษาจากนั้นกระตุ้นซ้ำทุก 6เ ดือน ถึงแม้จะมีราคาแพงแต่มีผลข้างเคียงต่ำ
การแสดงออกข้อง COX-2 ที่มากกว่าปกติใน cutaneous oral และ ocular melanoma นำไปสู่แนวคิดว่ายากลุ่ม NSAIDs อาจมีบทบาทสำคัญในการรักษามะเร็งชนิดนี้ 8 มีการศึกษาต่อเนื่องเกี่ยวกับการแสดงออกของ KIT หรือตัวรับ transmembrane tyrosine kinase ที่พบใน malignant melanoma และการนำมาใช้เพื่อเป็นเป้าหมายของยาต้านมะเร็งชนิดใหม่ ศักยภาพของ tyrosine kinase inhibitor ในฐานะยารักษามะเร็งชนิดนี้ยังอยู่ขั้นเริ่มต้น
Squamous cell carcinoma (SCC) เป็นเนื้องอกในช่องปากสุนัขที่พบได้มากเป็นอันดับสองคิดเป็นร้อยละ 17-25 ของเนื้องอกในช่องปาก 3 เมื่อทำการตรวจวินิจฉัยควรแยกเนื้องอกออกเป็นสองชนิดได้แก่ tonsillar SCC และ non-tonsillar scc การพยากรณ์โรคโดยรวมของ non-tonsillar SCC ถือว่าดี โดยเฉพาะหากรอยโรคมีขนาดเล็กและอยู่ด้านหน้าช่องปาก เนื้องอกชนิดนี้มีความรุนแรงบริเวณตำหน่งเนื้องอก มีโอกาสทำให้เกิดการสลายกระดูกแต่มีโอกาสแพร่กระจายต่ำ การแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียงพบประมาณร้อยละ 10 การแพร่กระจายไปยังปอดมีรายงานอยู่ที่ร้อยละ 3-36 3 ในขณะที่ tonsillar SCC (รูป 2) มีแนวโน้มเกิดการแพร่กระจายของเนื้องอกสูงกว่ามาก พบว่าร้อยละ 77 มีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียงและร้อยละ 42-63 มีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น 9 การกลับมาเป็นซ้ำหลังผ่าตัดนำเนื้องอกออกไปแล้วพบได้เป็นปกติ
ในกรณีของ non-tonsillar SCC จะมีลักษณะสำคัญอยู่ที่ตำแหน่งและขนาดเช่นเดียวกับเนื้องอกชนิดอื่นในช่องปาก ความท้าทายอยู่ที่การควบคุมตำแหน่งของเนื้องอก ถึงแม้ว่าจะมีโอกาสการแพร่กระจายต่ำควรทำการระบุระยะของเนื้องอกเพื่อการวางแผนการรักษาอย่างถูกต้อง การจัดการเนื้องอกสามารถทำได้โดยการผ่าตัดหรือการใช้รังสีบำบัดและหลายกรณีมักใช้สองวิธีร่วมกัน ผลการรักษาเนื้องอกที่บริเวณกรามล่างมักให้ผลที่ดีกว่ากรามบน การกลับมาเป็นซ้ำหลังตัดกรามล่าง(mandibulectomy)อยู่ที่ร้อยละ 8 เมื่อสามารถเลาะเนื้องอกโดยมีขอบอย่างน้อย 1 เซนติเมตร อัตราการรอดชีวิตในช่วงหนึ่งปีอยู่ที่ร้อยละ 91 และอัตราการรอดชีวิตเฉลี่ยอยู่ที่ 19-26 เดือน หลังจากการตัดกรามบน(maxillectomy) มีการกลับมาเป็นซ้ำร้อยละ 29 อัตราการรอดชีวิตในช่วงหนึ่งปีอยู่ที่ร้อยละ 57 และอัตราการรอดชีวิตเฉลี่ยอยู่ที่ 10-19 เดือน 10 การผ่าตัดเพื่อเลาะเนื้องอกชนิด SCC แนะนำให้มีขอบอย่างน้อย 2 เซนติเมตร หากไม่สามารถผ่าตัดออกได้(ปัญหาด้านขนาดหรือตำแหน่ง) หรือเมื่อขอบเขตการผ่าไม่สมบูรณ์หรือแคบ สามารถใช้รังสีบำบัดทดแทนได้ มีการศึกษาหลายชิ้นเพื่อดูการรอดชีวิตหลังทำการฉายแสง ในการศึกษาหนึ่งทำการฉายรังสีจนครบคอร์สการรักษาในสุนัข 19 ตัวพบว่ามีระยะปลอดเนื้องอกอยู่ที่ 36 เดือน ความล้มเหลวในการรักษามีสาเหตุจากการกลับมาเป็นซ้ำของเนื้องอกมากกว่าการแพร่กระจายไปตำแหน่งอื่น ในอีกรายงานหนึ่งพบว่ามีช่วงเวลาปลอดเนื้องอกเฉลี่ยและอัตรารอดชีวิตอยู่ที่ 12 และ14 เดือนตามลำดับในสุนัขที่ได้รับการฉายแสงบำบัดจนครบคอร์ส 10 การจัดการเนื้องอกบริเวณตำแหน่งงรอยโรคสามารถทำได้ดีในเนื้องอกที่มีขนาดเล็ก เนื้องอกที่อยู่ด้านหน้าของช่องปาก อยู่บนกรามล่าง และสัตว์ป่วยอายุน้อย
การทำเคมีบำบัดไม่แนะนำในกรณีของ SCC ในช่องปาก แต่อาจทำได้ในกรณีที่พบการแพร่กระจายไปยังจุดอื่น ก้อนเนื้อมีขนาดค่อนข้างใหญ่ หรือเจ้าของสัตว์ปฏิเสธการผ่าตัดหรือการฉายรังสี สารเคมีที่เลือกใช้ควรเป็น platinum agent การใช้ยากลุ่ม NSAID สามารถให้ร่วมกับการทำเคมีบำบัดหรือใช้เป็นการรักษาหลักเมื่อเจ้าของปฏิเสธการรักษาที่รุนแรงกว่านี้
Fibrosarcoma
Acanthomatous ameloblastoma
CAA พบมากที่ตำแหน่งด้านหน้าของกรามล่าง สุนัขพันธุ์ golden retriever akita cocker spaniel และ Shetland sheepdog มีโอกาสพบมากกว่าสายพันธุ์อื่น 3 12 ลักษณะโดยทั่วไปคล้ายดอกกะหล่ำ สีแดง และมีแผลหลุม(รูป 3) เนื้องอกชนิดนี้มีความรุนแรงที่ตำแหน่งรอยโรคแต่ไม่พบว่ามีการกระจายตัวของเนื้องอกทำให้การจัดการที่ตำแหน่งเนื้องอกเป็นการรักษาหลักซึ่งนิยมปฏิบัติ การผ่าตัดนิยิมใช้วิธี mandibulectomy หรือ maxillectomy โอกาสกลับมาเป็นซ้ำค่อนข้างต่ำหากขอบเขตการผ่าตัดกว้างพอ การทำ CT scan ก่อนการผ่าตัดเพื่อดูขอบเขตของกระดูกที่ถูกทำลายจะเป็นประโยชน์อย่างมาก(รูป 4) การรักษาด้วยวิธีรังสีบำบัดสามารถทำได้หากประเมินว่าขอบเขตการผ่าตัดไม่เพียงพอหรือเพื่อรักษาการใช้งาน/ความสวยงามของปาก มีรายงานว่าเนื้องอกชนิดนี้ตอบสนองดีต่อการรักษาด้วยรังสีบำบัดและมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำที่ร้อยละ 18 โดยการกลับมาเป็นซ้ำมีโอกาสพบในก้อนเนื้อขนาดใหญ่มากกว่า 13 การฉีดยา bleomycin เข้าที่ก้อนเนื้อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษาที่สามารถทำได้ 14
การพยากรณ์โรคสำหรับเนื้องอกชนิดนี้ถือว่าดีเยี่ยมสำหรับสัตว์ป่วยส่วนมาก หากมีการเสียชีวิตมักไม่เกี่ยวข้องกับเนื้องอก odontogenic
