วารสารเชิงวิชาการและการรักษาสัตวป่วยเพื่อผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์
วารสารเชิงวิชาการและการรักษาสัตวป่วยเพื่อผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์

หมายเลขหัวข้อ 32.1 Other Scientific

ผลิตภัณฑ์ทดแทนนมสุนัข

เผยแพร่แล้ว 27/02/2023

เขียนโดย Emmanuel Fontaine

สามารถอ่านได้ใน Français , Deutsch , Italiano , Polski , Português , Română , Español , English และ Українська

Dr. Emmanuel Fontaine ได้เขียนบทความเกี่ยวกับการให้นมลูกสุนัขที่ดูเหมือนไม่ยุ่งยากแต่มีข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้ได้หากขาดความระมัดระวัง (แปลโดย น.สพ. พีระ มานิตยกุล)

ขณะป้อนนมให้ลูกสุนัข จุกนมควรอยู่ในตำแหน่งตรงกับปากของลูกสุนัข

ประเด็นสำคัญ

องค์ประกอบของนมสุนัขนั้นแตกต่างจากนมวัวและนมแพะ หากจำเป็นควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทดแทนนมสำหรับลูกสุนัขโดยเฉพาะ


ความผิดพลาดในการชงนมพบได้บ่อยในผลิตภัณฑ์รูปแบบผง ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการถ่ายเหลวหรือท้องผูกในลูกสุนัขได้


ลูกสุนัขที่มีความเสี่ยงต่อการตายช่วงแรกเกิดจำเป็นต้องได้รับพลังงานเสริมจากอาหารซึ่งสามารถพบได้ในผลิตภัณฑ์ทดแทนนมสุนัข


ผลิตภัณฑ์ทดแทนนมสุนัขรุ่นใหม่มักมีการเสริม maltodextrin และ immunoglobulin Y ซึ่งมีประโยชน์ต่อลูกสุนัขช่วงแรกเกิด


บทนำ

สัตวแพทย์จบการวินิจฉัยการตั้งท้องด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ หันไปยิ้มและแสดงความยินดีกับเจ้าของสุนัขเป็นภาพที่พบได้บ่อยในสถานพยาบาลสัตว์ แต่เรื่องราวทั้งหมดยังเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น บทสนทนาที่เกิดขึ้นต่อไปเป็นสิ่งสำคัญมาก ส่วนหนึ่งของการสนทนาจะเกี่ยวข้องกับโรคที่พบในลูกสุนัข การดูแลลูกสุนัขแรกเกิด รวมถึงการเน้นย้ำหลักการสำคัญว่า “การป้องกันดีกว่าการแก้ไขและการรักษา” ซึ่งในบทสนทนามักกล่าวถึงการใช้ผลิตภัณฑ์ทดแทนนมสุนัขรวมอยู่ด้วย ในทางปฏิบัติแล้วผลิตภัณฑ์ทดแทนนมถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการดูแลหลังคลอดแต่มีคำถามมากมายตามมาเช่น ควรเลือกผลิตภัณฑ์ตัวใด ปัจจัยที่ควรคำนึงถึงมีอะไรบ้าง เมื่อใดที่ควรใช้ผลิตภัณฑ์ทดแทนนมและใช้อย่างไร บทความนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อตอบคำถามเหล่านั้นและเพิ่มความมั่นใจแก่สัตวแพทย์ในการแนะนำผลิตภัณฑ์ทดแทนนมในสถานพยาบาลได้

 

ผลิตภัณฑ์ทดแทนนมสุนัขที่ดี่ที่สุดควรมีคุณสมบัติอย่างไร

 

โภชนาการที่เหมาะสม

เจ้าของสุนัขส่วนมากเข้าใจว่านมทุกชนิดสามารถนำมาใช้เลี้ยงลูกสุนัขได้ไม่ว่าจะเป็นนมสดในตู้เย็น นมผงสำหรับทารก นมที่ปรุงจากสูตรในอินเตอร์เน็ต ซึ่งสามารถพบได้หากเจ้าของสุนัขไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องจากสัตวแพทย์มากพอ สิ่งที่สำคัญคือการให้เจ้าของรับทราบว่านมสุนัขนั้นมีความจำเพาะเจาะจงอย่างมาก เพราะอุดมไปด้วยพลังงาน แร่ธาตุเช่นแคลเซียมและฟอสฟอรัส รวมถึงโปรตีนมากกว่านมของสัตว์ชนิดอื่น(ตารางที่ 1) สังเกตได้ว่านมวัวและนมแพะ(นมแพะนั้นได้รับความนิยมสูงจากข้อมูลในอินเตอร์เน็ต)มีองค์ประกอบที่แตกต่างจากนมสุนัข ทั้งยังขาดความสมดุลทางโภชนาการที่เหมาะแก่การเจริญเติบโตของลูกสุนัข

ตารางที่ 1 องค์ประกอบของนมสุนัข นมวัว และนมแพะ

สุนัข
(จาก 2
)
วัว
(ดัดแปลงจาก 3
)
แพะ
(ดัดแปลงจาก 3
)
พลังงาน (kcal/L) 1560 630 710
โปรตีน (g/Mcal) 56.7 21.8 46
แคลเซียม g/Mcal 2.13 0.55 1.7
ฟอสฟอรัส g/Mcal 1.37 0.48 1.46
แลคโตส (g/Mcal)
20 28.8 57.7

ผลิตภัณฑ์ทดแทนนมสำหรับทารกไม่แนะนำให้ใช้ในสุนัขเช่นเดียวกันเพราะมีแป้งเป็นส่วนประกอบที่ช่วยทำให้นมข้นขึ้น เป็นแหล่งของคาร์โบไฮเดรตและทำให้ทารกรู้สึกอิ่ม อย่างไรก็ตามลูกสุนัขแรกเกิดขาดเอนไซม์สำคัญที่ช่วยในการย่อยแป้ง(amylase และ maltase) 1 จึงควรหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ทางทฤษฎีนั้นสามารถปรุงผลิตภัณฑ์ทดแทนนมสุนัขจากสูตรในอินเตอร์เน็ตที่บ้านเองได้แต่ใช้เวลาและค่อนข้างยากเพราะต้องทำให้มั่นใจว่าคุณสมบัติต่างๆนั้นถูกต้องไม่ว่าจะเป็นคุณค่าทางโภชนาการ ความสะอาด และ osmolality ทำให้ความเสี่ยงนั้นไม่คุ้มค่ากับการลงมือทำ หากเจ้าของสุนัขยืนยันที่จะปรุงผลิตภัณฑ์ทดแทนนมสุนัขขึ้นด้วยตนเองควรปรึกษาสัตวแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านโภชนาการเพื่อให้แน่ใจว่าสูตรอาหารที่ใช้นั้นมีความเหมาะสม

