วารสารเชิงวิชาการและการรักษาสัตวป่วยเพื่อผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์
วารสารเชิงวิชาการและการรักษาสัตวป่วยเพื่อผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์

หมายเลขหัวข้อ 26.2 พฤติกรรม

การเลี้ยงแมวในบ้านอย่างเหมาะสม

เผยแพร่แล้ว 23/12/2022

เขียนโดย Margie Scherk

สามารถอ่านได้ใน Français , Deutsch , Italiano , Español และ English

มนุษย์ได้ประโยชน์จากการเลี้ยงสัตว์เป็นเพื่อน สัตว์เลี้ยงช่วยลดความเครียด สร้างความแน่นอนในการใช้ชีวิต และทำให้สุขภาพดีขึ้น อย่างไรก็ตามวิธีที่ดีที่สุดในการเลี้ยงแมวยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่โดยมีความแตกต่างด้านภูมิภาคและวัฒนธรรมในการเลี้ยงแมว (แปลโดย น.สพ. พีระ มานิตยกุล)

การเลี้ยงแมวในบ้านอย่างเหมาะสม

ประเด็นสำคัญ

การให้แมวได้ออกไปนอกบ้านไม่สามารถช่วยชดเชยความไม่เหมาะสมของสภาพแวดล้อมในบ้านได้


สภาพแวดล้อมและความต้องการทางสังคมในแมวต้องเหมาะกับการใช้ชีวิตภายในบ้านและความเป็นอยู่ที่ดีของแมวแต่ละตัวจำเป็นต้องได้รับการประเมินซ้ำ ๆ  


แมวที่เลี้ยงภายในบ้านเท่านั้นจะลดโอกาสการเกิดอุบัติเหตุจากยานพาหนะ การถูกล่า การต่อสู่ระหว่างแมวด้วยกันและสัตว์อื่น รวมไปถึงโอกาสในการสัมผัสโรคติดเชื้อต่างๆ


แมวทุกตัวอาจไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับการเลี้ยงในบ้านได้ทันทีซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหาด้านพฤติกรรมและปัญหาสุขภาพ


การเลี้ยงในบ้านไม่ได้ปราศจากความเสี่ยง


การคาดเดาได้ ความคุ้นเคย กิจวัตร และความรู้สึกของการควบคุมได้เป็นปัจจัยสำคัญในการลดความเครียด


บทนำ

ช่วงปี 1977 ร้อยละ 50-60 ของแมวเลี้ยงในประเทศสหรัฐอเมริกา 2 อยู่ในบ้านเพียงอย่างเดียว 1 ในขณะที่แมวเลี้ยงในประเทศอังกฤษส่วนมากสามารถออกไปนอกบ้านได้ 3การศึกษาในเมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลียพบว่า ร้อยละ 23 ของแมว"เลี้ยงอยู่ในบ้านเป็นหลัก" สาเหตุของความแตกต่างในวัฒนธรรมการเลี้ยงแมวคืออะไร การตัดสินใจเลี้ยงแมวไว้ในบ้านเพียงอย่างเดียวในครอบครัวที่อาศัยอยู่บนอพาร์ตเมนต์ชั้นที่ 21นั้นดูสมเหตุสมผลดี ในสถานการณ์อื่นนั้นการเลี้ยงแมวในบ้านช่วยลดโอกาสการเดินหายไปจากบ้าน ถูกวางยาพิษ อุบัติเหตุจากยานพาหนะ โรคติดต่อ และการต่อสู้กับสัตว์อื่น 6 นอกจากนี้เจ้าของสัตว์ยังเชื่อว่าลดโอกาสการติดปรสิตภายในและภายนอกทั้งพยาธินอนหัวใจและหมัด อีกสาเหตุหนึ่งในการเลี้ยงแมวในบ้านนั่นคือหลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์ในกรณีที่ยังไม่ได้ทำหมันและปกป้องสัตว์ป่าในบริเวณนั้นจากการถูกล่า

 

ผลของการเลี้ยงแมวในบ้าน

การเลี้ยงแมวในบ้านเพียงอย่างเดียวมีข้อเสียหรือไม่ ในความเป็นจริงนั้นต่างกับความคิดเจ้าของแมวที่ว่าการเลี้ยงแมวในบ้านนั้นปราศจากอันตรายเพราะแมวในบ้านจะประสบปัญหาคนละแบบกับแมวที่เลี้ยงปล่อย อันตรายที่อาจพบได้แก่การตกจากหน้าต่างหรือระเบียง โดนน้ำร้อนหรือไฟลวกในครัว ได้รับพิษจากสารทำความสะอาด อาหารที่ไม่เหมาะสม(กระเทียม หอมใหญ่) และพืช 3 (ตารางที่ 1) ในทวีปอเมริกาเหนือยังไม่มีการศึกษาเปรียบเทียบอัตราการเสียชีวิตระหว่างแมวที่เลี้ยงในบ้านเพียงอย่างเดียวและแมวที่เลี้ยงให้เข้าออกบ้านได้อย่างเป็นอิสระ 7 อย่างไรก็ตามแมวไม่ได้ถูกเพาะพันธุ์มาเพื่อเลี้ยงภายในบ้านอย่างเดียวตลอด 24 ชั่วโมงและหลายสายพันธุ์ไม่สามารถปรับตัวให้อยู่ใกล้ชิดกับคนได้ตลอดเวลา 4
Jongman EC. Adaptation of domestic cats to confinement. J Vet Behav Clin App Research 2007;2(6):193-196.
เพื่อให้การปรับตัวเป็นไปได้อย่างสมบูรณ์จะต้องให้แมวทำความคุ้นเคยกับคนตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 8 สัปดาห์ 4 นอกจากนี้ลักษณะการตื่นกลัวคนสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ทำให้แมวบางสายพันธุ์ไม่เหมาะที่จะเลี้ยงใกล้ชิดกับคน 4 ความกังวลในลักษณะเดียวกันเกิดเมื่อมีความพยายามนำแมวจากหลายแหล่งมาเลี้ยงรวมกันซึ่งต้องทำตั้งแต่อายุน้อยอีกทั้งแมวมีบุคลิกแตกต่างกันตั้งแต่เข้าสังคมง่าย ขี้อาย ไม่เป็นมิตร กระตือรือร้น และดุร้าย อาจทำให้ยากต่อการเลี้ยงรวมกัน 8

 

ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของการเลี้ยงในบ้านเพียงอย่างเดียว ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากการเลี้ยงโดยที่แมวมีการออกไปนอกบ้าน
  • โรคระบบทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง(กระเพาะปัสสาวะอักเสบ และ นิ่วชนิดแคลเซียมออกซาเลต)
  • ปัญหาโรคผิวหนัง (atopy/acral lick dermatitis)
  • โรคอ้วน
  • โรคเบาหวาน
  • Odontoclastic resorptive lesions
  • ความเบื่อหน่าย
  • อันตรายจากของใช้ในบ้าน(ไฟลวก สารพิษ การตกจากที่สูง)
  • สุขภาพไม่แข็งแรง ไม่ออกกำลังกาย
  • ปัญหาด้านพฤติกรรมเช่นการ spray และการฝนเล็บ
  • ปัญหาด้านพฤติกรรมหมกมุ่น
  • ภาวะ hyperthyroidism
  • โรคติดเชื้อเช่น FeLV FIV พิษสุนัขบ้า ปรสิตต่างๆ
  • อุบัติเหตุยานพาหนะ
  • บาดเจ็บจากการตก
  • บาดแผลจากการต่อสู้ทั้งจากแมวตัวอื่นหรือสัตว์อื่น
  • สูญหาย
  • ถูกขโมย
  • ได้รับสารพิษ
ตารางที่ 1 เปรียบเทียบความเสี่ยงของลักษณะการเลี้ยงดูแมวที่แตกต่างกัน(ประยุกต์จาก 3)

 

รูป 1 ความเครียดทางร่างกายและจิตใจอาจส่งผลให้เกิดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์เช่นการ spraying © Terry Curtis/Margie Scherk

รูป 1 ความเครียดทางร่างกายและจิตใจอาจส่งผลให้เกิดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์เช่นการ spraying © Terry Curtis/Margie Scherk

สภาพแวดล้อมที่จำเจและคาดเดาได้ง่ายก่อให้เกิดความเครียดแก่แมว 9แมวอาจไม่สามารถแสดงออกถึงพฤติกรรมความเป็นแมวตามธรรมชาติได้ ความเครียดจากทางร่างกายและจิตใจส่งผลให้เกิดปัญหาทางพฤติกรรมซึ่งเป็นการแสดงออกตามธรรมชาติที่ไม่พึงประสงค์เช่นการ spraying หรือการฝนเล็บ ปัญหาด้านพฤติกรรมเช่นการ groom มากเกินไปและการเจ็บป่วยทางกาย สัญญาณที่บ่งบอกถึงความเครียดและความกังวลอาจมาในรูปแบบที่สังเกตได้ชัดเช่นความอยากอาหาร การ grooming ร้องเรียกมากขึ้น หลบซ่อน ระแวดระวัง ดุร้าย การ spraying และพฤติกรรมหมกมุ่น(รูป 1)หรืออาจแสดงออกในรูปแบบที่สังเกตได้ยากเช่นการลดลงของการทำกิจกรรมต่างๆ การเล่น การสำรวจ การทำสัญลักษณ์ด้วยใบหน้า การมีปฏิสัมพันธ์กับคนและสัตว์อื่น 10 

โรคบางอย่างพบว่ามีความชุกในแมวที่เลี้ยงในบ้านมากกว่าแมวที่มีการออกไปข้างนอก(ตารางที่ 1) แต่อาจแย้งได้ว่าแมวที่เลี้ยงในบ้านเพียงอย่างเดียวมีความใกล้ชิดกับคนมากกว่าทำให้สังเกตการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมได้อย่างรวดเร็ว หรืออาจเป็นได้ว่าแมวได้รับการดูแลจากสัตวแพทย์มากกว่าแมวที่เลี้ยงปล่อยออกนอกบ้านเป็นอิสระทำให้ตรวจพบโรคในระยะเริ่มต้นได้ง่าย ที่กล่าวมายังเป็นเพียงสมมติฐานเท่านั้น มีแหล่งข้อมูลหนึ่งอ้างว่า “ความแตกต่างระหว่างสิ่งเร้าที่ก่อให้เกิดความเครียดทางกายภาพและจิตใจนั้นเป็นภาพลวงตา ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายสัตว์สามารถตอบสนองต่อสิ่งเร้าทั้งสองผ่านการปรับตัวได้อย่างเหมาะสม” 11

 

สิ่งที่แมวต้องการเพื่อคงความเป็นแมว

การลดความเครียดของแมวต้องการความเข้าใจในตัวตนและสิ่งที่แมวต้องการ แมวเป็นสัตว์ที่มีอาณาเขตซึ่งภายในอาณาเขตจะต้องมีทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับแมว หลักๆคืออาหาร ทั้งเพศผู้และเพศเมียจะทำเครื่องหมายอาณาเขตผ่านกลิ่นไม่ว่าจะเป็นการ spraying การถูกับสิ่งของ หรือการฝนเล็บกับวัตถุแนวตั้งซึ่งให้สัญญาณทั้งรูปแบบกลิ่นและการมองเห็น แมวอาจแบ่งทรัพยากรกันใช้คนละช่วงเวลาได้และหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าโดยการหลบเลี่ยง การต่อสู้ถือเป็นทางเลือกสุดท้ายเมื่อไม่สามารถหลบหนีได้ แมวต้องการที่ส่วนตัวเพื่อการหลบซ่อน ความปลอดภัย การสังเกตการณ์ พักผ่อน และนอนหลับ ในขณะที่แมวต้องการอยู่ในตำแหน่งที่ได้เปรียบเพื่อหลบผู้บุกรุก ผู้ล่าและภัยอันตรายอื่นๆ ในแง่ของสังคมแมวอาจอยู่เพียงตัวเดียวหรืออยู่รวมกันเป็นฝูง ภายในฝูงประกอบไปด้วยแมวตัวเมียที่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดและลูกของแมวเหล่านั้นโดยมีแมวเพศผู้แวะเวียนมาเพื่อผสมพันธุ์ แต่มีบางครั้งที่แมวเพศผู้อาจช่วยดูแลลูกแมวที่มีความเกี่ยวข้องทางสายเลือดจนโตมากพอ 12

อิสระ 5 ประการ( The Five Freedom) ได้ถูกใช้เป็นครั้งแรกในปี 1965 เพื่อนิยามความเป็นอยู่ที่ดีของสัตว์ในฟาร์ม* ถูกนำมาประยุกต์ใช้กับแมวมากขึ้นดังต่อไปนี้ 3:

