วารสารเชิงวิชาการและการรักษาสัตวป่วยเพื่อผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์
วารสารเชิงวิชาการและการรักษาสัตวป่วยเพื่อผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์

หมายเลขหัวข้อ 32.1 ระบบหัวใจและหลอดเลือด

อาการเป็นลมหมดสติในแมว

เผยแพร่แล้ว 08/09/2023

เขียนโดย Luca Ferasin

สามารถอ่านได้ใน Français , Deutsch , Italiano , Español , English และ Українська

สัตวแพทย์จะจัดการกับแมวที่มีอาการเป็นลมหมดสติเป็นครั้งคราวได้อย่างไร? บทความนี้ผู้เขียน Luca Ferasin ได้อธิบายคำแนะนำในการจัดการอย่างเป็นขั้นเป็นตอนสำหรับสัตวแพทย์

© Shutterstock

แมวกำลังนอนหลับ

ประเด็นสำคัญ

อาการเป็นลมหมดสติไปชั่วขณะนั้นมีลักษณะเฉพาะคือมีอาการอย่างรวดเร็วฉับพลัน เป็นระยะเวลาสั้นๆ และสามารถฟื้นสติกลับมาเป็นปกติอย่างสมบูรณ์ได้เอง ถึงแม้ว่าในบางกรณีแมวอาจจะมีภาวะสับสนชั่วคราว (transient disorientation) ได้อีกหลายนาทีก็ตาม


อาการเป็นลมหมดสติในแมวมักจะสัมพันธ์กับภาวะของหัวใจและหลอดเลือดชนิดปฐมภูมิ (primary cardiovascular conditions) แต่ทั้งนี้ก็อาจเกี่ยวข้องกับความผิดปกติอื่นๆที่ไม่ใช่โรคหัวใจและหลอดเลือด (non-cardiovascular abnormalities) ได้เช่นเดียวกัน


วิธีการรักษาแมวที่มีอาการเป็นลมหมดสติส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับสาเหตุที่แท้จริง แต่ลักษณะของอาการที่เกิดขึ้นอย่างชั่วคราวนั้นก็ทำให้การวินิจฉัยมีความท้าทายเป็นอย่างมาก


แมวหลายตัวที่มีอาการเป็นลมหมดสติมักได้รับการวินิจฉัยผิดว่าเป็นโรคลมชัก (epilepsy) และอาจทำให้ต้องเข้ารับการตรวจวินิจฉัยที่มีราคาแพงและไม่จำเป็น


บทนำ (introduction)

อาการเป็นลมหมดสติหรืออาการหน้ามืดนั้นหมายถึงการสูญเสียความรู้สึกตัวอย่างฉับพลัน คาดไม่ถึง และไม่ได้ถูกกระตุ้นด้วยสิ่งใดใดจากนั้นจึงค่อยๆฟื้นคืนสติได้เอง แมวที่มีอาการนี้มักจะสูญเสียการควบคุมการทรงตัวและล้มลงกับพื้นโดยไม่มีการตอบสนองใดๆในช่วงที่มีอาการเป็นลมหมดสติ อย่างไรก็ตามอาการเป็นลมหมดสตินั้นก็เป็นอาการที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวไม่กี่วินาที เพราะแมวจะค่อยๆฟื้นตัวได้เองอย่างสมบูรณ์ อาการเป็นลมหมดสติในมนุษย์อาจมีอาการใจสั่น วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด เหงื่อออก คลื่นไส้ หรือแม้แต่มีการมองเห็นที่ผิดปกติ แต่สัตว์ไม่สามารถบอกอาการต่างๆเหล่านี้ได้ เพราะฉะนั้นจึงไม่มีรายงานอาการเหล่านี้ในแมวที่มีอาการเป็นลมหมดสติ แต่ก็มีเจ้าของสัตว์บางคนที่แจ้งว่าแมวของพวกเขาส่งเสียงร้องหรือครวญครางก่อนจะมีอาการเป็นลมหมดสติเช่นกัน อาการเป็นลมหมดสติมักทำให้เจ้าของนึกถึงการเสียชีวิตอย่างฉับพลัน และผู้ที่เห็นเหตุการณ์มักจะมีความกังวลเป็นอย่างมากซึ่งคล้ายคลึงกับเวลาที่พ่อแม่ทุกข์ใจเมื่อเห็นลูกเป็นลม เพราะพวกเขาเหล่านั้นจะรู้สึกไม่ปลอดภัยและวิตกกังวลเนื่องจากไม่สามารถช่วยเหลือคนที่พวกเขารักได้ นอกจากนี้แมวที่เคยมีประวัติเป็นลมหมดสตินั้นจะมีความเสี่ยงในการเสียชีวิตอย่างฉับพลันสูงขึ้น 1 แมวบางตัวอาจแสดงอาการไม่รุนแรงและมีสัญญาณแสดง “อาการจะเป็นลม (pre-syncope or lipothymia)” ซึ่งได้แก่ การล้มตัว อาการอ่อนแรง หรือการเดินไม่มั่นคงโดยไม่ได้สูญเสียความรู้สึกตัว อย่างไรก็ตามแนวทางการวินิจฉัยและวิธีจัดการทางคลินิกของอาการดังกล่าวนั้นควรเป็นแบบเดียวกับที่ใช้ในการวินิจฉัยและรักษาอาการเป็นลมหมดสติแบบสมบูรณ์

สาเหตุ (etiology)

ถึงแม้ว่าจะมีหลายภาวะที่สามารถโน้มนำให้เกิดอาการเป็นลมหมดสติได้ แต่ท้ายที่สุดแล้วก็คือเป็นผลมาจากการขาดเลือดไปเลี้ยงสมองชั่วคราว (transient global cerebral hypoperfusion) ในมนุษย์นั้นมักไม่คำนึงถึงสาเหตุที่แท้จริงของอาการเป็นลมหมดสติเพราะการขาดเลือดไปเลี้ยงที่สมองอย่างกระทันหันเป็นเวลา 6-8 วินาทีและ/หรือการลดลงของความดันโลหิตขณะหัวใจบีบตัว (systolic blood pressure) ถึงหรือน้อยกว่า 60 มิลลิเมตรปรอทนั้นก็เพียงพอที่จะทำให้เกิดอาการเป็นลมหมดสติได้ 2 ไม่มีเกณฑ์ค่าวิกฤติทางสรีรวิทยา (Critical physiological values) ใดที่สามารถกระตุ้นให้แมวมีอาการเป็นลมหมดสติได้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องเกินจริงที่จะเชื่อว่าอาจคล้ายคลึงกับรายงานที่มีในคน

อาการเป็นลมหมดสติในแมวมักเกี่ยวข้องกับภาวะหัวใจและหลอดเลือดชนิดปฐมภูมิ (primary cardiovascular conditions) แม้ว่าความผิดปกติบางอย่างที่ไม่ใช่โรคหัวใจและหลอดเลือดจะอยู่ในรายการการวินิจฉัยแยกโรคด้วยก็ตาม อย่างไรก็ตามสาเหตุของการเป็นลมหมดสติในแมวนั้นไม่ได้ถูกอธิบายเหมือนกับอาการเป็นลมหมดสติปกติในคนซึ่งมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนท่าหรือการอยู่ในท่านั่ง/ยืนเป็นเวลานาน (orthostatic cause) ความผิดปกติของกระบวนการย่อยสลายในร่างกาย (metabolic cause) และความผิดปกติด้านจิตใจ (psychological cause) ภาวะหลอดเลือดแดงขยายตัวจากการกระทำของสัตวแพทย์ (iatrogenic arterial dilation) อาจเกิดขึ้นหลังจากการให้ยาที่โน้มนำให้เกิดการขยายตัวของหลอดเลือด (vasodilation) เช่น nitroprusside acepromazine หรือ amlodipine ความผิดปกติทั้งหมดที่ระบุไว้ข้างต้นสามารถกระตุ้นให้เกิดภาวะขาดเลือดไปเลี้ยงสมองและนำไปสู่การสูญเสียความรู้สึกตัวได้ ตารางที่ 1 ด้านล่างเป็นการสรุปสาเหตุที่เป็นไปได้ของอาการเป็นลมหมดสติที่ถูกรายงานไว้