 

Osmolality คือสิ่งสำคัญ

Osmolality คือแรงดันออสโมติกที่เกิดจากอนุภาคซึ่งละลายอยู่ในน้ำนม หากมีอนุภาคที่มี osmolality สูงในปริมาณมากเข้าสู่ทางเดินอาหารลูกสัตว์ที่เกิดใหม่อาจเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะถ่ายเหลว (osmotic diarrhea) ได้ จากการที่ร้อยละ 84 ของลูกสุนัขประกอบด้วยน้ำ 4 จึงควรหลีกเลี่ยงภาวะดังกล่าวโดยเฉพาะช่วงแรกเกิด แลคโตสจะส่งผลต่อ osmolality ของน้ำนมทำให้นมโคและนมแพะซึ่งมีปริมาณแลคโตสสูงเทียบกับนมสุนัขนั้นเป็นตัวเลือกที่ไม่เหมาะสมแก่ลูกสุนัข

ตัวเลือกที่เหมาะสม

ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ทดแทนนมสุนัขวางจำหน่ายมากมายให้เลือกใช้ สิ่งสำคัญที่สุดคือองค์ประกอบของผลิตภัณฑ์ควรมีความใกล้เคียงกับนมสุนัขมากที่สุด แต่มีรายงานว่าในความเป็นจริงไม่เป็นเช่นนั้นสำหรับบางผลิตภัณฑ์ 2 5 สัตวแพทย์จึงต้องตรวจสอบให้มั่นใจ ผลิตภัณฑ์ทดแทนนมบางยี่ห้ออาจเติมส่วนผสมเพิ่ม(ตารางที่ 2 ) ผลิตภัณฑ์ทดแทนนมสุนัขโดยมากตอบโจทย์ความต้องการได้ดีและมอบความสะดวก สร้างความสบายใจแก่เจ้าของสุนัข จึงควรแนะนำให้ใช้ในลูกสุนัขที่มีความจำเป็นเสมอ ผลิตภัณฑ์ที่มีจำหน่ายในท้องตลาดมีสองรูปแบบได้แก่ของเหลวและรูปแบบผงซึ่งมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกัน

ตารางที่ 2 องค์ประกอบเพิ่มเติมที่พบในผลิตภัณฑ์ทดแทนนมสุนัข

ส่วนประกอบเพิ่มเติม สาเหตุของการเติมลงในผลิตภัณฑ์
DHA (docosahexaenoic acid) ผลิตภัณฑ์ทดแทนนมสุนัขบางยี่ห้ออุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3 หรือ DHA แม่สุนัขมีความสามารถจำกัดในการผลิตสารอาหารนี้ในช่วงให้น7 การเสริมสารอาหารนี้พบว่าช่วยในการพัฒนาระบบประสาทและการมองเห็นของลูกสุนัข 8
พรีไบโอติกส์ พรีไบโอติกส์เช่น fructo-oligosaccharide(FOS) พบได้ในผลิตภัณฑ์บางยี่ห้อ มีส่วนช่วยในการทำงานของระบบทางเดินอาหารลูกสุนัข รวมไปถึงการพัฒนาระบบภูมิคุ้มกันโดยสร้างความสมดุลของปริมาณจุลินทรีย์ที่ดีในทางเดินอาหาร 9
Maltodextrin Maltodextrin อยู่ในกลุ่ม oligosaccharide ซึ่งพบได้ในสูตรนมผงสำหรับเด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนด การศึกษาไม่นานมานี้ทำการเสริม maltodextrin ลงในผลิตภัณฑ์ทดแทนนมสำหรับสุนัขเพื่อเพิ่มพลังงานแก่ลูกสุนัขเกิดใหม่ 10 การป้อนสารอาหารนี้ทันทีแก่ลูกสุนัขหลังคลอดจะช่วยสนับสนุนอัตราการเจริญเติบโตระยะแรก รักษาอุณหภูมิร่างกาย และลดความเสี่ยงในการตายหลังคลอดของลูกสุนัข 
Immunoglobulin Y (IgY)  การเสริม immunoglobulin Y ในทารกแรกเกิดพบว่าช่วยในการเจริญเติบโตได้ ในลูกสุนัขพันธ์ขนาดใหญ่ยังพบว่าช่วยในการพัฒนาของจุลินทรีย์ที่ดีในทางเดินอาหาร 11

ผลิตภัณฑ์รูปแบบของเหลวนั้นใช้งานง่ายกว่าอย่างเห็นได้ชัด เพราะอยู่ในรูปแบบพร้อมใช้ ไม่จำเป็นต้องมีการเตรียมการ เพียงแค่ทำการอุ่นเล็กน้อยก่อนป้อนลูกสุนัข นอกจากนี้ยังช่วยหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดที่พบได้บ่อยในกรณีของผลิตภัณฑ์รูปแบบนมผงนั่นคือการที่เจ้าของสุนัขเติมน้ำมากเกินไป(นมที่ได้จะเจือจางมากกว่าปกติ)หรือน้อยเกินไป(นมที่ได้จะเข้มข้นมากกว่าปกติ) 6 อย่างไรก็ตามเมื่อเปิดบรรจุภัณฑ์แล้วควรเก็บผลิตภัณฑ์รูปแบบของเหลวไว้ในตู้เย็นไม่นานจนเกินไป คำแนะนำโดยทั่วไปคือทิ้งหลังจากเปิดใช้แล้วภายใน 72 ชั่วโมง

ในทางตรงกันข้ามผลิตภัณฑ์รูปแบบนมผงสามารถเก็บไว้ได้นานกว่า โดยมากสามารถเก็บได้นาน 1 เดือนหลังเปิดบรรจุภัณฑ์ จากที่กล่าวด้านบนว่ามีโอกาสเกิดข้อผิดพลาดในการชงที่ส่งผลต่อค่า osmolality ได้ ทำให้ลูกสุนัขมีภาวะท้องผูกหรือถ่ายเหลวตามมา อย่างไรก็ตามการที่ผลิตภัณฑ์รูปแบบผงทำให้สามารถควบคุม osmolality ของนมที่ได้มีส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหาทางโภชนาการบางอย่างที่จะกล่าวเป็นลำดับถัดไป 
 

 