  1. การเข้าถึงอาหารและน้ำ : สัตว์ตั้งแต่อายุน้อยต้องได้รับสารอาหารที่สมดุลย์ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการทางโภชนาการรวมถึงน้ำสะอาด
  2. การเข้าถึงสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม : มีพื้นที่และหลังคาเพียงพอ มีปริมาณแสงที่เหมาะสม เสียงไม่ดัง และไม่มีอุณหภูมิที่ร้อนจัดหรือเย็นจัด พื้นที่อาจเป็นภายในบ้านอย่างเดียวหรือมีทางออกสู่ภายนอกได้
  3. การเข้าถึงการดูแลสุขภาพ : การทำวัคซีน การทำหมัน การป้องกันปรสิต การระบุตัวตนผ่านการปลอกคอหรือการฝังไมโครชิป และการเข้าถึงสัตวแพทย์เพื่อรักษาการเจ็บป่วยอย่างท่วงที
  4. โอกาสในการแสดงออกพฤติกรรมปกติตามธรรมชาติ
  5. ได้รับการปกป้องจากสภาวะที่จะนำไปสู่ความกลัวและความลำบาก

**The Brambell Report, December 1965 (HMSO London, ISBN 0 10850286 4)

แมวส่วนมากที่เลี้ยงในบ้านได้รับอาหารและน้ำอย่างเหมาะสมรวมถึงการรักษาอาการเจ็บป่วยโดยสัตวแพทย์แต่ไม่ได้รับโอกาสในการแสดงออกพฤติกรรมปกติตามธรรมชาติของแมว สิ่งนี้อาจนำไปสู่ความเครียด ความกลัว พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์และความเจ็บป่วยได้ พฤติกรรมโดยทั่วไปของแมวได้แก่การเล่น การสำรวจ การสังเกต การล่า การกินดื่ม การตกแต่งขน การเกา การเดินเที่ยว การทำเครื่องหมายด้วยกลิ่น การขับถ่าย การพักผ่อน และการนอนหลับ 13  14  15  นอกจากนี้แมวยังเป็นสัตว์ crepuscular ซึ่งหมายความว่าแมวจะมีความตื่นตัวมากที่สุดในช่วงรุ่งเช้าและช่วงตะวันตกดิน

 

แมวที่อาศัยในบ้านและโรคอ้วน

การถูกขังอยู่แต่ในบ้านมีส่วนโน้มนำให้เกิดโรคอ้วน สาเหตุที่สำคัญที่สุดเกิดจากการบริโภคพลังงานเกินกว่าที่ร่างกายนำไปใช้ แต่สิ่งที่ซับซ้อนกว่านั้นตามธรรมชาติคือแมวไม่ได้เข้าถึงแหล่งอาหารอย่างอิสระ เพื่อหลีกเลี่ยงความหิวจึงทำให้พฤติกรรมการมองหาเหยื่อ การติดตาม การตะปบ และการฆ่าจึงทำงานอยู่ตลอดเวลา แมวจะพยายามล่าหลายครั้งจนกว่าจะฆ่าเหยื่อได้ 16 เหยื่อส่วนมากคือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กหรือนก แมวอาจพยามล่ามากถึง 100 ครั้งต่อวันเพื่อให้ได้ปริมาณเหยื่อเพียงพอกับความต้องการพลังงาน(10-20 ตัว) พฤติกรรมการล่านั้นจึงเป็นการกระตุ้นทางร่างกายและสติปัญญาอย่างมาก

แมวที่เลี้ยงในบ้านจะได้รับอาหารโดยไม่ต้องใช้ความพยายามในการหา ทำให้มีน้ำหนักเกินจากการที่กินมากเกินไป อีกทั้งอาหารที่ได้รับยังมีปริมาณพลังงานสูง หนู 1ตัว ให้พลังงานประมาณ 30 กิโลแคลอรี่ซึ่งเทียบเท่ากับอาหารเม็ดทั่วไปจำนวน 10 เม็ดโดยประมาณ ทำให้การกินอาหารเกินมาแค่ 10 เม็ดต่อวันส่งผลให้แมวมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ต่อปี เจ้าของแมวชอบให้แมวเจริญอาหารและมักตีความพฤติกรรมการเรียกร้องความสนใจด้วยเสียงหรือการคลอเคลียของแมวเป็นการขออาหาร การให้รางวัลพฤติกรรมดังกล่าวด้วยอาหารเป็นการกระตุ้นให้แมวแสดงพฤติกรรมนั้นมากขึ้นทำให้เจ้าของแมวรู้สึกจำเป็นต้องปฏิบัติตามที่แมวร้องขอ เจ้าของแมวจึงฝึกให้แมวร้องขออาหารและในทางกลับกันแมวฝึกเจ้าของให้ตอบสนองต่อความเบื่อหน่ายหรือความต้องการอื่นด้วยการให้อาหาร

แมวที่ทำหมันแล้วมีความต้องการพลังงานลดลงร้อยละ 7-33 (ในการศึกษาส่วนใหญ่ระบุว่าร้อยละ20-25) การให้อาหารยังกระตุ้นการปล่อยสารสื่อประสาทที่ทำให้แมวรู้สึกดีส่งผลให้การกินเป็นการแก้ไขความรู้สึกเชิงลบเช่นความเครียดและความกลัวรวมถึงความเบื่อหน่าย ในบ้านที่เลี้ยงแมวหลายตัว หากแมวเกิดความเครียดจากการเข้าสังคมสามารถแสดงออกโดยการกินมาเกินไปโดยเฉพาะในตัวที่มีพื้นที่ไม่มากพอ

โรคอ้วนเป็นปัญหาใหญ่ในแมว การศึกษาหนึ่ง 17 ระบุว่าปัจจัยเสี่ยงของภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนคือความถี่ในการให้อาหารและสถานะการทำหมันโดยไม่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงในบ้านหรือนอกบ้าน แมวที่ได้รับอาหารวันละ 2-3 มื้อมีแนวโน้มที่จะมีน้ำหนักเกินมากกว่าแมวที่เข้าถึงอาหารได้อย่างอิสระ ถึงแม้ว่าจะขัดกับผลการศึกษาอื่นแต่เป็นการย้ำถึงความสำคัญในการให้ความรู้แก่เจ้าของแมวเกี่ยวกับปริมาณและชนิดของอาหารที่ควรให้ อาหารสูตรที่พัฒนาสำหรับแมวที่เลี้ยงในบ้านจะมีสัดส่วนของพลังงานที่ได้จากโปรตีนสูงเพื่อชดเชยการออกกำลังที่ลดลง มีการเพิ่มใยอาหารเพื่อการจับตัวของอุจจาระ ลดกลิ่นของอุจจาระ และเพิ่มการบีบตัวของลำไส้เพื่อลดโอกาสการเกิดก้อนขน

 