ตารางที่ 1 สาเหตุที่เป็นไปได้ของอาการเป็นลมหมดสติในแมว

หัวใจและหลอดเลือด (cardiovascular)
  • การอุดกั้นการไหลเวียนเลือดทางกายวิภาค (anatomical outflow obstruction) (โรคลิ้นหัวใจเอออร์ติก/พัลโมนิกตีบรุนแรง (severe aortic or pulmonic stenosis); เนื้องอกที่ฐานหัวใจหรือเนื้องอกภายในหัวใจ (heart base or intracardiac tumors)
  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจ (myocardial disease) (โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ (hypertrophic cardiomyopathy (HCM) โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (ischemia) โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (myocarditis)
  • ภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ (bradycardia) (เช่น atrio-ventricular (AV) block, atrial standstill, asystole)
  • ภาวะหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ (tachycardia), ภาวะหัวใจห้องบนเต้นเร็วผิดปกติ (supraventricular (SVT)), ภาวะหัวใจห้องล่างเต้นเร็วผิดปกติ (ventricular (VT))
หลอดเลือด (vascular)
  • ความดันโลหิตต่ำจากการเปลี่ยนท่า (orthostatic hypotension) (การคั่งของเลือดในส่วนล่างของร่างกาย (venous pooling) *
  • หลอดเลือดและประสาทเวกัส (neurocardiogenic (vasovagal))
  • ของเหลวในร่างกายพร่อง/ภาวะแห้งน้ำ (hypovolemia/dehydration)
  • เฉพาะสถานการณ์ เช่น การเกร็งหรือเบ่งระหว่างไอ ขับถ่ายอุจจาระ ขับถ่ายปัสสาวะ กลืน อาเจียน
ไม่เกี่ยวข้องกับหัวใจและหลอดเลือด (non-cardiovascular)
  • ระบบประสาท (neurological) (เช่น ชัก (seizure disorder) การได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ (head trauma) รอยโรคที่สมอง (brain lesion)
  • กระบวนการย่อยสลายในร่างกาย (metabolic) (ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำอย่างรุนแรง (severe hypoglycemia) *
  • ด้านจิตใจ (psychological) (เช่น ความวิตกกังวล (anxiety) ภาวะตื่นตระหนก (panic) *
  • การกระทำของสัตวแพทย์ (iatrogenic) (เช่น acepromazine, hydralazine, amlodipine, nitrates)
  • อื่นๆ (เช่น เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจทำงานล้มเหลว (pacemaker failure))

* - ไม่แน่ใจว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นในแมวหรือไม่

 

ในเอกสารทางสัตวแพทย์ รายงานกรณีที่แมวเป็นลมหมดสตินั้นมีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงทางพยาธิวิทยาของอัตราการเต้นของหัวใจ เช่น ภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติเป็นเวลานานเนื่องจาก sinus arrest 3 หรือ paroxysmal atrio-ventricular (AV) block ร่วมกับ ventricular standstill 4.อาการเป็นลมหมดสติในแมวยังมีรายงานว่าพบร่วมกับภาวะหัวใจเต้นเร็วแบบ paroxysmal ventricular (VT) 5,6 หรือ supraventricular (SVT) tachycardia 7 มีการอธิบายการชักแบบบาดทะยัก (tetanic seizure) ไว้ว่าอาจเกี่ยวข้องกับ paroxysmal atrial tachycardia ในแมวพันธุ์เปอร์เซีย แต่ก็ยังไม่ได้มีการยืนยันความสัมพันธ์ระหว่างอาการเป็นลมหมดสติกับภาวะหัวใจเต้นเร็วในกรณีนี้ 8 รายงานอาการเป็นลมหมดสติอื่นๆในแมวเกี่ยวข้องกับการอุดกั้นการไหลเวียนเลือดจากหัวใจห้องล่างขวา (right outflow obstruction) แบบทุติยภูมิซึ่งเป็นผลมาจากโรคพยาธิหนอนหัวใจ 9 การเพิ่มความดันภายในช่องอกและช่องท้องส่งผลให้อัตราการไหลของเลือดกลับสู่หัวใจ (venous return) ลดลงในระหว่างการขับถ่าย (อาการเป็นลมหมดสติเฉพาะสถานการณ์ (situational syncope) 10 ภาวะหลอดเลือดแดงใหญ่ฉีกขาด (aortic dissecting aneurysm) ที่ทำให้ความดันโลหิตจากหลอดเลือดแดงสูง (systemic arterial hypertension) 11 และความผิดปกติของหัวใจแต่กำเนิด (congenital cardiac defects) 12 โดยเท่าที่ผู้เขียนทราบในเอกสารทางสัตวแพทย์ยังไม่ปรากฎรายงานยืนยันอาการเป็นลมหมดสติในแมวจากสาเหตุหลอดเลือดและประสาทเวกัส (vasovagal (neurocardiogenic) syncope) ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของอาการเป็นลมหมดสติในมนุษย์ แม้ว่าผู้เขียนจะเคยเจอและได้บันทึกเคสสัตว์ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีอาการเป็นลมหมดสติจากสาเหตุนี้ไว้ในช่วงที่ทำงานคลินิกบ้างก็ตาม

พยาธิสรีรวิทยา (Pathophysiology)

สมองต้องการให้เลือดเข้ามาเลี้ยงอย่างสม่ำเสมอและเพียงพอเพื่อให้ทำงานได้อย่างปกติ การลดลงหรือหยุดชะงักอย่างมีนัยสำคัญแม้จะเพียงไม่กี่วินาทีก็สามารถนำไปสู่อาการเป็นลมหมดสติได้ การไหลเวียนของเลือดในสมอง (cerebral blood flow) นั้นได้รับการดูแลโดยกลไกต่างๆภายในร่างกายที่มีผลต่อความดันโลหิตหลอดเลือดแดง (arterial blood pressure; BP) ซึ่งเป็นผลมาจากการนำปริมาตรเลือดส่งออกจากหัวใจต่อนาที (cardiac output; CO) คูณกับความต้านทานรวมของหลอดเลือดส่วนปลาย (total peripheral resistance; TPR) (คือ BP = CO x TPR) ในทางกลับกันปริมาตรเลือดส่งออกจากหัวใจต่อนาทีหรือ CO จะถูกกำหนดโดยปริมาตรของเลือดส่งออกจากหัวใจต่อการบีบตัวหนึ่งครั้ง (stroke volume; SV) คูณกับอัตราการเต้นของหัวใจ (heart rate; HR) (คือ CO = SV x HR) ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงของทั้ง SV, HR หรือ TPR ก็ล้วนส่งผลต่อความดันโลหิตหลอดเลือดแดงทั้งสิ้นและท้ายที่สุดก็คือส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือดในสมอง

The relationship between cardiac output (CO) and heart rate (HR)

รูปภาพที่ 1 ความสัมพันธ์ระหว่างปริมาตรเลือดส่งออกจากหัวใจต่อนาที (CO) กับอัตราการเต้นของหัวใจ (HR) (26) โดยช่วง “N” จะแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาของอัตราการเต้นของหัวใจ (เช่น ระหว่างออกกำลังกาย) โดยที่ CO นั้นแทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย เนื่องจาก HR ที่เพิ่มขึ้นจะลดปริมาตรของเลือดส่งออกจากหัวใจต่อการบีบตัวหนึ่งครั้ง (SV) ลงในลักษณะที่สอดคล้องกัน (CO = SV x HR) อย่างไรก็ตามเมื่อ HR เพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงปกติทางสรีรวิทยา (ช่วง “T” คือ ภาวะหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติหรือ tachycardia) เวลาที่หัวใจคลายตัว (diastolic time) จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญจนไม่สามารถเติมเลือดในหัวใจห้องล่าง (ventricular filling) และมีปริมาตรของเลือดส่งออกจากหัวใจต่อการบีบตัวหนึ่งครั้ง ได้อย่างเพียงพอ สิ่งที่ตามมาคือ CO จะลดลง ในทางกลับกันเมื่อ HR ลดลงมากเกินไป (ช่วง “B” คือ ภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ bradycardia) ถึงแม้ว่าจะมีช่วงเวลาที่หัวใจคลายตัวเป็นเวลานานขึ้นแต่การเติมเลือดในหัวใจห้องล่างก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นเนื่องจากพื้นที่ของหัวใจห้องล่างที่จำกัด สุดท้ายก็ส่งผลให้ SV และ CO ลดลงในที่สุด

© Luca Ferasin

ภาวะหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติและภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ (tachycardia and bradycardia)

