ประเด็นสำคัญ
มีรายงานเกี่ยวกับโรคผิวหนัง (skin disorders) ในลูกแมวและแมวอายุน้อยอยู่หลายอย่าง แม้ว่าสัตว์ส่วนใหญ่ที่มีปัญหาผิวหนังมักจะอยู่ในช่วงโตเต็มวัยก็ตาม
โรคผิวหนังจากพันธุกรรม (genodermatoses) เป็นการวินิจฉัยแยกโรค (differential diagnosis) ที่เป็นไปได้ในลูกแมวที่เริ่มเป็นโรคผิวหนังภายในไม่กี่สัปดาห์แรกของชีวิต
สิ่งแวดล้อม การเลี้ยงดู (husbandry) และโภชนาการอาจเป็นสาเหตุที่จะนำไปสู่ความผิดปกติของผิวหนังและขนในลูกแมวได้
โรคผิวหนังติดต่อ (contagious skin diseases) เช่น ปรสิตภายนอก (ectoparasite infestation) อาจเกิดขึ้นได้หากลูกแมวสามารถออกไปนอกบ้านหรือติดต่อผ่านสัตว์ที่สัมผัสใกล้ชิด (in-contact animals)
บทนำ
ภาวะผิวหนังในลูกแมวนั้นพบได้ไม่บ่อยนักแต่การพบภาวะดังกล่าวอาจทำให้เจ้าของสัตว์และนักเพาะพันธุ์สัตว์ทุกข์ทรมานได้ บทความนี้จึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อแนะนำโรคผิวหนังในแมวเด็ก (feline pediatric dermatology) เพื่อช่วยสัตวแพทย์เวลาพบกับลูกแมวที่มีปัญหาผิวหนัง โดยบทความนี้ผู้เขียนจะเน้นภาวะที่สามารถพบได้ค่อนข้างบ่อยและจะกล่าวถึงการรักษาเพียงสั้นๆเท่านั้น ทั้งนี้ตัวเลือกการรักษาอาจมีค่อนข้างจำกัดเนื่องจากอายุของสัตว์ป่วย อีกทั้งผลิตภัณฑ์บางอย่างอาจไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่เหมาะกับสัตว์อายุน้อย (และอาจเป็นพิษเสียด้วยซ้ำ) สัตวแพทย์ควรพิจารณาถึงภาวะความผิดปกติแต่กำเนิด (congenital conditions) และภาวะที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม (hereditary conditions) ในลูกแมวแรกเกิดและอยู่ในช่วงสัปดาห์แรกของชีวิต 1 นอกจากนี้ยังควรพิจารณาเรื่องการเลี้ยงดูและโภชนาการโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากลูกแมวหลายตัวในครอกได้รับผลกระทบ (รูปภาพที่ 1) การติดเชื้อ (infections) อาจแพร่กระจายไปยังลูกแมวอายุน้อยผ่านทางแม่แมวหรือสัตว์ตัวอื่นๆในบ้าน โดยเฉพาะถ้าหากลูกแมวสามารถออกนอกบ้านได้ ลูกแมวที่อายุมากขึ้นและได้รับอนุญาตให้ออกนอกบ้านได้อย่างอิสระนั้นก็จะมีสาเหตุที่เป็นไปได้ของความผิดปกติได้หลากหลายยิ่งขึ้น รวมถึงการชุกตามเขตภูมิศาสตร์ของเชื้อก่อโรค (geographical prevalence of infectious agents) ก็ควรเป็นปัจจัยที่ถูกใช้ในการประเมินวินิจฉัยแยกโรค ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันและความไวเกิน (Immune-mediated and hypersensitivity disorders) มักเกิดขึ้นภายหลังแต่ก็สามารถเริ่มได้ตั้งแต่อายุยังน้อยเช่นเดียวกัน 2
ภาวะความผิดปกติแต่กำเนิดและภาวะที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม
ปัญหาผิวหนังที่มีมาแต่กำเนิดและถ่ายทอดทางพันธุกรรมมักจะปรากฏให้เห็นในช่วงที่อายุน้อย โดยคำว่า genodermatoses นั้นหมายถึงโรคทางพันธุกรรมที่แสดงออกเป็นภาวะทางผิวหนังและสามารถส่งผลกระทบต่อผิวหนังชั้นหนังกำพร้า (epidermis) รอยต่อระหว่างผิวหนังกับหนังกำพร้า (dermoepidermal junction) ต่อมรากขน (hair follicle) เส้นขน (hair shafts) ผิวหนังชั้นหนังแท้ (dermis) และ/หรือการสร้างเม็ดสี (pigmentation) ซึ่งพบได้น้อยและส่วนใหญ่มักเป็นรายงานสัตว์ป่วยรายเดี่ยว (single case reports) (ตารางที่ 1) 1 โดยทั่วไปแล้วโรคเหล่านี้มักไม่มีการรักษาที่ประสิทธิผล (effective therapies) แต่อย่างไรก็ตามจำเป็นต้องให้สัตวแพทย์วินิจฉัยเพื่อพยากรณ์โรคเป็นรายตัวและให้คำปรึกษาด้านพันธุกรรม. ยกตัวอย่างเช่น ความผิดปกติในการสร้างเคราติน (keratinization defects) ซึ่งอาจมีรอยโรคเฉพาะจุด (localized) และพบได้ในแมวพันธุ์เบงกอล (Bengal) (รูปภาพที่ 2) หรือมีรอยโรคทั่วตัว (generalized) ในโรคผิวหนังอักเสบจากไขมันชนิดปฐมภูมิ (primary seborrhea) โรคผิวหนังชั้นหนังแท้และชั้นหนังกำพร้าที่เกิดจากพันธุกรรม (genetic dermo-epidermal diseases) จะทำให้เกิดตุ่มน้ำใส (vesicles) แผลถลอกตื้นๆ (erosion) และแผลหลุม (ulcers) ความผิดปกติของกระบวนการสังเคราะห์คอลลาเจนหรือที่เรียกกันว่ากลุ่มอาการเอห์เลอร์ส–ดาลลอส (Ehlers-Danlos syndrome) (รูปภาพที่ 3) ความผิดปกติของเม็ดสีแต่กำเนิด (congenital pigment abnormalities) อาจเป็นเรื่องของความสวยงาม เช่น โรคอะโครเมลานิสม์ (acromelanism) หรือทำให้ร่างกายทรุดโทรมลง เช่น กลุ่มอาการชเดียก-ฮิกาชิ (chediak-Higashi syndrome) ภาวะรูขุมขนขาดตั้งแต่กำเนิด (hypotrichosis) หรือภาวะขนร่วง (alopecia) ในบางครั้งอาจถือเป็นลักษณะเฉพาะของสายพันธุ์ที่พึงประสงค์แต่บางครั้งก็อาจเกิดจากโรคผิวหนังจากพันธุกรรมและบางโรคอาจทำให้เสียชีวิตได้
ตารางที่ 1 ตัวอย่างโรคผิวหนังจากพันธุกรรมบางอย่างที่มีรายงานในแมวอายุน้อย 1
ความผิดปกติของเส้นขนและภาวะรูขุมขนขาดตั้งแต่กำเนิด |
---|
โรคขนบิดหรือพิลีทอร์ติ (Pili torti) (เส้นขนแบนและบิดเบี้ยว) พบในลูกแมวครอกหนึ่ง ลูกแมวเหล่านั้นจะมีอาการผิวหนังอักเสบ (dermatitis) ร่วมกับโรคทางเดินอาหาร โดยลูกแมวเสียชีวิตเมื่ออายุได้ไม่กี่สัปดาห์ |
ภาวะเส้นขนเจริญผิดปกติ (hair shaft dysplasia) ในแมวพันธุ์อะบิสซิเนียน (Abyssinian cats) โดยมีเส้นขนบวมคล้ายหัวหอม (onion-shaped swelling) บริเวณหนวด (whiskers) และขนชั้นบน (guard hairs) |
โรครูขุมขนผิดปกติ (follicular dystrophy) ที่มีขนคล้ายใบหอก (lanceolate-like hair) ในแมวบ้าน (domestic cats) ครอกหนึ่ง ทำให้เกิดภาวะขนร่วงเรื่อยๆ (progressive alopecia) 3. |
ภาวะรูขุมขนขาดตั้งแต่กำเนิด (congenital hypotrichosis) และอายุขัยที่สั้นลงในแมวพันธุ์เบอร์แมน (Birman cats) |