การปรับปรุงสภาพแวดล้อมในบ้านให้เหมาะสมกับแมว

การปรับปรุงสภาพแวดล้อมจำเป็นต้องพิจารณาใน 2 แง่มุม ประการแรกคือการลดสิ่งเร้าที่ก่อให้เกิดความเครียด อีกประการคือการพัฒนาและทำให้สภาพแวดล้อมมีความน่าสนใจ ในบางครั้งอาจมีการซ้อนทับกันเช่นความเบื่อหน่ายไม่ได้เป็นอันตรายโดยตรงเมื่อเทียบกับการเผชิญหน้ากับสัตว์เลี้ยงตัวอื่นแต่ยังคงเป็นแหล่งของความเครียด

ความเครียดเกิดจากสิ่งเร้าที่เป็นอันตรายซึ่งไม่อาจคาดเดาหรือควบคุมได้ 18 ซึ่งอาจเป็นสิ่งเร้าทางกายภาพหรือสังคม ประสบการณ์ในวัยเด็กและพันธุกรรมมีส่วนสำคัญต่อความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ที่ว่างเปล่า หรือสถานที่ที่อึกทึกวุ่นวายมีของรกต่างไม่เป็นที่ต้องการทั้งนั้นเช่นการมีสมาชิกใหม่เข้ามาในบ้าน การเปลี่ยนกิจวัตรหรือสภาพแวดล้อม ความสัมพันธ์ที่ไม่ดีระหว่างสัตว์อื่นและมนุษย์สามารถสร้างความเครียดได้เช่นกัน การแข่งขันเพื่อทรัพยากรที่อาจเกิดขึ้นจริง(กับสัตว์อื่นหรือการเย้าแหย่ของคน)หรือจากการรับรู้(การไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากร ความกลัวการถูกซุ่มโจมตี) ความผิดปกติที่เกิดจากความกังวลเช่นการ spraying เป็นผลของความเครียดทางสังคมและสภาพแวดล้อม 12 เจ้าของแมวต้องระบุแหล่งที่มาความเครียดและนำออกไปจากสภาพแวดล้อมของแมวเมื่อสามารถทำได้ การลดความวุ่นวายและสร้างสภาพแวดล้อมที่สงบคาดเดาได้จะมีส่วนช่วยอย่างมาก หากสิ่งเร้าที่ก่อให้เกิดความเครียดนั้นต้องอาศัยอยู่ร่วมกับแมวเช่นแมวตัวอื่นหรือคน อาจจำเป็นต้องใช้ขั้นตอนในการทำความรู้จักเพื่ออยู่ร่วมกันอย่างค่อยเป็นค่อยไปเสริมด้วยการกระตุ้นเชิงบวกที่ให้ความรู้สึกดี

หากการเปลี่ยนกิจวัตรเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การปรับสภาพเชิงบวกล่วงหน้าจะช่วยได้ ยกตัวอย่างเช่นการเตรียมตัวเพื่อไปพบสัตวแพทย์ควรทำให้แมวเกิดความรู้สึกเชิงบวกกับกระเป๋าใส่แมวโดยอาจนำอาหารวางไว้ในนั้นเพื่อเน้นถึงความต้องการและความปลอดภัย

การเสริมสร้างสภาพแวดล้อมนั้นสามารถทำได้ทั้งทางกายภาพและทางสังคมโดยควรมีความหลากหลาย 15 เป้าหมายนั้นเพื่อเกิดความหลกหลายทางพฤติกรรม กระตุ้นให้แมวใช้พื้นที่มากขึ้น เพิ่มระดับความสัมพันธ์ระหว่างคนและแมว และท้ายที่สุดแล้วเพื่อเพิ่มความสามารถของแมวในการรับมือกับความขัดแย้งซึ่งจะช่วยลดการแสดงออกพฤติกรรมที่ผิดปกติและไม่พึงประสงค์ 3
รูป 2 หากแมวมีการเข้าสังคมได้ดีตั้งแต่เป็นลูกเมว มีพื้นที่มากเพียงพอ และมีจำนวนทรัพยากรอย่างเหมาะสมอาจทำให้อยู่อาศัยร่วมกันได้อย่างมีความสุข © Terry Curtis/Margie Scherk

รูป 2 หากแมวมีการเข้าสังคมได้ดีตั้งแต่เป็นลูกเมว มีพื้นที่มากเพียงพอ และมีจำนวนทรัพยากรอย่างเหมาะสมอาจทำให้อยู่อาศัยร่วมกันได้อย่างมีความสุข © Terry Curtis/Margie Scherk

แมวที่อยู่อย่างอิสระสามารถใช้พื้นที่ได้มากตั้งแต่ 1.2-2450 เอเคอร์หรือ 0.48-990 เฮคตาร์ขึ้นอยู่กับปริมาณอาหาร การเลี้ยงระบบปิดในอพาร์ทเมนต์นั้นเล็กเกินไปสำหรับแมวและสามารถแย่ลงได้ด้วยการอยู่อาศัยร่วมกับแมวอื่น 12 สภาพแวดล้อมในบ้านควรประกอบไปด้วยห้องอย่างน้อย 2 ห้องแต่แมวยังต้องการพื้นที่สามมิติที่มีความซับซ้อนและกระตุ้นการทำงานของสมองเพื่อที่จะปีนป่าย แมวจะสามารถสร้างระยะห่างจากแมวตัวอื่นและทำให้สำรวจสภาพแวดล้อมโดยรอบเพื่อที่จะคาดการณ์และหลบเลี่ยงสิ่งเร้าที่เป็นอันตรายได้ 3 แมวส่วนมากไม่สามารถอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีแมวหลายตัวได้ดีหากไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แมวโตเต็มวัยที่ชินกับการออกไปข้างนอกได้อาจมีความลำบากในการปรับตัวเข้ากับการเลี้ยงในบ้านเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตามหากแมวได้มีการทำความรู้จักกันในตอนเด็กผ่านขั้นตอนที่เหมาะสมเป็นระยะเวลาหลายเดือน มีพื้นที่มากพอรวมถึงมีทรัพยากรเช่นอาหารแยกเฉพาะตัวอาจสามารถอาศัยอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข(รูป 2) แมวอาจสามารถอาศัยร่วมกับสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงอื่นได้หากได้มีการทำความคุ้นเคย

สิ่งที่เราสามารถทำได้เพื่อให้บริเวณที่แมวอยู่อาศัยมีความเหมาะสม

คำแนะนำ 19 ได้ระบุหลักห้าประการสำหรับการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีสำหรับแมวไว้ดังนี้