สาเหตุที่ทำให้ต้องใช้ผลิตภัณฑ์ทดแทนนมสำหรับลูกสุนัข

สาเหตุจากแม่สุนัข

การไม่มีน้ำนมและพฤติกรรมของแม่สุนัข

เจ้าของสุนัขอาจจำเป็นต้องพึ่งพาผลิตภัณฑ์ทดแทนนมในบางครั้งเพื่อให้ลูกสุนัขแรกเกิดได้กินอย่างเพียงพอ บางกรณีอาจเกิดจากการที่ลูกสุนัขไม่มีแม่ ยกตัวอย่างเช่นการเกิดอุบัติเหตุ หรือปัญหาการวางยาสลบเพื่อทำการผ่าคลอด ถึงแม้จะเป็นปัญหาที่พบไม่บ่อยนักแต่หากเกิดขึ้นจะทำให้แม่สุนัขไม่สามารถเลี้ยงลูกได้ อีกกรณีหนึ่งคือลูกสุนัขแรกเกิดถูกนำมาทิ้งที่ศูนย์พักพิงสัตว์ซึ่งองค์กรเหล่านี้มักพบเหตการณ์ดังกล่าวในกรณีของลูกแมวกำพร้าบ่อยกว่า ทำให้การมีผลิตภัณฑ์ทดแทนที่เหมาะสมนั้นสำคัญมาก พฤติกรรมการละเลยลูกของแม่สุนัขนั้นสำคัญเช่นเดียวกันโดยแม่สุนัขบางตัวอาจละเลยลูกสุนัขในขณะที่บางตัวอาจแสดงพฤติกรรมการกัดทำร้ายลูกของตัวเอง แม่สุนัขที่คลอดลูกครอกแรก(primiparous bitch) มีความเสี่ยงในการเกิดปัญหานี้สูงกว่า 12 รวมถึงพบมากในสุนัขบางสายพันธุ์เช่น English bull terrier 13 เจ้าของสุนัขควรตระหนักถึงความเสี่ยงในการเกิดปัญหาเพื่อที่จะแก้ไขได้ทันท่วงที

 

ปัญหาเกี่ยวกับการให้นม 

กรณีที่แม่สุนัขไม่สามารถผลิตน้ำนมได้นั้นจำเป็นต้องมีการใช้ผลิตภัณฑ์ทดแทนนมสุนัขอย่างแน่นอน แต่อาจตัดสินได้ยากขึ้นหากเกิดปัญหาที่ไม่ชัดเจนอย่างเช่นเต้านมอักเสบเฉียบพลัน(acute mastitis) การอักเสบนี้อาจเกิดได้ทันทีหลังการคลอดหรือช่วงสามสัปดาห์หลังคลอดซึ่งเป็นช่วงที่มีการผลิตน้ำนมสูงที่สุด 14 อาการทางคลินิกสามารถพบการอักเสบที่เต้านมหนึ่งเต้าหรือมากกว่าร่วมกับการเปลี่ยนสีของน้ำนมเป็นสีน้ำตาลปนเหลือง อาการทั่วไปอื่นๆได้แก่ อ่อนเพลีย มีไข้ แสดงอาการไม่สบายตัวเมื่อลูกสุนัขดูดนมอาจพบได้แต่ไม่ทุกครั้ง สิ่งสำคัญคือเจ้าของสุนัขต้องหมั่นตรวจเต้านมแม่สุนัขเป็นประจำทุกวัน เต้านมอักเสบสามารถส่งผลกระทบต่อลูกสุนัขได้อย่างมาก ทำให้ลูกสุนัขแคระแกร็น ถ่ายเหลว ลำไส้อักเสบ การรักษาเต้านมอักเสบทำได้โดยการให้ยาปฏิชีวนะ ตัวยาที่ถูกเลือกใช้เป็นอันดับแรกได้แก่กลุ่ม cephalosporins 15 สำหรับการดูแลลูกสุนัขนั้นมีความเห็นที่แตกต่างกันออกไป ผู้เชี่ยวชาญบางท่านแนะนำให้ลูกสุนัขดูดนมแม่ต่อไประหว่างการรักษาหากแม่สุนัขไม่แสดงอาการเจ็บเมื่อลูกดูดนมเพื่อป้องกันภาวะน้ำนมคั่ง(galactostasis) ที่อาจส่งผลลบต่อประสิทธิภาพการรักษา ยาปฏิชีวนะสามารถถูกขับออกทางน้ำนมซึ่งอาจช่วยป้องกันลูกสุนัขจากผลของเต้านมอักเสบได้(แต่ผลเสียของยาปฏิชีวนะต่อลูกสุนัขนั้นอาจทำให้เกิดภาวะขาดความสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ ถ่ายเหลว และลำไส้อักเสบได้ สัตวแพทย์จึงต้องพิจารณาผลดีและผลเสียก่อนเลือกวิธีการจัดการ) ในขณะเดียวกันผู้เชี่ยวชาญอีกกลุ่มหนึ่งแนะนำให้ย้ายลูกสุนัขทั้งครอกออกแล้วป้อนผลิตภัณฑ์ทดแทนนมแม่สุนัขแทนช่วงที่กำลังรักษาเต้านมอักเสบ สาเหตุมาจากการที่ลูกสุนัขนั้นมีความบอบบางและสามารถเสียชีวิตได้ง่าย การให้ลูกสุนัขดูดนมที่มีการปนเปื้อนอาจเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น เพื่อป้องกันการคั่งของน้ำนมในแม่สุนัขอาจใช้ยากลุ่ม dopaminergic เช่น cabergoline เพื่อหยุดการสร้างน้ำนม 16


การแก้ปัญหาทั้งสองวิธีที่กล่าวข้างต้นมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป สัตวแพทย์ควรพิจารณาวิธีโดยยึดเอาสุขภาพของลูกสุนัขเป็นหลัก เหนือสิ่งอื่นใดหากลูกสุนัขแสดงอาการป่วย ควรหยุดการให้ดูดนมจากแม่สุนัขแล้วเปลี่ยนมาใช้ผลิตภัณฑ์ทดแทนนมทันที