โรคผิวหนังอักเสบมีซีสต์และภาวะขนร่วงทั่วตัว (generalized alopecic and cystic dermatosis) ร่วมกับการหนาตัวของผิวหนังอย่างรุนแรงและมีรอยพับของผิวหนัง (fold formation) 4 |
ความผิดปกติของการแบ่งตัวของต่อมไขมัน (Abnormal sebaceous gland differentiation) (ต่อมไขมันเจริญผิดปกติ (sebaceous gland dysplasia)) เริ่มมีอาการในช่วงอายุ 4-12 สัปดาห์ |
เอ็กโทเดิร์มเจริญผิดปกติ (ectodermal dysplasia); ภาวะรูขุมขนขาดตั้งแต่กำเนิด (congenital hypotrichosis) และความผิดปกติของเล็บ ฟัน และ/หรือต่อมน้ำตา (lacrimal glands) |
ภาวะรูขุมขนขาดตั้งแต่กำเนิดที่เกี่ยวข้องกับพันธุ์ เช่น พันธุ์สฟิงซ์ (Sphynx) พันธุ์ปีเตอร์บัลด์ (Peterbald) พันธุ์ดอนสกอย (Donskoy) และพันธุ์โคฮานา (Kohana) |
ความผิดปกติในการสร้างเคราติน |
โรคผิวหนังอักเสบจากไขมันชนิดปฐมภูมิที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม (hereditary primary seborrhea) ในแมวพันธุ์เปอร์เซีย (Persian) พันธุ์หิมาลายัน (Himalayan) และพันธุ์เอกซ์โซติคขนสั้น (exotic shorthair cats) โดยเริ่มมีอาการในช่วงสัปดาห์แรกของชีวิต |
โรคผิวหนังอักเสบบนใบหน้าที่ไม่ทราบสาเหตุ (idiopathic facial dermatitis) ในแมวพันธุ์เปอร์เซียและพันธุ์หิมาลายัน (“โรคหน้าสกปรก” (“dirty face syndrome”)) โดยจะเริ่มมีอาการก่อนอายุ 1 ปี |
โรคผิวหนังอักเสบเป็นแผลหลุมบริเวณจมูก (ulcerative nasal dermatitis) ในแมวพันธุ์เบงกอลซึ่งเริ่มมีอาการในช่วงปีแรกของชีวิต โดยจะพบว่าพื้นผิวด้านบนปลายจมูกซึ่งเป็นตรงส่วนที่ไม่มีขน (nasal planum) จะมีขุย (scaling) ตกสะเก็ด (crusts) มีรอยแตก (fissures) และมีแผลถลอกตื้น ๆ (erosion) (รูปภาพที่ 2) |
โรคผิวหนังอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียเอนเทอโรพาทิก (Acrodermatitis enteropathica) ในแมวพันธุ์เทอร์คิชแวน (Turkish Van) ที่มีภาวะขาดสังกะสี (zinc deficiency) โดยจะเริ่มมีอาการเมื่ออายุ 6 สัปดาห์ 5 |
ความผิดปกติของรอยต่อระหว่างผิวหนังกับหนังกำพร้า |
โรคตุ่มน้ำพองใสระหว่างผิวหนังชั้นหนังกำพร้าและชั้นหนังแท้ (junctional epidermolysis bullosa) ในแมวบ้านขนสั้น (domestic Shorthair) และแมวพันธุ์วิเชียรมาศ (Siamese cats) จะพบตุ่มน้ำใสในช่องปากและผิวหนัง (oral and skin vesicles) แผลถลอกตื้นๆ (erosion) และแผลหลุม (ulcers) |
โรคตุ่มน้ำพองใสในชั้นหนังแท้ (dystrophic epidermolysis bullosa) ในแมวบ้านขนสั้นและแมวพันธุ์เปอร์เซีย (Persian cat) จะพบแผลหลุมที่อุ้งเท้าและภายในช่องปาก รวมถึงพบการแยกตัวของแผ่นเล็บจากเมทริกซ์ของเล็บและฐานเล็บ (onychomadesis) |
ความผิดปกติของคอลลาเจน |
กลุ่มอาการเอห์เลอร์ส–ดาลลอส (Ehlers-Danlos syndrome) เป็นความผิดปกติของกระบวนการสังเคราะห์คอลลาเจนทำให้ผิวหนังยืดหยุ่นและเปราะบางมาก (skin elasticity and fragility) แมวจะเริ่มมีอาการแสดงทางคลินิกตั้งแต่อายุยังน้อย (รูปภาพที่ 3) |
ความผิดปกติของเม็ดสี |
กลุ่มอาการชเดียก-ฮิกาชิ (chediak-Higashi syndrome) ในแมวพันธุ์เปอร์เซียสีเทาควันบุหรี่ (blue smoke-colored Persian cats); ภาวะเม็ดเมลานินขนาดใหญ่ (macromelanosomes) จะทำให้เกิดสีขน (coat color) ร่วมกับภาวะเม็ดเลือดขาวผิดปกติ (leucocyte abnormalities) ซึ่งให้เกิดการติดเชื้อและเลือดออกง่าย (bleeding tendencies) |
กลุ่มอาการวาร์เดนเบิร์ก (Waardenburg syndrome); ขนสีขาว ตาสีฟ้าหรือตาสองสี (blue or heterochromic irises) และมีอาการหูหนวก (deafness)้ |
แมวเผือก (Albino cats); ขนสีขาว ตาฟ้าและเม็ดสีที่เยื่อทาเปตัมที่อยู่ด้านหลังเรตินา (tapetum) อ่อนลง |
โรคอะโครเมลานิสม์ (acromelanism) ในแมวพันธุ์วิเชียรมาศและพันธุ์เบอร์มีส (Burmese) ทำให้มีสีขนเข้มขึ้นในที่ที่มีอากาศเย็น |
โรคเลนติโกซิมเพล็กซ์ (Lentigo simplex) ในแมวสีส้ม; พบจุดเม็ดสี (pigmented macules) บนเปลือกตา พื้นผิวด้านบนปลายจมูกซึ่งเป็นตรงส่วนที่ไม่มีขน (nasal planum) ริมฝีปากและเหงือก |
โรคผิวหนังติดเชื้อ
โรคผิวหนังติดเชื้ออาจส่งผลต่อสัตว์อายุน้อยเนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันที่ยังพัฒนาไม่เต็มที่ (immature immune systems) โดยโรคเหล่านี้อาจเกิดจากไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา ปรสิตภายนอกหรือโปรโตซัวในธรรมชาติก็ได้
โรคผิวหนังจากไวรัส
การติดเชื้อไวรัสหลายชนิดอาจทำให้เกิดรอยโรคที่ผิวหนัง (dermatological lesions) (ตารางที่ 2) ทั้งนี้อาการดังกล่าวมักพบในแมวโตเต็มวัย ถึงแม้ว่าการติดเชื้อมักเกิดขึ้นในช่วงอายุน้อยก็ตาม 6
ไวรัสคาลิไซในแมว (Feline calicivirus (FCV)) เป็นหนึ่งในสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของโรคทางเดินหายใจส่วนบน (upper respiratory tract diseases) ในแมวทั่วโลก แมวที่ติดเชื้อและเป็นพาหะโดยไม่แสดงอาการแสดงทางคลินิกถือเป็นแหล่งแพร่เชื้อ (source of infection) ที่พบได้บ่อยที่สุด โดยปกติแล้วเรามักจะพบอาการแสดงทางคลินิกของระบบทางเดินหายใจและตาอย่างเฉียบพลันในลูกแมวหรือแมวอายุน้อย แต่ก็มีรายงานอาการอื่นๆอีกหลายอย่าง เช่น แผลหลุมในช่องปาก (oral ulceration) และอาการเดินกะเผลก (limping syndrome) นอกจากนี้ยังมีรายงานการระบาด (epizootic outbreaks) ของโรคระบบรุนแรง (virulent systemic disease (VSD)) ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตสูง (high mortality rates) โรคระบบรุนแรงนั้นจะทำให้เกิดไข้ (pyrexia) อาการบวมน้ำที่หัวและอุ้งเท้า (edema of the head and