รูป 3 การหลบซ่อนตัวเป็นพฤติกรรมในการรับมือความเครียดของแมว ในบ้านที่เลี้ยงแมวหลายตัวสิ่งสำคัญคือแมวต้องไม่รู้สึกว่าติดกับ © Terry Curtis/Margie Scherk

รูป 3 การหลบซ่อนตัวเป็นพฤติกรรมในการรับมือความเครียดของแมว ในบ้านที่เลี้ยงแมวหลายตัวสิ่งสำคัญคือแมวต้องไม่รู้สึกว่าติดกับ © Terry Curtis/Margie Scherk

พื้นที่ปลอดภัย : พื้นที่ที่แมวสามารถพักผ่อน ผ่อนคลาย และนอนหลับโดยที่ไม่ต้องหวาดกลัว แมวยังต้องสามารถอาศัยพื้นที่นี้ในการสังเกตการณ์ดังนั้นพื้นที่นี้ควรยกระดับสูงจากพื้น ลักษณะหลุมบนคานไม้หรือชั้นวางของทำให้แมวสามารถซ่อนตัวเองและมีความรู้สึกของการได้ควบคุมสถานการณ์ การหลบซ่อนเป็นพฤติกรรมในการรับมือของแมว การที่ไม่สามารถหลบซ่อนได้อาจหมายถึงความเครียดและการเจ็บป่วย 12 (รูป 3) ในบ้านที่มีแมวมากกว่าหนึ่งตัวหรือสุนัขรวมไปถึงบุคคลที่ดูมีท่าทีบุกรุกพื้นที่ปลอดภัยของแมว สิ่งสำคัญคือแมวต้องไม่รู้สึกว่าติดกับดังนั้นพื้นที่ปลอดภัยจึงต้องมีทางเข้ามากกว่าหนึ่งทาง พื้นที่ปลอดภัยควรมีอย่างน้อยหนึ่งแห่งต่อแมวหนึ่งตัวภายในบ้านโดยแยกจากกัน ตำแหน่งอาจขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแมวแต่ละตัวเช่นแมวที่มีปัญหาการเคลื่อนไหวอาจต้องมีทางลาดในการเข้าถึงสถานที่ปลอดภัยด้วยตนเองโดยง่าย

รูป 4 กระบะทรายควรมีอย่างทั่วถึงภายในบ้าน มีขนาดใหญ่และสะอาด แมวแต่ละตัวมีความชอบชนิดของทรายและความลึกต่างกันไป แต่ส่วนมากจะรับได้กับทรายแมวทั่วไปที่มีจำหน่าย

รูป 4 กระบะทรายควรมีอย่างทั่วถึงภายในบ้าน มีขนาดใหญ่และสะอาด แมวแต่ละตัวมีความชอบชนิดของทรายและความลึกต่างกันไป แต่ส่วนมากจะรับได้กับทรายแมวทั่วไปที่มีจำหน่าย © Terry Curtis/Margie Scherk

จัดวางทรัพยากรที่จำเป็นอย่างทั่วถึงและแยกจากกัน : หากพิจารณาจากการที่ทรัพยากรส่งผลต่ออาณาเขตของแมวทำให้แมวต้องสามารถเข้าถึงทรัพยากรที่สำคัญโดยไม่พบอันตราย ทรัพยากรพื้นฐานได้แก่อาหาร น้ำ สถานที่ขับถ่าย บริเวณสำหรับเล่นและฝนเล็บ บริเวณสำหรับสังเกตการณ์ พักผ่อนและนอนหลับ ถึงแม้ว่าแมวเป็นสัตว์สังคมแต่จะล่าและกินโดยลำพัง 20 แมวเป็นนักล่าแต่สามารถตกเป็นเหยื่อได้หากไม่ระมัดระวัง การมีกระบะทรายแบบปิดในบ้านที่มีแมวหลายตัวจะช่วยลดความเครียดจากการถูกซุ่มโจมตีได้ การมีแหล่งทรัพยากรแยกจากกันหลายแห่งจะลดอัตราการแข่งขันและการซุ่มโจมตี 20 นอกจากนี้แมวควรมีตัวเลือกสำหรับทรัพยากรแต่ละชนิดเช่นบริเวณกินอาหาร น้ำ และขับถ่ายอย่างน้อย 2 แห่ง กระบะทรายควรมีขนาดใหญ่อย่างน้อย 1.5 เท่าของความยาวแมว(รูป 4) มีจำนวนเพียงพอ(อย่างน้อย 1 ถาดต่อตัว)และสะอาด แมวแต่ละตัวมีความชอบต่อชนิดของวัสดุรองขับถ่ายและความลึกแตกต่างกันไป โดยปกติแล้วดินและทรายเป็นวัสดุรองขับถ่ายตามธรรมชาติของแมวทำให้ทรายแมวปกติที่มีจำหน่ายทั่วไปใช้ได้ดี กระบะทรายแมวควรจัดวางในบ้านอย่างทั่วถึง ห่างไกลจากแหล่งที่มีเสียงอึกทึกเช่นเครื่องซักผ้าและเครื่องทำความร้อน ควรตักทรายที่สกปรกออกอย่างน้อยวันละครั้งหรือมากกว่ารวมทั้งมีการเททรายทิ้งและทำความสะอาดสัปดาห์ละครั้ง

 

พื้นผิวสำหรับฝนเล็บต้องมีความมั่นคง เสาที่ตั้งอยู่กับที่และมีน้ำหนักหุ้มด้วยพรมหรือกระดาษลังเป็นตัวเลือกที่ดี แหล่งน้ำสำหรับแมวอาจประกอบไปด้วยชามน้ำหลายชนิด น้ำพุ หรือขวดน้ำสำหรับเลียและใช้น้ำที่สะอาด สภาพแวดล้อมในบ้านที่ปลอดภัยสามารถให้หนวดแมวสัมผัสกับชามอาหารหรือน้ำได้แต่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัยหรือในสถานพยาบาลควรใช้ชามที่มีลักษณะแบนและกว้าง(รูป 5a/5b) สาเหตุมาจากการที่หนวดแมวนั้นใช้รับรู้การเคลื่อนไหวของอากาศ หากแมวอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ต้องใช้ความตื่นตัวระมัดระวังเช่นในสถานพยาบาล การใช้ชามที่จำกัดความสามารถในการรับรู้ของแมวอาจส่งผลให้แมวหลีกเลี่ยงชามอาหาร ในสถานการณ์ที่แมวอยู่ร่วมกันเป็นฝูงอาจใช้ทรัพยากรร่วมกันได้แต่ควรแยกตำแหน่งทรัพยากรแต่ละชนิดออกจากกันเช่นน้ำไม่ควรอยู่ข้างอาหาร และแมวทุกตัวจำเป็นต้องมีบริเวณกินอาหารอย่างน้อยหนึ่งแห่ง