ความผันแปรทางสรีรวิทยาของอัตราการเต้นของหัวใจนั้นมีผลต่อ CO เพียงเล็กน้อย โดยเมื่อมีอัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มมากขึ้น ปริมาตรของเลือดส่งออกจากหัวใจต่อการบีบตัวหนึ่งครั้ง (stroke volume) ก็จะลดลงเนื่องจากช่วงหัวใจคลายตัว (diastolic interval) สั้นลงทำให้มีเวลาในการเติมเลือดในหัวใจห้องล่าง (ventricular filling) น้อยลง ดังนั้นปริมาตรของเลือดที่ส่งออกจากหัวใจเมื่อมีการหดตัวจึงน้อยลงด้วย แต่ในทางกลับกันการลดลงของอัตราการเต้นของหัวใจในทางสรีรวิทยามักจะมาพร้อมกับช่วงหัวใจคลายตัวที่นานขึ้นและเกี่ยวข้องกับการเติมเลือดในหัวใจห้องล่าง ทำให้ปริมาตรเลือดส่งออกจากหัวใจต่อการบีบตัวหนึ่งครั้งนั้นเพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามเมื่อการเปลี่ยนแปลงของอัตราการเต้นของหัวใจกลายเป็นพยาธิสภาพ (เช่น ภาวะหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติและภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ) ทั้ง 2 ภาวะที่กล่าวถึงในข้างต้นจะทำให้ CO ลดลงอย่างมาก ภาวะหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติมากๆอย่างต่อเนื่องสามารถลดช่วงหัวใจคลายตัวจนถึงจุดที่ปริมาตรเลือดส่งออกจากหัวใจต่อการบีบตัวหนึ่งครั้งได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ในขณะที่ภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติแม้ว่าจะเพิ่มการเติมเลือดในหัวใจห้องล่างแต่ก็ทำให้ CO ลดลงได้เช่นเดียวกัน (รูปภาพที่ 1) ตัวอย่างอาการเป็นลมหมดสติที่เกิดจากภาวะหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติและหัวใจเต้นช้ากว่าปกติได้ถูกรายงานไว้ในรูปภาพที่ 2 และ 3 ตามลำดับ


a
b
c

รูปภาพที่ 2 แมวพันธุ์ Devon Rex เพศผู้ทำหมันแล้ว อายุ 9 ปี มีประวัติเป็นลมต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน โดยจะแสดงอาการเป็นลมหมดสติทุก 3-4 เดือน การวินิจฉัยด้วยผลตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะพักและการใช้เครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชั่วโมง (Holter) ร่วมกับการถ่ายภาพรังสีช่องอกและตรวจหัวใจด้วยเครื่องสะท้อนเสียงความถี่สูง (echocardiograms) นั้นไม่สามารถสรุปได้ ดังนั้นจึงพิจารณาใช้อุปกรณ์บันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบฝังไว้ใต้ผิวหนัง (implantable loop recorder) (a) ที่บริเวณด้านซ้ายของทรวงอกเพื่อให้สามารถติดตามคลื่นไฟฟ้าหัวใจได้อย่างต่อเนื่อง (b) หลังจากนั้นไม่กี่สัปดาห์แมวมีอาการเป็นลมหมดสติอีกครั้งแต่ผู้ดูแลสัตว์สามารถใช้อุปกรณ์กระตุ้นสัตว์ป่วยได้ การติดตามคลื่นไฟฟ้าหัวใจระหว่างเหตุการณ์เป็นลมแสดงผลให้เห็นอย่างรวดเร็วว่ามีภาวะ supraventricular tachycardia (SVT) ที่ 430 ครั้งต่อนาที (หัวลูกศรสีดำ) (c) ต่อมาแมวได้รับการรักษาด้วยยา sotalol (ขนาดยา 10 มก. ทางการกิน วันละ 2 ครั้ง) และไม่พบอาการเป็นลมหมดสติอีก

© Luca Ferasin

Eleven-year-old female neutered Domestic Shorthair cat

รูปภาพที่ 3a แมวพันธุ์ domestic shorthair เพศเมียทำหมันแล้ว อายุ 11 ปี ถูกส่งตัวมาเพื่อตรวจระบบประสาทหลังจากพบว่ามีอาการสั่น (tremors) หน้ากระตุก (facial twitching) และเป็นลมทุกวัน ในระหว่างการตรวจทางคลินิกพบว่ามีการหยุดเต้นของหัวใจเป็นเวลานาน (prolonged cardiac pauses) จึงมีการตรวจวินิจฉัยหัวใจเพิ่มเติมทันที จากการตรวจด้วยเครื่องสะท้อนเสียงความถี่สูง ภาพถ่ายรังสีช่องอก และการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะพักไม่พบความผิดปกติใด แต่เมื่อเฝ้าติดตามด้วยเครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชั่วโมงกลับพบว่ามีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะแบบเด่นชัดสลับกับ atrio-ventricular (AV) dissociation ด้วยอัตราการเต้นของหัวใจเฉลี่ย 93 ครั้งต่อนาที โดยช่วงที่แมวล้มลงและมีอาการกระตุกนั้นใกล้เคียงกับช่วงที่มี complete AV block กับ ventricular standstill ซึ่งกินเวลานานที่สุดประมาณ 8 วินาที

© Luca Ferasin

A permanent pacemaker was surgically implanted, with a lead sutured to the left ventricular epicardium

รูปภาพที่ 3b การผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจแบบถาวร โดยมีการเย็บสายนำไฟฟ้าที่เยื่อหุ้มหัวใจชั้นใน (epicardium) ของหัวใจห้องล่างซ้าย

© Luca Ferasin

The epicardial lead was tunneled under the lateral thoracic wall muscles and the pulse generator was inserted in a subcutaneous pocket created over the left cranioventral abdominal wall

รูปภาพที่ 3c นำสายนำไฟฟ้าที่เยื่อหุ้มหัวใจชั้นในลอดใต้กล้ามเนื้อผนังทรวงอกด้านข้างลำตัว (lateral thoracic wall muscles) และนำเครื่องกำเนิดชีพจร (pulse generator) ไปฝังไว้ใน subcutaneous pocket ที่ทำขึ้นเหนือผนังช่องท้องซ้ายส่วนหน้าด้านล่าง (left cranioventral abdominal wall)

© Luca Ferasin

Syncopal episodes did not represent following the procedure and device interrogation

รูปภาพที่ 3d ไม่พบอาการเป็นลมหมดสติแสดงหลังจากการฝังอุปกรณ์ตามขั้นตอน ในอีก 6 เดือนต่อมา ข้อมูลเผยให้เห็นว่าเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจกำลังทำงานร้อยละ 24 ของเวลาทั้งหมดเพื่อหลีกเลี่ยงการหยุดเต้นของหัวใจและอาการเป็นลมที่เกี่ยวข้อง

© Luca Ferasin

การอุดกั้นการไหลเวียนเลือด (outflow obstruction)

กลไกทางพยาธิสรีรวิทยาของการเป็นลมหมดสติที่เกิดจากการอุดกั้นการไหลเวียนเลือดนั้นสามารถอธิบายได้ง่าย เนื่องจากภาวะทางคลินิกใดใดก็ตามที่ลด SV ลงอย่างมีนัยสำคัญจะทำให้ CO ลดลง ความผิดปกติแต่กำเนิด (congenital abnormalities) เช่น โรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ (aortic stenosis) และโรคลิ้นหัวใจพัลโมนิกตีบ (pulmonic stenosis) อาจะทำให้เกิดการอุดกั้นการไหลเวียนเลือดจากหัวใจห้องล่างซ้ายและขวาตามลำดับ โดยมักพบว่าสัตว์จะมีภาวะเหนื่อยง่ายและฟื้นตัวช้าจากการออกกำลัง (exercise intolerance) รวมถึงอาการเป็นลมหมดสติ อย่างไรก็ตามการอุดกั้นการไหลเวียนเลือดรูปแบบที่สามารถพบได้บ่อยที่สุดในแมวก็คือภาวะการอุดกั้นของทางเดินกระแสเลือดของหัวใจห้องล่างซ้ายอันเป็นผลจากการเคลื่อนที่ของลิ้นหัวใจไมทรัลมาทางด้านหน้าในช่วง systole (dynamic left ventricular outflow tract obstruction secondary to systolic anterior motion (SAM) of the mitral valve) ซึ่งมักจะพบร่วมกับโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ (HCM) 13 แต่ความผิดนี้ก็สามารถพบเห็นได้ในกรณีที่ไม่มีภาวะหัวใจห้องล่างซ้ายหนาตัว (left ventricular hypertrophy (LVH)) ได้เช่นเดียวกัน 14 อย่างไรก็ตามอาการเป็นลมหมดสติในแมวจาก SAM นั้นพบได้ไม่บ่อย ซึ่งแตกต่างจากในมนุษย์ที่มักพบอาการเป็นลมในผู้ที่มีภาวะ SAM รุนแรง โดยจะมีภาวะ LVH ร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ 15,16 ภาวะการอุดกั้นของทางเดินกระแสเลือดของหัวใจห้องล่างขวา (dynamic right ventricular outflow tract obstruction (DRVOTO)) นั้นก็เป็นอีกหนึ่งภาวะที่พบได้บ่อยในแมวแต่ดูเหมือนจะไม่เป็นอันตราย 17,18 และไม่เกี่ยวข้องกับอาการเป็นลมหมดสติ อาการเป็นลมหมดสติที่เป็นผลมาจากการอุดกั้นการไหลเวียนเลือดในแมวนั้นยังพบได้ในกรณีที่เป็นโรคพยาธิหนอนหัวใจ 9 และโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบรุนแรง (severe aortic stenosis) (รูปภาพที่ 4)