paws) ภาวะเนื้อตายของเยื่อบุผิว (epithelial necrosis) แผลหลุมในช่องปาก (oral ulceration) และบางครั้งอาจพบภาวะดีซ่าน (jaundice) ภาวะหายใจลำบาก (dyspnea) และเลือดออกง่าย (bleeding tendencies) 6,7 (รูปภาพที่ 4) การระบาดดังกล่าวมักเกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมที่มีแมวหลายตัว (multi-cat environments) โดยมีรายงานในแมวตั้งแต่อายุ 8 สัปดาห์ถึง 16 ปี 7 การวินิจฉัยทางคลินิกได้รับการสนับสนุนโดยการการตรวจหาแอนติเจนของไวรัส (viral antigen identification) ด้วยการทดสอบปฏิกิริยาลูกโซ่โพลีเมอเรส (polymerase chain reaction (PCR) panels) ในตัวอย่างเยื่อเมือก (mucosal swab samples) การรักษาเป็นเพียงวิธีประคับประคอง เนื่องจากยาต้านไวรัส (antivirals) ที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ อีกทั้งผลการวิจัยที่ถกเถียงกันเรื่องผลการป้องกันของวัคซีน FVC ต่อ VSD นั้นได้ถูกตีพิมพ์ออกมาแล้ว 6,7
ตารางที่ 2 อาการแสดงทางผิวหนังที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อไวรัสในแมว (จาก 6)
ไวรัสเฮอร์ปีส์ชนิดที่ 1 ในแมว (Feline herpes virus (FHV-1)) | โรคผิวหนังอักเสบจากไวรัสเฮอร์ปีส์ (herpesvirus dermatitis) จะทำให้เกิดแผลถลอกตื้นๆ (erosion) และแผลหลุม (ulcers) ที่ถูกปกคลุมด้วย serocellular crust หนาๆ โดยมักพบบริเวณใบหน้า และพบได้ในแมวอายุตั้งแต่ 4 เดือน-17 ปี |
ไวรัสฝีดาษวัว (Cowpox) | แมวอายุน้อยถึงวัยกลางคน (young to middle-aged cats) จะมีรอยโรคบริเวณหัวหรือขาหน้า (จากการได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย (inoculation) ผ่านรอยที่สัตว์ฟันแทะกัด) จุดเม็ดสี (macules) จะพัฒนาไปเป็นปุ่มนูนเล็ก (nodules) ที่มีลักษณะเป็นแผลหลุม |
ไวรัสพาร์โว/โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบติดต่อในแมว (Parvovirus/feline infectious peritonitis (FIP) | ผื่นนูน (papules) ที่คอและขาหน้าหรือกระจายทั่วตัวสัมพันธ์กับภาวะหลอดเลือดอักเสบ (vasculitis) ในระยะท้ายของโรค |
ไวรัสมะเร็งเม็ดเลือดขาวในแมว(Feline leukemia virus (FeLV)) | การติดเชื้อฉวยโอกาสที่ผิวหนัง (opportunistic skin infection) เนื่องจากภูมิคุ้มกันต่ำ (immune suppression) โรคผิวหนังเซลล์ยักษ์ (Giant cell dermatosis) ร่วมกับอาการอื่นๆ ได้แก่ แผลหลุม (ulcers) ภาวะขนร่วงเป็นหย่อม (patchy alopecia) ผิวหนังเป็นขุย (scaling) หรือตกสะเก็ด (crusting) ภาวะฮอร์นที่ผิวหนังบริเวณอุ้งเท้า (paw pad cutaneous horns) ทั้งนี้แมวจะมีความเสี่ยงต่อมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่ผิวหนัง (cutaneous lymphoma) เพิ่มขึ้นเล็กน้อย |
ไวรัสแปปิโลมา (Papillomavirus) | พลัคไวรัสในแมว (feline viral plaques) และมะเร็งโบเวนอยด์ ณ จุดเริ่ม (Bowenoid in situ carcinoma) อาจพัฒนาเป็นมะเร็งเซลล์สความัส (squamous cell carcinoma) ได้ โดยพบได้ในแมวอายุตั้งแต่ 7 เดือนขึ้นไป โรคซาร์คอยด์ในแมว (feline sarcoid) จะทำให้เกิดปุ่มนูนเล็กชนิดเอ็กโซไฟติกที่บริเวณใบหน้า (facial exophytic nodules) ซึ่งพบได้บ่อยที่สุดในแมวตัวผู้อายุน้อย |
แบคทีเรีย
โรคผิวหนังจากแบคทีเรียในแมวสามารถแบ่งออกเป็นโรคผิวหนังชั้นตื้นและชั้นลึก (superficial and deep dermatoses) การติดเชื้อที่ผิวหนังชั้นตื้น (superficial infections) จะเกี่ยวข้องกับผิวหนังชั้นหนังกำพร้า (epidermis) และรูขุมขน (follicles) โดยมักเป็นการติดเชื้อทุติยภูมิ (secondary) และพบเห็นได้ทั่วไปร่วมกับภาวะภูมิไวเกิน (hypersensitivities) อายุของแมวที่เริ่มมีอาการตามรายงานนั้นจะแตกต่างกันไปตามโรคปฐมภูมิ (primary disease) โดยอายุน้อยที่สุดที่มีรายงานคือ 6 เดือน นอกจากนี้รอยโรคต่างๆนั้นมักแสดงถึงการทำร้ายตัวเอง (self-trauma) จากอาการคัน (pruritus) รวมถึงยังอาจพบภาวะขนร่วงเป็นหย่อมหลายหย่อม (multifocal alopecia) ตกสะเก็ด (crusts) ผิวหนังลอก (excoriations) แผลถลอกตื้นๆ (erosions) และแผลหลุม (ulcerations) บริเวณที่ได้รับผลกระทบบ่อยที่สุด ได้แก่ ใบหน้า คอ แขนขาและช่องท้องส่วนล่าง (ventral abdomen) 2,8
การติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังชั้นลึก (deep bacterial infections) ซึ่งเกี่ยวข้องกับผิวหนังชั้นหนังแท้ (dermis) และ/หรือเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง (subcutaneous tissues) อาจเกี่ยวข้องกับการได้รับเชื้อแบคทีเรียที่ไม่ก่อประโยชน์และโทษ (commensal bacterial species) หรือแบคทีเรียในสิ่งแวดล้อม (environmental bacterial species) เข้าสู่บาดแผลโดยตรง (traumatic-implantation) ปุ่มนูนผิวหนังชั้นลึก (deep nodular skin) และรอยโรคชั้นใต้ผิวหนัง (subcutaneous lesions) ที่มีแผลหลุม (ulcers) และทางระบายของเหลว (draining tracts) อาจเกิดจากแบคทีเรียแซโพรไฟติก (saprophytic bacteria) เช่น Nocardia spp. ทั้งนี้แม้ว่าการติดเชื้อดังกล่าวจะพบได้บ่อยในสัตว์โตเต็มวัยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (immunocompromised adult animals) แต่ฝี (abscesses) ที่เกิดจากแผลต่อสู้ (fight wounds) นั้นมักพบในแมวโตเต็มวัยที่อยู่นอกบ้าน (outdoor) 8 โรคแบคทีเรียกินเนื้อหรือโรคเนื้อเน่า (necrotizing fasciitis) ถือเป็นการติดเชื้อชั้นลึกที่อาจถึงแก่ชีวิตได้ โดยมีรายงานพบในลูกแมวอายุ 8 สัปดาห์ 9