งานตีพิมพ์ไม่นานนี้ได้อธิบายถึงการผ่าตัดที่ไม่รุนแรงสำหรับการรักษาเนื้องอกชนิดนี้ ทำได้โดยการเหลือกระดูก cortical bone ของกรามล่าง หรือส่วน dorsal ของกรามบนไว้ในขณะที่เลาะเนื้องอก ฟันที่อยู่รอบเนื้องอกและโครงสร้างปริทันต์ออกไป ข้อดีที่เห็นได้ชัดคือลดโอกาสการเกิด mandibular drift และฟันมีการสบกันได้ดีขึ้น มีสัตว์ป่วย 9 รายที่กลับมาติดตามอาการโดยไม่พบการกลับมาเป็นซ้ำตั้งแต่ 3 เดือนจนถึง 5 ปี และเจ้าของสัตว์มีความพึงพอใจอย่างมาก 15 รอยโรคที่เหมาะกับการพิจารณาผ่าตัดด้วยวิธีดังกล่าวมีขนาดเล็กกว่า 2 เซนติเมตร และมีการกินเข้าไปในเนื้อกระดูกน้อยกว่า 3 มิลลิเมตร ทำให้การผ่าตัดแบบธรรมดาด้วยการยกกระดูกออกเหมาะสมกับรอยโรคที่มีขนาดใหญ่กว่า
Squamous cell carcinoma
เนื้องอกชนิดนี้เป็นเนื้องอกในช่องปากที่พบบ่อยที่สุดในแมวคิดเป็นร้อยละ 65 ของเนื้องอกในช่องปากแมว สามารถเกิดได้ที่พื้นผิวของเนื้อเยื่อ mucosa ในช่องปากตำแหน่งใดก็ได้ซึ่งรวมถึงใต้ลิ้น ทอนซิล และคอหอย ตัวเนื้องอกมีความรุนแรงสูงและมักก่อให้เกิดการทำลายกระดูกข้างเคียง อัตราการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียงและอวัยวะอื่นค่อนข้างต่ำอยู่ที่ร้อยละ 10 การศึกษาด้านระบาดวิทยาให้ความเห็นว่ามีปัจจัยเสี่ยงหลายประการที่โน้มนำให้เกิด SCC แต่ยังไม่มีการศึกษาควบคุมชนิดไปข้างหน้าที่จะยืนยันแนวคิดนี้ได้ 16 อายุเฉลี่ยของแมวป่วยอยู่ที่ 10-12 ปี หากพบรอยโรคใดในช่องปากของแมวสูงอายุควรทำการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจเพื่อที่การรักษาแต่เนิ่นจะทำให้การพยากรณ์โรคดีขึ้น แมวหลายตัวมักมาด้วยปัญหาก้อนเนื้อในช่องปากและแสดงอาการ ptyalism halitosis บางรายอาจแสดงภาวะ dysphagia การแบ่งระยะของเนื้องอกใช้เกณฑ์เดียวกับในสุนัขรวมถึงการเจาะตรวจต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียงและภาพถ่ายรังสีช่องอก 3 ภาพ การถ่ายภาพรังสีช่องปากอาจช่วยในการระบุการทำลายกระดูกที่เกิดขึ้นแต่การทำ CT scan จะได้ความแม่นยำถูกต้องมากกว่าในการประเมินความเสียหายของกระดูกและควรทำในสัตว์ป่วยทุกรายที่มีแผนการรักษาหนักหน่วง
SCC เป็นเนื้องอกที่มีความท้าทายอย่างมากในการรักษารวมถึงมีการพยากรณ์โรคที่ไม่ดีนัก การรักษาโดยการผ่าตัดและการใช้รังสีบำบัดสามารถทำได้แต่อัตรารอดชีวิตเฉลี่ยค่อนข้างสั้น โดยมากมักไม่เกิน 3 เดือนและอัตรารอดชีวิตที่ 1ปีนั้นน้อยกว่าร้อยละ 10 อย่างไรก็ตามการพยากรณ์โรคจะมีแนวโน้มดีขึ้นหากก้อนเนื้อมีขนาดเล็กและอยู่ด้านหน้าของช่องปากที่จะสามารถผ่าตัดได้เป็นบริเวณกว้างและ/หรือร่วมกับการรักษาโดยรังสีบำบัด การตัดกรามออกร่วมกับการใช้รังสีบำบัดทำให้อัตรารอดชีวิตเฉลี่ยที่ 14 เดือน