a
b
c
d
e
f

รูปภาพที่ 4 แมวพันธุ์ Bengal เพศเมีย อายุ 3 ปี มีประวัติเป็นลมหมดสติหลังจากตื่นเต้นระหว่างเล่น แมวได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบรุนแรง (severe aortic stenosis) (ความดัน pressure gradient 118 มิลลิเมตรปรอท) ทำให้หัวใจห้องล่างซ้ายมีการหนาตัวขึ้นแบบ concentric hypertrophy และเกิดภาวะหัวใจห้องซ้ายล้มเหลว (left-sided congestive heart failure) ภาพที่ได้จากการตรวจหัวใจด้วยเครื่องสะท้อนเสียงความถี่สูง (echocardiographic images) จากมุม right parasternal views in long axis จะมองเห็นหัวใจ 5 ห้องซึ่งได้แก่หัวใจทั้ง 4 ห้องและ ventricular outflow tract/ascending aorta (a) มุม right parasternal views in short axis ที่ระดับกล้ามเนื้อ papillary (b) และที่ระดับฐานของหัวใจ (c และ d) ภาพทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าหัวใจห้องล่างซ้ายมีการหนาตัวแบบ concentric hypertrophy (left ventricular concentric hypertrophy (LVH)), หัวใจห้องบนซ้ายขยายใหญ่ (left atrial dilation (LAD)) และแผ่นลิ้นหัวใจเอออร์ติกหนาตัวและเชื่อมกันบางส่วน (thickened and partially fused aortic valve cusps (Ao)) ซึ่งบ่งบอกถึงรอยโรคตีบตัน (stenotic lesion) ภาพ E และ F เป็นภาพที่ได้จากการทำบอลลูนขยายลิ้นหัวใจโดยการอาศัยฟลูโอโรสโคปี้ (fluoroscopic guidance during balloon valvuloplasty) เพื่อบรรเทาความรุนแรงของภาวะลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ บริเวณที่มีการตีบตันจะพบเห็นได้เด่นชัดจากการถ่ายภาพรังสีหลอดเลือดแบบเลือกเฉพาะ (selective angiography) (e, หัวลูกศรสีขาว) ภาพในขณะที่บอลลูนพองตัว (f, ลูกศรสีขาว) แสดงให้เห็นถึงการขยายลิ้นหัวใจที่ตีบประสบความสำเร็จ

© Luca Ferasin

 

โรคกล้ามเนื้อหัวใจ (myocardial disease)

โรคกล้ามเนื้อหัวใจ เช่น ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ (HCM) หรือภาวะที่หัวใจห้องล่างขวาขยายขนาดแบบรุนแรงส่งผลให้การบีบตัวของหัวใจห้องล่างขวาผิดปกติ (arrhythmogenic right ventricular cardiomyopathy (ARVC)) นั้นสามารถทำให้เกิดอาการเป็นลมหมดสติที่มาจากสาเหตุโรคหัวใจ (cardiac syncope) ได้ทั้งในคนและแมว 1,13,19 แม้ว่าภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (cardiac arrhythmias) ในโรคกล้ามเนื้อหัวใจนั้นอาจมีบทบาทสำคัญในการเริ่มแสดงอาการเป็นลมหมดสติ แต่สัตวแพทย์ก็ควรคำนึงถึงกล้ามเนื้อหัวใจที่ทำงานล้มเหลวด้วย ยกตัวอย่างเช่น ในสัตว์ป่วย HCM ที่เติมเลือดเข้าสู่หัวใจห้องล่างซ้ายได้ลดลงรวมถึงการหดตัวของกล้ามเนื้อหัวใจก็แย่ลงจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัว ความไม่เป็นระเบียบเป็นของเส้นใยของเซลล์กล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อหัวใจมีรอยแผลเป็นและมีพังผืดแทรก ซึ่งทั้งหมดนี้มีผลอย่างรุนแรงต่อ CO ทำให้การไหลเวียนของเลือดไปยังหลอดเลือดหัวใจ (coronary vessels) (และส่วนอื่นๆของร่างกาย) ลดลง และเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย (myocardial infarctions) ได้ ส่วนในกรณีสัตว์ป่วย ARVC จะมีไขมันและเส้นใยเข้าไปแทนที่กล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างขวา (fibro-fatty replacement of the right ventricle) ทำให้เกิดการขยายขนาดของหัวใจห้องล่างขวาและเกิดภาวะผนังหัวใจโป่งพอง (ventricular aneurysm) จนทำให้หัวใจมีความสามารถในการหดตัวหรือสูบฉีดเลือดลดลงกว่าปกติอย่างมีนัยสำคัญ และทำให้ CO ลดลงตามมาได้ ในทำนองเดียวกันโรคหัวใจระยะสุดท้ายทั้งหมดจะมาพร้อมกับความผิดปกติของการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจในท้ายที่สุด ส่งผลให้การหดตัวของหัวใจลดลงและ CO ลดลงตามลำดับ

อาการเป็นลมหมดสติจากภาวะระบบประสาทอัตโนมัติทำงานผิดปกติ (neurally mediated syncope)

อาการเป็นลมหมดสติประเภทนี้เป็นประเภทที่พบได้บ่อยที่สุดในคน โดยสามารถพบได้ประมาณร้อยละ 45 ของผู้ป่วย 20 ราย 20 แต่พบได้ไม่บ่อยนักในแมว ทั้งนี้อาการเป็นลมประเภทนี้ยังแบ่งออกเป็นอาการเป็นลมหมดสติจากหลอดเลือดและประสาทเวกัส (vasovagal) อาการเป็นลมหมดสติเฉพาะสถานการณ์ (situational) หรืออาการเป็นลมหมดสติจากการกระตุ้นคาโรติดไซนัส (carotid sinus hypersensitivity) พยาธิสรีรวิทยาของอาการเป็นลมหมดสติจากภาวะระบบประสาทอัตโนมัติทำงานผิดปกตินั้นค่อนข้างซับซ้อน และมีสาเหตุมาจากการเพิ่มการทำงานของระบบประสาทซิมพาเทติก (increased sympathetic tone) ทำให้เกิดการกระตุ้น cardiac mechanoreceptors แล้วส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจห้องใจห้องล่างเกิดการบีบตัวอย่างรุนแรง หรือเกิดการกระตุ้น C-fibers ภายหลังจากการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจมีเลือดไปเลี้ยงไม่พอและกลับมามีเลือดเลี้ยงใหม่ (myocardial ischemia and reperfusion) การกระตุ้นตัวรับ (receptors) เหล่านี้จะทำให้การทำงานทางระบบประสาทซิมพาเทติกลดลงอย่างกระทันหันและกระตุ้นการงานของระบบประสาทพาราซิมพาเทติกไปพร้อมกัน ทำให้เกิดการขยายตัวของหลอดเลือด (vasodilation) และภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ (bradycardia) ซึ่งจะทำให้ความดันตกลง (hypotension) อย่างรวดเร็ว 21 ตัวอย่างของอาการเป็นลมหมดสติจากหลอดเลือดและประสาทเวกัสในแมวนั้นได้แสดงไว้ในรูปภาพที่ 5

มีรายงานอาการเป็นลมหมดสติเฉพาะสถานการณ์ (situational syncope) ในแมวหลังถ่ายอุจจาระ 10 โดยกลไกการเกิดน่าจะเกี่ยวข้องกับความดันในช่องอกและช่องท้องที่เพิ่มขึ้นระหว่างการเบ่งถ่ายอุจจาระ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะลดการไหลกลับของเลือดดำ (venous return) และทำให้ SV กับ CO ลดลงตามมา แมวตัวนี้มีประวัติว่าเบ่งหรือเกร็งก่อนที่จะมีอาการเป็นลมหมดสติซึ่งก็อาจจะไปกระตุ้น tension receptors ที่ผนังลำไส้ส่งผลให้เกิดภาวะความดันต่ำอย่างฉับพลัน (sudden hypotension) และภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ (bradycardia) ในคนที่มีอาการเป็นลมหมดสติเฉพาะสถานการณ์นั้นมักพบเห็นได้ในระหว่างหรือหลังขับปัสสาวะ ถ่ายอุจจาระ ไอ หรือกลืนน้ำลายทันที ซึ่งเกิดด้วยกลไกที่คล้ายคลึงกับที่กล่าวไปในข้างต้น