การติดเชื้อไมโคแบคทีเรีย (Mycobacterial infections) จากเชื้อก่อโรคหลายชนิดสามารถทำให้เกิดอาการแสดงทางคลินิกได้หลากหลายและมีการแพร่กระจายทางภูมิศาสตร์ (geographic distribution) ที่แตกต่างกัน โดยไม่ว่าจะเกิดจากเชื้อก่อโรคชนิดไหน กรณีส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นแมวโตเต็มวัยที่อยู่นอกบ้าน แต่ในทางตรงกันข้าม Mycobacterium lepraemurium นั้นมักทำให้เกิดโรคในแมวตัวผู้ที่ยังอายุน้อย 10
การวินิจฉัยแยกโรค (differential diagnoses) ของปุ่มนูนผิวหนังชั้นลึก (deep nodular skin) และรอยโรคชั้นใต้ผิวหนัง (subcutaneous lesions) ได้แก่ การติดเชื้อราหรือสาหร่าย (fungal or algal infections) และเนื้องอก (neoplasia) โดยการวินิจฉัยตัวอย่างเนื้อเยื่อนั้นจำเป็นต้องทำการตรวจทางเซลล์วิทยา (cytology) จุลพยาธิวิทยา (histopathology) และจุลชีววิทยา (microbiology) นอกจากนี้สัตวแพทย์ยังควรพิจารณาถึงศักยภาพในการแพร่เชื้อโรคจากสัตว์สู่คน (zoonoses) ด้วย 8
โรคผิวหนังจากเชื้อรากลุ่มเดอร์มาโทไฟต์ (dermatophytosis) มักจะหายได้เอง (spontaneous resolution) ในแมวส่วนใหญ่ที่การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันยังปกติอยู่ (immunocompetent) แต่ทั้งนี้ผู้เขียนยังแนะนำให้รักษาเพื่อเร่งการหายและป้องกันการแพร่กระจายไปยังสัตว์และคนอื่นๆ
Kirsti J.M. Schildt
เชื้อรา
โรคผิวหนังจากเชื้อรา (fungal skin diseases) สามารถแบ่งได้เป็นชั้นตื้น (superficial) (โรคผิวหนังจากเชื้อรากลุ่มเดอร์มาโทไฟต์ (dermatophytosis) โรคผิวหนังอักเสบจากเชื้อรามาลาสซีเซีย (Malassezia dermatitis)) ชั้นกลาง (intermediate) (ชั้นใต้ผิวหนัง) และชั้นลึกหรือทั่วร่างกาย (systemic (deep)) โรคผิวหนังอักเสบจากเชื้อรามาลาสซีเซียเป็นปัจจัยที่ทำให้โรคผิวหนังในแมวหลายอย่างมีความซับซ้อนมากขึ้นและมักเกิดในแมวพันธุ์ที่มีภาวะรูขุมขนเจริญผิดปกติที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม (genetic follicular dysplasia) (แมวพันธุ์เดวอนเร็กซ์ (Devon Rex) พันธุ์คอร์นิชเรกซ์ (Cornish Rex) และพันธุ์สฟิงซ์ (Sphynx) 11
โรคผิวหนังจากเชื้อรากลุ่มเดอร์มาโทไฟต์ (dermatophytosis) คือการติดเชื้อราที่ผิวหนังชั้นตื้น (superficial fungal infection) บริเวณโครงสร้างผิวหนังที่มีเคราติน (keratinized skin structures) ซึ่งเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน (zoonotic) โดย Microsporum canis ถือเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดในแมว ปัจจัยเสี่ยงต่างๆได้แก่ อายุที่น้อย วิถีชีวิต (lifestyle) และสถานที่ที่มีความอบอุ่น (warm locations) รูปแบบที่ทำให้ติดเชื้อ (infective form) ของเชื้อรากลุ่มเดอร์มาโทไฟต์คืออาร์โธสปอร์ (arthrospore) ซึ่งสามารถแพร่กระจายได้โดยการสัมผัสโดยตรง (direct contact) หรือวัตถุที่ไม่มีชีวิต (fomites) 11,12 อาการแสดงทางคลินิก เช่น ขนร่วง มีผื่นนูน (papules) ผิวหนังเป็นขุย (scales) ตกสะเก็ด (crusts) ผิวหนังเป็นผื่นแดง (erythema) มีการอุดตันของเคราตินที่รูขุมขน (follicular plugging) มีจุดด่างดำ (hyperpigmentation) และเล็บเจริญผิดปกติ (onychodystrophy) ทั้งนี้รอยโรคผิวหนังมักไม่สมมาตร (asymmetrical) และมักเกิดขึ้นที่บริเวณใบหน้าถึงแม้ว่าอาจลุกลามไปยังบริเวณอื่นของร่างกายสัตว์ก็ได้ อาการคันอาจมีเพียงเล็กน้อยหรือแทบไม่มีเลย การวินิจฉัยนั้นจำเป็นต้องใช้การทดสอบวินิจฉัยเสริมหลายอย่าง เช่น การตรวจด้วยอุปกรณ์ Wood’s lamp (Wood´s lamp examination) (รูปภาพที่ 5) การตรวจเส้นขนและขุยผิวหนังด้วยกล้องจุลทรรศน์โดยตรง (direct microscopic examination) การเพาะเชื้อรากลุ่มเดอร์มาโทไฟต์ (dermatophyte culture) การทดสอบปฏิกิริยาลูกโซ่โพลีเมอเรส (PCR) และการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ (biopsy) ทั้งนี้ในแมวที่การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันยังปกติอยู่ (immunocompetent) รอยโรคต่างๆมักจะหายได้เอง (spontaneous resolution) แต่ก็ยังแนะนำให้รักษาเพื่อเร่งการหายและป้องกันการแพร่กระจายไปยังสัตว์และคนอื่นๆ โดยนิยมใช้ยาต้านเชื้อราชนิดรับประทานและยาทาภายนอกร่วมกับการฆ่าเชื้อราในสิ่งแวดล้อม
การติดเชื้อราในผิวหนังชั้นกลางและลึกนั้นสามารถเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ ตัวอย่างเช่น Sporothrix schenckii สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อที่ผิวหนังหรือชั้นใต้ผิวหนังแบบแกรนูโลมา (granulomatous, cutaneous or subcutaneous infection) และพัฒนาเป็นปุ่มนูน (nodules) แผลหลุม (ulcers) และตกสะเก็ด (crusts) โดยแมวตัวผู้ยังไม่ทำหมันที่เลี้ยงนอกบ้านมักจะได้รับผลกระทบมากที่สุด 11.นอกจากนี้การได้รับเชื้อราในสิ่งแวดล้อมเข้าสู่บาดแผลโดยตรงก็อาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่ผิวหนังและชั้นใต้ผิวหนังได้; โรคติดเชื้อรา hyalohyphomycosis เกิดจากเชื้อราที่ไม่มีเม็ดสี (nonpigmented molds) ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบแบบไพโอแกรนูโลมา (pyogranulomatous inflammation) (แม้ว่าโรคอาจจะแพร่กระจายได้) และโรคติดเชื้อรา phaeohyphomycetes ที่เกิดจากเชื้อราที่มีเม็ดสี เชื้อราชนิดนี้สามารถทำให้เกิดปุ่มนูนที่ผิวหนังและชั้นใต้ผิวหนังซึ่งอาจกลายเป็นแผลหลุมได้ 11. นอกจากนี้ยังสามารถสังเกตเห็นได้ว่าแมวพันธุ์เปอร์เซียมีแนวโน้มที่จะติดเชื้อรากลุ่มเดอร์มาโทไฟต์ที่ชั้นใต้ผิวหนัง (subcutaneous dermatophytic infections) มากกว่าพันธุ์อื่น 11,12