กลุ่มอาการภาวะน้ำนมเป็นพิษ(toxic milk syndrome) เป็นอีกหนึ่งความผิดปกติที่ต้องเฝ้าระวัง อาจพบลูกสุนัขบางตัวจากในครอกมีอาการถ่ายเหลวหรือลำไส้อักเสบโดยที่แม่สุนัขไม่แสดงอาการทางคลินิกของเต้านมอักเสบ ลูกสุนัขที่ป่วยจะมีลักษณะแคระแกร็น ปวดท้องหลังกินนม บางครั้งอาจพบลูกสุนัขเพียงตัวเดียวจากในครอกที่แสดงอาการทางคลินิกในขณะที่ตัวอื่นปกติดี จากการศึกษาไม่นานมานี้แสดงให้เห็นว่าอาจเกี่ยวข้องกับเต้านมอักเสบแบบไม่แสดงอาการ(subclinical mastitis) 17 ซึ่งสามารถวินิจฉัยได้จากการส่องน้ำนมผ่านกล้องจุลทรรศน์เพื่อหาปริมาณเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิลที่เพิ่มขึ้น(มักไม่ใช่วิธีที่ปฏิบัติเป็นประจำในงานสถานพยาบาลสัตว์) เต้านมอักเสบแบบไม่แสดงอาการควรอยู่ในข้อวินิจฉัยแยกแยะทุกครั้งเมื่อลูกสุนัขไม่สบาย แม้ว่าจะมีเพียงหนึ่งตัวในครอกที่แสดงอาการ เมื่อพบความผิดปกติควรแยกลูกสุนัขตัวดังกล่าวแล้วป้อนด้วยผลิตภัณฑ์ทดแทนนมสุนัข หากพบว่าลูกสุนัขตัวอื่นเริ่มแสดงอาการผิดปกติควรย้ายลูกสุนัขทั้งครอกออกจากแม่สุนัขแล้วป้อนด้วยผลิตภัณฑ์ทดแทนนมสุนัขทั้งหมด

Emmanuel Fontaine

ในทางทฤษฎีแล้วเราสามารถปรุงผลิตภัณฑ์ทดแทนนมสุนัขขึ้นเองที่บ้านได้โดยใช้สูตรจากอินเตอร์เน็ต แต่ใช้เวลานานและมีความยุ่งยาก เนื่องจากมีความจำเป็นต้องควบคุมปัจจัยหลายประการเหมาะสมได้แก่ ความสมดุลทางโภชนาการ ความสะอาด และค่า osmolality เห็นได้ชัดว่ามีความเสี่ยงสูงกว่าประโยชน์ที่จะได้รับ

Emmanuel Fontaine

สาเหตุจากลูกสุน

เพดานโหว่(cleft palate)

หลังจากลูกสุนัขคลอดและทำการกู้ชีพจนหายใจได้ปกติแล้ว สัตวแพทย์ควรทำการตรวจหาภาวะเพดานโหว่ซึ่งเป็นหนึ่งในความผิดปกติแต่กำเนิดที่พบได้บ่อยที่สุดในลูกสุนัขแรกเกิดทันที 18 บางกรณีของเพดานโหว่อาจแก้ไขได้โดยวิธี palatoplasty ซึ่งทำได้เมื่อสุนัขมีอายุมากขึ้น โดยปกติแล้วมักทำการแก้ไข้ที่อายุ 2.5 -14 เดือนขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆและความต้องการของสัตวแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดแก้ไข อย่างไรก็ตามในช่วงแรกเกิดลูกสุนัขจะไม่สามารถดูดนมได้และอาจสำลัก ส่งผลให้หายใจไม่ออกและเกิดภาวะปอดอักเสบ(bronchopneumonia) ถึงแก่ความตายได้ ความเสี่ยงนี้จะลดลงเมื่อลูกสุนัขเริ่มกินอาหารแข็ง ดังนั้นอาจพิจารณาหย่านมที่ 3 สัปดาห์หากเจ้าของสุนัขต้องการทำการผ่าตัดแก้ไขช่วงเวลาหลังจากนั้น อย่างไรก็ตามในช่วง 3 สัปดาห์แรกจำเป็นต้องให้ผลิตภัณฑ์ทดแทนนมผ่านสายยาง(feeding tube)แทนเพื่อลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน

 

ความเสี่ยงต่อการตายช่วงแรกเกิด(risk of neonatal mortality)

การศึกษาที่ผ่านมา 19 ช่วยในการจัดทำแนวทางในการเฝ้าระวังลูกสุนัขที่มีความเสี่ยงต่อการตายช่วงแรกเกิด (รูปภาพที่ 1) และเจ้าของสุนัขพึงระมัดระวัง นอกจากนี้ผลของการศึกษายังพบว่าลูกสุนัขที่มีความเสี่ยงจะได้รับประโยชน์จากการเสริมพลังงานในอาหาร ดังนั้นเมื่อตรวจพบลูกสุนัขที่มีความเสี่ยงจึงควรป้อนด้วยผลิตภัณฑ์ทดแทนนมสุนัขที่มีความเหมาะสม กราฟแสดงการเจริญเติบโตได้ถูกนำมาใช้แพร่หลายมากขึ้นโดยสัตวแพทย์และผู้เพาะพันธุ์สุนัข 20 21 สามารถช่วยในการติดตามการเจริญเติบโตของลูกสุนัขช่วงแรกเกิด กราฟนี้จะช่วยให้ตรวจพบปัญหาในระยะแรกเริ่มได้รวดเร็วจากการที่น้ำหนักลูกสุนัขขึ้นช้าซึ่งเป็นตัวบ่งชี้แรกของปัญหาด้านสุขภาพ การเสริมโภชนาการด้วยผลิตภัณฑ์ทดแทนนมสุนัขเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดในกรณีนี้

 การป้อนนมลูกสุนัขเกิดใหม่ จุกนมควรอยู่ในระนาบเดียวกันกับปากเป็นเส้นตรง

รูปภาพที่ 1 ปัจจัยที่ช่วยในการระบุลูกสุนัขที่มีความเสี่ยงต่อการตายแรกเกิดในช่วง 48 ชั่วโมงหลังคลอด (จาก 19)