การรักษาโดยการผ่าตัดเพียงอย่างเดียวไม่ได้ช่วยเพิ่มระยะเวลารอดชีวิตอย่างมีนัยสำคัญเพราะก้อนเนื้อมีความรุนแรงสูงและมักผ่าออกเป็นบริเวณกว้างได้ลำบาก ในทางกลับกันการรักษาประคองอาการด้วยรังสีบำบัดไมได้ช่วยเพิ่มอัตรารอดชีวิตให้สูงกว่าการไม่รักษา ในปัจจุบันยังไม่มียาเคมีบำบัดที่ได้ผลในการรักษา SCC ในอดีตมีรายงานผลที่ดีจากการใช้รังสีบำบัดร่วมกับสารที่ทำให้ไวต่อรังสีแต่พบว่ามีการกลับมาเป็นซ้ำไวมาก งานวิจัยเมื่อเร็วนี้ใช้กระบวนการรักษาด้วยเคมีบำบัดร่วมกับการฉายรังสีโดยฉายรังสี 3.5 Gy 14 fraction จนได้ขนาดรวม 49 Gy ในระยะเวลา 9วันร่วมกับการฉีด carboplatin เข้าหลอดเลือดดำ ขั้นตอนการรักษาถือว่ารุนแรงแต่แมวมีความทนต่อการรักษาได้โดยมีอัตราการรอดชีวิตเฉลี่ยที่ 169 วัน แมวที่มีรอยโรคที่ต่อมทอนซิลหรือแก้มจะมีอัตรารอดชีวิตยาวนานขึ้น 17
การให้ยาลดความเจ็บปวด ยากลุ่ม NSAIDs และยาปฏิชีวนะ รวมถึงการประเมินคุณภาพชีวิตอย่างสม่ำเสมอมีความสำคัญในการจัดการสัตว์ป่วยเหล่านี้
สาเหตุการเกิดเนื้องอกในช่องปากของสุนัขและแมวนั้นไม่ได้มีการบันทึกไว้อย่างละเอียด เมื่อเปรียบเทียบกับในคนพบว่า SCC มีความเกี่ยวข้องกับการดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ สิ่งที่เหมือนกันคือระยะของเนื้องอก ตำแหน่งและการแบ่งเกรดทางจุลพยาธิวิทยาสามารถพยากรณ์โรคได้ ทางเลือกในการรักษาเน้นที่การผ่าตัดและการใช้รังสีบำบัด การตรวจวินิจฉัยครั้งแรกมีความสำคัญอย่างมากในการได้มาซึ่งคำวินิจฉัยโรค การแบ่งระยะทางคลินิก และแนวทางการรักษาที่เหมาะสม รวมไปถึงการพยากรณ์โรคสำหรับสัตว์ป่วยแต่ละตัว การจัดการเนื้องอกที่ตำแหน่งรอยโรคเป็นเป้าหมายหลักสำหรับเนื้องอกส่วนใหญ่ยกเว้น malignant melanoma ความก้าวหน้าและการพัฒนาความสามารถในการฉายรังสี(รูป 5)สำหรับสัตว์ป่วยอาจทำให้มีการใช้งานมากขึ้นในการรักษาเนื้องอกและนำมาเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาแบบบูรณาการร่วมกับวิธีการผ่าตัดและเคมีบำบัดตามความเหมาะสม
เข้าทำเเบบทดสอบเพื่อสะสม VET-CE ภายในวันที่ 1 มิ.ย.-31 ส.ค. 2022
Liptak JM, Withrow SJ. Oral Tumors. In: Withrow, SJ and Vail, DM eds. Small Animal Clinical Oncology 4th ed. St Louis, Missouri: Saunders Elsevier; 2007:455-510.
Lassara McCartan
Lassara McCartan, Royal (Dick) School of Veterinary Studies, University of Edinburgh, สหราชอาณาจักร อ่านเพิ่มเติม
David Argyle
David Argyle, Royal (Dick) School of Veterinary Studies, University of Edinburgh, สหราชอาณาจักร อ่านเพิ่มเติม
เนื้องอกในช่องปากพบได้บ่อยทั้งในสุนัขและแมวโดยมีโอกาสพบในสุนัขสูงกว่าแมว...