การติดเชื้อราที่ผิวหนังชั้นลึก (deep mycotic infections) พบได้ไม่บ่อยในแมว แต่การระบาดจะเกิดขึ้นในบริเวณที่เป็นโรคประจำถิ่น (endemic regions) 12. โรคที่พบบ่อยที่สุดคือโรคติดเชื้อรา cryptococcosis ซึ่งมักติดเชื้อผ่านทางการหายใจ อาการแสดงทางคลินิกจะประกอบไปด้วยอาการทางระบบทางเดินหายใจส่วนบน (upper respiratory signs) รอยโรคที่ตา รอยโรคที่ระบบประสาทและรอยโรคผิวหนังซึ่งรวมไปถึงผื่นนูน (papules) ปุ่มนูน (nodules) และแผลหลุม (ulcers) 11 มีรายงานการติดเชื้อ Cryptococcus neoformans ในลูกแมวอายุ 3 เดือนที่มีอาการชัก (seizures) 13
Oomycetes เป็นสิ่งมีชีวิตในน้ำ (aquatic organisms) ที่มีความใกล้ชิดกับสาหร่าย (algae) แม้ว่าโรคที่เกิดขึ้นจะคล้ายกับการติดเชื้อราก็ตาม ตัวอย่างทั่วไปคือ Pythiosis ซึ่งเกิดจาก Pythium insidiosum รูปแบบที่ทำให้ติดเชื้อ (infective form) จะสามารถแทรกซึมเข้าไปในผิวหนังที่เสียหายและแสดงอาการเป็นรอยโรคที่ผิวหนังและชั้นใต้ผิวหนังเป็นหลัก แม้ว่าอาจจะมีอาการแสดงทางคลินิกที่เกี่ยวข้องกับลำไส้ได้ด้วยก็ตาม 11 เมื่อไม่นานมานี้เพิ่งมีรายงานการติดเชื้อ Pythiosis ในลูกแมวอายุ 8 สัปดาห์ 14.
ปรสิต
โรคผิวหนังจากปรสิตภายนอก (ectoparasitic skin diseases) นั้นพบได้ค่อนข้างบ่อยในแมว โดยความชุกของโรคอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับพื้นที่ทางภูมิศาสตร์และวิถีชีวิตของแมว 15 โรคที่พบได้น้อยในลูกแมวจะแสดงไว้ในตารางที่ 3 และทางเลือกในการรักษาจะขึ้นอยู่กับผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ที่มีวางขายอยู่ในปัจจุบัน ปรสิตที่เกี่ยวข้องมากที่สุดจะถูกกล่าวถึงที่นี่
ตารางที่ 3 ปรสิตภายนอกที่พบได้น้อยในลูกแมว (จาก 15)
โรคไรขี้เรื้อนเปียก (Demodicosis) | Demodex cati อาศัยอยู่ในรูขุมขน (hair follicle) โดยรอยโรคผิวหนังเฉพาะที่ (localized form) จะแสดงลักษณะเป็นผื่นแดง (erythema) ขนร่วง ผิวหนังเป็นขุยและตกสะเก็ดที่บริเวณหัวและคอ ส่วนรอยโรคผิวหนังทั่วตัว (generalized form) มักจะเกี่ยวข้องกับภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง (immunosuppression) |
โรคไรทรอมบิคูเลียด(Trombiculosis) | ตัวอ่อน (larvae) ของไรที่อยู่ในวงศ์ Trombiculidae (“harvest mites”) ทำให้เกิดโรคผิวหนังอักเสบที่บริเวณท้องในช่วงฤดูใบไม้ร่วง อาจมีหรือไม่มีอาการคัน มีผื่นนูนตกสะเก็ดและเป็นแผลจากการเลียหรือเกาตัวเอง (self-induced trauma) |
โรคเหา (Pediculosis) | Felicola subrostratus เป็นเหากัด (biting louse) ชนิดเดียวที่สามารถก่อโรคในแมวได้ แมวที่ติดเหาอาจมีขนที่ดูไม่เงางาม ขนยุ่งและสกปรก อาจพบผื่นนูน ผิวหนังเป็นขุย มีภาวะขนร่วงหรือเป็นโรคผื่นผิวหนังอักเสบ (military dermatitis) ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ ขนยาว ขาดสารอาหารและสภาพแวดล้อมที่ไม่ถูกสุขลักษณะ (รูปภาพที่ 7) |
โรคไรขนในแมว (Feline fur mites) | ไรขน Lynxacarus radovskyi เกาะอยู่บนเส้นขน โดยติดต่อผ่านทางการสัมผัสโดยตรง (direct contact) และถึงแม้ว่าแมวส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการทางคลินิกใดใดแต่การติดปรสิตภายนอกก็อาจทำให้เกิดภาวะขนร่วงช่วงท้ายลำตัวจากการเลียตัวเยอะเกินไป (self-induced caudal alopecia) และพบผิวหนังแห้งเป็นขุย และมีขนหลุดร่วงได้ง่าย |
โรคติดเชื้อที่เกิดจากตัวอ่อนของแมลงวันที่ผิวหนัง (cutaneous screwworm myiasis) | แมลงวันตัวเมียจะวางไข่ที่ขอบแผล ทำให้เกิดแผลหลุมและมีสารคัดหลั่งซึมเยิ้มออกมา แมวบ้านขนสั้นตัวผู้ที่โตเต็มวัยและสมบูรณ์แข็งแรงมีแนวโน้มที่จะติดโรคนี้ได้ง่ายเนื่องจากได้แผลจากการสู้กับแมวตัวอื่น |
โรคไรขี้เรื้อนแห้ง (Notoedric mange หรือ feline scabies) เป็นโรคผิวหนังที่ติดต่อจากสัตว์สู่คน (zoonotic skin disease) ซึ่งเกิดจากไร Notoedres cati (รูปภาพที่ 6) ลูกแมวมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้สูงและไรสามารถแพร่กระจายได้ง่ายผ่านการสัมผัสโดยตรง (direct contact) โดยจะพบผื่นนูนตกสะเก็ด ผิวหนังเป็นขุยและจากนั้นก็จะเจอสะเก็ดที่หนาขึ้นตามตัว รอยโรคมักจะปรากฏที่ใบหูก่อนที่จะลามไปยังใบหน้าและคอ อีกทั้งยังอาจลุกลามไปทั่วร่างกายได้ อาการคันและการเลียตัวเองเป็นเรื่องที่พบได้เป็นปกติ การวินิจฉัยจำเป็นต้องใช้การระบุตัวไร ไข่หรืออุจจาระของไรจากตัวอย่างที่เก็บมาจากการขูดตรวจผิวหนังชั้นตื้น (superficial skin scrapings) 15
โรคไรในหู (otodectic mange) ที่เกิดจาก Otodectes cynotis นั้นแพร่กระจายผ่านทางการสัมผัสโดยตรงเป็นหลัก แมวช่วงวัยรุ่นมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคนี้สูงกว่าช่วงวัยอื่นๆ โดยการติดเชื้อจะทำให้เกิดอาการคัน เป็นผื่นแดงและมีภาวะหูชั้นนอกอักเสบแบบมีขี้หูมากกว่าปกติเป็นสีน้ำตาล-ดำแห้งๆ (ceruminous otitis externa) การวินิจฉัยสามารถทำได้โดยการส่องกล้องจุลทรรศน์เพื่อระบุตัวไรหรือไข่ของพวกมัน 15
โรคไร Cheyletiellosis เป็นโรคติดต่อและเป็นโรคจากสัตว์สู่คน โดย Cheyletiella blakei สามารถปรับตัวให้เข้ากับแมวได้ ไรจะอาศัยอยู่ในผิวหนังชั้นนอกสุดของชั้นหนังกำพร้า (stratum corneum) โดยไม่ขุดโพรง (burrowing) โรคนี้มักพบในสัตว์อายุน้อยหรือสัตว์โตเต็มวัยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง แมวที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่จะแสดงอาการผิวหนังอักเสบแบบผิวหนังแดงลอกเป็นขุย (exfoliative dermatitis) ซึ่งมักจะมีรอยโรคบริเวณกระดูกสันหลังส่วนอกและเอว (dorsolumbar area) และมีอาการคันแตกต่างกันไป การวินิจฉัยสามารถทำได้โดยการสังเกตตัวไรหรือไข่ผ่านทางกล้องจุลทรรศน์ 15.