  • APGAR ย่อมาจากค่า appearance(ลักษณะสีผิว) pulse(ชีพจร) grimace(การตอบสนอง) activity(การเคลื่อนไหว) และ respiratory(การหายใจ) โดยทั้ง 5 ค่านี้จะมีคะแนนตั้งแต่ 0-2 โดยลูกสุนัขจะจัดว่ามีความเสี่ยงหากได้คะแนน APGAR น้อยกว่า 7 ค่านี้จะใช้ในการพยากรณ์ช่วง 8 ชั่วโมงหลังคลอด
  • น้ำหนักแรกเกิด( birth weight) ลูกสุนัขที่มีน้ำหนักแรกเกิดต่ำ(จากการนิยามโดย 23) มีความเสี่ยงต่อการตายแรกเกิด
  • อุณหภูมิ(temperature) หากอุณหภูมิร่างกายต่ำกว่า 35.5 °c ที่ 24 และ 48 ชั่วโมงหลังคลอด จะถือว่าลูกสุนัขมีความเสี่ยงต่อการตายแรกเกิด
  • น้ำตาลในกระแสเลือด(glycemia) หากระดับกลูโคสในกระแสเลือดต่ำกว่า 0.9 g/L ที่ 24 และ 48 ชั่วโมงหลังคลอด จะถือว่าลูกสุนัขมีความเสี่ยงต่อการตายแรกเกิด
  • อัตราการเจริญเติบโตช่วงแรก( early growth rate ;EGR) คำนวณได้จาก (น้ำหนักที่อายุ 48 ชั่วโมง – น้ำหนักแรกเกิด) / น้ำหนักแรกเกิด คิดเป็นร้อยละ หาก EGR ที่ได้น้อยกว่าร้อยละ 4 จะถือว่าลูกสุนัขมีความเสี่ยงต่อการตายแรกเกิด
ลูกสุนัขในครอกมีขนาดไม่สม่ำเสมอ(heterogeneous litter)

“ขนาดลูกในครอกไม่สม่ำเสมอ(litter heterogenicity) อ้างอิงจากความแตกต่างระหว่างน้ำหนักลูกสุนัขที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและเล็กที่สุดในครอกเดียวกัน ซึ่งได้ถูกระบุว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งของการตายช่วงแรกเกิด 21 เมื่อพบว่ามีความแตกต่างของขนาดสูง(แตกต่างกันร้อยละ 9.9 -16.8 ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของสุนัข) จะถือว่าลูกสุนัขครอกนั้นมีความเสี่ยงต่อการตายช่วงแรกเกิด นอกจากนี้ยังเป็นการย้ำเตือนในแง่ของเวชศาสตร์ลูกสุนัขแรกเกิดว่าการพิจารณาสุขภาพของลูกสุนัขนั้นควรดูภาพรวมของทั้งครอก ความแตกต่างของน้ำหนักจะส่งผลต่อการแย่งดูดนมแม่ การเสริมด้วยผลิตภัณฑ์ทดแทนนมจะช่วยแก้ไขปัญหาในจุดนี้ได้

เหตุผลอื่นๆ
การหย่านม(weaning)

การหย่านมมักเริ่มเมื่อลูกสุนัขอายุ 4- 4.5 สัปดาห์ การเปลี่ยนอาหารจากนมไปเป็นอาหารเม็ดควรเป็นไปอย่างราบรื่นที่สุดเท่าที่ทำได้ หากเลือกใช้อาหารเม็ดควรทำให้นิ่มด้วยการแช่น้ำก่อนในช่วงสัปดาห์แรกของการหย่านมเพื่อให้ลูกสุนัขย่อยและดูดซึมไปใช้งานได้ง่ายยิ่งขึ้น 22 (รูปภาพที่ 2) ผู้เขียนบทความแนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์ทดแทนนมในการทำให้อาหารนิ่มขึ้นซึ่งมีส่วนช่วยให้การเปลี่ยนอาหารง่ายกว่าเดิม

การเสริม immunoglobulin

ลูกสุนัขมากกว่าร้อยละ 18 ได้รับภูมิคุ้มกัน immunoglobulin จากแม่ผ่านนมน้ำเหลืองไม่เพียงพอ 19ลูกสุนัขเหล่านี้มีความเสี่ยงต่อการตายช่วงแรกเกิด ด้วยเหตุผลนี้ทำให้ประโยชน์ของผลิตภัณฑ์ทดแทนนมที่มี immunoglobulin Y เด่นชัดขึ้น IgY จะเข้าสู่งร่างกายลูกสุนัขผ่านการดูดซึมนมน้ำเหลืองที่ทางเดินอาหาร 24 ดังนั้นถึงแม้ว่า IgY ในผลิตภัณฑ์ทดแทนนมสามารถต้านสารก่อโรคได้น้อยชนิด แต่การที่สามารถใช้ได้ตั้งแต่ช่วงแรกเกิดทำให้เพิ่มความมั่นใจว่าลูกสุนัขได้รับการปกป้องจากสารก่อโรคในทางเดินอาหารได้

แสดงให้เห็นถึงอัตราส่วนของน้ำต่ออาหารเม็ด(อัตราส่วนโดยปริมาณ ไม่ใช่โดยน้ำหนัก) ช่วงสัปดาห์แรกของการเปลี่ยนอาหารสามารถใช้ผลิตภัณฑ์ทดแทนนนมเพื่อแช่ให้อาหารเม็ดนิ่มขึ้น

รูปภาพที่ 2 กระบวนการหย่านมควรเป็นไปอย่างราบรื่นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ภาพด้านล่างแสดงให้เห็นถึงอัตราส่วนของน้ำต่ออาหารเม็ด(อัตราส่วนโดยปริมาณ ไม่ใช่โดยน้ำหนัก) ช่วงสัปดาห์แรกของการเปลี่ยนอาหารสามารถใช้ผลิตภัณฑ์ทดแทนนนมเพื่อแช่ให้อาหารเม็ดนิ่มขึ้น © Royal Canin

วิธีการใช้ผลิตภัณฑ์ทดแทนนม

วัดอุณหภูมิของลูกสุนัขก่อน

ก่อนป้อนนมลูกสุนัขไม่ว่าจะเป็นลูกสุนัขที่สุขภาพที่หรือมีอาการป่วยควรวัดอุณหภูมิร่างกายก่อน อุณหภูมิร่างกายลูกสุนัขในสัปดาห์แรกจะอยู่ที่ 35.5-35.6 °c ซึ่งจะค่อยๆสูงขึ้นจนเท่ากับอุณหภูมิสุนัขโตเมื่ออายุได้ 3 สัปดาห์ 25 หากอุณหภูมิร่างกายลดต่ำกว่า 34 °c จะทำให้ทางเดินอาหารหยุดการเคลื่อนไหว การย่อยอาหารจะชะงัก ส่งผลให้ลูกสุนัขเกิดอาการท้องอืดจากนมที่ป้อนเข้าไป ความผิดพลาดนี้พบได้บ่อยในการป้อนนมลูกสุนัขโดยเฉพาะลูกสุนัขที่กำพร้าแม่ เจ้าของสุนัขมักให้ความสำคัญต่อการป้อนนมจนลืมวัดอุณหภูมิร่างกายลูกสุนัขก่อนว่าเหมาะสมต่อการป้อนนมหรือไม่ ลูกสุนัขไม่สามารถปรับอุณหภูมิร่างกายเองได้ในช่วง 3 สัปดาห์แรก ดังนั้นหากลูกสุนัขมีภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำจำเป็นต้องอบอุ่นร่างกายก่อนป้อนนมโดยการใช้โคมไฟอินฟราเรด แผ่นรองทำความร้อน ขวดน้ำอุ่นหรือตู้ปรับอุณหภูมิสำหรับสัตว์ กระบวนการให้ความอบอุ่นต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ใช้เวลาอย่างน้อยหนึ่งชั่วโมงก่อนเริ่มป้อนนม