a
b

รูปภาพที่ 5a และ b แมวพันธุ์ domestic shorthair เพศผู้ทำหมันแล้ว อายุ 5 ปี มีอาการเป็นลมหมดสติ โดยเจ้าของสังเกตพบว่ามักแสดงอาการในช่วงเครียดหรือตื่นเต้น เช่น สู้กับแมวตัวอื่นในสวน แมวมีอาการเป็นๆหายๆทุก 3-4 สัปดาห์และถูกส่งตัวไปที่โรงพยาบาลเพื่อตรวจระบบประสาทซึ่งในเบื้องต้นพบว่าระบบประสาททำงานได้อย่างปกติ สัตวแพทย์จึงได้ขอตรวจหัวใจเพิ่มเติม ผลตรวจหัวใจด้วยเครื่องสะท้อนเสียงความถี่สูงนั้นก็ไม่พบความผิดปกติใดยกเว้นภาวะการอุดกั้นของทางเดินกระแสเลือดของหัวใจห้องล่างซ้าย (LVOTO) อันเป็นผลจากการเคลื่อนที่ของลิ้นหัวใจไมทรัลมาทางด้านหน้าในช่วง systole (SAM) ผลตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจพบว่ามีคลื่นไฟฟ้าหัวใจปกติด้วยอัตราการเต้นของหัวใจ 180 ครั้งต่อนาที เครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชั่วโมง (Holter) ไม่สามารถบันทึกความผิดปกติใดได้ ระบุได้เพียงว่ามีคลื่นไฟฟ้าหัวใจปกติและค่าเฉลี่ยอัตราการเต้นของหัวใจต่อวันจะอยู่ที่ 166 ครั้งต่อนาที (ช่วงระหว่าง 88-244 ครั้งต่อนาที) อย่างไรก็ตามไม่พบอาการเป็นลมหมดสติในระหว่างที่ใช้เครื่องบันทึกนี้ การรักษาด้วยการสั่งใช้ยาแบบคาดการณ์ล่วงหน้า (empiric treatment) ด้วยยา atenolol (6.25 มิลลิกรัม ทางการกิน วันละ 1 ครั้ง) นั้นไม่พบการตอบสนองอย่างมีนัยสำคัญ สัตวแพทย์จึงมีการปรับขนาดยาขึ้นเป็น 6.25 มิลลิกรัม ทางการกิน วันละ 2 ครั้ง พบว่าแมวมีอาการเป็นลมหมดสติบ่อยขึ้น จึงตัดสินใจทำการผ่าตัดฝังเครื่องบันทึกการเต้นของหัวใจชนิดฝัง (implantable loop recorder; ILR) เข้าชั้นใต้ผิวหนังทางด้านซ้ายของทรวงอกเพื่อให้ติดตามคลื่นไฟฟ้าหัวใจได้อย่างต่อเนื่อง

© Luca Ferasin

The device functionality was tested during the procedure using a pacemaker programmer and dedicated patient activator device

รูปภาพที่ 5c การทำงานของอุปกรณ์ได้รับการทดสอบในระหว่างกระบวนการโดยใช้ pacemaker programmer และ patient activator device

© Luca Ferasin

ILR interrogation following another fainting episode showed a period of tachycardia during a cat fight

รูปภาพที่ 5d ข้อมูลจาก ILR หลังจากแมวมีอาการเป็นลมหมดสติอีกครั้งแสดงให้เห็นว่าในระหว่างการต่อสู้กับแมวด้วยกันมีช่วงที่อัตราการเต้นของหัวใจเร็วแล้วตามมาด้วยการลดลงของอัตราการเต้นของหัวใจอย่างกะทันหัน จากประมาณ 300 ครั้งต่อนาที (“Cat Fight”) ลดลงเป็น 100 ครั้งต่อนาที (“Fainting”) เมื่อเจ้าของสัตว์ได้ยินเสียงแมวสู้กันและพบว่าแมวล้มลงหมดสติอยู่ที่พื้นจึงเปิดใช้งาน patient activator device (“Detected”) ซึ่งบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจไว้ตลอดเวลา พบว่า tachogram (RR interval time series) จากบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจนั้นตรงกับลักษณะอาการเป็นลมหมดสติจากสาเหตุหลอดเลือดและประสาทเวกัส (vasovagal syncope) สัตวแพทย์จึงแนะนำให้หยุดยา atenolol และหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ตึงเครียด เช่น การมีปฏิสัมพันธ์กับแมวตัวอื่น หลังจากนั้นมาอาการเป็นลมหมดสติก็หายไปโดยสิ้นเชิง

© Luca Ferasin

วินิจฉัย (Diagnosis)

ธรรมชาติของอาการเป็นลมหมดสติที่เกิดเพียงชั่วครั้งชั่วคราวและสามารถหายได้เองนั้นถือเป็นความท้าทายในการวินิจฉัยอย่างแท้จริง โดยในมนุษย์ที่ไม่เคยมีประวัติเรื่องความผิดปกติของอาการแสดงทางคลินิกหรือความผิดปกติจากการตรวจร่างกายมาก่อนนั้นพบว่าประมาณร้อยละ 50 ของกรณีทั้งหมดอาจไม่สามารถทำการวินิจฉัยได้ 22 ซึ่งมีการรายงานตัวเลขที่คล้ายกันนี้ในการปฏิบัติทางสัตว์เล็ก (small animal practice) เพราะฉะนั้นการทำความเข้าใจเกี่ยวกับประสิทธิภาพและประโยชน์ของเครื่องมือต่างๆที่จะช่วยในการวินิจฉัยอาการเป็นลมหมดสติให้ได้อย่างดีเยี่ยมนั้นจะช่วยให้สัตวแพทย์สามารถดำเนินการจัดการอย่างเหมาะสมได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ ในความเป็นจริงการเลือกการทดสอบตามลำดับที่ไม่ถูกต้องอาจส่งผลให้ผลการวินิจฉัยไม่ดีและเกิดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น นอกจากนี้การวินิจฉัยที่ล่าช้าอาจทำให้สัตว์ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตอย่างเฉียบพลันได้ 23 การรวบรวมประวัติของสัตว์ป่วยอย่างละเอียดถี่ถ้วนและสม่ำเสมอเป็นพื้นฐาน รวมถึงการตั้งคำถามอย่างเหมาะสมจะช่วยให้สัตวแพทย์ทราบว่าสัตว์ป่วยนั้นมีอาการเป็นลมหมดสติจริงหรือไม่ ซึ่งปกติแล้วเจ้าของแมวมักจะแจ้งถึงเหตุการณ์ที่แมวทรุดหรือฟุบลงไป (collapse) และอธิบายค่อนข้างคลุมเครือ ดังนั้นสัตวแพทย์ควรพิจารณาว่าเหตุการณ์ที่เจ้าของอธิบายมานั้นเกิดพร้อมกับการสูญเสียสติชั่วคราวหรือไม่ โดยอาการเป็นลมหมดสตินั้นควรมีลักษณะเฉพาะ ได้แก่ เริ่มแสดงอาการอย่างรวดเร็ว ระยะเวลาสั้นๆ (โดยทั่วไปไม่เกิน 20 วินาที) และฟื้นคืนสติกลับมาได้เองอย่างสมบูรณ์ แม้ว่าอาการสับสนชั่วคราวอาจสังเกตเห็นได้เป็นเวลาหลายนาทีในบางกรณีก็ตาม ข้อมูลที่ได้รับจากเจ้าของแมวควรรวมไปถึงประวัติโรคหัวใจหรือยาที่อาจกระตุ้นให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (arrhytmias) หรือความดันโลหิตต่ำ (hypotension) จำนวนครั้งและความถี่ของอาการ (โดยละเอียด) การระบุปัจจัยที่เกี่ยวข้องหรือเป็นตัวกระตุ้นซึ่งมักจะเกิดก่อนหรือเกิดในขณะที่มีอาการเป็นลมหมดสติ โดยควรซักให้ได้คำอธิบายของกิจกรรมทางกายภาพ (physical activity) อย่างละเอียด ช่วงเวลาที่ทำกิจกรรม สภาพแวดล้อม ระดับความตื่นเต้น ฯลฯ สิ่งที่สำคัญคือต้องระบุประเภทและระยะเวลาของเหตุการณ์อย่างแม่นยำ และถ้าเป็นไปได้ควรถามถึงสีของเยื่อเมือกและการเต้นของหัวใจในระหว่างที่มีอาการ หากสัตว์แสดงอาการเซื่องซึม มีภาวะสับสนงุนงงหรือการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมหลังจากมีอาการทรุดลง รวมถึงมีน้ำลายฟูมปาก หมดสติอยู่นานกว่า 2-3 นาทีหรือไม่มีภาวะเยื่อเมือกซีดหรือม่วง (pale or cyanotic mucosa) ก็มีโอกาสที่จะเป็นภาวะชัก (seizure) หรือมีอาการที่เกี่ยวข้องระบบประสาทมากกว่าอาการเป็นลมหมดสติ อย่างไรก็ตามสัตว์ป่วยที่มีอาการเป็นลมหมดสติเป็นเวลานานอาจสูญเสียการควบคุมกล้ามเนื้อหูรูด (lose sphincter control) ทำให้เกิดปัญหาคุมการขับปัสสาวะหรือถ่ายอุจจาระไม่ได้ตามมา อีกทั้งยังอาจเกิดอาการชักเกร็งกระตุกทั้งตัว (tonic-clonic activity) และอาการเกร็งหลังแอ่น (opisthotonos) ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้จะทำให้อาการแสดงทางคลินิกคล้ายคลึงกับอาการชักได้ 24 ด้วยเหตุผลต่างๆเหล่านี้แมวหลายตัวที่มีอาการเป็นลมหมดสติส่วนใหญ่จึงได้รับการวินิจฉัยผิดพลาดว่าเป็นโรคลมชัก (epilepsy) และได้รับการตรวจวินิจฉัยที่มีราคาสูงและมักไม่มีความจำเป็น ในบางครั้งอาจจำเป็นต้องใช้ยาสลบด้วย ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นทั้งก่อน ระหว่างและหลังเหตุการณ์ที่แมวทรุดลงเพื่อที่จะแยกความแตกต่างของอาการเป็นลมหมดสติกับอาการชักออกจากกันให้ได้ ในกรณีแบบนี้หากเจ้าของสัตว์ช่วยบันทึกเหตุการณ์อย่างละเอียด และถ่ายวิดิโอในขณะที่สัตว์แสดงอาการไว้ได้ก็จะมีประโยชน์เป็นอย่างมาก