โรคไรขี้เรื้อนเปียก (demodicosis) พบได้ไม่บ่อยจนถึงพบได้น้อยในแมว มีการระบุไว้ทั้งหมด 4 สปีชีส์ ได้แก่ Demodex cati, D. gatoi, D. murilegi และ D. obliquus 16โดย D. gatoi อาศัยอยู่ในผิวหนังชั้นนอกสุดของชั้นหนังกำพร้า (stratum corneum) ซึ่งแตกต่างจากสปีชีส์อื่นๆตรงที่สามารถติดต่อได้ อาการแสดงทางคลินิกที่พบได้บ่อยที่สุดคืออาการคัน ทั้งนี้แมวอาจจะไม่แสดงอาการคันเลยไปจนถึงมีอาการคันรุนแรงก็ได้ การวินิจฉัยจะยืนยันได้จากการมองเห็นไรหรือไข่ในตัวอย่างที่ได้มาจากการขูดตรวจผิวหนังชั้นตื้น 15 มีรายงานฉบับหนึ่งระบุว่าอายุของแมวที่ติดเชื้อจะแตกต่างกันไประหว่าง 4 เดือนจนถึง 11 ปี 17
หมัด (flea) เป็นปรสิตภายนอกที่พบได้บ่อยในแมว แต่ความชุกของหมัดจะแตกต่างกันไปตามพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ สปีชีส์ที่พบได้บ่อยที่สุดก็คือ Ctenocephalides felis felis 2 ภาวะแพ้น้ำลายหมัด (flea-bite hypersensitivity) อาจเป็นอาการแพ้เพียงอย่างเดียวในแมวหรืออาจเกิดขึ้นพร้อมกับอาการแพ้ชนิดอื่นๆ อาการแสดงทางคลินิกนั้นคล้ายคลึงกับอาการในกลุ่มอาการของโรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ในแมว (feline atopic skin syndrome (FASS)) ได้แก่ อาการคันหัวและคอ ผิวหนังลอก (excoriations) ภาวะขนร่วงจากการเลียหรือเกาตัวเอง (self-induced alopecia) กลุ่มอาการอักเสบแบบแกรนูโลมาจากอีโอซิโนฟิล (eosinophilic granuloma complex) และโรคผื่นผิวหนังอักเสบ (miliary dermatitis) โดยอาจมีอาการคันทั่วร่างกายหรือเฉพาะที่ก็ได้ 2 การวินิจฉัยจะขึ้นอยู่กับอาการแสดงทางคลินิก การมีตัวหมัดหรือพบมูลของหมัด (flea feces) และการตอบสนองต่อการกำจัดหมัดโดยใช้สารควบคุมตัวแก่ (adulticides) และสารควบคุมการเจริญเติบโตของแมลง (insect growth regulators) การทดสอบภูมิแพ้แบบฉีดเข้าผิวหนัง (Intradermal skin tests) และการทดสอบทางเซรุ่มวิทยาในหลอดทดลอง (in vitro serologic tests) อาจช่วยสนับสนุนการวินิจฉัย แต่อย่างไรก็ตามแมวปกติก็อาจให้ผลเป็นบวก (positive results) 2
โปรโตซัว
โรคลิชมาเนียซิส (leishmaniasis) เป็นโรคที่พบมากขึ้นในแมวในพื้นที่ที่มีการระบาด (endemic areas) โดยปุ่มนูนเล็กบนผิวหนัง (cutaneous nodules) จะเป็นอาการแสดงทางคลินิกที่พบได้บ่อยที่สุด ในขณะที่แผลหลุม (ulcers) ผิวหนังเป็นขุย (scaling) และภาวะขนร่วงนั้นจะพบได้น้อยกว่า จากรายงานล่าสุดพบว่าแมวที่อายุน้อยที่สุดที่ได้รับผลกระทบคืออายุ 6 เดือน 18 ทั้งนี้แมววัยกลางคน (middle-aged cat) มักจะได้รับผลกระทบมากกว่าวัยอื่น การวินิจฉัยสามารถทำได้โดยการตรวจทางเซลล์วิทยา (cytology) จากการเจาะเก็บตัวอย่างด้วยเข็มขนาดเล็ก (fine-needle aspirates) การตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ (biopsy) การตรวจทางอิมมูโนฮีสโตเคมี (immunohistochemistry) หรือการทดสอบปฏิกิริยาลูกโซ่โพลีเมอเรส (PCR) ในพื้นที่ที่มีการระบาดแนะนำให้ใช้ยาไล่แมลง (insect repellents) เพื่อป้องกันการติดเชื้อและเพื่อควบคุมแหล่งรังโรค (reservoir) 18
การติดเชื้อ Toxoplasma gondii ทางผิวหนังพบได้ไม่บ่อยในแมว ถึงแม้ว่าจะมีรายงานพบว่ามีปุ่มนูนเล็กและแผลหลุมในแมวบางรายก็ตาม นอกจากนี้ยังมีรายงานกรณีพบการติดเชื้อ Caryospora bigenetica ในลูกแมวจรจัด โดยจะพบปุ่มนูนผิวหนังอย่างรุนแรง (severe nodular skin infection) (รูปภาพที่ 8) 19.