เจ้าของสุนัขควรปรับอุณหภูมิบริเวณที่ลูกสุนัขนอนเพื่อป้องกันภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำและผลที่จะตามมา ผู้เขียนบทความแนะนำให้ใช้อุณหภูมิ 30 °c บริเวณที่ลูกสุนัขอาศัยในช่วงสัปดาห์แรกหลังคลอด 28°c ในสัปดาห์ที่สอง และ 25 °c ในสัปดาห์ที่สาม หลังจากสัปดาห์ที่สามลูกสุนัขสามารถปรับอุณหภูมิร่างกายได้เองทำให้ปัญหาอุณหภูมิร่างกายต่ำเป็นที่น่ากังวลน้อยลง

ทำตามคำแนะนำวิธีการใช้ผลิตภัณฑ์

จากที่กล่าวด้านบนว่าความผิดพลาดในการชงสามารถพบได้บ่อยในกรณีของการเตรียมผลิตภัณฑ์รูปแบบผง การพูดคุยกับเจ้าของสุนัขถึงข้อมูลปลีกย่อยที่อาจดูไม่สำคัญมีส่วนช่วยได้มาก เจ้าของสุนัขต้องใช้อัตราส่วนของน้ำและนมผงตามคำแนะนำของผู้ผลิตอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ยังต้องย้ำเตือนเจ้าของสุนัขถึงวลีที่ว่า “มากกว่าไม่ใช่ดีกว่า” เพราะเจ้าของอาจคิดว่าการใช้ผลิตภัณฑ์รูปแบบผงร่วมกับนมชนิดอื่นเช่นนมแพะ จะทำให้นมที่ชงได้มีคุณค่าทางอาหารสูงกว่าเดิม เป็นที่น่าเสียดายว่าการกระทำดังกล่าวส่งผลกระทบต่อ osmolality ของนมที่ชงได้อย่างมากนำไปสู่ความผิดปกติของระบบทางเดินอาหารลูกสุนัข

ความแตกต่างของการป้อนด้วยขวดนมและป้อนผ่านสายยาง

การป้อนผลิตภัณฑ์ทดแทนนมแก่ลูกสุนัขนั้นมีสองวิธีคือการใช้ขวดนมและการใช้สายยาง(feeding tube) ผู้เขียนบทความเชื่อว่าหากสามารถทำได้ควรเลือกวิธีการป้อนด้วยขวดนมมากกว่า ควรใช้ขวดนมสำหรับลูกสุนัขโดยเฉพาะเพราะมีจุกนมที่ทำเปนพิเศษช่วยให้น้ำนมไหลอย่างเหมาะสมขณะป้อน จุดนี้มีความสำคัญมากเพราะถ้าหากนมไหลเข้าปากลูกสุนัขเร็วเกินไป(จากการใช้ขวดนมของทารก หรือใช้ขวดนมสุนัขพันธุ์ที่มีขนาดเล็ก) อาจทำให้เกิดการสำลัก ผู้เขียนยังชอบใช้ขวดนมที่มีการเจาะหรือตัดจุกนมเรียบร้อยแล้ว จุกนมของบางยี่ห้ออาจต้องทำการเจาะหรือตัดเองซึ่งหากทำไม่ถูกต้องจะส่งผลให้นมไหลเข้าปากลูกสุนัขเร็วเกินไป เกิดผลเสียอย่างเดียวกัน นอกจากนี้สัตวแพทย์ยังต้องแนะนำเจ้าของสุนัขเกี่ยวกับวิธีการอุ้มลูกสุนัขขณะป้อนนม เจ้าของสุนัขมักคิดว่าการอุ้มใช้วิธีเดียวกับการอุ้มทารกป้อนนมซึ่งเป็นวิธีที่ผิดและนำไปสู่การสำลักได้ รูปภาพที่ 3แสดงการอุ้มลูกสุนัขป้อนนมอย่างถูกต้อง

 การป้อนนมลูกสุนัขเกิดใหม่ จุกนมควรอยู่ในระนาบเดียวกันกับปากเป็นเส้นตรง

รูปภาพที่ 3 การป้อนนมลูกสุนัขเกิดใหม่ จุกนมควรอยู่ในระนาบเดียวกันกับปากเป็นเส้นตรง จุดนี้สำคัญมากเพราะลูกสุนัขจะทำการห่อลิ้นรอบจุกนมเกิดเป็นภาวะสูญญากาศขณะทำการดูด หากจุกนมทำมุมกับปากจะทำให้ไม่เกิดภาวะสูญญากาศ ลูกสุนัขจะกลืนอากาศเข้าไปเกิดอาการเสียดท้องได้(colic) จับหัวของลูกสุนัขอย่างนุ่มนวลขณะทำการป้อนนมเพราะลูกสุนัขบางตัวอาจมีการเคลื่อนไหวของหัวไปทุกทิศทางทำให้หาจุกนมไม่พบ

Credit: Royal Canin

ในทางกลับกัน การป้อนด้วยสายยางนั้นควรสงวนไว้ใช้ในกรณีที่ลูกสุนัขอ่อนแอจนไม่สามารถดูดนมจากขวดได้หรือลูกสุนัขที่มีภาวะเพดานโหว่ ไม่ควรนำมาใช้ในการป้อนนมลูกสุนัขที่มีสุขภาพดีเพียงเพื่อให้ป้อนนมได้เร็วขึ้น การป้อนด้วยสายยางควรเป็นการแก้ไขชั่วคราว(ยกเว้นกรณีเพดานโหว่) เมื่อลูกสุนัขแข็งแรงพอควรเปลี่ยนมาใช้ขวดนมหรือดูดนมจากแม่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์

เจ้าของสุนัขยังต้องทราบว่าลูกสุนัขเกิดใหม่ไม่สามารถอุจจาระหรือปัสสาวะได้เอง ปฏิกิริยาตอบสนอง(reflex)นี้ต้องถูกกระตุ้นโดยการเลียของแม่สุนัขที่บริเวณก้นของลูก หลังจากป้อนนมเสร็จทุกครั้ง เจ้าของสุนัขต้องกระตุ้นบริเวณก้นโดยการถูด้วยผ้าก๊อซชุบน้ำอุ่น