การตรวจร่างกายเต็มรูปแบบโดยให้เน้นไปที่การประเมินระบบประสาทและระบบหัวใจและหลอดเลือดเป็นพิเศษนั้นเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดในการประเมินสัตว์ป่วยที่สงสัยว่ามีอาการเป็นลมหมดสติ 25 การตรวจร่างกายควรทำอย่างละเอียดและเหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการตรวจประเมินระบบหัวใจและหลอดเลือด (ซึ่งรวมไปถึงการวัดระดับความดันโลหิต) ภาวะแห้งน้ำ และความผิดปกติของระบบประสาทหรือระบบกล้ามเนื้อและกระดูกซึ่งอาจเกิดขึ้นร่วมกัน ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (cardiac arrhythmia) เสียงหัวใจแบบ murmur หรือ gallop จะช่วยบ่งชี้ถึงความผิดปกติของหัวใจได้เป็นอย่างมาก ดังนั้นจึงควรประเมินการทำงานของหัวใจอย่างสมบูรณ์ด้วยเช่นกัน

การทดสอบในห้องปฏิบัติการ (ค่าโลหิตวิทยาพื้นฐานและชีวเคมีในเลือด) นั้นสามารถให้ผลวินิจฉัยได้ค่อนข้างน้อย ถึงแม้ว่าการทดสอบเหล่านี้จะมีความสำคัญต่อการวินิจฉัยภาวะโลหิตจางรุนแรง ภาวะแห้งน้ำ ภาวะอิเล็กโทรไลต์ไม่สมดุล และรอยโรคที่กล้ามเนื้อและกระดูกก็ตาม การวัด cardiac troponin I อาจช่วยบ่งบอกถึงปัญหาของกล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งรวมไปถึงภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ค่า thyroxine (T4) ที่สูงจะบ่งชี้ถึงภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป (hyperthyroidism) ซึ่งอาจจะเป็นพิษต่อหัวใจได้ (cardiotoxicity)

สัตวแพทย์ควรตรวจหัวใจด้วยเครื่องสะท้อนเสียงความถี่สูง (echocardiography) หากพบความผิดปกติของหัวใจระหว่างการตรวจร่างกายหรือในกรณีที่มีประวัติครอบครัว (familial history) หรือปัจจัยโน้มนำ (predisposition) บ่งชี้ว่ามีโอกาสเป็นโรคหัวใจ อย่างไรก็ตามแมวที่มีอาการเป็นลมหมดสติส่วนใหญ่จะมีผลตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะพัก (resting electrocardiography; ECG) ที่ไม่ปกติ เพียงแต่การระบุสาเหตุของอาการเป็นลมหมดสติจากผลตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะพักในสัตว์ป่วยนั้นมักจะทำได้น้อย อันที่จริงแล้วอาการเป็นลมหมดสติเป็นพักๆ (sporadic syncope) อาจสะท้อนให้เห็นถึงลักษณะเฉพาะของความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่แฝงอยู่ได้ซึ่งสัตวแพทย์มักจะพลาดไปแม้จะเป็นการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจต่อเนื่องถึง 5 นาทีก็ตาม ดังนั้นการตรวจติดตามคลื่นไฟฟ้าหัวใจเป็นเวลาต่อเนื่องนานจึงเป็นเครื่องมือวินิจฉัยที่ประสบความสำเร็จได้มากกว่า อย่างไรก็ตามการใช้เครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24-48 ชั่วโมง (Holter) ก็ยังให้ค่าการวินิจฉัยที่ค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีอาการทรุดลงเป็นครั้งคราว อีกทั้งยังสามารถพลาดได้ในระหว่างการบันทึก ข้อยกเว้นประการเดียวในการแสดงเหตุผลอันสมควรที่จะใช้เครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24-48 ชั่วโมงคือกรณีที่มีอาการเป็นลมหมดสติหลายครั้งต่อสัปดาห์ 19 ทางเลือกอื่น เช่น การติดตามคลื่นไฟฟ้าหัวใจต่อเนื่อง 7-14 วันจะมีโอกาสที่จะได้ข้อสรุปการวินิจฉัยเพิ่มสูงขึ้นแต่ว่ามีจำนวนของเครื่องบันทึกค่อนข้างจำกัด 25 ผลการวินิจฉัยจะเพิ่มขึ้นอย่างมากหากใช้เครื่องบันทึกการเต้นของหัวใจชนิดฝังใต้ผิวหนัง (implantable loop recorder; ILR) โดยมีรายงานความน่าเชื่อถือและความแม่นยำของ ILR ในวารสารทางสัตวแพทย์ด้วยผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยม 7,23 สำหรับแมวที่มีอาการเป็นลมหมดสติโดยไม่ทราบสาเหตุ ILR ที่เปิดใช้งานสามารถให้ข้อมูลการวินิจฉัยและการพยากรณ์โรคที่มีคุณค่ามากโดยการยืนยันหรือหักล้างความสัมพันธ์ระหว่างอาการเป็นลมหมดสติกับภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (arrhythmias) หรือความผิดปกติของการนำไฟฟ้า (conduction abnormalities) ในกรณีที่มีการสังเกตเห็นอาการเป็นลมหมดสติ แต่การทดสอบที่กล่าวถึงในข้างต้น (รวมถึง ILR) ยังไม่สามารถสรุปหรือไม่ได้บ่งชี้ถึงสาเหตุที่มาจากโรคหัวใจ สัตวแพทย์ควรพิจารณาการตรวจวินิจฉัยอื่นๆเพิ่ม ซึ่งได้แก่การอัลตราซาวด์ช่องท้อง (เพื่อแยกภาวะเลือดออกภายใน (internal bleeding)) การทำภาพวินิจฉัยชั้นสูง (advance imaging เช่น MRI, CT) การตรวจเส้นประสาทและกล้ามเนื้อด้วยไฟฟ้า (electromyography; EM) การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (electroencephalography; EEG) และการเจาะเก็บน้ำไขสันหลัง (cerebrospinal fluid (CSF) collection)

Luca Ferasin

เราจำเป็นที่จะต้องมีความเข้าใจอย่างดีเยี่ยมเกี่ยวกับประสิทธิภาพและประโยชน์ของเครื่องมือที่จะใช้ในการตรวจสอบอาการเป็นลมหมดสติ เพื่อที่จะได้จัดการอย่างเหมาะสมได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ ในความเป็นจริงนั้นการเลือกการทดสอบตามลำดับที่ไม่ถูกต้องอาจส่งผลให้ได้ผลการวินิจฉัยที่ไม่ดีและมีค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นตามมา

Luca Ferasin

การจัดการ (Management)