ภาวะภูมิไวเกิน
กลุ่มอาการของโรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ในแมว (feline atopic skin syndrome (FASS))
เป็นภาวะภูมิไวเกินที่สัมพันธ์กับสารก่อภูมิแพ้ในสิ่งแวดล้อม (environmental allergens) โดยแมวอาจมีอาการแพ้อาหาร (food allergy) และ/หรือมีอาการหอบหืด (asthma) ร่วมด้วย อายุที่เริ่มแสดงอาการมักเป็นช่วงอายุน้อย โดยมีรายงานอายุเฉลี่ยตั้งแต่ 6 เดือนถึง 5 ปี อีกทั้งแมวพันธุ์อะบิสซิเนียน (Abyssinian) พันธุ์โซมาลี (Somali) และพันธุ์อ็อกซิแคต (Ocicat) มีแนวโน้มจะเกิดภาวะนี้ได้ง่ายกว่าพันธุ์อื่นๆ อาการแสดงทางคลินิกนั้นมีความหลากหลายอย่างมาก เช่น โรคผื่นผิวหนังอักเสบ (military dermatitis) ภาวะขนร่วงจากการแต่งขนมากเกินไป (self-inflicted alopecia) หรือภาวะรูขุมขนขาด (hypotrichosis) อาการคันหัวและคอ รวมถึงกลุ่มอาการอักเสบแบบแกรนูโลมาจากอีโอซิโนฟิล (eosinophilic granuloma complex) FASS ถือเป็นการวินิจฉัยทางคลินิกโดยพิจารณาจากอาการแสดงทางคลินิกและแยกโรคอื่นที่มีอาการแสดงทางคลินิกที่คล้ายคลึงกันออกไป เช่น ปรสิตภายนอก การติดเชื้อและอาการแพ้อาหาร 2
อาการแพ้อาหาร
ปฏิกิริยาไม่พึงประสงค์จากอาหาร ได้แก่ ภาวะที่เป็นพิษ (toxic) และไม่เป็นพิษ (non-toxic) ไม่เกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกัน (non-immunological) และเกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกัน (immune-mediated) ซึ่งรวมไปถึงอาการแพ้อาหาร (food allergy) อาการแพ้อาหารนั้นอาจเกิดขึ้นพร้อมกับ FASS หรืออาจเป็นภาวะภูมิไวเกินเพียงอย่างเดียวในแมวก็ได้ ในทางคลินิกอาการแพ้อาหารจะไม่สามารถแยกออกจาก FASS ได้และจำเป็นต้องใช้การควบคุมอาหาร (elimination diet) เพื่อวินิจฉัยเพิ่มเติม ทั้งนี้จากงานวิจัยพบว่าอายุที่เริ่มแสดงอาการจะแตกต่างกันไประหว่าง 3 เดือนจนถึง 13 ปี 2
โรคผิวหนังติดเชื้ออาจส่งผลต่อสัตว์อายุน้อยเนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันที่ยังพัฒนาไม่เต็มที่ (immature immune systems) โดยโรคเหล่านี้อาจเกิดจากไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา ปรสิตภายนอกหรือโปรโตซัวในธรรมชาติก็ได้
Lotta E. Pänkälä
โรคหู
ภาวะหูชั้นนอกอักเสบ (otitis externa) ในลูกแมวมักเกิดจากไรในหู (ear mites) ดังที่กล่าวไว้ในข้างต้น 15,20 แม้ว่าจะมีรายงานพบว่าร้อยละ 21 ของแมวที่เป็น FASS จะพบภาวะหูชั้นนอกอักเสบแต่ก็พบน้อยกว่าเมื่อเทียบกับสุนัขที่เป็นโรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ (canine atopic dermatitis) 2,20. ภาวะท่อหูทำงานผิดปกติ (auditory tube dysfunction) อาจส่งผลให้มีของเหลวขังอยู่ในหูชั้นกลาง (middle ear effusion) และหูชั้นกลางอักเสบ (inflammation) ได้ รวมถึงการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนจากไวรัส (viral upper respiratory tract infections) ก็อาจทำให้แมวมีแนวโน้มที่จะเกิดการติดเชื้อย้อนกลับขึ้นไปในหูชั้นกลาง (ascending bacterial middle ear infection) ผ่านทางท่อหู (auditory tube) ได้เช่นกัน 21 (รูปภาพที่ 9)
โรคหูชั้นนอกอักเสบในแมวแบบแพร่กระจายและเป็นเนื้อตายหรือ proliferative and necrotizing feline otitis externa (PNOE) เป็นโรคที่พบได้ยากทั้งในลูกแมวและแมวโตเต็มวัย โดยรอยโรคมักจะเกิดที่ใบหูทั้ง 2 ข้าง (bilateral) มีลักษณะเป็นผื่นหนาสีเข้มที่มีขอบเขตชัดเจนและกระจายอยู่ทั่ว (well-demarcated proliferative dark-colored plaques) รวมถึงมีสารคัดหลั่งเป็นหนอง (exudate) ออกมาจากโคนใบหู (base of the pinna) รูเปิดช่องหู (the opening of the ear canal) และช่องหูที่ดิ่งลงทางด้านล่าง (vertical ear canal) ทั้งนี้พยาธิสภาพของการเกิดโรคนั้นยังไม่ทราบอย่างชัดเจน แต่สงสัยกันว่าอาจเกิดจากความผิดปกติของภูมิคุ้มกัน (immune-mediated disorder) ที่เกี่ยวข้องกับการตายของเซลล์เคราติโนไซต์อย่างเป็นระบบ (keratinocyte apoptosis) การรักษาโดยใช้ยาที่มีผลทั่วร่างกาย (systemic treatment) และการรักษาโดยใช้ยาภายนอก (topical treatment) ด้วยยาในกลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (corticosteroids) และกลุ่มยับยั้งแคลซินูริน (calcineurin inhibitors) นั้นมักประสบความสำเร็จในกรณีส่วนใหญ่ 20 (รูปภาพที่10).
ติ่งเนื้อในช่องหูจากการอักเสบ (inflammatory aural polyps) เป็นปุ่มนูนที่ไม่เป็นอันตราย (benign nodules) ซึ่งเกิดจากเยื่อบุผิว (epithelium lining) ในหูชั้นกลาง (middle ear) คอหอยส่วนจมูก (nasopharynx) หรือท่อหู (auditory tube) ติ่งเนื้อนั้นอาจจำกัดอยู่แค่ภายในหูชั้นกลางหรืออาจลามเข้าไปในช่องหู (ear canal) หรือคอหอยส่วนจมูก โดยอาจพบสัญญาณของภาวะหูชั้นนอกอักเสบ (otitis externa) อาการทางระบบทรงตัวหรือทางระบบทางเดินหายใจ (vestibular or respiratory signs) หรือกลุ่มอาการฮอร์เนอร์ (Horner’s syndrome) และอาจพัฒนาเป็นภาวะหูชั้นกลางอักเสบ (otitis media) ได้ 20,21 ติ่งเนื้อจะพบได้บ่อยที่สุดในแมวอายุน้อยและลูกแมวแต่จริงๆแล้วก็สามารถเกิดขึ้นได้ในแมวทุกวัย นอกจากจะแนะนำให้ใช้กล้องส่องตรวจหู (otoscopy) แล้วยังแนะนำให้ใช้การถ่ายภาพรังสีวินิจฉัย (diagnostic imaging) เพื่อดูขอบเขตของติ่งเนื้อ การวินิจฉัยขั้นสุดท้าย (definitive diagnosis) จำเป็นต้องอาศัยการตรวจทางจุลพยาธิวิทยา (histopathology) ทั้งนี้ติ่งเนื้อนั้นสามารถรักษาได้ด้วยการ traction avulsion หรือผ่าตัดแบบ ventral bulla osteotomy แต่ก็พบกลับมาเป็นติ่งเนื้อซ้ำได้บ่อย 20 (รูปภาพที่ 9)
ภาวะอื่นๆ
มีรายงานโรคผิวหนังที่เกิดจากโภชนาการ สิ่งแวดล้อม จิตใจ (psychogenic) ภูมิคุ้มกัน (immune-mediated) และภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง (autoimmune skin diseases) ในลูกแมว นอกเหนือจากโรคผิวหนังที่กล่าวถึงในข้างต้นแล้ว ยังมีโรคอื่นๆอีกที่สัตวแพทย์ควรทราบไว้ ความผิดปกติของขน (haircoat abnormalities) ที่เกิดขึ้นในช่วงอายุยังน้อย (early onset) อาจมีสาเหตุหลายประการนอกเหนือไปจากโรคผิวหนังจากพันธุกรรม (genodermatoses) (ตารางที่ 1) เช่น การเลี้ยงดูที่ไม่ดี (poor husbandry) โภชนาการหรือการไม่ถูกสุขลักษณะอนามัย (รูปภาพที่ 1) พฤติกรรมการแต่งขนที่ผิดปกติ (abnormal grooming behavior) ของแมวตัวเมียที่ยังไม่ทำหมันอาจนำไปสู่ภาวะขนร่วงที่บริเวณใบหน้าในลูกแมว 22 ภาวะขาดไทโรซีน (tyrosine deficiency) ในอาหารจะนำไปสู่ภาวะสีขนจางลง (hypochromotrichia) ซึ่งมักจะแสดงอาการในรูปของขนสีน้ำตาลแดง (reddish-brown hair color) ในแมวดำ (black cats) 24, โรคที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการคัน (pruritic behavior) เช่น โรคแมสต์เซลล์ที่ผิวหนังแบบเป็นผื่นในแมวหรือ feline maculopapular cutaneous mastocytosis 25 โรคผิวหนังอักเสบเป็นแผลหลุมบนคอที่ไม่ทราบสาเหตุ (idiopathic neck ulcerative dermatitis) กลุ่มอาการที่มีปริมาณอีโอซิโนฟิลในเลือดสูง (hypereosinophilic syndrome) และโรคผิวหนังอักเสบแบบเป็นตุ่มนูนบุ๋มตรงกลาง (perforating dermatitis) นั้นสามารถพบได้ในแมวทุกวัยรวมไปถึงแมวที่อายุน้อย