จำนวนครั้งที่เหมาะสมในการป้อนนมต่อวัน
เขียนบทความแนะนำจำนวนครั้งของการป้อนผลิตภัณฑ์ทดแทนนมให้แก่ลูกสุนัขเกิดใหม่ดังนี้ ในช่วงสัปดาห์แรกหลังคลอดให้วันละ 8 ครั้ง สัปดาห์ที่สองวันละ 6 ครั้ง และในสัปดาห์ที่สามลดลงเหลือวันละ 4 ครั้ง ลูกสุนัขบางตัวในครอกอาจพัฒนาพฤติกรรมการดูดลูกสุนัขตัวอื่นซึ่งอาจนำไปสู่การอักเสบที่รุนแรงหรือแม้แต่กลายเป็นก้อนฝีหนองได้ พฤติกรรมดังกล่าวสามารถพบได้เมื่อลูกสุนัขหิว อย่างไรก็ตามการเพิ่มปริมาณนมที่ป้อนอาจนำไปสู่ความเสี่ยงของการเกิดภาวะถ่ายเหลวในลูกสุนัขที่สูงขึ้นจากการที่ประสิทธิภาพของระบบทางเดินอาหารที่จำกัด ทางแก้ไขที่เหมาะสมที่สุดคือการเพิ่มจำนวนครั้งของการป้อนนม ยกตัวอย่างเช่นในสัปดาห์แรกหลังคลอดสามารถปรับเป็นป้อนนมวันละ 10 ครั้งแทน 8 ครั้งได้ ผู้เขียนประสบความสำเร็จในการใช้วิธีดังกล่าวที่ศูนย์พักพิงสุนัขโดยถึงแม้จะใช้เวลามากขึ้นในการทำงาน แต่เป็นวิธีการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด

ปริมาณนมที่เหมาะสมในการป้อนแต่ละครั้ง>
โดยปกติแล้วหากลูกสุนัขได้รับอาหารโดยการป้อนผลิตภัณฑ์ทดแทนนมเพียงอย่างเดียว เจ้าของสุนัขควรทำตามคำแนะนำของผู้ผลิตอย่างเคร่งครัด แต่การใช้กราฟการเจริญเติบโตของสุนัขร่วมด้วยจะช่วยให้ปรับวิธีการให้อย่างเหมาะสมได้ งานวิจัยไม่นานมานี้ยังพบว่าลูกสุนัขที่ดูดนมแม่อยู่แต่ถูกระบุว่าอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการตายแรกเกิด สามารถป้อนผลิตภัณฑ์ทดแทนนมได้อย่างไม่จำกัด(ad lib) 19 ผู้เขียนบทความไม่พบข้อเสียใดจากการปฏิบัติตามแนวทางนี้ โดยลูกสุนัขจะสามารถจำกัดปริมาณนมที่ดูดได้ด้วยตัวเอง ทั้งนี้อาจมีลูกสุนัขบางตัวที่มีความอยากอาหารสูงมากทำให้กินนมมากเกินไป นำไปสู่ภาวะถ่ายเหลวซึ่งผู้เขียนบทความพบในสุนัขพันธุ์ Labrador retriever สัตวแพทย์จึงควรแนะนำเจ้าของสุนัขไม่ให้ป้อนนมลูกสุนัขเกินปริมาณสูงสุดตามคำแนะนำของผู้ผลิต

คำแนะนำสำหรับสัตวแพทย์: เล่นกับความเข้มข้น
สัตวแพทย์พึงระลึกว่าอัตราส่วนของน้ำและนมผงนั้นสามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมได้ตามสถานการณ์เช่นเดียวกันในคน osmolality ที่แตกต่างกันของนมที่ชงได้สามารถจัดการภาวะถ่ายเหลวหรือท้องผูกในลูกสุนัขที่ไม่ซับซ้อนมาก (เกี่ยวของกับโภชนาการ 26) จากประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียนบทความจะใช้น้ำปริมาณร้อยละ 80 ของที่แนะนำเมื่อเตรียมนมสำหรับลูกสุนัขที่มีภาวะท้องผูก และใช้ปริมาณน้ำร้อยละ 120 ของที่แนะนำเมื่อลูกสุนัขมีอาการถ่ายเหลว ทั้งสองกรณีให้กลับมาใช้อัตราส่วนน้ำและนมผงตามปกติเมื่อลูกสุนัขมีอาการดีขึ้น

สรุป

ผลิตภัณฑ์ทดแทนนมสุนัขควรเป็นเครื่องมือสำคัญในการเลี้ยงลูกสุนัข เจ้าของสุนัขที่มีสุนัขซึ่งกำลังตั้งท้องต้องมีการเตรียมผลิตภัณฑ์ทดแทนนมที่เหมาะสม ทั้งนี้สัตวแพทย์ยังต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดที่พบได้บ่อย มีหลายสถานการณ์ที่ผลิตภัณฑ์ทดแทนนมสามารถสร้างประโยชน์ได้และหากใช้อย่างถูกต้องจะช่วยให้ลูกสุนัขเกิดใหม่มีสุขภาพแข็งแรง

 

พิเศษสำหรับสัตวแพทย์ไทย

เข้าทำเเบบทดสอบเพื่อสะสม VET-CE ภายในวันที่ 15 ต.ค. - 15 ธ.ค. 2022


ทำแบบทดสอบ VET-CE

แหล่งอ้างอิง

  1. Fahley GC Jr., Barry KA, Swanson KS. Age-related changes in nutrient utilization by companion animals. Annu. Rev. Nutr. 2008;28:425-445.

  2. Heinze CR, Freeman LM, Martin CR, et al. Comparison of the nutrient composition of commercial dog milk replacers with that of dog milk. J. Am. Vet. Med. Assoc. 2014;244(12):1413-1422.

  3. Prosser CG. Compositional and functional characteristics of goat milk and relieve as a base for infant formula. J. Food Sci. 2021;86(2):257-265.

  4. Indrebø A, Trangerund C, Moe L. Canine neonatal mortality in four large breeds. Acta Vet. Scand. 2007;49:S2.

  5. Corbee RJ, Tryfonidou MA, Beckers IP, et al. Composition and use of puppy milk replacers in German Shepherd puppies in the Netherlands. J. Anim. Physiol. Nutr. (Berl.) 2012;96(3):395-402.

  6. Renfrew MJ, Ansell P, Macleod KL. Formula feed preparation: helping reduce the risks, a systematic review. Arch. Dis. Child Educ. Pract. Ed. 2003;88:855-858.