การรักษาแมวที่มีอาการเป็นลมหมดสตินั้นมีเป้าหมายหลักอยู่ 3 ประการ ได้แก่ หลีกเลี่ยงการเสียชีวิตเฉียบพลันและยืดอายุขัย หลีกเลี่ยงการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นในช่วงที่มีอาการเป็นลมหมดสติ และป้องกันไม่ให้มีอาการเป็นลมหมดสติซ้ำอีกครั้ง โดยวิธีการรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุและกลไกของอาการเป็นลมหมดสติเป็นสำคัญ ในกรณีที่ยังไม่ได้รับการวินิจฉัยขั้นสุดท้าย (definitive diagnosis) สัตวแพทย์ควรแนะนำเจ้าของสัตว์ให้เลี้ยงแมวในระบบปิดเพื่อหลีกเลี่ยงอาการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นได้หากปล่อยแมวไว้แบบไม่มีคนดูแล อย่างไรก็ตามหากได้รับการวินิจฉัยขั้นสุดท้ายแล้ว การรักษาควรมุ่งเป้าไปที่การควบคุมสาเหตุปฐมภูมิของอาการเป็นลมหมดสติชั่วคราว ยกตัวอย่างเช่น การรักษาภาวะ paroxysmal rapid ventricular and supraventricular tachycardia ด้วยยาต้านการเต้นผิดจังหวะของหัวใจ (anti-arrhythmic medications) เช่น ยา atenolol และยา sotalol นอกจากนี้ยา diltiazem นั้นไม่มีผลต่อภาวะ ventricular arrhythmias แต่ก็สามารถพิจารณาให้ได้สำหรับภาวะ supraventricular arrhythmias อย่างไรก็ตามยาเหล่านี้สามารถลดอัตราการเต้นของหัวใจขณะพักได้อย่างมีนัยสำคัญและส่งผลต่อปริมาตรของเลือดส่งออกจากหัวใจต่อการบีบตัวหนึ่งครั้ง (SV) และปริมาตรเลือดส่งออกจากหัวใจต่อนาที (CO) ซึ่งอาจกระตุ้นให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว (congestive heart failure) ในสัตว์ป่วยที่มีความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจแฝงอยู่แล้วตามมาได้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องพิจารณาใช้เครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ Holter ตลอด 24 ชั่วโมงเป็นเวลา 2-3 วันหลังจากเริ่มการรักษาด้วยยาต้านการเต้นผิดจังหวะของหัวใจ เพื่อติดตามการตอบสนองต่อการรักษาอย่างเหมาะสมและเพื่อดูว่ายังมีภาวะ paroxysmal tachycardia หลงเหลืออยู่หรือไม่

การรักษาที่เหมาะสมสำหรับแมวส่วนใหญ่ที่มีอาการเป็นลมหมดสติที่เกี่ยวข้องกับภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติคือการฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจแบบถาวร (permanent pacemaker implant) ทั้งนี้แม้ว่าการสอดสายนำไฟฟ้าเข้าทางหลอดเลือดดำ (transvenous pacing lead placement) เข้าไปใน ventricular apex ด้านขวาจะเป็นวิธีการฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจที่พบได้บ่อยที่สุดในสุนัข แต่ในแมวมีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย เช่น cranial vena cava syndrome ร่วมกับการมีภาวะน้ำเหลืองคั่งในช่องปอด (chylothorax) ภาวะอุดกั้นการไหลเวียนเลือดจากหัวใจห้องล่างขวา (right ventricular outflow tract obstruction) และภาวะลิ่มเลือดในหัวใจ (intracardiac thrombosis) 4

,26 เพราะฉะนั้นการผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจแบบติดสายนำไฟฟ้าที่เยื่อบุหัวใจ (epicardial lead placement) ด้วยวิธีผ่าตัดเปิดช่องทรวงอก (thoracotomy) ในปัจจุบันจึงเป็นเทคนิคที่ใช้บ่อยที่สุดในแมว และมักจะประสบความสำเร็จโดยมีภาวะแทรกซ้อนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

การอุดกั้นการไหลเวียนเลือดแบบ fixed outflow obstructions เช่น โรคลิ้นหัวใจเอออร์ติก/พัลโมนิกตีบ (aortic and pulmonic stenosis) นั้นสามารถรักษาได้ด้วยการทำบอลลูนขยายลิ้นหัวใจ (balloon valvuloplasty) ซึ่งเป็นวิธีการที่รุกรานตัวสัตว์ป่วยน้อยที่สุด โดยใช้สายสวนที่มีบอลลูนที่ปลายสายซึ่งสามารถพองได้ที่ระดับของลิ้นหัวใจที่ตีบเพื่อยืดและเปิดแผ่นลิ้น (cusps) ที่เชื่อมกันบางส่วน การอุดกั้นการไหลเวียนเลือดแบบ dynamic outflow obstructions นั้นมักไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับอาการเป็นลมหมดสติในแมว แต่สามารถบันทึกความสัมพันธ์ระหว่างสาเหตุและผลลัพธ์ (cause-effect relationship) ได้ ปัญหานี้สามารถรักษาได้ด้วยยาในกลุ่ม beta blockers (เช่น ยา atenolol) โดยยากลุ่มนี้จะช่วยลดความรุนแรงของการอุดกั้นการไหลเวียนเลือดได้

การรักษาสำหรับอาการเป็นลมหมดสติจากภาวะระบบประสาทอัตโนมัติทำงานผิดปกตินั้นไม่ค่อยมีความจำเป็น การซักประวัติอย่างรอบคอบโดยมุ่งเน้นไปที่การระบุปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการ (precipitating factors) (เช่น ความเครียด ความตื่นเต้น) และการหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นเหล่านี้มักจะเพียงพอที่จะช่วยลดความถี่และความรุนแรงของอาการเป็นลมหมดสติได้อย่างมาก อาการเป็นลมหมดสติเฉพาะสถานการณ์ (situational syncope) นั้นสามารถควบคุมได้สำเร็จโดยการจัดการและกำจัดภาวะแฝงต่างๆที่เป็นไปได้ (เช่น การไอหรือเบ่งระหว่างขับปัสสาวะหรือถ่ายอุจจาระ) การฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจนั้นยังเป็นวิธีแก้ปัญหาสำหรับอาการเป็นลมหมดสติจากภาวะระบบประสาทอัตโนมัติทำงานผิดปกติที่ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ แต่อาจพิจารณาได้หากอาการเป็นลมหมดสติเกิดจากการหยุดเต้นของหัวใจเป็นเวลานาน ทั้งนี้ยังมีข้อจำกัดที่สำคัญคือเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจนั้นไม่สามารถควบคุมภาวะความดันโลหิตต่ำที่สัมพันธ์กับภาวะเส้นเลือดขยายตัวโดยการกระตุ้นเส้นประสาทเวกัส (vagally induced vasodilation) ได้ ดังนั้นเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจจึงควรถูกตั้งโปรแกรมด้วย pacing algorithms เฉพาะ เช่น heart rate hysteresis ซึ่งจะช่วยให้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจสามารถเริ่ม ventricular pacing ได้ก็ต่อเมื่ออัตราการเต้นของหัวใจที่เกิดขึ้นเองต่ำกว่าระดับวิกฤต โดยที่การ pacing จะดำเนินต่อไปในอัตราที่สูงขึ้นตามที่ได้เลือกไว้ ยกเว้นแต่จะรับรู้ถึง intrinsic ventricular activity โปรแกรมนี้มีความตั้งใจคือเมื่อมีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น การ pacing ที่มีอัตราสูงขึ้นอาจชดเชยภาวะความดันโลหิตต่ำที่เกิดจากการลดลงอย่างฉับพลันของ peripheral resistance ได้

สรุป (Conclusion)

แมวที่มีอาการเป็นลมหมดสตินั้นอาจมีความท้าทายในการวินิจฉัย ซึ่งการซักประวัติ การตรวจร่างกายและการตรวจวินิจฉัยนั้นเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างมาก แมวส่วนใหญ่ที่มีอาการเป็นลมหมดสตินั้นมักจะมีสาเหตุหลักเกี่ยวข้องกับหัวใจ ถึงแม้ว่าจะยังมีสาเหตุอื่นที่สามารถทำให้เกิดอาการเป็นลมหมดสติได้ก็ตาม การรักษาควรมีวัตถุประสงค์เพื่อยืดอายุขัย (หรือก็คือป้องกันการเสียชีวิตอย่างกะทันหัน) รวมไปถึงหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บที่เกิดจากการเป็นลมหมดสติและป้องกันไม่ให้กลับมามีอาการซ้ำอีก อย่างไรก็ตามแนวทางและวิธีการรักษานั้นจะขึ้นอยู่กับสาเหตุและกลไกของอาการเป็นลมหมดสติ สิ่งสำคัญคือต้องไม่วินิจฉัยอาการเป็นลมหมดสติผิดพลาดว่าเป็นการชัก เนื่องการการชักนั้นจะต้องใช้วิธีในการวินิจฉัยและรักษาแตกต่างจากอาการเป็นลมหมดสติอย่างสิ้นเชิง อีกทั้งยังมีการพยากรณ์โรคที่ไม่เหมือนกัน

 

กิตติกรรมประกาศ

ผู้เขียนบทความขอขอบพระคุณศาสตราจารย์ Heidi Ferasin สำหรับความช่วยเหลือในการจัดการกรณีรายงานทางคลินิกและความช่วยเหลือในการเขียนต้นฉบับนี้ นอกจากนี้ยังขอขอบพระคุณศาสตราจารย์ Daniella McCready ผู้ดำเนินการผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจตามที่อธิบายไว้ในรูปภาพที่ 3


พิเศษสำหรับสัตวแพทย์ไทย

เข้าทำเเบบทดสอบเพื่อสะสม VET-CE ภายในวันที่ 15 ส.ค. - 15 .. 2023

ทำแบบทดสอบ VET-CE

แหล่งอ้างอิง

  1. Payne JR, Borgeat K, Brodbelt DC, et al. Risk factors associated with sudden death vs. congestive heart failure or arterial thromboembolism in cats with hypertrophic cardiomyopathy. J. Vet. Cardiol. 2015;17 Suppl 1:S318-328. DOI: 10.1016/j.jvc.2015.09.008. PubMed PMID: 26776589.