รูป 5a ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยเช่นในบ้าน หนวดของแมวสามรถสัมผัสกับชามน้ำหรือชามอาหารได้

รูป 5a ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยเช่นในบ้าน หนวดของแมวสามรถสัมผัสกับชามน้ำหรือชามอาหารได้ © Royal Canin/Youri Xerri

รูป 5b ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัยหรือที่สถานพยาบาล ควรใช้ชามที่มีลักษณะแบนและกว้าง

รูป 5b ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัยหรือที่สถานพยาบาล ควรใช้ชามที่มีลักษณะแบนและกว้าง © Royal Canin/Youri Xerri

ความต้องการในการทำกิจกรรม: แมวจำเป็นต้องเล่นและล่าตามที่ได้กล่าวข้างต้นว่าแมวใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในการล่า แมวควรได้โอกาสในการเข้าถึงขั้นตอนการล่าทั้งหมดตั้งแต่การระบุเหยื่อ การติดตามเหยื่อ การไล่ การตะปบ การฆ่า การเตรียมอาหารและการกินเหยื่อ สำหรับการเลี้ยงในบ้านนั้นต้องมีการปรับเป็นพฤติกรรมการล่าเทียมร่วมกับการให้อาหาร หากไม่สามารถตอบสนองความต้องการในการล่าได้จะทำให้แมวเบื่อหน่ายและเป็นโรคอ้วน แมวอาจเล่นด้วยตนเองหรือกับเจ้าของแต่มักไม่เล่นกับตัวอื่นนอกจากโตมาด้วยกัน แมวแต่ละตัวควรมีพื้นที่ในการเล่นห่างกันมากกว่า 3 เมตรหรือใช้ของเล่นต่างชนิด การสำรวจสิ่งของเช่นกล่องหรือตะกร้าเป็นการกระตุ้นที่ดีและแมวแต่ละตัวอาจชอบของเล่นต่างกันไป 21 การให้แมวได้ล่าหาชามอาหารหรือของเล่นเพื่อฝึกการล่าเป็นกิจกรรมที่กระตุ้นการทำงานของสมองได้ดี

รูป 6 การกระตุ้นด้วยการมองเห็นนั้นสำคัญสำหรับแมว บริเวณพักผ่อนที่ยกสูงขึ้นทำให้แมวสังเกตภายนอกได้โดยรู้สึกปลอดภัย

รูป 6 การกระตุ้นด้วยการมองเห็นนั้นสำคัญสำหรับแมว บริเวณพักผ่อนที่ยกสูงขึ้นทำให้แมวสังเกตภายนอกได้โดยรู้สึกปลอดภัย © Terry Curtis/Margie Scherk

การฝนเล็บถือเป็นความต้องการที่สำคัญอย่างหนึ่งของแมวซึ่งไม่ใช่เพื่อการลับความคมของเล็บหรือการลอกของผิวเล็บเพียงเท่านั้นแต่ยังเป็นการยืดร่างกายและทิ้งกลิ่นไว้กับวัตถุแนวตั้ง นอกจากการมีพื้นผิวสำหรับการฝนเล็บแล้วเจ้าของแมวยังสามารถตัดเล็บแมวได้ด้วยการกระตุ้นความรู้สึกที่ดีผ่านขนม หากเจ้าของแมวกังวลว่าการฝนเล็บของแมวจะสร้างความเสียหายแก่ข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้านสามารถใช้ปลอกหุ้มเล็บแมวได้แต่ทั้งนี้ยังคงต้องตัดแต่งเล็บแมวอย่างสม่ำเสมอ หากเป็นวัสดุหรือสิ่งของที่มีค่ามากอาจใช้เทปเหนียวแปะไว้เพื่อเป็นการป้องกันการฝนเล็บของแมว เครื่องตรวจจับการเคลื่อนไหวที่มีการส่งเสียงเพื่อไล่แมวหรือพ่นลมใส่อาจช่วยป้องกันพฤติกรรมได้แต่ควรใช้อย่างระมัดระวังและให้รางวัลแก่พฤติกรรมที่น่าชื่นชม การกระตุ้นด้วยการมองเห็นนั้นสำคัญสำหรับแมว บริเวณพักผ่อนที่ยกสูงขึ้นทำให้แมวสังเกตภายนอกได้โดยรู้สึกปลอดภัย(รูป 6) วิดีโอที่มีนก หนู และกระรอกให้การกระตุ้นทั้งการมองเห็นและการได้ยินอาจมีประโยชน์โดยเฉพาะในกรณีที่แมวไม่มีโอกาสได้มองเห็นหรือได้ยินเสียงจากภายนอก การโยนลูกปิงปองลงในอ่างน้ำที่ว่างเปล่าวันละ 30 นาทีช่วยกระตุ้นการมองเห็นและการได้ยินรวมถึงช่วยในการออกกำลัง หญ้าแมวช่วยกระตุ้นการรับรสที่แมวรู้สึกชื่นชอบในขณะที่การกลิ้งบนพรมนิ่มโรยกัญชาแมวช่วยกระตุ้นการสัมผัส

รูป 7 ของเล่นที่มีกัญชาแมวเป็นการกระตุ้นการรับกลิ่นที่แมวชื่นชอบ

รูป 7 ของเล่นที่มีกัญชาแมวเป็นการกระตุ้นการรับกลิ่นที่แมวชื่นชอบ  © Terry Curtis/Margie Scherk