สรุป
ลูกแมวและแมวอายุน้อยอาจป่วยเป็นโรคผิวหนังได้หลายชนิด การซักประวัติโดยละเอียดถือเป็นส่วนสำคัญของการตรวจวินิจฉัย เมื่อพิจารณาถึงการวินิจฉัยแยกโรค (differentials) สัตวแพทย์ควรคำนึงถึงอายุที่เริ่มแสดงอาการป่วย สอบถามว่าแมวตัวอื่นในครอกได้รับผลกระทบด้วยหรือไม่ มีความเป็นไปได้ในการเป็นโรคติดต่อหรือไม่และลูกแมวหรือสัตว์ที่สัมผัสใกล้ชิดสามารถออกไปนอกบ้านได้หรือไม่ การทดสอบวินิจฉัยจะต้องทำตามการวินิจฉัยแยกโรคเหล่านี้ โดยอาจรวมถึงตัวอย่างของเชื้อก่อโรค (infectious agents) การตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ (biopsies) การตรวจภูมิแพ้หรือการถ่ายภาพรังสีวินิจฉัย (diagnostic imaging) นอกเหนือจากการตัดสินทางคลินิก (clinical judgement)
References
-
Outerbridge C. Genetic diseases. In: Noli C, Colombo S, eds. Feline Dermatology. Springer Nature Switzerland AG, 2020;547-567.
-
Santoro D, Pucheau-Haston CM, Prost C, et al. Clinical signs and diagnosis of feline atopic syndrome: detailed guidelines for a correct diagnosis. Vet. Dermatol. 2021;32:26-42.
-
Rostaher A, Bettenay S, Specht L, et al. Hair follicle dystrophy in a litter of domestic cats resembling lanceolate hair mutant mice. Vet. Dermatol. 2021;32(1):74-e14.
-
Neuber AE, van den Broek AHM, Rhind SM, et al. Generalized alopecic and cystic dermatosis in a cat: a counterpart to the hairless mouse phenotype or a unique congenital dermatosis? Vet. Dermatol. 2006;17:63-69.
-
Kiener S, Cikota R, Welle M, et al. A Missense Variant in SLC39A4 in a litter of Turkish Van cats with acrodermatitis enteropathica. Genes (Basel) 2021;12(9):1309.
-
Munday JS, Wilhelm S. Viral diseases. In: Noli C, Colombo S, eds. Feline Dermatology. Springer Nature Switzerland AG, 2020;359-386.
-
Willi B, Spiri AM, Meli ML, et al. Molecular characterization and virus neutralization patterns of severe, non-epizootic forms of feline calicivirus infections resembling virulent systemic disease in cats in Switzerland and in Liechtenstein. Vet. Microbiol. 2016;182:202-212.
-
Vogelnest LJ. Bacterial diseases. In: Noli C, Colombo S, eds. Feline Dermatology. Springer Nature Switzerland AG, 2020;213-250.
-
Costa RS, Costa FB, Barros RR. Antimicrobial treatment of necrotizing fasciitis and septic polyarthritis in a cat associated with Streptococcus canis infection. Vet. Dermatol. 2018;29(1):90-91.
-
O´Brien C. Mycobacterial diseases. In: Noli C, Colombo S, eds. Feline Dermatology. Springer Nature Switzerland AG, 2020;213-250.
-
Fungal and algal skin diseases. In: Miller WH, Griffin CE, Campbell KL, eds. Muller & Kirk´s Small Animal Dermatology, 7th ed. Elsevier, Mosby, 2013;223-283.
-
Moriello KA, Coyner K, Paterson S, et al. Diagnosis and treatment of dermatophytosis in dogs and cats. Clinical Consensus Guidelines of the World Association for Veterinary Dermatology. Vet. Dermatol. 2017;28:266-e68.
-
Vercelli C, Peano A, Piovano G, et al. Diagnostic and therapeutic management of Cryptococcosis in a kitten with practical considerations to veterinary pediatric therapeutic approach. Med. Mycol. Case Rep. 2021;32:61-63.
-
Dowst M, Pavuk A, Vilela R, et al. An unusual case of cutaneous feline pythiosis. Med. Mycol. Case Rep. 2019;26:57-60.
-
Leone F, Hock SH. Ectoparasitic diseases. In: Noli C, Colombo S, eds. Feline Dermatology. Springer Nature Switzerland AG, 2020;405-436.
-
Izdebska JN, Rolbiecki L, Fryderyk S. Demodex murilegi and Demodex obliquus, two new specific skin mites from domestic cat Felis catus, with notes on parasitism. Med. Vet. Entomol. 2023;37(2):263-274.
-
Saari SA, Juuti KH, Palojärvi JH, et al. Demodex gatoi-associated contagious pruritic dermatosis in cats – a report from six households in Finland. Acta Vet. Scand. 2009;51:40.
-
Abramo F, Albanese F, Gattuso S, et al. Skin lesions in feline leishmaniosis: a systematic review. Pathogens 2021;10(4):472.
-
Saari S, Schildt K, Malkamäki S, et al. Severe deforming dermatitis in a kitten caused by Caryospora bigenetica. Case Reports Acta Vet. Scand. 2021;63(1):39.
-
Brame B, Cain C. Chronic otitis in cats: Clinical management of primary, predisposing and perpetuating factors. J. Feline Med. Surg. 2021;23:433-446.
-
Mascarenhas MB. Nonpolyp-associated otitis media in cats: The little we know. Vet. Med. Sci. 2022;8:1853-1854
-
Fanton N, Michelazzi M, Cornegliani L. Alopecia in four kittens caused by abnormal maternal licking behaviour. Aust. Vet. J. 2015;93(11):417-419.
-
Yu S, Rogers QR, Morris JG. Effect of low levels of dietary tyrosine on the hair colour of cats. J. Small Anim. Pract. 2001;42:176-180.
-
Ngo J, Morren MA, Bodemer C, et al. Feline maculopapular cutaneous mastocytosis: a retrospective study of 13 cases and proposal for a new classification. J. Feline Med. Surg. 2019;21(4):394-404.
-
Vogelnest LJ, Ravens PA. Idiopathic miscellaneous diseases. In: Noli C, Colombo S, eds. Feline Dermatology. Springer Nature Switzerland AG, 2020;627-653.
Kirsti J.M. Schildt
Since graduating from the Helsinki Veterinary School Dr. Schildt has worked in small animal practice with a focus on dermatology อ่านเพิ่มเติม
Lotta E. Pänkälä
Dr. Pänkälä graduated from the Helsinki University Veterinary Faculty อ่านเพิ่มเติม