  2. Brignole M. Distinguishing syncopal from non-syncopal causes of fall in older people. Age Ageing 2006;35 Suppl 2:ii46-ii50. DOI: 10.1093/ageing/afl086. PubMed PMID: 16926204.

  3. Meurs KM, Miller MW, Mackie JR, et al. Syncope associated with cardiac lymphoma in a cat. J. Am. Anim. Hosp. Assoc. 1994;30:583-585.

  4. Ferasin L, van de Stad M, Rudorf H, et al. Syncope associated with paroxysmal atrioventricular block and ventricular standstill in a cat. J. Small Anim. Pract. 2002;43(3):124-128. DOI: 10.1111/j.1748-5827.2002.tb00042.x. PubMed PMID: 11916056.

  5. Harvey AM, Battersby IA, Faena M, et al. Arrhythmogenic right ventricular cardiomyopathy in two cats. J. Small Anim. Pract. 2005;46(3):151-156. DOI: 10.1111/j.1748-5827.2005.tb00306.x. PubMed PMID: 15789811.

  6. Lee S, Kittleson MD. Naturally occurring torsades de pointes and QT interval prolongation in a domestic cat. J. Vet. Cardiol. 2021;35:42-47. Epub 20210303. DOI: 10.1016/j.jvc.2021.02.006. PubMed PMID: 33812132.

  7. Ferasin L. Recurrent syncope associated with paroxysmal supraventricular tachycardia in a Devon Rex cat diagnosed by implantable loop recorder. J. Feline Med. Surg. 2009;11(2):149-152. Epub 20080703. DOI: 10.1016/j.jfms.2008.04.006. PubMed PMID: 18602324.

  8. Harwood ML. Paroxysmal atrial tachycardia and left superior bundle branch blockage in a cat. Vet. Med. Small Anim. Clin. 1970;65(9):862-866. PubMed PMID: 5201514.

  9. Malik R, Church DB, Eade IG. Syncope in a cat. Aust. Vet. J. 1998;76(7):465, 70-71. DOI: 10.1111/j.1751-0813.1998.tb10180.x. PubMed PMID: 9700397.

  10. Whitley NT, Stepien RL. Defaecation syncope and pulmonary thromboembolism in a cat. Aust. Vet. J. 2001;79(6):403-405. DOI: 10.1111/j.1751-0813.2001.tb12982.x. PubMed PMID: 11491217.

  11. Gouni V, Papageorgiou S, Debeaupuits J, et al. Aortic dissecting aneurysm associated with systemic arterial hypertension in a cat. Schweiz Arch. Tierheilkd. 2018;160(5):320-324. DOI: 10.17236/sat00162. PubMed PMID: 29717986.

  12. Hsueh T, Yang CC, Lin SL, et al. Symptomatic partial anomalous pulmonary venous connection in a kitten. J. Vet. Intern. Med. 2020;34(6):2677-2681. Epub 20201016. DOI: 10.1111/jvim.15934. PubMed PMID: 33063892; PubMed Central PMCID: PMC7694797.

  13. Ferasin L. Feline myocardial disease. 1: Classification, pathophysiology and clinical presentation. J. Feline Med. Surg. 2009;11(1):3-13. DOI: 10.1016/j.jfms.2008.11.008. PubMed PMID: 19154970.

  14. Ferasin L, Kilkenny E, Ferasin H. Evaluation of N-terminal prohormone of brain natriuretic peptide and cardiac troponin-I levels in cats with systolic anterior motion of the mitral valve in the absence of left ventricular hypertrophy. J. Vet. Cardiol. 2020;30:23-31. Epub 20200518. DOI: 10.1016/j.jvc.2020.05.001. PubMed PMID: 32645686.

  15. Hodges K, Rivas CG, Aguilera J, et al. Surgical management of left ventricular outflow tract obstruction in a specialized hypertrophic obstructive cardiomyopathy center. J. Thorac. Cardiovasc. Surg. 2019;157(6):2289-2299. Epub 20181229. DOI: 10.1016/j.jtcvs.2018.11.148. PubMed PMID: 30782406.

  16. Sabzwari SRA, Kimber JR, Ayele H, et al. The disappearing murmur: systolic anterior motion of the mitral valve leaflet in a non-hypertrophic cardiomyopathy patient. Cureus. 2018;10(6):e2855. Epub 20180621. DOI: 10.7759/cureus.2855. PubMed PMID: 30148008; PubMed Central PMCID: PMC6104906.

  17. Ferasin L, Ferasin H, Kilkenny E. Heart murmurs in apparently healthy cats caused by iatrogenic dynamic right ventricular outflow tract obstruction. J. Vet. Intern. Med. 2020;34(3):1102-1107. Epub 20200428. DOI: 10.1111/jvim.15774. PubMed PMID: 32343450; PubMed Central PMCID: PMC7255668.

  18. Rishniw M, Thomas WP. Dynamic right ventricular outflow obstruction: a new cause of systolic murmurs in cats. J. Vet. Intern. Med. 2002;16(5):547-552. DOI: 10.1892/0891-6640(2002)016<0547:drvooa>2.3.co;2. PubMed PMID: 12322704.

  19. Ferasin L, Ferasin H, Borgeat K. Twenty-four-hour ambulatory (Holter) electrocardiographic findings in 13 cats with non-hypertrophic cardiomyopathy. Vet. J. 2020;264:105537. Epub 20200906. DOI: 10.1016/j.tvjl.2020.105537. PubMed PMID: 33012440.

  20. Runser LA, Gauer RL, Houser A. Syncope: evaluation and differential diagnosis. Am. Fam. Physician 2017;95(5):303-312. PubMed PMID: 28290647.

  21. Grubb BP. Pathophysiology and differential diagnosis of neurocardiogenic syncope. Am. J. Cardiol. 1999;84(8A):3Q-9Q. DOI: 10.1016/s0002-9149(99)00691-8. PubMed PMID: 10568555.

  22. Gould PA, Krahn AD, Klein GJ, et al. Investigating syncope: a review. Curr. Opin. Cardiol. 2006;21(1):34-41. DOI: 10.1097/01.hco.0000198986.16626.86. PubMed PMID: 16355027.

  23. Willis R, McLeod K, Cusack J, et al. Use of an implantable loop recorder to investigate syncope in a cat. J. Small Anim. Pract. 2003;44(4):181-183. DOI: 10.1111/j.1748-5827.2003.tb00142.x. PubMed PMID: 12703871.

  24. Schriefl S, Steinberg TA, Matiasek K, et al. Etiologic classification of seizures, signalment, clinical signs, and outcome in cats with seizure disorders: 91 cases (2000-2004). J. Am. Vet. Med. Assoc. 2008;233(10):1591-1597. DOI: 10.2460/javma.233.10.1591. PubMed PMID: 19014293.

  25. Bright JM, Cali JV. Clinical usefulness of cardiac event recording in dogs and cats examined because of syncope, episodic collapse, or intermittent weakness: 60 cases (1997-1999). J. Am. Vet. Med. Assoc. 2000;216(7):1110-1114. DOI: 10.2460/javma.2000.216.1110. PubMed PMID: 10754673.

  26. Frantz EW, Tjostheim SS, Palumbo A, et al. A retrospective evaluation of the indications, complications, and outcomes associated with epicardial pacemakers in 20 cats from a single institution. J. Vet. Cardiol. 2021;36:89-98. Epub 20210513. DOI: 10.1016/j.jvc.2021.05.001. PubMed PMID: 34118563.

Luca Ferasin

Luca Ferasin

Dr. Ferasin graduated with honors in 1992 from the University of Bologna and spent three years doing endocrinology research at the BBSRC Institute in Cambridge, gaining his PhD in 1996 อ่านเพิ่มเติม

บทความอื่นๆ ในประเด็นนี้

หมายเลขหัวข้อ 32.1 เผยแพร่แล้ว 09/11/2022

ภาวะความดันโลหิตสูงในแมว

ภาวะความดันโลหิตสูงในแมวได้รับการตระหนักว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่มีผลต่อปัญหาสุขภาพที่ไม่ดีต่างๆ ผู้เขียนความได้นำเสนอภาพรวมของสาเหตุที่แท้จริงและตัวช่วยในการวินิจฉัยสาเหตุของภาวะความดันโลหิตสูงในแมว

โดย Alice M. Rădulescu