ไม่ควรละเลยการรับรู้ด้วยกลิ่นของแมว: แมวอาศัยกลิ่นในการรับรู้รอบตัวในระดับที่สูงกว่ามนุษย์หลายเท่าตัว นอกจากนี้แมวยังสามารถตรวจจับและสื่อสารผ่านฟีโรโมนได้ กลิ่นในสภาพแวดล้อมทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจซึ่งสร้างโดยมนุษย์อาจส่งผลอย่างมากต่อแมว สเปรย์ปรับอากาศ น้ำยาทำความสะอาด น้ำหอม และทรายแมวชนิดที่มีกลิ่นหอมอาจรื่นรมย์สำหรับมนุษย์แต่อาจทำให้แมวสับสนได้ กลิ่นที่มาจากนอกบ้านซึ่งติดมากับรองเท้าหรือแขกที่มาบ้านอาจทำให้แมวรู้สึกไม่ปลอดภัย การจำกัดการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีกลิ่นหอมและการถอดรองเท้ารวมถึงถุงจ่ายตลาดไว้ที่บริเวณทางเข้าบ้านสามารถช่วยลดความรู้สึกคุกคามได้ กัญชาแมว(Nepeta cataria) ไม้ตระกูลสายน้ำผึ้ง(Lonicera tatarica) ราก valerian(Valeriana officinalis) และ silvervine(Actinidia polygama) เป็นตัวกระตุ้นการรับกลิ่นที่แมวชอบ(รูป 7) การใช้เสื้อผ้าและสิ่งปูนอนที่มีกลิ่นที่แมวคุ้นเคยอาจช่วยให้แมวเกิดความรู้สึกปลอดภัย หลีกเลี่ยงการซักสิ่งปูรองนอนของแมวพร้อมกันทั้งหมดเพื่อให้การรับกลิ่นเป็นไปอย่างต่อเนื่อง สิ่งของเครื่องใช้ใหม่เช่นเฟอร์นิเจอร์ที่นำเข้ามาในบ้านควรทำการถูด้วยผ้าที่มีกลิ่นจากต่อมกลิ่นของแมวก่อนที่จะให้แมวพบ ต่อมกลิ่นของแมวทำหน้าที่ผลิตฟีโรโมนหลากหลายอยู่ที่บริเวณข้างแก้ม ขมับ รอบปาก หาง และด้าน dorsal ของโคนหางรวมไปถึงระหว่างซอกนิ้ว เมื่อแมวทำเครื่องหมายตามพื้นผิวหรือขอบมุมด้วยแก้มหรือการฝนจะเป็นการทิ้งกลิ่นไว้และสร้างความคุ้นเคยซึ่งไม่ควรล้างออก การจัดวางทางเลือกในการฝนเล็บทั้งแนวนอนและแนวตั้งไว้ทั่วบ้านโดยเฉพาะที่ทางเข้าออกช่วยเสริมสร้างความรู้สึกปลอดภัยโดยที่แมวไม่ต้อง spray เพื่อเป็นการสร้างอาณาเขต ฟีโรโมนสังเคราะห์ที่เลียนแบบฟีโรโมนจากแก้มมีจำหน่ายในหลายประเทศและอาจช่วยเสริมความรู้สึกปลอดภัยให้กับแมวได้

Margie Scherk

เมื่อความต้องการทางสังคมและสภาพแวดล้อมของแมวได้รับการตอบสนอง มีพื้นที่อยู่อาศัยและทรัพยากรเพียงพอ แมวส่วนมากจะสามารถปรับตัวให้เข้ากับการเลี้ยงในบ้านได้โดยเฉพาะหากได้รับการเลี้ยงในบ้านตั้งแต่อายุน้อย

Margie Scherk

การเข้าสังคม : ความสม่ำเสมอและการคาดเดาได้คือกุญแจสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างคนและแมว ตามที่ได้กล่าวข้างต้นว่าการเข้าสังคมตั้งแต่อายุ 2-8 สัปดาห์สำคัญอย่างมากในการที่แมวจะอยู่อาศัยร่วมกับคนได้ดี ในช่วงเวลาดังกล่าวแมวควรได้พบกับคนเลี้ยงไม่น้อยกว่า 4 คนและได้ทำความคุ้นเคยกับประสบการณ์เชิงบวกอย่างสั้นๆแต่หลายครั้ง ความเอาใจใส่จากมนุษย์นั้นสำคัญมากแต่แมวต้องการปฏิสัมพันธ์ที่บ่อยแต่เข้มข้นน้อยกว่าที่เราคิด นอกจากนี้แมวยังเป็นฝ่ายเลือกเวลาและสถานที่ในการเข้าสังคม ยิ่งเจ้าของแมวตอบสนองต่อการเรียกร้องของแมวเท่าใดจะยิ่งทำให้ความสัมพันธ์แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น หลังจากดมกลิ่นคนแล้วแมวชอบให้ลูบบริเวณศีรษะและคอมากกว่าลูบทั่วร่างกาย เมื่อแมวเลือกที่จะเดินจากไปไม่ควรไล่ตาม แมวเป็นสัตว์ที่มีนิสัยเฉพาะตัวแตกต่างกันไป บางตัวอาจชอบการเล่นแรงแต่ในการทำความรู้จักกับแมวควรสัมผัสที่ศีรษะหรือแก้มเท่านั้น การจ้องตาถือเป็นการคุกคามสำหรับแมว แมวบางตัวชอบการลูบหรือการแปรงขนในขณะที่บางตัวอาจชอบการเข้าสังคมผ่านการเล่น

แมวใช้เวลาวันละ 3.5 ชั่วโมงในการดูแลขน 14 ซึ่งเป็นอีกหนึ่งพฤติกรรมสำคัญ หากแมวไม่ได้อาศัยร่วมกับแมวตัวอื่นที่มีการดูแลขนกันและกัน เจ้าของแมวอาจต้องก้าวเข้ามามีส่วนร่วมโดยยึดเอาหลักเดียวกันในการลูบแมว หากแมวไม่แสดงความต้องการควรแปรงเพียงบริเวณศีรษะและคอ 15 20

 

การผสมผสานสิ่งที่ดีที่สุดจากภายนอกและในบ้าน

หากเป็นไปได้ควรหาทางเลือกที่ดีกว่าการเลี้ยงแมวภายในบ้านเพียงอย่างเดียว สามารถทำได้โดยจัดวางกรงและ/หรือการกั้นบริเวณนอกบ้านอย่างปลอดภัยและชาญฉลาดเพื่อไม่ให้แมวหนีหรือมีสัตว์อื่นเข้ามาได้ มีทางเลือกในการกั้นบริเวณรวมถึงกรงภายนอกบ้านสำหรับแมวให้เลือกใช้มากมาย(รูป 8) ท้ายสุดแล้วการจูงเดินด้วยสายรัดอกอาจใช้ได้ผลกับแมวบางตัวแต่ควรให้แมวได้มีโอกาสสำรวจเองมากกว่าถูกจูง 3  4

 

รูป 8 มีรูปแบบกรงภายนอกบ้านที่ออกแบบมาเพื่อแมวมากมาย

รูป 8 มีรูปแบบกรงภายนอกบ้านที่ออกแบบมาเพื่อแมวมากมาย © Sally Lester

 