  7. Greco DS. Pediatric nutrition. Vet. Clin. North Am. Small Anim. Pract. 2014;44:265-273.

  8. Beynen AC. Brain food for puppies. Creature Companion 2017;10:36-38.

  9. Czarnecki-Maulden GL. Effect of dietary modulation of intestinal microbiota on reproduction and early growth. Theriogenology 2008;70(3):286-290.

  10. Boutigny L, Grellet A, Feugier C, et al. Effect of energy supplementation between birth and 3 weeks on growth rate in puppies. In Proceedings, 19th Congress European Society of Veterinary and Comparative Nutrition (ESVCN) 2016, Berlin, Germany.

  11. Mila H, Grellet A, Mariani C, et al. Natural and artificial hyperimmune solutions: Impact on health in puppies. Reprod. Domest. Anim. 2017;52(S2):163-169.

  12. Santos NR, Beck A, Fontbonne A. A review of maternal behaviour in dogs and potential areas for further research. J. Small Anim. Pract. 2019;61(2):85-92.

  13. Holmes SP, Memon MA, Fite CL. Theriogenology Question of the Month. J. Am. Vet. Med. Assoc. 2009;234:205-207.

  14. Lection J, Cornelius AJ, Moxon R, et al. Incidence and risk factors for canine mastitis and metritis in two guide dog populations. Anim. Reprod. Sci. 2021;231:106802 DOI: 10.1016/j.anireprosci.2021.106802

  15. Vasiu I, Dabrowski R. Lactation-related mammary gland pathologies – a neglected emergency in the bitch. Reprod. Dom. Anim. 2021;56(2):208-230.

  16. Marti JA, Fernandez S. Clinical approach to mammary gland disease. In; BSAVA Manual of Canine and Feline Reproduction and Neonatology. Gloucester, British Small Animal Veterinary Association 2010;155-165.

  17. Kaszak I, Ruszczak A, Kanafa S, et al. New insights of canine mastitis – a review. Anim. Sci. Pap. Rep. 2018;1:33-44.

  18. Domoslawska A, Jurczak A, Janowski T. Oral folic acid supplementation decreases palate and/or lip cleft occurrence in Pug and Chihuahua puppies and elevates folic acid blood levels in pregnant bitches. Pol. J. Vet. Sci. 2013;16(1):33-37.

  19. Chastant-Maillard S, Mila H, Grellet A, et al. Neocare – 5 years of science to improve the health of newborn puppies. Royal Canin SAS, News From Research 2016;41. 

  20. Alves I. A model of puppy growth during the first three weeks. Vet. Med. Sci. 2020;6(4):946-957.

  21. Lecarpentier M, Martinez C. La croissance du chiot entre 0 et 2 mois : établissement de courbes de croissance de référence par race. Thèse d’exercice vétérinaire, École Nationale Vétérinaire de Toulouse, ENVT 2017;274.

  22. Fontaine E. Food intake and nutrition during pregnancy, lactation and weaning in the dam and offspring. Reprod. Dom. Anim. 2012;47(S6):326-330.

  23. Mugnier A, Mila H, Guiraud F, et al. Birth weight as a risk factor for neonatal mortality: Breed specific approach to identify at-risk puppies. Prev. Vet. Med. 2019;171:104746.

  24. van Nguyen S, Umeda K, Yokoyama H, et al. Passive protection of dogs against clinical disease due to canine parvovirus-2 by specific antibody from chicken egg yolk. Can. J. Vet. Res. 2006;70(1):62-64.

  25. Reyes-Sotelo B, Mota-Rojas D, Martinez-Burnes J, et al. Thermal homeostasis in the newborn puppy: behavioral and physiological responses. J. Anim. Behav. Biometeorol. 2021;9(3):2112.

  26. Victora CG, Bryce J, Fontaine O, et al. Reducing deaths from diarrhoea through oral rehydration therapy. Bull. World Health Organ. 2000;78(10):1246-1255.

Emmanuel Fontaine

Emmanuel Fontaine

Rudinsky สำเร็จการศึกษาระดับ DVM จาก OSU และได้ฝึกงานด้านการหมุนเวียนสัตว์ขนาดเล็กที่ Purdue University อ่านเพิ่มเติม

บทความอื่นๆ ในประเด็นนี้

หมายเลขหัวข้อ 32.1 เผยแพร่แล้ว 24/10/2023

ระเบียบปฏิบัติในการปฏิบัติงานด้านสัตวแพทย์ ตอนที่ 1

บทความนี้เป็นบทความตอนที่ 1 จากทั้งหมด 2 ตอน โดยผู้เขียนได้พิจารณาถึงระเบียบปฏิบัติในการปฏิบัติงานด้านสัตวแพทย์ และสาเหตุว่าทำไมระเบียบปฏิบัติเหล่านี้จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยในการดำเนินกิจการคลินิกรักษาสัตว์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดย Philippe Baralon , Antje Blättner และ Pere Mercader

หมายเลขหัวข้อ 32.1 เผยแพร่แล้ว 24/10/2023

ระเบียบปฏิบัติในการปฏิบัติงานด้านสัตวแพทย์ ตอนที่ 2

ในบทความตอนที่ 2 นี้ ผู้เขียนจะกล่าวถึงวิธีการกระตุ้นทีมงานและการประสบความสำเร็จในการออกแบบและใช้ระเบียบปฏิบัติในการปฏิบัติงานด้านสัตวแพทย์

โดย Philippe Baralon , Antje Blättner และ Pere Mercader

หมายเลขหัวข้อ 32.1 เผยแพร่แล้ว 28/05/2023

การใช้ยาต้านจุลชีพในลูกสุนัขและแมว

เราควรเลือกใช้ยาต้านจุลชีพที่เป็นปัญหาในลูกสุนัขและแมวอย่างไร บทความนี้ J. Scott Weese ได้เสนอคำแนะนำเชิงปฏิบัติสำหรับสถานการณ์ทั่วไปในสถานพยาบาลสัตว์เล็ก

โดย J. Scott Weese

หมายเลขหัวข้อ 32.1 เผยแพร่แล้ว 25/05/2023

ความสำคัญของ DHA ในลูกสุนัข

บทความนี้ถูกเขียนขึ้นโดย Russ Kelley ผ่านการรวบรวมงานวิจัยต่างๆที่มีสมมติฐานว่า กรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัว (DHA) นั้นมีความสำคัญต่อพัฒนาการทางร่างกายอย่างไรบ้าง และเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของโภชนาการสำหรับลูกสุนัข

โดย Russ Kelley