เมื่อความต้องการทางสังคมและสภาพแวดล้อมของแมวได้รับการตอบสนอง มีพื้นที่อยู่อาศัยและทรัพยากรเพียงพอ แมวส่วนมากจะสามารถปรับตัวให้เข้ากับการเลี้ยงในบ้านได้โดยเฉพาะหากได้รับการเลี้ยงในบ้านตั้งแต่อายุน้อย อย่างไรก็ตามแมวที่เคยชินกับการที่สามารถออกไปนอกบ้านได้อาจมีความลำบากในการปรับตัว องค์ความรู้ที่มีในปัจจุบันนั้นไม่สามารถตอบได้ว่าการเลี้ยงระบบปิดในบ้านดีกว่าการให้แมวได้มีโอกาสออกไปนอกบ้านหรือไม่ โดยทั้งสองทางเลือกต่างมีข้อดีและข้อเสียของตัวเอง แมวแต่ละตัวควรได้รับพิจารณารายตัวและมีการประเมินความเป็นอยู่ของแมว เจ้าของ และสภาพแวดล้อมเป็นระยะตามสมควร

 

แหล่งอ้างอิง

  1. MacCallum Research Pty. Ltd. in association with H. Mackay. A Study of Our Attitudes to Cat and Dog Ownership: Motivations and Benefits of Ownership: the Personal, Familial and Social Context. Petcare Information and Advisory Service, Melbourne 1992.

  2. Patronek GJ, Beck AM, Glickman LT. Dynamics of dog and cat populations in the community. J Am Vet Med Assoc 1997;210:637-642.

  3. Rochlitz I. A review of the housing requirements of domestic cats (Felis silvestris catus) kept in the home. App Anim Animal Behav Sci 2005;93(1-2):97-109.

  4. Jongman EC. Adaptation of domestic cats to confinement. J Vet Behav Clin App Research 2007;2(6):193-196.

  5. Rochlitz I. The effects of road traffic accidents on domestic cats and their owners. Anim Welf 2004;13:(1)51-55.

  6. Loyd KAT, Hernandez SM, Abernathy KJ, et al. Risk behaviors exhibited by free-roaming cats in a suburban US town. Vet Rec 2013;173(12):295. doi:10.1136/vr.101222.

  7. Buffington CAT. External and internal influences on disease risk in cats. J Am Vet Med Assoc 2002;220(7):994.

  8. Karsh E, Turner D. The human-cat relationship. The domestic cat: the biology of its behavior. New York: Cambridge Press, 1988;159-177.

  9. Buffington CAT, Westropp JL, Chew DJ, et al. Clinical evaluation of multimodal environmental modification (MEMO) in the management of cats with idiopathic cystitis. J Feline Med Surg 2006;(8):261-268.

  10. Amat M, Camps T, Manteca X. Stress in owned cats: behavioral changes and welfare implications. J Feline Med Surg 1-10. doi: 10.1177/1098612X15590867.

  11. Fleshner M, Laudenslager ML. Psychoneuroimmonology: then and now. Behav Cogn Neurosci Rev 2004;3:114-130.

  12. Overall KL, Dyer D. Enrichment strategies for laboratory animals from the viewpoint of clinical veterinary behavioral medicine: Emphasis on cats and dogs. ILAR Journal. 2005;46(2):202-216.

  13. Landsberg G. Feline behavior and welfare. J Am Vet Med Assoc 1996;208(4):502-505.

  14. Crowell-Davis SL, Curtis TM, Knowles RJ. Social organization in the cat: a modern understanding. J Feline Med Surg 2004;6:19-28.

  15. Weiss JM. Influence of psychological variables on stress-induced pathology. In: Porter R and Knight J (eds). Physiology, emotion and psychosomatic illness. Amsterdam and New York: Associated Scientific Publishers, 1972;253-280.

  16. http://indoorpet.osu.edu/cats/basicneeds/preypref. Accessed 8th Feb 2016.

  17. Ellis SL, Rodan I, Carney HC, et al. AAFP and ISFM Feline Environmental Needs Guidelines. J Feline Med Surg 2013;15:219-230.

  18. Courcier EA, O’Higgins R, Mellor D, et al. Prevalence and risk factors for feline obesity in a first opinion practice in Glasgow, Scotland. J Feline Med Surg 2010;12;746-753.

  19. Curtis TM. Making the indoor cat “happy”. In: Proceedings, NAVC Institute Feline Medicine Course June 2015.

  20. Rochlitz I. Basic requirements for good behavioral health and welfare of cats. In: Horwitz DF and Mills D (eds). BSAVA manual of canine and feline behavioral medicine. Gloucester, BSAVA 2009;35-48.

  21. Panaman R. Behavior and ecology of free-ranging female farm cats (Felis catus L.)Zeitschrift fur Tierpsychology 1981;56:59-73.

Margie Scherk

Margie Scherk

มาร์กี้เป็นสัตวแพทย์ที่สำเร็จการศึกษาจาก Ontario Vertetinay College ในปี 1982 และได้รับประกาศนียบัตรเฉพาะด้านแมวจาก ABVP ตั้งแต่ปี 1995 อ่านเพิ่มเติม

บทความอื่นๆ ในประเด็นนี้

หมายเลขหัวข้อ 26.2 เผยแพร่แล้ว 07/02/2023

การให้อาหารแมวป่วยที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลสัตว์

คำถามที่ว่าเราควรให้อาหารแมวป่วยเมื่อใดนั้น โดยปกติแล้วควรให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

โดย Rene Dorfelt

หมายเลขหัวข้อ 26.2 เผยแพร่แล้ว 24/10/2022

การแต่งขนมากเกินไปในแมว

การแต่งขนเป็นพฤติกรรมปกติของแมวซึ่งประกอบด้วยการแทะเลียเส้นขนและผิวหนังรวมถึงการถูใบหน้าด้วยอุ้งเท้า ...

โดย Kate Griffiths

หมายเลขหัวข้อ 26.2 เผยแพร่แล้ว 15/06/2022

การแต่งขนมากเกินไปในแมว

การแต่งขนเป็นพฤติกรรมปกติของแมวซึ่งประกอบด้วยการแทะเลียเส้นขนและผิวหนังรวมถึงการถูใบหน้าด้วยอุ้งเท้า มีจุดประสงค์เพื่อ ...

โดย Kate Griffiths

หมายเลขหัวข้อ 26.2 เผยแพร่แล้ว 20/11/2021

เหตุใดจึงควรให้ความสนใจเกี่ยวกับแมวในสถานพยาบาลสัตว์

นับตั้งแต่เมื่อ 50 ปีก่อนที่ได้มีการตีพิมพ์ข้อมูลเกี่ยวกับโรคในแมวทั้งหมดซึ่งมีความยาวเพียง...

โดย Susan Little